10 เหตุผลที่ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เข้าข่ายทางจักรยานที่ดี

ทางจักรยานในรูปแบบแพลอยน้ำเลียบแม่น้ำ WILLAMETTE พอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน

ที่ผ่านมา มีคนพูดถึงความผิดพลาดของทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในหลายมุมทั้งด้านสถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม สังคม กฎหมาย และการใช้งบประมาณ ฯลฯ ไปเยอะแล้ว ผมขอพูดประเด็น ‘ทางจักรยาน’ บ้าง

1. การเห็นทางจักรยานดีๆ ของต่างประเทศแล้วรู้สึกว่า มันมีพลัง อยากเอามาทำที่เมืองไทยบ้าง ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่ทำให้ทางจักรยานมีพลัง ไม่ใช่ความยิ่งใหญ่ของงานก่อสร้าง หรือความสวยของงานออกแบบ แต่เป็นเพราะทางพวกนั้นมีคนใช้เยอะ และที่คนใช้เยอะก็เพราะเขาศึกษาพฤติกรรมของคนใช้จักรยานอย่างละเอียด แล้วตั้งใจออกแบบให้ตอบโจทย์นั้น ไม่ได้คิดแค่ว่า มีทางจักรยานเดี๋ยวนักปั่นก็มาใช้เองแหละ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าแบบก่อสร้างก็คือ การทำความเข้าใจกลุ่มผู้ใช้จักรยานของชุมชนตลอดเส้นทาง ซึ่งสิ่งนี้ไม่เคยปรากฏในรายงานการศึกษาใดๆ ของโครงการนี้

2. ทางจักรยานเลียบแม่น้ำดีๆ ในต่างประเทศที่เราเห็น ไม่มีโครงการไหนคิดทำแค่ทางจักรยาน แต่มันคือการจัดการพื้นที่สาธารณะ เพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง โดยมีทางจักรยานเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เช่น แก้ปัญหาเรื่องระบบนิเวศของแม่น้ำ เรื่องพื้นที่สีเขียวในเมือง เรื่องการจราจร หรือเรื่องภูมิทัศน์ แต่ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้แก้ปัญหาอะไรของแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่เลย การยัดทางจักรยานเข้าไปในแม่น้ำ ยังดูเหมือนจะสร้างปัญหาเพิ่มด้วยซ้ำ

ทางเลียบแม่น้ำคาโมะ เกียวโต

ทางเลียบแม่น้ำในไทเป ประเทศไต้หวัน

3. ทางจักรยานเลียบแม่น้ำขนาดใหญ่และยาวเกิน 10 กิโลเมตร ที่เราเห็นในต่างประเทศในเมืองอย่าง ไทเป โซล และเกียวโต เป็นทางจักรยานที่สร้างอยู่บน floodway ซึ่งอยู่นอกตัวเมือง ไม่มีเมืองไหนที่มีทางริมจักรยานริมน้ำขนาดใหญ่เอาไว้กลางเมืองหรอก

4. เมืองที่มีอายุหลายร้อยปีแบบลอนดอนและกรุงเทพฯ ช่วงกลางเมืองมักเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือน ทางเลียบแม่น้ำเทมส์ในเมืองอย่างลอนดอน เลยไม่ได้เลียบน้ำทุกช่วง อย่างช่วงที่ติดมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ หรือช่วงที่ติดอพาร์ตเมนต์ของเอกชนตรงใกล้ๆ Tower of London เส้นทางก็อ้อมผ่านไปด้านหลังตึก ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร คนในพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า เรามีทางเดินและปั่นจักรยานริมน้ำเจ้าพระยาความกว้างราว 2 – 3 เมตร อยู่หลายช่วง ช่วงที่ไม่ติดน้ำ ก็ลัดเลาะหลบไปตามซอยแถวนั้นได้ เราไม่จำเป็นต้องทำทางเลียบน้ำยาวขนาด 14 กิโลเมตรก็ได้ และเราพัฒนาต่อจากเส้นทางที่เรามีอยู่แล้วก็ได้

ทางเลียบแม่น้ำเทมส์ในลอนดอน

เรือเมล์รับส่งคนและจักรยานตามแนวแม่น้ำรอตเตอร์ดาม

5. ถ้าโครงการนี้ต้องการทำให้ผู้ใช้จักรยานมีเส้นทางสัญจรบรรยากาศดีๆ ความยาว 14 กิโลเมตร มันมีวิธีที่ง่ายกว่าสร้างทางเลียบแม่น้ำ ดูตัวอย่างได้จาก เส้นทางริมแม่น้ำเทมส์ในลอนดอนจากบิ๊กเบนไปกรีนิช ความยาวราวๆ 12 กิโลเมตร และเส้นทางริมแม่น้ำซานในอัมสเตอร์ดัมจาก Eye Film Museum ไปทุ่งกังหัน Zaanse Schans ความยาวราวๆ 16 กิโลเมตร ทั้งสองเมืองนี้แค่อนุญาตให้เอาจักรยานขึ้นเรือได้ แค่นี้ก็ไม่ต้องสร้างทางจักรยานแล้ว แต่บ้านเราเรือด่วนเจ้าพระยาไม่อนุญาตให้เอาจักรยานขึ้น (ยกเว้นรถพับ) แค่เราเปลี่ยนกฎ หรือหาพื้นที่จอดจักรยานที่เหมาะสมบนเรือ หรือเอางบประมาณที่จะสร้างทางเลียบแม่น้ำ ไปพัฒนาระบบเรือขนส่งให้ตอบสนองการใช้งานของคนทุกกลุ่มจริงๆ ก็น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่า

ทางจักรยาน Quietway ลอนดอน

6. ถ้าอยากส่งเสริมให้คนขี่จักรยานในระยะทาง 14 กิโลเมตรจริงๆ ก็น่าย้อนกลับไปดูตัวอย่างที่ลอนดอนอีกที จากบิ๊กเบน ถ้าเราขี่จักรยานข้ามมาที่ Tate Modern ก็จะถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางจักรยานที่เรียกว่า Quietway สายที่ 1 ซึ่งสุดสายที่กรีนิช มันเป็นทางที่เอาไว้ขนส่งนักปั่นจากนอกเมืองเข้าสู่เมือง แบบไม่ผ่านถนนใหญ่ ลัดเลาะไปตามถนนเส้นเล็กๆ เงียบๆ ในชุมชนต่างๆ ซึ่งแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม นอกจากการสำรวจเส้นทางและติดป้ายสัญญาณ เส้นทางแบบนี้ในกรุงเทพฯ ก็มีคนสำรวจไว้เยอะแล้ว ถ้าพัฒนาต่อเราก็จะได้ทางจักรยานที่ปลอดภัยและน่าปั่นเหมือนลอนดอน โดยไม่ต้องลงทุนมหาศาล

พื้นที่ริมน้ำติดหน่วยงานรัฐบาลในเมืองอัมสเตอร์ดัม

7. ถ้าบอกว่าสร้างทางสายนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนเมืองได้รื่นรมย์กับพื้นที่ริมน้ำ อันที่จริงก็ไม่ต้องทำอะไรขนาดนั้นก็ได้ แค่สถานที่ราชการที่อยู่ริมน้ำเปิดพื้นที่ริมน้ำ ให้คนทั้งหลายเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เราก็จะได้สิ่งเดียวกัน เหมือนอย่างที่พิพิธภัณฑ์หรือพื้นที่ของรัฐในหลายเมืองของยุโรป พยายามจะไม่สร้างรั้ว เพื่อให้ตัวมันเองได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะด้วย ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า สถานที่ราชการในส่วนที่เป็นอาคารไม่ควรปล่อยให้คนภายนอกเข้าไปพลุกพล่าน แต่ในกรณีนี้แค่ลองปรับพื้นที่ของรัฐในส่วนริมน้ำส่วนหนึ่งให้ประชาชนเข้าถึงได้ก็พอ การที่คนเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำไม่ได้เพราะติดพื้นที่ของเอกชนนั่นเข้าใจได้ แต่เข้าถึงไม่ได้เพราะติดพื้นที่ของรัฐซึ่งรัฐไม่อนุญาตให้เข้าก็ฟังดูแปลกๆ นะ

ทางจักรยานในประเทศสิงคโปร์

8. ทางจักรยานในประเทศเขตร้อนอย่างสิงคโปร์ ทำแล้วมีคนใช้ก็เพราะมันอยู่ในแนวต้นไม้ใหญ่ไปตลอดทางจึงร่มรื่น แต่ทางจักรยานพื้นคอนกรีตร้อนๆ 14 กิโลเมตร ใครจะมาใช้ เอาต้นไม้ใหญ่มาลงตลอดเส้นก็ทำไม่ได้เพราะมันเป็นทางคอนกรีตที่ตอกเสาเข็มยื่นลงไปในแม่น้ำ

