5 เหตุผลง่ายๆ จากชุมชนริมน้ำที่ไม่ควรสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

ประชาชนทุกคนต่างเป็นเจ้าของแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกัน แต่แม่น้ำอาจมีความหมายพิเศษกับคนบางกลุ่ม
ไม่ใช่แค่วิวสวยๆ หรือทางผ่านไปทำงาน แต่เป็นหน้าบ้าน เป็นหลังบ้าน
เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอย่างแยกไม่ออก
เมื่อทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาถูกสร้างขึ้น
คนที่อยู่ในชุมชนริมน้ำคือบุคคลกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากทางเลียบฯ และจะต้องอยู่กับโครงการนี้ยาวนานที่สุด

a
day นัดพบตัวแทนจาก 3 ชุมชนที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ระวีวรรณ
สมิตะมาน
ตัวแทนกลุ่มประสานงานชุมชนบ้านปูนมาพร้อมหนังสือข้อมูล อรศรี
ศิลป์
และ พิมพ์ศิริ สุวรรณนาคร ประธานประชาคมบางลำพูและประธานชุมชนตรอกบ้านพานถมมอบเหตุผลสนับสนุน
ขณะที่
สาธิต ดำรงผล และ ประมาณ มุขตารี ตัวแทนจากชุมชนบางอ้ออธิบายผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
พร้อมประสบการณ์จริงจากเขื่อนกั้นแม่น้ำที่กรุงเทพมหานครเคยสร้างไว้ที่ชุมชน

1. เกิดกำแพงกั้นแม่น้ำ

วิวแม่น้ำกว้าง อากาศบริสุทธิ์เย็นๆ ข้างบ้าน การพึ่งพาอาศัยแม่น้ำของชุมชนจะหายไปทันทีเมื่อทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มลงเสาเข็ม ทางเดินหรือทางจักรยานกว้าง 7 – 10 เมตร ที่จำเป็นต้องสูงกว่าระดับน้ำขึ้นสูงสุดจะกลายเป็นถนนสูงระดับหลังคาเรือน นึกภาพง่ายๆ ก็เหมือนมีกำแพงยักษ์ขวางกั้นบ้านเรือนกับแม่น้ำ ซึ่งทำลายทัศนียภาพชุมชนทั้งหมด ทำให้อากาศในชุมชนร้อนขึ้น โครงสร้างบ้านเรือนพังทลายจากการกัดเซาะของคลื่นที่รุนแรงขึ้น และเกิดน้ำเสียกักขังใต้โครงสร้างซึ่งจะเป็นที่สะสมขยะในเวลาต่อมา

ผลเสียทั้งหมดนี้เกิดขึ้นแล้วจากเขื่อนกั้นน้ำบริเวณชุมชนมุสลิมบางอ้อ แต่ปริมาณผลกระทบนั้นเทียบไม่ได้เลยกับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กินพื้นที่กว่า 14 กิโลเมตร

2. ทำลายธรรมชาติ

ริมน้ำเจ้าพระยาไม่ใช่น้ำเสียไปทั้งหมด
ยังมีน้ำสะอาด สัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง
และพืชน้ำต่างๆ ในระบบนิเวศที่ยังหล่อเลี้ยงชุมชนกรุงเทพมหานครน่าอยู่ แต่ถนนกลางน้ำจะทำลายสิ่งแวดล้อมสองฝั่งแม่น้ำอย่างถาวร
ไม่มีที่พักให้สัตว์น้ำพักวางไข่ สร้างมลพิษทางอากาศและทางเสียงให้กับชุมชนระหว่างการก่อสร้าง
และจะส่งผลกระทบระยะยาวไปตลอดเส้นทางน้ำ

3. ทำลายเส้นทางสัญจรของชุมชน

ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
บ้านริมน้ำต่างมีเรือไว้ใช้เดินทาง แม้จะเปลี่ยนมาใช้รถใช้ถนนมากขึ้น
การเดินทางทางน้ำยังเป็นสิ่งจำเป็น ทางเลียบแม่น้ำจะทำให้แม่น้ำแคบลง
และเปลี่ยนแปลงเส้นทางสัญจรของชุมชนริมน้ำที่เคยใช้เรือเดินทางได้อิสระ
เป็นการบีบบังคับให้ประชาชนใช้เส้นทางบก ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนบุคคลของคนในชุมชน

4. ทำลายเอกลักษณ์ชุมชนริมน้ำ

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับสายน้ำถูกตัดขาด
วัฒนธรรมหรือการพึ่งพาอาศัยแม่น้ำที่มีมายาวนานจะหายไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางเลียบแม่น้ำที่ผลักดันให้ชุมชนหันหลังให้เจ้าพระยา
ย่อมไม่สามารถเชื่อมต่อผู้คนใหม่ๆ ที่เข้ามากับเรื่องราวของชุมชน หรือมิติทางวัฒนธรรมที่ทำให้พื้นที่ริมน้ำมีความหมาย

5. มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า

พื้นที่สาธารณะริมน้ำเจ้าพระยา เช่น
สวนสาธารณะ ศาสนสถานต่างๆ เป็นสถานที่เปิดให้ผู้คนมาทำความรู้จักแม่น้ำและชุมชนอยู่แล้ว
สามารถต่อยอดด้วยการดีไซน์ทางจักรยานและลานกิจกรรม เช่น
เริ่มต้นปั่นจากสวนสันติไชยปราการที่บางลำพู
แล้วจัดเส้นทางให้เข้าถึงแม่น้ำตามช่วงต่างๆ ผ่านโบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยว
และเข้าไปทำความรู้จักกับวิถีชุมชน เป็นวิธีการที่ไม่ทำให้ชุมชนเดือดร้อน และใช้งบประมาณน้อยกว่าการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำมาก

ปลูกสิ่งก่อสร้างไม่คุ้มหรอก มีวิธีอื่นที่ทำแล้วคุ้มกว่า แค่เชื่อมต่อแต่ละชุมชนแล้วเราจะได้นักท่องเที่ยวมาอีกเยอะแยะ ชุมชนไม่ได้รังเกียจคนนอก ไม่ได้ค้านแบบไม่เอาทุกอย่าง แต่เราอยากให้คิดถึงรอยต่อประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ของเส้นทางเจ้าพระยา คิดถึงชุมชนที่เปลี่ยนแปลงกระดุกกระดิกตลอดเวลา แม่น้ำเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรานะ ถ้ามีคนมาก่อสร้างสิ่งที่คุณไม่ต้องการในบ้านของคุณ คุณจะยอมไหม”

ตัวแทนเครือข่ายคนรักษ์เจ้าพระยา ชุมชนบ้านปูน ชุมชนบางลำพู และชุมชนบางอ้อ

ทุกแรงโหวตของทุกคนมีค่า ร่วมลงชื่อยับยั้งการสร้างโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้ที่นี่ : chn.ge/1tlD153

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR