สุรจิต ชิรเวทย์ : ผู้กลับมาต่อสู้เพื่อบ้านเกิดด้วยกฎหมายและหลอมรวมคน ‘ประชาคมคนรักแม่กลอง’

Highlights

  • สุรจิต ชิรเวทย์ เริ่มต้นทำงานที่ธนาคารแม่กลอง ตำแหน่งปล่อยสินเชื่อ เป็นระยะเวลา 25 ปี 8 เดือนครึ่ง ช่วงที่เขายังทำงานอยู่ ธนาคารแม่กลองเป็นธนาคารที่มีเงินครบหนึ่งพันล้านบาทถัดจากสาขานครปฐม
  • เขาใช้ความรู้ในด้านนิติศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา ผนวกกับความเข้าใจพื้นที่เกษตรกรรมของแม่กลอง การปล่อยสินเชื่อของเขาจึงเป็นการลงพื้นที่และปรับการปล่อยสินเชื่อตามความเหมาะสม
  • เขาลาออกตอนอายุ 48 ปี เพราะค้นพบว่าการเป็นรองผู้จัดการและปล่อยสินเชื่อไม่ใช่คำตอบ เขาจึงเข้าร่วมประชาคมคนรักแม่กลองที่ประชุมทุกวันพฤหัสบดีแรกของทุกเดือน เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหรือป้องกันการรุกล้ำแม่น้ำแม่กลองโดยใช้ข้อกฎหมายในการต่อสู้

ภาพที่เราเห็นกันชินตาเมื่อเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลายๆ พื้นที่ คือภาพชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนต่อสู้กับภาครัฐหรือภาคเอกชนด้วยการก่อม็อบประท้วง แต่กับที่อำเภอแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม กลับต่างออกไป

ที่นี่มีประชาคมคนรักแม่กลอง ซึ่งรวบรวมทั้งคนสูงอายุที่รักบ้านเกิดและหนุ่มสาวผู้มีความรู้ที่ก็รักบ้านเกิดไม่แพ้กัน โดยมี สุรจิต ชิรเวทย์ เป็นแกนนำและเชื่อมคนเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน

เพราะเชื่อว่า ถ้าท้องถิ่นของเรามีปัญหา เราเองที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขในเบื้องต้น

“คุณต้องทำเอง ใครล่ะจะรู้จักพื้นที่ตัวเองไปดีกว่าคุณ ถูกไหม ผู้ว่าฯ นายอำเภอต่างๆ เหล่านี้เขามาอยู่กับเราไม่กี่ปีเขาก็ไป จุดแข็งของชาวบ้านคือรู้ข้อเท็จจริงทุกระดับ น้ำขึ้น-น้ำลงไหลไปทางไหน ถ้ามีมลพิษมันไปทางไหน ออกทางไหน ทำไมคุณไม่เอาจุดแข็งนี้ไปขึ้นโต๊ะพร้อมกับข้อเสนอ เราเสนอไป 5 ข้อ ที่ประชุมเขาซื้อความคิดเรา 2 ข้อ 3 ข้อก็ไม่เป็นไร

“แต่ถ้าคุณบอกว่า ไม่ได้ ข้อเสนอของตัวเองต้องชนะ มันจะสำเร็จได้อย่างไรครับ เราก็ต้องสร้างวัฒนธรรมปรึกษาหารือกันเองให้ได้ เราต้องอดทนทำสิ่งนี้แม้จะมีความเห็นต่าง คุณต้องผ่านตรงนี้ให้ได้เสียก่อน

“คุณต้องบรรลุนิติภาวะทางความคิดของคุณก่อนด้วยการอาศัยความรักบ้านรักถิ่นฐานนำไป อย่าไปใช้ความเกลียดชังนำทาง มันไม่ยั่งยืน เพราะประชาธิปไตยมันก็เริ่มอย่างนี้ ถ้าท้องถิ่นคุณมีปัญหาแล้วคุณยังไม่ร่วมมือกัน ใครจะมาแก้ให้คุณได้”

ด้วยความเชื่อมั่นในด้านนิติศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา เมื่อเกิดการสร้างเขื่อน โรงงาน หรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ สุรจิตจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมทุกวันพฤหัสบดีของต้นเดือน เพื่อหารือกับชาวบ้านทั้งแม่กลองและจังหวัดใกล้เคียง

ช่วงปี 2521 มีการสร้างเขื่อนเก็บน้ำศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นเขื่อนแห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เมื่อสร้างเสร็จแล้วต้องกักน้ำเข้าอ่าง 3 ปี ทำให้แม่กลองทั้งเมืองถูกแช่ในน้ำเค็มเป็นเวลา 3 ปี ต้นมะพร้าวริมสองฝั่งแม่น้ำ จากที่ลำต้นตรงก็กลายเป็นโค้งงอช่วงบนคลายคนคอลีบ ใบเหลือง และล้มตายกันเป็นแถว ด้วยธรรมชาติของมะพร้าวอยู่ได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม แต่ต้องไม่แช่ในน้ำใดน้ำหนึ่งนานเกินไป