ทางเลียบแม่น้ำบริเวณ Punggol Waterway ประเทศสิงคโปร์

9. ถ้าจะหาต้นแบบทางเลียบแม่น้ำที่ดี ควรไปดูทางเลียบแม่น้ำบริเวณ Punggol Waterway ที่สิงคโปร์ ที่นั่นเป็นทางจักรยานที่เรียกว่า PCN (Park Conector Network) เป็นทางจักรยานสองฝั่งแม่น้ำที่ออกแบบมาให้คนใช้ปั่นได้ เดินได้ วิ่งได้ ใช้รถเข็นได้ รื่นรมย์ ใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง และใช้จัดอีเวนต์ได้ ซึ่งฟังดูเหมือนทางแบบนี้ไม่ได้สร้างยากอะไร แต่สิ่งที่พิเศษที่สุดของทางสายนี้ก็คือ การออกแบบทางเลียบแม่น้ำไปพร้อมๆ กับแม่น้ำ คือไม่ได้มองแม่น้ำเป็นแค่ทางน้ำ แต่มองเป็นระบบนิเวศที่มีชีวิต เขาจึงออกแบบแม่น้ำให้เป็นตลิ่งดินไปตลอด เพื่อให้สัตว์น้ำได้อาศัยกอพืชน้ำตามตลิ่งตื้นเป็นที่ผสมพันธุ์และอนุบาลลูกอ่อน (สัตว์น้ำมักจะผสมพันธุ์ภายนอก ถ้าน้ำไหลแรงมันก็ผสมไม่ได้ หรือผสมได้ ก็ไม่มีที่ให้ลูกอ่อนหลบศัตรู) ทางเส้นนี้ไม่ใช่แค่ออกแบบให้มีตลิ่งตามธรรมชาติเท่านั้น แต่เขายังออกแบบทางเดินให้คนได้เดินลงไปดูสัตว์น้ำและลูกอ่อนของสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นว่าแม่น้ำมีชีวิต แต่ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของเราดูจะเป็นการทำลายระบบนิเวศมากกว่าทำให้คนรักแม่น้ำ

ทางจักรยานกลางเมืองแถวหน้าหอนาฬิกา WESTMINSTER หรือบิ๊กเบน

10. ถนนสายหนึ่งกลางเมืองลอนดอนใกล้กับบิ๊กเบน เป็นถนนเส้นเล็กๆ เลียบแม่น้ำเทมส์ ซึ่งการจราจรค่อนข้างติดขัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเทศบาลเมืองลอนดอนตัดสินใจเฉือนพื้นที่ถนน 1 เลน มาทำเป็นทางจักรยาน ฟังดูเหมือนจะเป็นโครงการบ้าๆ ที่ใช้งบเยอะและคนได้ประโยชน์น้อย แต่เทศบาลก็กางตัวเลขให้ดูว่า ในชั่วโมงเร่งด่วน มีจำนวนคนเคลื่อนที่ผ่านถนนเส้นนี้ได้มากกว่าเดิม และในชั่วโมงเร่งด่วน พาหนะหลักที่ใช้งานถนนนี้คือจักรยาน ซึ่งมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เทศบาลเมืองลอนดอนบอกว่า หน้าที่ของพวกเขาคือการเคลื่อนย้ายคนให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่เคลื่อนย้ายรถยนต์ ดังนั้นการเอาถนนมาทำทางจักรยานจึงไม่ใช่ไอเดียบ้าๆ ผลาญงบประมาณ แต่เป็นวิธีแก้ปัญหาจราจรที่มีประสิทธิภาพและเมืองได้ประโยชน์ เมื่อกลับมามองโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีคนพูดถึงต้นทุนโครงการไปแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ 14,000 ล้าน และต้นทุนทางสังคมหลายด้านที่คนกลุ่มต่างๆ กำลังพูดถึง แต่ภาครัฐยังไม่เคยพูดถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเลยว่า หากมีทางสายนี้แล้ว จะเกิดประโยชน์อะไร กับใคร เป็นผลประโยชน์เท่าไหร่ คุ้มค่าที่จะลงทุนไหม และคำถามที่น่าตอบที่สุดก็คือ เป็นโครงการที่สังคมได้ประโยชน์สูงสุดจริงหรือ

ร่วมลงชื่อยับยั้งการสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา : chn.ge/1tlD153

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR