ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์อาจต้องเปลี่ยน

ก่อนจะเริ่มต้นคุยกันว่าแม่น้ำสายหลักของประเทศอย่าง
‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ ควรเปลี่ยนแปลง (หรือไม่เปลี่ยน) ไปอย่างไรในอนาคต
สิ่งที่เราต้องกลับมาเรียนรู้และศึกษากันให้ลึกซึ่งอีกครั้ง
คือเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายใต้สายน้ำแห่งนี้ เพราะแม้ว่าในทางกายภาพ
แม่น้ำอาจเป็นเพียงเส้นทางของน้ำที่ไหลตัดผ่านแผ่นดิน
แต่มากไปกว่าความรู้ทางชีววิทยา เมื่อน้ำเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่งบนโลก – ‘ชีวิต’
ที่ก่อให้เกิด
‘วิถี’ อันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงควบคู่ไปกับหน้าตาของสิ่งที่จะเปลี่ยนไป

หากว่ากันตามแบบเรียนวิชาภูมิศาสตร์
แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำ 4 สายจากภาคเหนือ ได้แก่แม่น้ำปิง วัง
ยม และน่าน มาบรรจบรวมกันที่จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะขยายความกว้างและไหลลงมาเป็นความยาวกว่า
300 กิโลเมตร ผ่าน 10 จังหวัดในภาคกลาง เพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมถึง 1 ใน 3 ของประเทศ
(ถ้านับจำนวนผลผลิต
พื้นที่เท่านี้ก็สามารถเลี้ยงปากท้องคนครึ่งประเทศไทยให้อิ่มได้) ก่อนจะไหลออกสู่ทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่แม่น้ำหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีความสำคัญกับวิถีชีวิตของมนุษย์
เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหนๆ ของโลก
เรามักเลือกตั้งถิ่นฐานและสร้างชุมชนเมืองโดยเลือกจากพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้อย่างสะดวก
ย้อนอดีตไล่ไปตั้งแต่ชุมชนเมโสโปเตเมียที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มน้ำไทกริส-ยูเฟรติส,
เมืองเก๋ๆ
ของชาวแฟชั่นอย่างปารีสที่อยู่ติดกับแม่น้ำแซน หรือกรุงลอนดอนที่มีแม่น้ำเทมส์หล่อเลี้ยงอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง

เมื่อมีผู้คนมาอาศัยอยู่รวมกัน
นอกจากแม่น้ำจะเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อหล่อเลี้ยงปากท้อง เป็นเส้นทางระบายน้ำของชุมชนในยุคที่ระบบประปายังไม่เพียบพร้อม
และเป็นพื้นที่เดินทางสัญจรในยุคก่อนการจราจรทางบกจะเฟื่องฟู
เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนยุคก่อนหลากหลายสายยังเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมและวิถีชีวิตริมน้ำที่สร้างเอกลักษณ์
ตัวตน และวัฒนธรรมริมน้ำให้กับเมืองแต่ละเมือง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นอกจากภาพของชีวิตของชุมชนริมน้ำในอดีต
วัฒนธรรมของคนไทยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับสายน้ำ
รวมไปถึงภาพของแม่น้ำในการเป็นเส้นทางสัญจรหลักของผู้คน ทั้งการเดินทางและค้าขาย (ภาพของเรือที่มีอยู่ทุกบ้านน่าจะเป็นหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด) ความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยายังปรากฏให้เห็นเมื่อครั้งที่การพัฒนาของโลกยุคใหม่เริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่
4 ถึงรัชกาลที่ 5 ผ่านการเข้ามาของเทคโนโลยีการเดินทางที่ทำให้ถนนหนทางแบบต่างๆ
ถูกสร้างขึ้นบนบกเพื่อรองรับทั้งรถยนต์ รถราง และรถไฟ

เพราะถึงแม้วิถีชีวิตของผู้คนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจคือรูปแบบของการพัฒนาระบบถนนหนทางและสิ่งปลูกสร้างเมื่อวิถีชีวิตถูกย้ายลึกเข้าไปห่างจากริมฝั่งแม่น้ำในยุคนั้น
เพราะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การพัฒนาเหล่านี้ถูกคิดขึ้นโดยยังคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงแบบ
‘ค่อยเป็นค่อยไป’ และยังนึกถึงบริบทโดยรอบของชีวิตริมฝั่งน้ำ
เช่นการสร้างถนนเจริญกรุงตอนนอกให้ขนาบข้างไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่เว้นระยะเข้ามาเพื่อไม่ให้กระทบชุมชนริมแม่น้ำ
หรือการเลือกพื้นที่ในการสร้างพระราชวังใหม่ให้ลึกเข้ามา
เพื่อไม่ให้กระทบกับโบราณสถานและชุมชนข้างสายน้ำ

น่าเสียดายว่าหลังจากยุคเริ่มแรกของการพัฒนา
การเติบโตของเมืองที่เพิ่มมากขึ้นกลับละเลยความสำคัญของชีวิตริมน้ำ
ชุมชนมากมายที่แฝงตัวอยู่ขนาบ 2 ฝั่งแม่น้ำถูกละเลย ไม่ได้รับความสำคัญเท่ากับพื้นที่เศรษฐกิจในตัวเมือง
และเมื่อเรามีความคิดที่จะเริ่มพัฒนาแม่น้ำ
โจทย์ใหญ่ที่เริ่มคิดกลับเป็นการสร้างวิธีการเข้าถึงแม่น้ำด้วยความรีบเร่ง
โดยให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมริมน้ำเพียงเล็กน้อย
หรือรื้อถอนชุมชนริมแม่น้ำที่บางครั้งยังมีเอกลักษณ์และวิถีชีวิตคงเหลืออยู่ในนั้น
เพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเพียงให้คนเมืองมาเดินชื่นชม

จะดีกว่าไหมถ้าการพัฒนาแม่น้ำสายหลักที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนจะถูกตั้งต้นด้วยการศึกษาความเป็นมาของการใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำ
และพัฒนาวิธีการปรับปรุงแก้ไขให้แม่น้ำเจ้าพระยาของพวกเราดีขึ้นจากความร่วมมืออย่างไม่รีบร้อนของทุกฝ่ายอย่าง
ทั้งภาครัฐ ชุมชนริมน้ำ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมไปถึงเสียงของพวกเราทุกคน
เพื่อสร้างประวัติศาสตร์ของแม่น้ำยุคใหม่
ที่ยังคงความงดงามของวิถีชีวิตดั้งเดิมควบคู่กันไป

นี่อาจเป็นหนทางเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์แม่น้ำเจ้าพระยาของพวกเราที่ดีกว่า
เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของแหล่งกำเนิดวิถี ‘ชีวิต’

ร่วมลงชื่อสนับสนุนกิจกรรมและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่ม FOR ได้ที่นี่

ภาพประกอบรวบรวมโดย ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง

AUTHOR