ทางเลือกที่เหลืออยู่

คนจำนวนมากทยอยเดินเข้าห้องอเนกประสงค์
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก่อนหน้างานเริ่มเป็นชั่วโมง

จำนวนคนยังแน่นและแทบไม่มีใครเดินออกระหว่างงาน
สื่อมวลชนลงข่าวเกี่ยวกับงานนี้บน facebook แทบจะทันทีหลังงานจบ
เห็นแล้วก็รู้ว่าสังคมกำลังสนใจเรื่องนี้มากแค่ไหน

กิจกรรม
รวมพลคนไม่เอาทางเลียบแม่น้ำ 14 กม. จัดขึ้นวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2559
จัดโดยกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ
ซึ่งก็คือกลุ่ม Friends
for the river เดิมรวมตัวกับองค์กรภาคประชาชนจำนวนมาก
ไฮไลท์ของงานคือการเสวนาหัวข้อ ‘โครงการทางเลียบแม่น้ำ สร้างสรรค์ หรือทำลาย’
มีวิทยากรระดับประเทศเข้าร่วมคับคั่ง ได้แก่ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ปราชญ์แห่งสยาม, ปราโมทย์
ไม้กลัด ที่ปรึกษาในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี
ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม, นิวัติ กองเพียร นักเขียนและนักวิจารณ์, ยรรยง
บุญหลง สถาปนิกชุมชน นักเขียน และนักวิจัยรุ่นใหม่, ธารา บัวคำศรี
ผู้อำนวยการรณรงค์ของ Greenpeace Southeast Asia และ ศศิน เฉลิมลาภ
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

รัฐบาลประกาศจะทำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามานานและยังเดินหน้าต่อแม้จะได้รับเสียงคัดค้านมากกว่าสนับสนุน
ล่าสุดทางเลียบแม่น้ำกลายเป็นกระแสสังคมเมื่อทีมงานจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
(สจล.) ซึ่งรับผิดชอบโครงการเผยหน้าตาของพิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร
หรือ วิมานพระอินทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
กลุ่มสถาปนิกแทบทุกส่วนออกมาคัดค้านและตั้งข้อสังเกตว่าลอกเลียนจากงานสถาปัตยกรรมชั้นนำของโลก
โครงการนี้จึงกลายเป็นกระแส ‘ดราม่า’ ครั้งใหญ่ แม้สจล.จะประกาศถอดแบบเจ้าปัญหาออก
แต่เสียงคัดค้านเรียกร้องให้ยุติโครงการก็ไม่เบาลงเลย

ข้อมูลจากงานเสวนาได้รับการเผยแพร่ตามสาธารณะบ้างแล้ว
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีบางประเด็นเกี่ยวกับโครงการนี้ที่ยังไม่ค่อยถูกพูดถึง
และเป็นประเด็นที่ทุกคนในสังคมควรสนใจไม่แพ้งานสถาปัตยกรรมเจ้าปัญหาอย่างวิมานพระอินทร์เลย

การแข่งกับเวลา

ยศพล บุญสม ตัวแทนจาก FOR พูดตอนเริ่มงานว่า
สจล.จะส่งแบบให้กรุงเทพมหานคร
วันที่ 26 ก.ย. พ.ศ.
2559 ขั้นตอนต่อไปคือการเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนเข้ามาทำงาน
ถ้ากำหนดเป็นไปตามนี้ เดือนมกราคมปีพ.ศ. 2559 เราจะได้เห็นเสาตอม่อต้นแรก
ปลายปีพ.ศ.
2561 โครงการก็จะสร้างเสร็จ
มีแนวโน้มว่าเราจะได้เห็นรัฐบาลในโครงการนี้เป็นเครื่องมือในการประกาศคืนความสุขให้ประชาชน
โดยไม่สนใจคำชี้แนะและคัดค้านแม้แต่น้อย

จากข้อมูลในการนำเสนอแบบล่าสุด
ความกว้างของทางริมน้ำอยู่ที่ 10 เมตร ซึ่งขนาดใกล้เคียงกับถนนสามเสน
เสาตอม่อมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซ็นติเมตร
ถ้าสร้างเสร็จแม่น้ำเจ้าพระยาจะแคบลง 10% ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำแรงขึ้น
กัดเซาะแผ่นดินรุนแรงขึ้น

โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาถูกวิจารณ์ว่าเป็นโครงการที่มีธงอยู่แล้ว
ค้านยังไงก็จะสร้าง แต่กระนั้นโครงการนี้ก็ถูกเลื่อนกำหนดการก่อสร้างมาเรื่อยๆ
ส่วนหนึ่งเพราะการรวมตัวต่อต้านโดยสถาปนิกแทบทุกฝ่ายในประเทศ รวมถึงประชาชนที่สนใจ
แต่การเร่งรีบของโครงการคราวนี้ดูจะเป็น ‘ของจริง’ เพราะทีมงานต้องเร่งรัดให้ทันตามกำหนดเวลาช้าที่สุดที่กำหนดไว้

ศศิน เฉลิมลาภ
จากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเปิดเผยข้อมูลน่าตกใจว่า ตอนนี้มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เตรียมผุดตามแนวทางเลียบแม่น้ำ
(เหมือนคอนโดมิเนียมที่ขึ้นตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า) ราวกับรู้ว่าโครงการจะเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน

ปัจจุบันกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ Friends
of the river ได้ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนจำนวนมาก
จนกลายเป็นกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ พวกเขากำลังทำงานเบื้องหลังทุกวิถีทางเพื่อเสนอแนะให้ผู้เกี่ยวข้องทบทวนโครงการ
แม้ว่าเวลาจะเหลือน้อยลงทุกที

ผลกระทบทางธรรมชาติ
อันตรายที่กำลังมา

คนทั่วไปอาจคิดว่า
โครงการทางริมแม่น้ำ 14 กิโลเมตร ไม่ควรสร้างเพราะมันไม่สวย
และทำลายชุมชนริมน้ำ

แต่ยังมีอันตรายอีกด้านที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง
แต่เป็นประเด็นสำคัญและมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกับทุกชีวิตตามแนวแม่น้ำ
นั่นคือผลกระทบทางธรรมชาติที่จะส่งผลให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป

ธารา บัวคำศรี ตัวแทนจาก Greenpeace
Southeast Asia กล่าวว่าหากโครงการนี้ซึ่งกินพื้นที่ไปถึงรอยต่อระหว่างเขตบางนาและจังหวัดสมุทรปราการเสร็จสิ้น
จะส่งผลเสียต่อกรุงเทพฯ มาก ปัจจุบันมีผลการศึกษาของธนาคารโลก (Worldbank)
ระบุว่าหากกรุงเทพฯ
ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในปีพ.ศ. 2593 ระดับน้ำในทะเลอ่าวไทยจะสูงขึ้น
0.92 เมตร
ดินจะทรุดลงเร็วกว่าปกติประมาณ 0.3 เมตรต่อปี พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจะมีมากขึ้นประมาณ
180 ตารางเมตร
หรือร้อยละ 30 โดยส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ
สร้างความเสียหายได้เป็นมูลค่านับแสนล้านบาท

ถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น
น้ำในแม่น้ำจะไหลแรงขึ้น คลื่นกัดเซาะฝั่งจะแรงขึ้น
เท่ากับช่วยเร่งปฏิกิริยาการทรุดตัวของเมืองให้แย่ลงไปอีก ยังไม่นับอีกหลายปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนริมแม่น้ำ

วิทยากรหลายท่านในงานเสวนาพูดตรงกันว่า
คนโบราณรู้ว่าเราอยู่ในเมืองที่ติดกับน้ำ
พวกเขาจึงมีภูมิปัญญาในการก่อสร้างบ้านแบบคนเข้าใจแม่น้ำ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองสมัยรัตนโกสินทร์ยึดรากฐานการสร้างสืบต่อมาจากกรุงศรีอยุธยาซึ่งสร้างเมืองอิงกับแม่น้ำเป็นหลัก
แม่น้ำจึงเป็นเหมือนรากเหง้าและจิตวิญญาณของเรา ศศิน เฉลิมลาภ
ได้ยกข้อมูลสนับสนุนว่าคนสมัยก่อนสร้างบ้านริมน้ำโดยปล่อยให้น้ำเข้าใต้ถุน
แต่คนปัจจุบันไม่รู้จักวิธีการอยู่กับน้ำ เมื่อน้ำเข้าท่วมก็กั้นกำแพงและใต้ถุนเพราะกลัวน้ำท่วม

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจแม่น้ำ
และผลกระทบทางธรรมชาติจากโครงการนี้จะร้ายแรงกว่าที่เราคิดหลายเท่า

ทางเลียบแม่น้ำระยะทาง 14 กิโลเมตรจึงเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง
ปัญหาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเราในอนาคตข้างหน้า

ทางเลือกที่เหลืออยู่

“เราอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน
นี่คือเป้าหมายร่วมที่พวกเราอยากเห็น ประชาชนต้องเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา
มีความเท่าเทียมในการพัฒนา การยุติจะนำไปสู่การวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวข้อง
การทำทางริมน้ำอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด เราควรมีทางเลือกอื่น” ยศพล
ตัวแทนจากกลุ่มสมัชชาแม่น้ำ พูดเพื่อย้ำจุดประสงค์ของการคัดค้าน
เพื่อให้โครงการยุติและหันมาทบทวนวิสัยทัศน์ในการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยากันใหม่

ที่จริงแล้ว
หากเป้าหมายของโครงการคือการให้คนเข้าถึงแม่น้ำ ออกไปเดินเล่น ขี่จักรยาน
หรือใช้เวลาร่วมกัน ยังมีชุมชนบางแห่งที่เสนอทางเลือกเป็นการเปิดพื้นที่
โดยใช้เส้นทางน้ำที่มีอยู่แล้วอย่าง คลอง เป็นเครื่องมือสำคัญ

คลองเป็นเหมือนเส้นเลือดของเมืองที่ถูกมองข้าม
คลองหลายแห่งในกรุงเทพฯ ถูกทอดทิ้ง หากมีโครงการพัฒนาคลองที่ดี ทำระบบขนส่งมวลชนทางเรือให้น่าใช้และปลอดภัยจริงๆ
มันจะช่วยลดปัญหาจราจร
แก้ปัญหารถติดที่คนส่วนใหญ่เห็นว่ามันคือปัญหาของเมืองที่ไม่มีวันแก้ได้

การพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการใหญ่
เกี่ยวพันกับหลายชีวิต จำเป็นต้องใช้เวลานานกว่านี้เพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
เมื่อใช้เวลามากขึ้น เราก็จะมีทางเลือกมากขึ้นกว่าการสร้างทางริมน้ำที่ขาดความรู้
ความเข้าใจ และเร่งสร้างเพื่อให้เสร็จๆ ไปโดยมีนัยยะแอบแฝงที่ประชาชนไม่รู้

หากเราอยากมีเมืองน่าอยู่
อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากรู้สึกดีใจที่ได้อยู่ในเมืองน้ำแห่งนี้ ต้องเริ่มจากการตั้งสติ
ทบทวน และดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

นี่คือทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่
ก่อนที่เราจะทำร้ายแม่น้ำเจ้าพระยาไปมากกว่านี้

ร่วมลงชื่อสนับสนุนกิจกรรมและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่ม FOR ได้ ที่นี่ หรือลงชื่อเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย ‘สมัชชาแม่น้ำ’ (River Assembly; RA) ได้ ที่นี่

AUTHOR