เบื้องหลังการแปลงห้างร้างและวังมัจฉาสู่นิทรรศการเรื่องบางลำพู ‘NEW เวิลด์ โอล TOWN’

Highlights

  • นิวเวิลด์ คือห้างสรรพสินค้าที่เคยโก้เก๋ที่สุดในแถบพระนครด้วยลิฟต์แก้วแห่งแรกในย่าน เป็นที่ให้วัยรุ่นแต่งตัวมาเดินอวดโฉม กระทั่งปี 2547 พื้นชั้น 8 ของห้างถล่มลงมาเป็นเหตุให้ห้างต้องปิดตัวถาวร
  • ในช่วงปี 2554 นิวเวิลด์กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งจากบ่อน้ำที่พ่อค้าแม่ค้ารอบๆ เอาปลานิล ปลาคาร์ป ไปปล่อยไว้ จนได้ชื่อว่าเป็นวังมัจฉา กลายเป็นโลเคชั่นที่ช่างภาพแอบเข้าไปถ่ายรูปอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยความกังวลเรื่องความปลอดภัยจึงมีการย้ายปลาออกและปิดตึกไม่ให้ใครเข้าไปอีก
  • เมื่อเจ้าของพื้นที่อยากฟื้นฟูอาคาร จึงเป็นที่มาของนิทรรศการ 'NEW เวิลด์ โอล TOWN' ที่ชุบชีวิตห้างร้างเพื่อจัดแสดงผลงานนักศึกษาสถาปัตยกรรม, งาน lighting installation และสิ่งของที่บอกเล่าเรื่องบางลำพู
  • งานนี้ไม่เปิดให้สาธารณะเข้าชมด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ชักชวนคนในชุมชนบางลำพูเข้าไปดูแทนและบอกเล่านิทรรศการผ่านเพจเฟซบุ๊กบางลำพู everyday

แม้จะมีชื่อว่า นิวเวิลด์ แต่ห้างสรรพสินค้าร้างขนาด 4 ชั้นตรงหน้ากลับชวนให้คิดถึงคำตรงข้ามของคำว่า ‘ใหม่’ มากกว่า

นิวเวิลด์

จากคำบอกเล่าของคนที่ทันเห็นจุดเริ่มต้นของที่นี่ ทันทีที่นิวเวิลด์เปิดตัวในปี 2527 ห้างใหญ่แห่งย่านบางลำพูก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของโลกใหม่อันโมเดิร์นและซิวิไลซ์ด้วยลิฟต์แก้วแห่งแรกในแถบพระนคร มีสินค้าหลากหลายสมคำว่าสรรพสินค้า บันไดเลื่อนไฮเทคที่สั่งเข้ามาจากโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงขนาดของตึกที่ขยายจนใหญ่โตสูงถึง 11 ชั้น เป็นที่ให้วัยรุ่นแต่งตัวโก้เก๋ หนีบกระเป๋ามาเดินอวดโฉม ใครไม่มาถือว่าตกยุค ไม่ทันสมัย และอาจคุยกับคนรอบข้างไม่รู้เรื่อง

กระทั่งปี 2547 ระหว่างที่ห้างต้องรื้อถอนชั้น 5-11 ตามคำสั่งของ กทม. พื้นของชั้น 8 ก็รับน้ำหนักซากตึกไม่ไหวและถล่มลงมา ปิดตำนานห้างที่ครั้งหนึ่งเคยโก้เก๋ที่สุดในย่านพระนคร

นิวเวิลด์
นิวเวิลด์

ในช่วงปี 2554 นิวเวิลด์กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งอย่างไม่มีใครคาดคิดในชื่อ ‘วังมัจฉา’ หลังพ่อค้าแม่ค้ารอบๆ ห้างทนไม่ไหวกับน้ำขังในตึกที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายชั้นดี พวกเขาจึงเอาปลาไปปล่อย ทั้งปลานิล ปลาคาร์ป จนปลาเหล่านั้นขยายพันธุ์ กลายเป็นโลเคชั่นแนวหนังดิสโทเปียที่ช่างภาพใจกล้ามักจะลุยเข้าไปถ่ายรูปอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยความอันตรายของพื้นที่ ไม่กี่ปีต่อมา กทม.จึงย้ายปลาทั้งหมดไปสู่แหล่งใหม่ ส่วนเจ้าของที่ก็ล็อกตึกปิดประตูแน่นหนา ไม่ให้ใครเข้าไปซ่าจนอาจเกิดอันตรายได้อีก

นั่นนับเป็นการปิดฉากครั้งที่ 2 ของนิวเวิลด์ ที่ไม่มีใครคิดว่าวันนี้มันจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

นิวเวิลด์

ไม่กี่วันที่ผ่านมาหลายคนอาจสะดุดตากับโปสเตอร์ลายปลาคาร์ปส่องแสงนีออนเรืองรอง บนนั้นมีตัวหนังสือเขียนไว้ชัดเจนว่า ‘ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town’ นิทรรศการว่าด้วยย่านบางลำพูที่จะจัดขึ้นที่ห้างนิวเวิลด์ในวันที่ 13-21 มิถุนายนนี้ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับคนในพื้นที่อย่างประชาคมบางลำพูและชมรมเกสรลำพู

นอกจากสถานที่จะชวนแปลกใจ วิธีการเข้าชมก็ชวนประหลาดใจไม่แพ้กัน เพราะงานนี้พวกเขาไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่ใช้วิธีชวนคนในย่านบางลำพูและผู้คนอื่นๆ อีกจำนวนไม่มากมาสำรวจและกลับไปเล่าให้คนอื่นๆ ฟังแทน

นิวเวิลด์

เพราะอยากเห็นนิทรรศการใหม่ในห้างเก่าให้เต็มตา และอยากเข้าใจนิทรรศการที่เปิดและปิดไปพร้อมๆ กัน เราจึงชวน ผศ. ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เคยทำโปรเจกต์เอาบีนแบ็กไปตั้งที่หัวลำโพง และผู้ตั้งต้นโปรเจกต์ ‘NEW เวิลด์ โอล TOWN’ มาเล่าขั้นตอนจาก draft จน done ในพื้นที่ตึกจริงๆ

และสิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้จากสุพิชชาคือ เมื่อเมืองเก่าถูกจับมาผสมกับโลกใหม่ในสัดส่วนที่น่าสนใจ ไม่แน่ว่ามันอาจรวมกันได้เป็นอนาคต

1. สำรวจโอลด์ town

“เราสอนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สอนวิชาสถาปัตยกรรมชุมชนในระดับปริญญาตรี และวิชาการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ในหลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (vernacular architecture) ระดับปริญญาโท-เอก ประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว กทม.จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในบางลำพู เราเลยพานักศึกษามาสำรวจย่านนี้โดยเน้นไปที่สตรีทฟู้ด เพื่อศึกษาว่าอาหารที่นี่พิเศษหรือแสดงความเป็นย่านยังไง” สุพิชชาเริ่มต้นย้อนความหลังให้ฟัง

“ตอนนั้นเราเข้าไปสัมภาษณ์ร้านในย่าน เช่น ร้านไส้กรอกปลาแนม ร้านขนมเบื้องโบราณ หรือร้านข้าวแช่ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบให้โรงแรมดังๆ แพงๆ มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งสะกดรอยตามพระที่มาบิณฑบาตด้วยซ้ำเพื่อไปขอดูว่าอาหารที่คนตักบาตรในย่านบางลำพูมีอะไรบ้าง ทั้งหมดเราเอามาใช้วิเคราะห์ย่านบางลำพูในมิติของคุณค่าสตรีทฟู้ด ว่าอาหารที่นี่สะท้อนวัฒนธรรมและวิถีที่ชาวบางลำพูอยู่กันมาอย่างไร”

นิวเวิลด์

การสำรวจครั้งนั้นเกิดขึ้นและจบลงด้วยเพจ Barefood Street Kitchen เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอาหารในย่านที่อาจารย์และลูกศิษย์ได้เรียนรู้

ความสัมพันธ์ของสุพิชชาและการศึกษาย่านบางลำพูคงจบลงตรงนั้นหากเธอไม่บังเอิญไปเห็นภาพหนึ่งในเฟซบุ๊กเสียก่อน

ไม่ยากเกินจะเดา ภาพที่ว่าคือภาพในห้างนิวเวิลด์อันร้างไร้การดูแลแห่งนี้

2. เปิดประตูสู่ new เวิลด์

“เราเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ ศิลปากร และอยู่แถวนี้ เห็นนิวเวิลด์เป็นตึกร้างมาตลอด มีอยู่วันหนึ่งเราเห็นเพื่อนสมัยประถมโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก เป็นมุมบันไดเลื่อนในนิวเวิลด์ ตอนนั้นเขาเอาปลาออกจากห้างไปแล้วและปิดไม่ให้ใครเข้า เราก็เลยทักไปถามว่าเข้าไปได้ยังไงเพราะเราสนใจที่นี่ เราทำเรื่องฟื้นฟูย่าน เราชอบเรื่องชุมชนและเคยไปเก็บข้อมูลแถวบางลำพู เดาว่าเขาก็คงเห็นงานลงชุมชนจากเฟซบุ๊กของเราเหมือนกัน สุดท้ายเพื่อนก็เลยบอกว่า อ๋อ เราเป็นเจ้าของที่เองแหละ” สุพิชชาพูดพร้อมเสียงหัวเราะในความบังเอิญ

ไม่เพียงแต่บอกว่าที่นี่เป็นที่เก่าแก่ของครอบครัว เพื่อนคนดังกล่าวยังเล่าต่อว่า หลังจากห้างนิวเวิลด์ปิดกิจการและผู้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของห้างไม่ได้รับผิดชอบต่อ ห้างชั้นนำจึงกลายเป็นตึกร้าง และเมื่อที่ดินของตระกูลตกทอดมาถึงเขา ห้างนี้จึงมีทิศทางให้ไปต่อเสียที

นิวเวิลด์

“เพื่อนของเราอยากทำอะไรสักอย่างกับที่นี่ เราก็บอกว่าตรงนี้เป็นที่ที่ดีมากเลยนะ เป็นไซต์ทีสิสสถาปัตยกรรมในฝันของเด็ก‘ถาปัตย์แทบทุกคน เพราะมันเป็นที่ร้างชิ้นใหญ่ที่น่าจะเหลืออยู่แห่งเดียวในย่านเมืองเก่า”

ไม่ทันรู้ตัวสุพิชชาและเพื่อนก็ร่วมกับอาจารย์สถาปัตย์กลุ่มหนึ่งเซตทีมพัฒนาตึกนิวเวิลด์ขึ้นมา เริ่มจากนำวิศวกรเข้ามาศึกษาความแข็งแรงของตึก (ซึ่งผลออกมาว่าโครงสร้างหลักยังแข็งแรงดี) พ่นยากำจัดยุง จัดการเศษกระจกห้างที่แตกร้าว และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน โดยมีสุพิชชาดูแลเรื่องการฟื้นฟูตึกและสร้างกิจกรรมด้วยหลักสำคัญคือ ไม่ว่านิวเวิลด์ใหม่จะมีโฉมหน้าเป็นยังไง ตึกแห่งนี้ต้องไม่แปลกแยกจากชุมชน

“เพื่อนเรามีความตั้งใจอยากพัฒนาห้างไม่ให้แปลกแยกออกจากย่าน ไม่ต้องกรุกระจก เปิดแอร์​ เป็นห้างหรูหรา เพราะที่นี่เคยเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนในย่านคุ้นเคย เราเลยเสนอว่าถ้าอย่างนั้นเวลาฟื้นฟูอาคารเราไม่ควรจะอยู่ดีๆ ก็กั้นนั่งร้าน ขึงสแลนแล้วก็ผ่าม! แกะออกมาเป็นห้างหรืออะไรก็ตาม แต่ควรจะค่อยๆ เปิด เราลองใช้พื้นที่จัดนิทรรศการก่อนดีกว่า นั่นเป็นที่มาของงาน ‘NEW เวิลด์ โอล TOWN’ ที่เป็นเหมือนสเตปแรกของการค่อยๆ เปิดห้างให้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของย่าน”

นิวเวิลด์
นิวเวิลด์

3. design โลกใหม่

ครั้งแรกที่ตามสุพิชชาผ่านประตูบานเล็กๆ เข้าสู่ตึกที่เคยปิดตาย เธออธิบายว่านิทรรศการ ARCH SU FEST: 2020 | New World x Old Town ประกอบไปด้วย 4 ส่วน ส่วนแรกคืองานสเกตช์ดีไซน์ของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ฉายอยู่มุมหนึ่งบนชั้น 2 ของตึก

“พอจะจัดนิทรรศการที่นี่ เราเลยใช้นิวเวิลด์เป็นโจทย์ให้เด็กที่คณะดีไซน์ในแบบของเขาว่าจะเก็บโครงสร้างตรงไหนไว้ จะดัดแปลงอะไร แล้วจะใช้พื้นที่นี้ทำเป็นอะไร เพราะที่นี่เป็นไซต์ทีสิสในฝันของเด็ก’ถาปัตย์ ศิลปากร เลย ซึ่งเราให้ตัวแทนนักศึกษาปี 3-4 มาเดินนำนิทรรศการและเล่าถึงผลงานให้ผู้ชมฟังด้วย มันน่าสนุกดีที่เด็กจะได้บริหารความคิด ส่วนเจ้าของพื้นที่เองก็ได้เห็นว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพจะเป็นอะไรได้บ้าง 

“ถึงอย่างนั้นถ้ามีแต่ผลงานนักศึกษาอย่างเดียว คนที่มาดูอาจจะไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับพื้นที่มากนัก เราเลยคิดว่ามันน่าจะต้องมีอะไรมากกว่านี้อีก”

4. บางลำพู through my eyes

เพราะเป้าหมายหลักของการพัฒนานิวเวิลด์ในครั้งนี้คือการทำให้ห้างเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่บางลำพู สุพิชชาจึงคิดถึงการเล่าเรื่องของย่านเก่าแก่อันมีชีวิตชีวาที่ล้อมรอบห้างนี้ไว้ และชวน ณัฐวดี สัตนันท์ มาเป็นหัวหน้าทีมคอนเทนต์ของนิทรรศการส่วนที่ 2

“เราอยากให้คนมองอาคารเป็นส่วนหนึ่งของย่าน จึงคิดว่าควรจะมีคอนเทนต์ที่เล่าเรื่องความเป็นย่านบางลำพู เพราะปีนี้คือปี 2020 ถ้าอย่างนั้นเราจะเล่าเรื่อง 20 กลุ่มคนในย่านผ่านของ 20 ชิ้น คิดง่ายๆ คือเวลาพูดถึงบางลำพูเราคิดถึงอะไร แล้วเราก็เอาสิ่งของที่แสดงถึงคนกลุ่มนั้นมาจัดแสดงบนเก้าอี้พลาสติก 20 ตัว”

นิวเวิลด์

เมื่อได้ของ 20 อย่างจากสายตาคนนอกที่ผูกพันกับย่าน ทีมคอนเทนต์จึงนำของที่คัดมาแล้วไปปรึกษากับประชาคมบางลำพูและชมรมเกสรลำพู ก่อนจะพัฒนาเป็นของ 20 ชิ้นสุดท้าย บ้างก็เป็นภาพจำของบางลำพู เช่น ชุดสังฆภัณฑ์หรือช่างทำทอง บ้างก็เซอร์ไพรส์หน่อย เช่น รถเข็นของพ่อค้าแม่ค้าที่ทีมนิทรรศการเองก็เพิ่งรู้ว่าที่บางลำพูมีอาชีพ ‘คนเก็บรถเข็น’ โดยเฉพาะ และชุดนักเรียนสำเร็จรูปที่หลายคนอาจไม่รู้ว่ามีจุดกำเนิดอยู่ที่บางลำพู

“เราพยายามเลือกของที่มีคนหรือวิถีชีวิตอยู่ในนั้นด้วย พยายามให้ทุกอย่างมีเรื่องเล่า เราจะได้เห็นวิถีชีวิตในบางลำพูจริงๆ” ณัฐวดีอธิบายต่อว่าของทั้งหมดจัดแสดงพร้อมข้อความสั้นๆ ชวนสงสัย เช่น ‘เราต้องรู้ว่าปี๊บใครเข้าก่อนเข้าหลัง’ เพื่อให้คนสแกนคิวอาร์โค้ดไปอ่านต่อในเพจของนิทรรศการที่ชื่อว่า บางลำพู everyday

“บางอย่างเราก็ต้องปรับจากที่คิดไว้ เช่น ตอนแรกอยากพูดถึงตึกแถวบนถนนข้าวสาร เพราะในมุมคนนอกเราสนใจที่มันรีโนเวตเป็นโฮสเทลและโรงแรม แต่ชมรมเกสรลำพูเขาก็แนะนำให้เรารู้จักคนที่เริ่มทำงานสงกรานต์ข้าวสารซึ่งเป็นเทศกาลที่ใครๆ ก็รู้จัก

นิวเวิลด์

“บางประเด็นก็เป็นสิ่งที่พวกเราไม่รู้มาก่อนเหมือนกัน อย่างวิธีเก็บรถเข็นของชาวบางลำพู ตอนเย็นพ่อค้าแม่ค้าจะเก็บของใส่กล่องอะลูมิเนียมใหญ่ๆ เรียกว่าปี๊บ แล้วก็วางทิ้งไว้ เดี๋ยวจะมีคนที่ทำหน้าที่เก็บรถเข็นมาเข็นอย่างเดียวไปเก็บรวมกันไว้ ตอนเช้าเขาก็เข็นมาตั้งที่เดิม ซึ่งเขาจะมีระบบของเขาว่าร้านไหนต้องเก็บก่อน-หลัง เป็นอาชีพที่เฉพาะตัวมากๆ ของที่นี่”

นิวเวิลด์
ข้าว 3 ชนิดที่เป็นเอกลักษณ์และแสดงวิถีชีวิตของบางลำพู ได้แก่ ข้าวแช่ ซึ่งมีที่มาจากในรั้วในวัง ข้าวแกง ซึ่งเป็นของสามัญของชาวบางลำพู และข้าวต้มวุ้น ขนมของเด็ดของที่นี่
นิวเวิลด์
ชุดนักเรียนโรงเรียนสาธิต มศว ตัดโดยห้องเสื้อนพรัตน์ ห้องเสื้อแห่งแรกที่เข้าไปวัดตัวและตัดชุดให้เด็กนักเรียน เริ่มต้นที่โรงเรียนสาธิต มศว​ ก่อนขยายไปยังโรงเรียนราชินี โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนอื่นๆ
ชุดนักเรียนตราสมอ ชุดนักเรียนสำเร็จรูป สินค้าเอกลักษณ์ของบางลำพู

5. ติดตั้ง lighting

จากห้างที่มีลิฟต์แก้วเก๋ไก๋เป็นที่แรกของย่าน​สู่วังมัจฉาที่เป็นจุดหมายของวัยรุ่นนักผจญภัย ทั้งหมดนี้ถูกเล่าออกมาแบบเท่ๆ ผ่านนิทรรศการส่วนที่ 3 ที่เป็นโปรเจกชั่นแมปปิ้งของทีม Atelier 58 และ Wire Knot Studios ลูกศิษย์เก่าของสุพิชชาทั้งคู่

ภาพคอนเซปต์ของโปรเจกชั่นแมปปิ้งในงาน

“ระหว่างวางแผนนิทรรศการเราคุยกันว่าจะติดไฟยังไงดีเพราะพื้นที่มันมืดมาก คิดไปคิดมาก็คิดว่าควรจะทำยังไงให้พื้นที่สว่างด้วย มีคอนเทนต์ด้วย เลยเป็นที่มาของไอเดียการทำ lighting installation” อาจารย์เจ้าของโปรเจกต์เล่ายิ้มๆ ก่อนพาเราเดินไปดูแมปปิ้งปลาคาร์ปว่ายฉวัดเฉวียนคอยต้อนรับผู้ชมที่บ่อน้ำชั้น 1 และที่คอลิฟต์ซึ่งทอดยาวจากชั้น 1 ถึงดาดฟ้า

“เรามองว่าเนื้อหาหลักอยู่ด้านบนหมดแล้ว เราจึงสร้างงานในฐานะตัวเชื่อมโยงระหว่างชาวบางลำพูกับห้างนิวเวิลด์ นั่นคือวังมัจฉา ซึ่งคนนอกก็รู้สึกเชื่อมโยงด้วย เป็นสะพานเชื่อมผู้คนเข้ามาที่นี่ ถ้าเทียบกับหนังโปรเจกชั่นปลาคาร์ปก็เป็นเหมือนช่วงเกริ่นให้คนดูรู้จักพื้นที่นี้ ก่อนจะได้ดูตัวเรื่องจริงๆ” ชาว Atelier 58 เล่า

เมื่อเดินไต่สะพานข้ามบ่อน้ำและขึ้นบันไดมายังชั้น 2 เราจะเจอบันไดอีกชุดที่ไม่ได้ทอดสู่ชั้นถัดไป แต่เป็นบันไดผ้าประกอบแสงไฟของทีม Wire Knot Studios ที่สื่อถึงบางลำพูในอนาคต

“เราได้อ่านหนังสือที่บอกว่าเมื่อก่อนที่นี่คือสยามสแควร์ของยุคเรา มีร้านขายเสื้อผ้ามากมายที่ปัจจุบันค่อยๆ หายไป เราเลยเลือกใช้ผ้าเป็นสื่อและใช้แสงไฟช่วยทำให้น่าสนใจ ด้วยตัวคอนเซปต์ NEW เวิลด์ โอล TOWN มันคือการข้ามจากของเก่าไปสู่ของใหม่ บันไดผ้าคือการสื่อถึงผ้าของบางลำพูที่กำลังเดินทางสู่อนาคต

“ส่วนงานอีกชิ้นเราทำแอนิเมชั่นสั้นๆ เป็นภาพวาดเล่าเรื่องย่านนี้ผ่านสายตาของเราