แกะรอยสกุลช่างระยองผ่านมุมมองของอาจารย์ประวัติศาสตร์ศิลปะ

Highlights

  • รศ. ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นใหม่สายลุย เจ้าของหนังสือ ‘วัดร้างในบางกอก’ นำทีมนักวิจัยทางโบราณคดีเข้าไปฝังตัวศึกษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งศาสนสถานและชุมชนเก่าแก่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำระยอง
  • งานศิลปกรรมต่างๆ ที่พบในระยอง ส่วนใหญ่เป็นงานที่รับอิทธิพลมาจากอยุธยาและกรุงเทพฯ ช่างชาวระยองนำมาพัฒนาและสร้างงานในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
  • วิธีการทางประวัติศาสตร์ศิลปะทำให้เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นคติ ความเชื่อของผู้คน ไปจนถึงการนำอายุของศิลปกรรมในวัดต่างๆ มาตีความอายุชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงได้
  • โครงการ ‘เส้นทางแห่งความสุข’ GC มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างแหล่งศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมระยองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และสถานที่เก่าแก่ในระยองที่ได้รับการอนุรักษ์และขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ เรียกว่าเป็น ‘มรดกที่มีชีวิต’ (Living Heritage)

รศ. ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นใหม่สายลุยที่เคยเดินเท้าเข้า-ออกชุมชน เพื่อตามหาวัดเก่าที่ถูกทิ้งร้างตามลายแทงแผนที่โบราณ จนกลายมาเป็นหนังสือ ‘วัดร้างในบางกอก’ ซึ่งบอกเล่าร่องรอยและเรื่องราวที่ถูกหลงลืมไปของวัดร้างทั่วกรุงเทพฯ กว่า 20 แห่ง อีกเล่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ ‘อยุธยาในย่านกรุงเทพฯ ศิลปกรรมที่สัมพันธ์กับแม่น้ำลำคลอง’ ซึ่งแกะรอยงานศิลปกรรมเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ที่เรียงรายอยู่ตามขอบโค้งแม่น้ำลำคลองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ปีที่แล้วเขานำทีมนักวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะเข้าไปฝังตัวศึกษามรดกทางวัฒนธรรมทั้งศาสนสถานและชุมชนเก่าแก่ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำระยอง กะเทาะข้อมูลด้านงานช่างที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมซึ่งสืบต่อกันมายาวนานด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ตามโครงการวิจัยด้านศิลปกรรมและงานช่างเมืองระยอง ทำให้ได้องค์ความรู้พื้นฐานอย่างช่วงเวลาที่สร้าง คติความเชื่อในการสร้าง ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ และลักษณะเด่นของสกุลช่างศิลปกรรมเมืองระยอง เราจึงชวนเขามาพูดคุยลงลึกถึงกระบวนการทำงานอันยากลำบากและความสำคัญของสกุลช่างระยองที่น้อยคนนักจะรู้จัก

 

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาศึกษาเรื่องราวของสกุลช่างในระยอง

เกิดจากความร่วมมือของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ทำวิจัยในพื้นที่ระยอง คณะโบราณคดีมีโครงการวิจัย 4 โครงการ โครงการแรกเป็นเรื่องโบราณคดี ประวัติความเป็นมาของระยอง เส้นทางประวัติศาสตร์ โครงการที่ 2 เรื่องเอกสารโบราณสมุดไทยใบลาน โครงการที่ 3 เกี่ยวกับศิลปกรรมและงานช่าง โครงการที่ 4 คือชุมชนและชาติพันธุ์ในระยอง ภายในระยะเวลา 3 ปี ระยะแรกทำเสร็จไปแล้วคือที่ลุ่มน้ำระยอง ระยะที่สองคือลุ่มน้ำประแสร์ อำเภอแกลง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ตัวผมเองสอนประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่แล้วจึงเลือกทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะประวัติศาสตร์ศิลปะก็เกี่ยวข้องกับงานช่าง งานศิลปกรรมโบราณด้วย

ก่อนลงพื้นที่จริง คณะวิจัยต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรบ้าง

ศาสตร์ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นการศึกษาผ่านหลักฐานจากพื้นที่นั้น เราจึงไม่สามารถกระโจนลงไปในพื้นที่ได้เลยทันที เราต้องทำ literature review (การทบทวนวรรณกรรม) ก่อนว่าพื้นที่นี้เคยถูกกล่าวถึงไว้อย่างไรบ้าง หรือมีใครศึกษาไปขนาดไหนแล้ว เราต้องอ่านให้เยอะที่สุดเพื่อจะได้รู้เกี่ยวกับพื้นที่มากที่สุด แต่เราพบว่าระยองแทบไม่มีเอกสารไหนกล่าวถึงเรื่องศิลปกรรมเลย มีแต่เรื่องของพระเจ้าตากฯ สุนทรภู่ สวนผลไม้ และทะเล เรียกได้ว่าเริ่มต้นเราแทบจะไม่มีเอกสารอะไรเลย เราจึงเริ่มใหม่ เนื่องจากศิลปกรรมส่วนใหญ่จะเป็นแบบประเพณีซึ่งอยู่ตามวัดวาอาราม ใช้วิธีทำงานเชิงบัญชีหางว่าว มาไล่ดูว่าในระยองมีวัดกี่วัด แต่ละวัดมีประวัติยังไงบ้าง คัดเลือกวัดที่อายุ 50-100 ปีขึ้นไป หรือวัดที่มีความสำคัญทางภูมิศาสตร์ หรือการตั้งถิ่นฐานโบราณเราก็จะเลือกไว้ เมื่อลิสต์ชื่อวัดได้แล้วจึงเริ่มออกสำรวจ

แต่เราเห็นข้อจำกัดว่า หากทำแต่ศิลปกรรมในวัดมันจะตัน เพราะบอกได้แต่เรื่องศาสนาและภูมิปัญญาช่างที่เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ เราจึงแบ่งอีกส่วนหนึ่งมาศึกษาสถาปัตยกรรมชุมชนริมน้ำในอำเภอเมืองระยองที่เรียกว่า ‘ชุมชนยมจินดา’ ว่าการตั้งถิ่นฐานตรงนี้เป็นยังไง เพื่ออะไร อยู่กันมาตั้งแต่เมื่อไหร่

พอเราศึกษาเอกสารแล้ว เราก็สำรวจแบบปูพรมเลย นั่งรถเข้าไปดูทุกวัดให้ละเอียดที่สุด เพราะถ้าอะไรมันตกหล่นไป ข้อมูลอาจจะบิดเบือนได้ พอได้ข้อมูลมาแล้วเราก็จะกลับมาจัดระเบียบ งานวิจัยนี้เราเลือกแบ่งตามประเภทของงาน เช่น งานสถาปัตยกรรม ซึ่งแบ่งเป็นโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ประติมากรรม และจิตรกรรม ส่วนที่แยกออกมาเลยคือ สถาปัตยกรรมในชุมชนยมจินดา นี่คือวิธีการจัดระเบียบข้อมูล ดูว่ามันได้รับรูปแบบจากไหน ก็ต้องลองเอาไปเปรียบเทียบกับที่อื่น ถ้ามันคล้ายก็แสดงว่ามีอายุหรือฝีมือช่างเหมือนกัน

 

 

อะไรคือจุดเด่นของสกุลช่างที่เพิ่งค้นพบในจังหวัดระยอง

อธิบายคำว่า ‘สกุลช่าง’ ก่อนว่าจริงๆ แล้วคือลักษณะพื้นถิ่นที่พบเฉพาะพื้นที่ อย่างสถาปัตยกรรมอุโบสถแบบเก่าที่ระยองได้รับอิทธิพลจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วงอยุธยาตอนปลายนิยมก่อผนังโบสถ์สูง หลังคาโค้ง มีเพิงยื่นออกมาด้านหน้า ระยองรับอิทธิพลนี้มาพัฒนาและสร้างซ้ำๆ กันในท้องถิ่น ขณะที่กรุงเทพฯ หรืออยุธยาเลิกทำไปเป็นร้อยปีแล้ว แต่ระยองยังทำกันมาจนถึงปัจจุบัน มีหลังคาที่เรียกว่า ‘จั่นหับ’ หรือเพิงหมาแหงนที่ยื่นออกมาหน้าวัด เจอไม่ต่ำกว่าสิบวัดที่กระจายตัวอยู่ตามลุ่มน้ำระยอง ในกลุ่มนี้อุโบสถของวัดบ้านแลงน่าจะมีอายุเก่าที่สุด เพราะคล้ายโบสถ์อยุธยา วัดนาตาขวัญก็อายุไล่เลี่ยกัน อีกที่คือวัดตะพงใน วัดเขาโบสถ์ จะเป็นวัดรุ่นใหม่ช่วงรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ในเมืองมีวัดป่าประดู่ วัดลุ่มมหาชัยชุมพล และที่อุโบสถวัดโขด (ทิมธาราม) ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังด้วย แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งเวลาที่เราเข้าไปศึกษาในวัดที่มีพระอยู่คือ ของอาจจะถูกซ่อมได้ตลอดเวลา อาคารทรงเก่า แต่ปูนใหม่ กระจกใหม่ เราจึงไม่รู้ว่าโครงสร้างเดิมเก่าขนาดไหน

 

แล้วสกุลช่างของพระพุทธรูปในระยองเท่าที่พบมีข้อมูลอะไรน่าสนใจบ้าง

เราเจอกลุ่มพระพุทธรูปเก่าถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 ที่เพิ่งรับพุทธศาสนาเข้ามาใหม่ เรียกว่าศิลปะแบบฟูนัน หรือทวารวดีตอนต้น เป็นพระพุทธรูปสลักหินองค์เล็กๆ ที่วัดหนองกะบอก เป็นลักษณะแบบที่รับมาจากอินเดียสมัยแรกๆ เลย พระพุทธรูปลักษณะนี้เราเจอกระจายตัวตั้งแต่แม่น้ำโขงในกัมพูชา เวียดนาม ไล่มาเจอที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทยด้วย ซึ่งบอกได้ว่าระยองเป็นจุดที่มีอารยธรรมอินเดียเข้ามาในช่วงแรกๆ

อีกอันที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ด้วย คือเราไปเจอพระพุทธรูปทำจากหินทราย ซึ่งนิยมกันในศิลปะอยุธยาตอนต้น เจอที่วัดบ้านค่าย จึงบอกได้ว่าประวัติศาสตร์ของระยองเริ่มตอนที่เป็นเมืองในอาณัติของอยุธยาแล้ว มีการติดต่อด้านการค้ากัน พระพุทธรูปที่พบในระยองไม่มีลักษณะท้องถิ่นที่บ่งบอกว่าผลิตที่ระยอง แต่นำเข้ามาจากที่อื่นแทน

 

นอกจากนี้ยังมีอะไรอีกบ้างที่เป็นศิลปกรรมสกุลช่างระยองที่น่าสนใจ

มีวัดที่ถูกทิ้งร้างกลางเมืองระยองคือวัดจันทอุดมซึ่งเคยเป็นวัดหลวง ปัจจุบันกลายเป็นโรงพยาบาลระยองไปแล้ว ยังเหลือเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ส่วนเจดีย์กลางน้ำเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นแลนด์มาร์กที่ปากแม่น้ำระยองเหมือนกับพระสมุทรเจดีย์ในจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งคอนเซปต์และรูปแบบแสดงให้เห็นว่าระยะนั้นระยองเริ่มเจริญขึ้น มีการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ๆ ทรงระฆังตามเมืองหลวง

ส่วนจุดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังที่วัดโขด (ทิมธาราม) ซึ่งพบอยู่ที่เดียวคือ มีการวาดภาพตามแบบสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีรายละเอียดเยอะๆ เอกลักษณ์ของจิตรกรรมวัดโขดคือ เขาจะใช้เส้นวาดลงบนผนังปูนขาวๆ ลงสีเขียวจางๆ อ่อนๆ ซึ่งต่างจากจิตรกรรมประเพณีของไทยที่นิยมใช้สีแดง วาดเป็นทศชาติชาดก บางฉากเข้าใจว่าช่างตีความอ่านคัมภีร์และเขียนขึ้นมาเองซึ่งเป็นลักษณะเด่นของที่นี่ เพราะปกติช่างมักจะลอกของครูมาทั้งดุ้น แต่ที่วัดโขดมีบางตอนที่ไม่ใช่ขนบ เสียดายที่เราเจอแค่ที่เดียวเลยสรุปไม่ได้ว่าเป็นสกุลช่างเฉพาะหรือไม่

เราเจอสมุดไทยที่มีภาพจิตรกรรมเรียกว่า ‘สมุดพระมาลัย’ ที่เขียนคำสวดเรื่องพระมาลัย สวดพระอภิธรรม มีภาพประกอบ สมุดภาพพระมาลัยเราเจอที่วัดบ้านแลงเยอะมาก สมุดนี้มีการวาดพระ เทวดา ชาดกแบบประเพณี ปิดทองบนเครื่องประดับ ระบายสีฉากทึบแบบจิตรกรรมรัตนโกสินทร์ ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ สีที่ใช้เขียนจะผสมสีขาวให้อ่อนลงเป็นสีนวลแบบที่คนเดี๋ยวนี้เรียกว่าสีพาสเทล

 

แล้วในชุมชนยมจินดาเจออะไรบ้างที่เรียกได้ว่าเป็นสกุลช่างระยองด้วยเหมือนกัน

ต้องบอกว่างานสถาปัตยกรรมในระยองช่วงหลังๆ รับมาจากกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ อย่างบ้านเรือนในระยองก็ก๊อปปี้บ้านจากกรุงเทพฯ ไป บ้านในชุมชนยมจินดามีประมาณ 4 ประเภทคือ บ้านไม้ที่สร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 บ้านไม้ที่สร้างใหม่สมัยรัชกาลที่ 6 บ้านทรงตึกที่เก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5-6 และอาคารเรือนแถวไม้และตึกแถวช่วงหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งเจอเยอะที่สุด เพราะเป็นชุมชนที่ทำการค้าขายจึงต้องใช้พื้นที่ประหยัด ส่วนบ้านเดี่ยวหรือตึกจะเป็นของบรรดาเศรษฐี

สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นระยองจริงๆ ก็จะมีอุโบสถ เจดีย์ทรงระฆังที่นิยมทำกันทั่วไป แต่ก็ยังเป็นของที่รับมาจากกรุงเทพฯ แล้วเข้ามาปรับปรุงในท้องถิ่นตัวเอง อาจจะไม่ถึงขนาดเอามาผสมผสานกัน แต่มีการปรับให้ง่ายขึ้น เช่น โบสถ์ของอยุธยาก่อผนังหนาเพื่อรับหลังคา แต่ของระยองไม่ได้ก่ออิฐขึ้นไปเพื่อรับน้ำหนักโดยตรง แต่ใช้วิธีตั้งเสารับ แล้วก่อผนังปิดเสาไม้ เจอหลายแห่งที่หล่อปูนปิดเสาไม้ ไม่ได้ก่ออิฐแล้ววางคาน ทำให้ภายนอกดูเหมือนไม่มีเสาแต่จริงๆ แล้วมีอยู่ข้างใน ซึ่งโครงสร้างแบบนี้อยุธยาไม่ทำกัน เพราะช่างระยองคุ้นเคยกับงานไม้มากกว่างานปูน อาจเพราะระยองมีไม้เยอะด้วย

 

สกุลช่างสำคัญต่อการบอกเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนระยองอย่างไรบ้าง

งานที่พบในระยองส่วนใหญ่เป็นงานที่รับจากส่วนกลางแล้วไปพัฒนาในท้องถิ่น ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นไล่มาตั้งแต่อยุธยาตอนปลายจนถึงราว 50 ปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ที่เราตรวจสอบอายุก็อยู่ช่วงรัชกาลที่ 3-6 อยู่ในช่วงเดียวกับที่รัตนโกสินทร์เริ่มมีการค้าทางทะเล คนเริ่มร่ำรวยก็สร้างโบสถ์กันเยอะ ปรากฏการณ์ตรงนี้สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การพัฒนาของระยองด้วยที่เจริญขึ้นจากการค้าช่วงรัตนโกสินทร์ หรือหลังจากที่พระเจ้าตากฯ ไปเมืองระยอง ก็ทำให้ระยองเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ ได้โดยตรง

อย่างกรณีศิลปะประเพณีที่เจอในวัด แสดงให้เห็นว่าถ้ามีวัดแสดงว่ามีชุมชน บางทีชุมชนก็ไม่รู้ว่าเขาเก่าแก่เท่าไร แต่ตัวงานศิลปะมันฟ้องอยู่ว่าเก่าแก่สมัยไหน เราก็เอาอายุของวัดมาตีความอายุชุมชนได้ อย่างบ้านเรือนในชุมชนยมจินดาก็ดูได้ว่าบ้านที่เก่าสุดสร้างขึ้นสมัยไหน เช่น ไล่ได้ว่าหลังที่เก่าที่สุดสร้างในรัชกาลที่ 5 ถ้าบ้านเป็นตึกก็อาจจะสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เราจะได้รู้ว่าแม้จะอยู่ในชุมชนเดียวกัน แต่มาจากคนละยุคกัน มีความเจริญขึ้นเมื่อไหร่ ซบเซาลงเมื่อไหร่ อย่างชุมชนยมจินดาเจริญมากในสมัยรัชกาลที่ 5-6 พอถนนสุขุมวิทตัดผ่านก็ถอยลงเลย บ้านใหม่ๆ ไปสร้างริมถนนใหญ่หมด

 

คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในโครงการนี้มากน้อยแค่ไหน

ล่าสุดในเฟสสอง มีการแปรรูปโครงการวิจัยที่เราทำด้วย หนึ่งในนั้นคือมีการอบรมครูและนักเรียนในพื้นที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เราอบรมครูโดยมอบเอกสารรายงานการศึกษาให้ครูได้นำงานวิจัยไปใช้ผนวกกับการเรียนการสอน ได้รับเสียงตอบรับจากคุณครูว่า เขาอยู่ระยองแต่ไม่เคยรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์เหล่านี้เลย เป็นความรู้ใหม่ที่น่าตื่นเต้น ตอนนี้เราเริ่มจากคนที่มีบทบาทในการอนุรักษ์มากที่สุดก็คือครูกับเด็กนักเรียนก่อน แล้วค่อยขยายผลไปสู่คนทั่วไป กระบวนการที่ทำให้คนตระหนักก็จะตามมา

 

ในฐานะของอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ศิลปะ การค้นพบสกุลช่างของระยองครั้งนี้นำไปสู่อะไรใหม่ๆ บ้าง

ถ้าในแง่การศึกษาก็แน่นอนว่าการวิจัยครั้งนี้เป็นการเพิ่มคลังข้อมูล เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีใครเขียนเกี่ยวกับระยองเลย การศึกษานี้คือการเอาของที่มีอยู่มาศึกษาและทำเป็นรูปเล่มออกมา งานทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ มันเป็นการอธิบายตัวงานศิลปะต่างๆ ว่ามันเป็นมายังไง มีแนวคิดยังไง และมันสวยยังไง ถ้าเอาไปใช้ในการท่องเที่ยวน่าจะเป็นการใช้อธิบาย 3 อย่างนี้ว่ามีความหมายอะไรอยู่ การท่องเที่ยวสมัยใหม่เป็นการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ และเรื่องเล่านั้นต้องผ่านการวิจัยมาก่อน พอไปเที่ยวแล้วได้รู้แจ้งเห็นจริง สติปัญญามันฟื้น ไม่ใช่แค่ความบันเทิง มันทำให้คนคิดเป็นเหตุเป็นผลว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ อย่าง GC เองที่มีเป้าหมายต่อโครงการนี้เพื่อเสริมสร้างแหล่งศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมระยองให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ อีกทั้งสถานที่เก่าแก่ในระยองก็ได้รับการอนุรักษ์และขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ เรียกได้ว่าเป็น ‘มรดกที่มีชีวิต’ (Living Heritage)


Rayong Time Ago คือซีรีส์คอลัมน์เล่าคอนเซปต์มรดกที่มีชีวิต (Living Heritage) ของจังหวัดระยอง ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสถานที่เก่าแก่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ โดยมีจุดตั้งต้นจากโปรเจกต์ที่ร่วมมือกันระหว่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ติดตามบทความต่อไปในเดือนกันยายน 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี