IT’S TIME TO TRY DEFYING GRAVITY

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็ก
จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อไปถึงอนาคต คือ โจทย์ที่ถูกต้อง จากการวิเคราะห์ปัญหาที่เป็นอยู่
เพื่อหาความเป็นไปได้ในการการแก้ไขปัญหานั้นอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ที่สำคัญ
โจทย์ดังกล่าวต้องเกิดจากการศึกษาความต้องการของผู้ที่จะต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างจริงจัง
ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความ ‘จริงใจ’ ในการศึกษาอย่างรอบด้านและถี่ถ้วน

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยา
(รวมไปถึงแม่น้ำสายอื่นๆ) คนที่ต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่แค่คนที่อยู่ติดริมน้ำ
แต่หมายถึงประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในสังคมนี้
เพราะหากเปรียบสายน้ำเป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน
เมื่อแม่น้ำสายหลักเกิดการเปลี่ยนแปลง
แขนงและกิ่งก้านสาขาของแม่น้ำที่แตกออกไปจากตัวมันย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย-ไม่มากก็น้อย

ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดคือคันกั้นน้ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ถูกสร้างขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำไหลเอ่อเข้ามาท่วมบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครในอนาคต
ฟังดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ดีหากมองในมุมของคนกรุงเทพฯ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากปากคำของชาวนครปฐมในบริเวณลำน้ำอีกสายที่อยู่ใกล้เคียงกับแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแม่น้ำท่าจีน
การสร้างคันกันน้ำโดยไม่ศึกษาผลกระทบรอบๆ
อาจทำให้ชีวิตของพวกเขาลำบากขึ้นจากระดับน้ำที่อาจเอ่อล้นเข้าพื้นที่ในอนาคตหากเกิดอุทกภัยอีกครั้ง
เพียงเพื่อป้องกันเมืองหลวงจากน้ำที่อาจไหลเข้าท่วมพื้นที่

“เราเป็นผู้รับชะตากรรมจากการพัฒนาที่ไม่เคยถามเราว่าภาพรวมจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่จะส่งผลกับถิ่นที่อยู่ของคนนครปฐม
แต่ยังเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรม และการขนส่งทั้งหมด สิ่งใดที่เกิดขึ้นกับเจ้าพระยาจะส่งผลกับคนนครปฐมด้วย” ประเชิญ คนเทศ ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีนกล่าวในวงเสวนางานเปิดตัวกลุ่มสมัชชาแม่น้ำที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงแม่น้ำที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่อื่นๆ
ที่อยู่รายรอบ
แต่ยังเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดถึงแนวคิดการพัฒนาของผู้มีอำนาจ
ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยหรือรัฐบาลไหนๆ ก็มักจะมีแนวคิดสั่งการจากบนลงล่าง
นั่นคือการคิดโจทย์จากความต้องการบางอย่าง เพื่อกลายเป็นแนวทางแก้ปัญหาอย่างไม่สนใจเสียงของประชาชน
ทั้งที่สิ่งที่ควรเป็นคือการพัฒนาอย่างร่วมมือกันจากล่างสู่บน จากเสียงของประชาชน
เพื่อนำไปสู่การตั้งโจทย์และศึกษาอย่างรอบด้านเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคนอย่างแท้จริง

ภายใต้ภาพของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังดำเนินการศึกษาย่างเข้าเดือนที่
4 ก่อนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในต้นปีหน้า
สิ่งที่เราไม่เคยรู้คือ ‘โจทย์’ ของภาครัฐที่ซ่อนอยู่ภายใต้สัญญาจ้างในการลงพื้นที่ดำเนินการศึกษากับชุมชนโดยรอบ
นั่นคือการออกแบบทางเดินและทางจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยต้องทำให้สามารถรองรับระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้เครื่องยนต์
รวมไปถึงรถดับเพลิง รถพยาบาล รถกู้ภัย ฯลฯ ได้ด้วย
(ข้อมูลจากเอกสารรายการข้อกำหนด [TOR] งานจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หน้า 17)

เมื่อโจทย์ที่ว่ายังคงมาจากความคิดในการใช้อำนาจเพื่อเนรมิตทางเลียบแม่น้ำแบบที่รัฐต้องการ
การลงพื้นที่กับชุมชนโดยรอบของคณะศึกษาโครงการคงไม่เกิดประโยชน์อะไร
เพราะเมื่อรัฐมีธงอยู่ในใจ เสียงของคนเล็กๆ
ในพื้นที่และเสียงของประชาชนอีกมากที่อยากให้โครงการนี้ดำเนินไปอย่างโปร่งใส
คงเป็นได้แค่ไม้ประดับในโครงการ
เพื่อให้ได้ชื่อว่านี่คือการฟังเสียงจากประชาชนเรียบร้อยแล้วเท่านั้นเอง

สิ่งที่พวกเราในฐานะประชาชนเจ้าของเงินภาษีและเจ้าของอนาคตที่จะต้องอยู่ร่วมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
คือการรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจได้รับรู้ว่าการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นเชิงนโยบายบริหาร หรือการสร้างสิ่งปลูกสร้างราคาเหยียบหมื่นล้าน
เสียงของประชาชน และการตั้งโจทย์จากการศึกษาความต้องการ
รับรู้ความคิดเห็นของทุกคนจากล่างสู่บน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เป็นใคร
หรือทำอาชีพอะไร ล้วนเป็นสิ่งที่จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างโปร่งใสและยั่งยืน

เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจรัฐที่นั่งอยู่ในกระทรวงไปจนถึงชาวบ้านตาดำๆ ที่อยู่ในบ้านริมน้ำ
ทุกคนล้วนอยากใช้ชีวิตร่วมกันในอนาคตกับผลลัพธ์ที่ดี ที่เกิดขึ้นจาก ‘โจทย์’ ที่ดีกันทั้งนั้น
จริงไหม?

ร่วมลงชื่อสนับสนุนกิจกรรมและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่ม FOR ได้ ที่นี่ หรือลงชื่อเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย
‘สมัชชาแม่น้ำ’ (River Assembly; RA) ได้ ที่นี่

ภาพ ช่อไพลิน ไพรบึง

AUTHOR