สิ่งที่พวกเราทำร้ายแม่น้ำโดยไม่รู้ตัว และการขอขมาแม่น้ำในโลกยุคปัจจุบัน

เมื่อเทศกาลลอยกระทงเวียนกลับมาอีกครั้ง กระทงสีสันต่างๆ ออกวางขายเพื่อให้เราออกไปขอขมาพระแม่คงคา โดยรู้ดีแก่ใจว่าเทศกาลนี้โปรยขยะมหาศาลลงแหล่งน้ำ

คำถามง่ายๆ ที่เกิดตามมาคือ สิ่งที่เราควรทำเพื่อขอขมาแม่น้ำลำคลองคืออะไรกันแน่ สุรจิต ชิรเวทย์-นักอนุรักษ์และผู้เชี่ยวชาญด้านแม่น้ำจากเมืองแม่กลองสรุปสถานการณ์น้ำแล้ง น้ำท่วมขัง น้ำรอระบาย และการจัดการน้ำให้เราฟังแบบเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะออกไปลอยกระทงหรือไม่ สายน้ำก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราเสมอ

ปัญหาของเทศกาลขอขมาพระแม่คงคาคืออะไร

เดิมชีวิตเราผูกพันกับสายน้ำมาก แต่ปัจจุบันเมืองมันเติบโตขึ้นมาก พอมันโตขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์เงินเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ เขาก็อาจรู้สึกว่าวิถีเขามันไม่ได้ผูกพันแบบนั้น ความรู้สึกมันจางลง เขาเลยทำเหมือนมันเป็นงานนักขัตฤกษ์ ไปสนุกสนาน ทำนองนั้นมากกว่า บริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว

เรารู้สึกว่าความสำคัญของแม่น้ำมันลดลงไป แล้วในความเป็นจริงมันสำคัญน้อยลงรึเปล่า

ไม่ มันไม่ได้น้อยลงเลย แม่น้ำมันคือชีวิตอย่างที่คนพูดกัน บทบาทของมันคืออุ้มพาแร่ธาตุสารอาหารมา มันเป็นที่มาของความมั่นคงทางอาหาร เพราะฉะนั้นในโลกปัจจุบัน เมื่อความรู้สึกเราห่างเหิน ปัญหาแม่น้ำมันก็ใหญ่ขึ้นทุกที คือแม่น้ำที่คุณภาพดีมันเหลือน้อยมาก อาหารดีๆ จากธรรมชาติมันก็น้อยลงตาม เราก็ไปกินปลาเลี้ยง ปลาเป็นหมันอะไรแบบนี้ ซึ่งความหลากหลายมันไม่พอ ตอนนี้คนเมืองไม่รู้ที่มาของอาหารแล้ว แต่คนต่างจังหวัด อาหารมันอยู่รอบตัวเขา ชีวิตเขาคือถ้าน้ำดี ก็มีความมั่นคงทางอาหาร พออยู่พอกิน แล้วก็ได้อาศัยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น

ปัญหาแม่น้ำที่คนกรุงเทพฯ เผชิญอยู่คืออะไร

กรุงเทพฯ เคยมีคลองประมาณ 2,500 คลอง ตอนนี้เหลือแค่ 1,165 คลอง แล้วคลองพวกนั้นก็มีประตูสวมอยู่ 700 กว่าประตู น้ำขึ้นก็ไม่มีใครแขวนบานให้น้ำเข้า น้ำลงก็ไม่มีใครทยอยเปิดบานประตูให้น้ำ เพราะชีวิตฉันไม่เกี่ยวแล้วไง ฉันเป็นคนเมือง มีน้ำท่อ เปิดก๊อกมาก็มีน้ำแล้ว แต่น้ำนั้นมาจากไหนไม่ทราบ คุณก็ต้องหาน้ำไกลออกไปทุกที เพราะน้ำหน้าบ้านคุณมันใช้ไม่ได้แล้ว

กรุงเทพฯ โตที่เดียว มีประชากร 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 6 ของประเทศแล้ว คุณจะบอกว่ามันไม่เกี่ยวกับชีวิตฉันได้ยังไง ทุกวันนี้ไม่มีการช่วยเหลือตัวเอง บ้านไม่ใส่รางน้ำฝนเพราะคิดว่าน้ำฝนดื่มไม่ได้ ไม่ใช้ หน้าบ้านก็ไม่มีตุ่มน้ำ ห้องน้ำก็ไม่มีถังน้ำ เปิดก๊อกมามีน้ำแล้วกัน ตอนน้ำมากไม่ได้ช่วยสต็อก ขณะที่คนบ้านนอกยังรองใส่ตุ่ม ต้องพยายามช่วยเหลือตัวเอง วิถีคนเมืองก็ห่างสายน้ำไปเรื่อย ทางน้ำก็กลายเป็นที่ทิ้งขยะ ที่ทิ้งของเสีย เห็นน้ำเหมือนท่อระบายของเสีย

แต่ถ้าน้ำมันดี กุ้งหอยปูปลามันอยู่ วิถีชีวิตชาวน้ำและการท่องเที่ยวต่างๆ ก็สวมลงไปได้ มีศักยภาพทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้ หรืออย่างน้อยการคมนาคมขนส่งของคุณ มีรถติดตกนรกขนาดนี้ แต่คุณมีคลองเชื่อมกันยาว 2,200 กว่ากิโล ไอ้ 1,165 คลองของคุณเนี่ย มันยาวเท่ากับจากกรุงเทพฯ ไปสุไหงโก-ลกแล้วกลับมาใหม่ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น มันถูกล็อกด้วยสะพานสูงเสมอพื้น ตอม่อชิด น้ำขึ้นติดท้องสะพาน สัญจรทางเรือไม่ได้ ได้ก็ไม่ต่อเนื่องกัน แถมปากคลองมีประตูสวมอีก

คุณกั้นไม่ให้น้ำเข้า กลัวน้ำเค็ม กลัวน้ำท่วม มันก็เท่ากับกั้นไม่ให้น้ำออก แต่คุณอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง น้ำขึ้นมันก็ควรเข้าไปสะสางน้ำข้างในพอสวมประตูมันไว้ ประตูนั้นก็ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครบริหารจัดการ ผลที่สุดมันเป็นระบบปิดหมด มันก็ไม่ได้แลกเปลี่ยนเชื้อชีวิตกัน ก็สะสมของเสียกันไป เพราะสายน้ำมันไหลเสรี คุณไปกักไปขังเขาไม่ได้

เดี๋ยวพอตรุษจีนมันจะเข้าหน้าแล้งของจริงทั้งแผ่นดิน ทั้งทะเลด้วย เราก็จะไปเจอปัญหาว่าประเทศนี้ไม่เคยหาว่าระดับน้ำต่ำสุดที่เราต้องรักษาไว้คือเท่าไหร่ ระดับที่มันจะไปอุ้มดิน อุ้มน้ำ แลกเปลี่ยนเชื้อชีวิตกัน ดังนั้นพอเข้าหน้าแล้ง ถนนก็ทรุดกันเป็นเมตรๆ ตลิ่งไม่มีเสถียรภาพ เพราะไปสร้างเขื่อนแข็ง เปลี่ยนการกัดเซาะ เปลี่ยนการไหลของน้ำ ทำกันทั้งประเทศ ตั้งแต่สิงห์บุรี ชัยนาท ทำกำแพงสองข้างกั้นน้ำสายประธานตั้งเจ็ดสิบกว่ากิโล กรุงเทพฯ มันถึงทรุดลงทั้งแผ่น น้ำบาดาลบ่อตื้นก็ขุดไม่เจอ

ปัญหาหนักหน่วงขนาดนี้ เราจะเริ่มแก้ไขยังไง

เริ่มจากการคิดก่อน ตั้งแต่สิ้นรัชกาลที่ 5 มาไม่มีการขุดคลองใหม่ มีแต่ถมคลองเก่าไปเรื่อยๆ แต่เราอยู่ในเขตพื้นที่ราบแบนสนิทที่มีน้ำขึ้นน้ำลง การต่อสู้กับน้ำหลาก เราจะต่อสู้ด้วยมาตรการสิ่งก่อสร้างหรืออยู่ร่วมกับธรรมชาติ เราต้องคิดให้ตกผลึก

คือกรุงเทพฯ ส่วนหัวที่อยู่ติดนนทบุรี กับส่วนท้ายที่แสมดำ ตรงสมุทรปราการ อยู่เหนือน้ำทะเลปานกลางประมาณเมตรสี่สิบกว่าเซนติเมตร แต่มันตกท้องช้างตรงกลาง แถวรามคำแหงมันเสมอน้ำทะเลปานกลาง สมัยก่อนบรรพชนเราเลยแผ่ลำน้ำออกไปสองข้าง เป็นโครงข่ายลำน้ำแนวนอน ทำเกษตรแบบยกร่อง ถึงจะอยู่ร่วมกับน้ำขึ้นน้ำลงได้ ทีนี้โครงข่ายทางน้ำคุณถูกทำลายไปแล้ว โครงข่ายทางรถของคุณก็ไปบล็อก เพราะถนนกับรถไปกีดขวางทางเคลื่อนไหวของน้ำ คุณก็ไปสร้างกำแพง เจาะอุโมงค์ ตั้งเครื่องสูบน้ำ มันจะไปจบที่ไหน

โครงข่ายกรุงเทพฯ เดิมมี 50 เขต แต่ละเขตมีคลองเท่าไหร่ แล้วสภาพเป็นอย่างไร ตื้นเขิน ถูกบุกรุก หรืออะไร จัดลำดับมา สมมติว่าคลองที่เชื่อมระหว่างเขตมีความสำคัญกว่าคลองในเขต แล้วมันถูกบุกรุกยังไง เขื่อนเป็นแบบไหน ประตูที่บีบเป็นคอขวดมันใช้กับภาคเหนือถึงอยุธยาได้ เพราะน้ำมันไหลลงอย่างเดียว เหมาะกับการชลประทานแต่จากอยุธยาลงมาเป็นเขตน้ำขึ้นน้ำลงคุณต้องแก้ให้ประตูขนาดเท่าคลองเหมือนเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ใช่ใส่ประตูเท่ากันเหมือนตัดเสื้อโหลใส่กันทั้งประเทศ

ในทางหนึ่งคุณต้องแก้รูปแบบประตูสะสางให้น้ำมันไปอย่างที่เคยไป แก้บานประตูน้ำเหมือนที่แม่กลองทำ คือใส่บานสวิงเข้าไป ใส่ประตูขนาดเท่าลำน้ำ พอน้ำต่างระดับผลักบานออกเอง พอน้ำทะเลขึ้นมากก็ผลักบานปิดเอง แก้รูปแบบสะพาน แก้ท่อทั้งหลาย ท่อระบายน้ำของ กทม. ต้องใส่ท่อประปาลงไปด้วย ใส่สายไฟ สายโทรศัพท์ อะไรสารพัด ท่อมันก็แทบจะไม่เป็นท่อ แต่ละหน่วยงานก็ขนกันใส่ไป แต่ว่าท่อเราไม่ใหญ่พอ เราจะทำให้มันใหญ่ขึ้นยังไง ถ้าเราจัดการเรื่องคลองได้ จัดการเรื่องการขุดดินถมดิน ระยะถอยร่น สิ่งเหล่านี้มันต้องพยายามทำความเข้าใจกันใหม่

ในฐานะประชาชนคนธรรมดา เราจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไง

เน้นเรื่องสถาปัตยกรรมว่ามันต้องมีใต้ถุน เราเป็นประเทศมรสุม คนทุกภาคแต่เดิมอยู่บ้านมีใต้ถุนทั้งนั้น เพราะสภาพแวดล้อมเราเป็นอย่างนี้ไง คุณจะสร้างบ้านแบบฝรั่งก็ได้ แต่ขอให้มีใต้ถุนไว้ก่อน ข้างบนจะทรงโรมันทรงสเปนก็เชิญ แต่มันต้องมีใต้ถุนมาทดแทนการถมที่ เปิดทางให้อยู่กับน้ำได้โดยไม่ลำบากในหน้าน้ำหลาก หรืออาจมีภาษีน้ำท่วม เพื่อแก้ปัญหาคนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เอาเงินมาช่วยดีดบ้านเขา แบบที่เนเธอร์แลนด์ทำ แม่น้ำในฤดูปกติมันขนาดนึง พอหิมะละลายมันก็อีกขนาดนึง มันเลยเล่นเป็นสเต็ป สเต็ปหน้าสุดก็สู้ด้วยการยกบ้านขึ้น แต่ของเราเล่นแบบแพง คุณสร้างกำแพงเมตรละแสนสองแสน กับเอาสตางค์ไปดีดบ้านเขา แล้วให้น้ำมันผ่านเป็นสเต็ป ให้น้ำมันท่วมแบบพอรำคาญ ไม่ท่วมสูง ลองคิดอย่างนั้นได้มั้ย

ถ้าไม่ท่วมเลย มันต้องทุ่มเทมากเกินไป และประโยชน์ของน้ำท่วมมันก็มี มันก็มาชำระมลทิน เติมตะกอนใหม่ ทำให้ดินฟูขึ้น ช่วยลดปัญหาการทรุดตัว รักษาระดับบาดาลบ่อตื้น ถ้ามันไม่ท่วมวิบัติ สักสามสิบถึงห้าสิบเซนติเมตรกำลังดี แต่ถ้าคุณจะสร้างกำแพงสูงเมตรสองเมตร ผมว่ามันไม่คุ้ม เมตรนึงเป็นแสน เพื่อสู้กับน้ำหลากเดือนสองเดือนเนี่ยนะ

ผมไม่ได้มีคุณวุฒิทางการศึกษาอะไรที่จะไปเอ่ยอ้างได้ แต่ผมอยู่ในเมืองแบบนี้ เมืองแค่ท่วมรำคาญ มันก็จะเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ตุลา ทุกช่วงน้ำเกิด ตั้งแต่ 12 – 15 ค่ำ มันจะขึ้นพีกสุดช่วงแรม 3 – 4 ค่ำ ถ้าฝนตกแล้วน้ำขึ้นมาบวกในตอนเช้า เดือนนึงเราจะเสี่ยงกับน้ำประมาณ 10 วัน แต่เสี่ยงโดยไม่ป้องกันต่อสู้ หาที่ให้น้ำเขาไป บรรพบุรุษเราขุดดินให้น้ำอยู่ ขุดอู่ให้น้ำนอน ไม่ใช่ถมดินให้คนอยู่ คนมีตังค์ก็ถมที่ไป บ้านคนจนหรือบ้านเก่าก็โดนน้ำเซาะไป หาทางอยู่ร่วมกับมัน มันฉลาดกว่า ยั่งยืนกว่า เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

กลับมาเรื่องลอยกระทง เราควรทำอย่างไรดีในเทศกาลนี้

มันเป็นประเพณี ก็ต้องเปลี่ยนแปลงได้นะ ไม่ใช่ว่าเราจะสตัฟฟ์มันไว้ แต่เราต้องทำความเข้าใจว่าทำไมเราถึงเคารพนับถือน้ำเป็นแม่คงคา สิ่งที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้คนหมู่มากเป็นแม่ทั้งนั้น แม่โพสพ แม่คงคา แม่ย่านางเรือ เป็นเพศหญิงทั้งนั้น เป็นผู้มีคุณ แล้วทำไมเราถึงกลายเป็นโรคกลัวน้ำไปได้ เพราะความคิดเห็นเราเปลี่ยน อาชีพเราเปลี่ยน ไม่ใช่เกษตรกร จึงไม่เข้าใจ แต่จริงๆ มันมีผลเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าพี่น้องเกษตรเดือดร้อน คนเมืองก็เดือดร้อนอยู่ดี มันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นกระบวนธรรมทางเหตุและปัจจัยของธรรมชาติ ซึ่งถ้าคิดแบบตะวันออกคืออยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้อง แต่ถ้าคิดแบบตะวันตกคือต่อสู้เอาชนะมันในชาตินี้ คุณจะเอาแบบไหน

เมื่อบ้านเมืองหลงทิศผิดทางมาขนาดนี้ จะไปเปลี่ยนทุกอย่างคงไม่ได้ มันเลยเถิดมาแล้ว ก็ต้องมาดูว่าองค์ความรู้ไหนของแต่ก่อนที่มันยังสวมได้ ไปสะสางให้มันทำหน้าที่ของมัน

สำหรับกระทง ก็ต้องใช้วัสดุธรรมชาติ แถวบ้านผม ตำแหน่งที่ลมพัดไปตลิ่งมีถุงพลาสติกมหาศาล แล้วมันไปกองอยู่ในทะเลด้วย อะไรที่ย่อยสลายไม่ได้อย่าได้ไปใช้ มันไปเพิ่มขยะ อย่างทางตากเขาใช้กะลาจุดเทียนลงไป ลอยกระทงสาย บ้านผมใช้กาบกล้วยท่อนนึง เอาธูปชุบน้ำมันผึ่งแดดมาปัก อย่างนี้มันย่อยสลายได้ ทำกระทงด้วยกาบกล้วยใบตองมันก็ยังโอเค มันก็เป็นความสุขทางใจนะ วัฒนธรรมน่ะ แต่ให้เข้าใจหน่อยว่าน้ำเนี่ยโคตรสำคัญเลย แล้วการแย่งน้ำมันเกิดขึ้นแน่ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาคุณภาพน้ำ

“น้ำมันมีสี่มิตินะ คือน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย
และการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ถ้าทั้งสี่มิติมันยังทำงานได้ ความมั่นคงทางอาหาร
ความหลากหลายทางชีวภาพก็ยังคงอยู่ไง ประชาชนก็จะดูแลตัวเองได้ ถ้าแม่น้ำเราไม่ป่วย
ระบบนิเวศปากแม่น้ำเป็นระบบที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ศักยภาพการผลิตมันสูงมาก
แถวบ้านผม คอกหอย ดอนหอยหลอดที่เป็นหมื่นๆ ไร่ ประชาชนไม่ต้องไถหว่าน
วัฏจักรน้ำหลากมาเติมสารอาหารให้ ถ้าน้ำนั้นดี ผลผลิตมันสูงกว่านาข้าว
กว่าอะไรบนบกอีก ในทะเลตมปากแม่น้ำ ปากอ่าว ก ไก่ นี่มันเป็นสุดยอดแหล่งอาหาร
แม่น้ำคือชีวิตไม่ใช่โวหาร เป็นเรื่องจริง”

สุรจิต ชิรเวทย์ เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำของเมืองไทยคนนี้ยังเป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ. 2546 – 2549 ผู้เขียนหนังสือ ‘คนแม่กลอง’, ‘ระบบนิเวศสามน้ำ’, ‘คนแม่กลองไม่เอาโรงไฟฟ้า’ ฯลฯ อาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยต่างๆ
แกนนำเครือข่ายประชาชนคนรักแม่กลอง อนุกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง และอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรทะเลและชายฝั่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย

ภาพ กานต์ วรรธนะพินทุ

AUTHOR