“เวลาผมนั่งเรือออกไปดูที่ ไปเยี่ยมลูกค้า เวลา 11 โมง ทุกสวนจะตั้งเตาเคี่ยวน้ำตาลควันออกโป่ง กลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั้งเมืองเลย นี่คือภาพสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ของแม่กลอง เราเสียดายภาพเหล่านี้ ถ้าสิ่งที่มั่นคงมาเป็นร้อยๆ ปีของชาวบ้านจะกลายเป็นแบบนี้ มันจะเป็นจุดเปลี่ยนเลย”

จากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้น ทำให้สุรจิตเริ่มลงไปทำงานในพื้นที่ควบคู่กับการทำงานธนาคาร ด้วยพื้นที่มีความขัดแย้งภาคน้ำจืดกับน้ำเค็ม เมื่อเขื่อนกักน้ำ น้ำเค็มจะหนุนสูง รัฐก็ใช้ถนนเป็นคันกั้นน้ำจืด-น้ำเค็ม แต่ประตูที่ออกแบบมาไม่สอดคล้องกัน เขาจึงเข้าแก้ปัญหานี้ร่วมกับชาวบ้าน

“ผมทำงานธนาคารมา 25 ปี 8 เดือนครึ่ง ตัดสินใจลาออกตอนอายุ 48 ปี เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวเรา เป็นเพียงสิ่งที่มั่นคง หาเลี้ยงครอบครัวได้ หลังจากนั้นเราก็มาเริ่มทำเวทีชาวบ้าน ตอนนั้นเริ่มมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในสำนักนายก ส่งเสริมการวิจัยชุมชนโดยชุมชนมีส่วนร่วม เรียกว่าการวิจัยท้องถิ่น เรารู้สึกว่างานนี้ถูกจริตกับเรา แล้วพื้นที่อำเภอนี้มีปัญหา เราต้องมาช่วยกันแก้ไข

“ครั้งหนึ่งเราเคยสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนั้นเราสู้เรื่องฟลัดเวย์ ตระเวนลงพื้นที่กับน้องที่เรียนจบปริญญาโทสถาปัตยกรรม เราทำทั้งหมด 66 เวที แบกทั้งจอและลำโพงขึ้นพูด แค่ 10 นาทีเขาก็เข้าใจแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเราได้รับผลกระทบอะไร จากเวทีแรกที่เราขึ้นพูดมีคนฟัง 10 คน แต่เมื่อทำจนครบ 66 เวที กลายเป็นว่ามีคนมาฟังเราหลักสองหมื่นคน”

จากจุดตั้งต้นที่สุรจิตต้องการแก้ไขปัญหาที่คนแม่กลองได้รับผลกระทบ เขาขุดไปจนถึงต้นตอของปัญหา ด้วยการเริ่มเชิญชวนชาวบ้านในพื้นที่มาปรึกษาหารือถึงสถานการณ์ปัญหาและความเป็นไป แล้วค้นหาข้อมูลนำไปสู่ข้อเท็จจริง

“เราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 (3) สิทธิของประชาชนหรือชุมชนที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว นั่นหมายความว่าหนังสือเราทำไปในนามประชาคมเครือข่าย มีลายเซ็นของชาวบ้าน มีที่อยู่ให้ตอบเอกสารกลับ แล้วทางรัฐเขาจะต้องนำไปพิจารณา และต้องตอบเราภายใน 30 วัน นี่เป็นการใช้สิทธิการมีส่วนร่วม

“สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานประชาธิปไตยที่แท้จริง มันเริ่มจากชุมชนรู้สิทธิ หวงสิทธิ รักษาสิทธิ

“ที่ประชาคมคนรักแม่กลอง เรามีอำนาจเท่ากัน ไม่มีอายุ ไม่มีสมาชิก ใครรักบ้านก็มาคุยกัน มาช่วยกันคิด และเราเชื่อว่าถ้าคน 20-30 คน มาช่วยกันมันน่าจะดีกว่า หลากหลายความเห็นนำไปสู่คำตอบที่ลงตัวทุกฝ่าย ที่สำคัญ คนที่เข้ามาช่วยกันมีช่วงอายุที่หลากหลาย อย่างงานด้านกราฟิกนำเสนอข้อมูล น้องๆ รุ่นใหม่เขาจะทำได้ดีกว่า

“การรักบ้านไม่ใช่กลับไปสตาฟให้นิ่ง ทุกสิ่งมันต้องเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนให้มันดีและสอดคล้องกับบ้านเรา ด้วยภาคประชาชนนี่แหละ”


Video Creator

อภิวัฒน์ ทองเภ้า

เป็นลูกชายคนเดียวของพ่อแม่, เป็นศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ ม.มหาสารคาม แต่เป็นคนอุดรธานี, เป็นวิดีโอครีเอเตอร์ ประสบการณ์ 2 ปี, เป็นคนเบื้องหลังงานวิดีโอของ a day และเป็นคนปลุกปั้นสารคดี a doc, เป็นคนนอนไม่เคยพอ, เป็นหนึ่ง คือ เป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง สรรพสิ่ง คือ ไม่เป็นอะไรเลย, ตอนนี้เป็นหนี้ กยศ. และรับจ้างทั่วไป [email protected]

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด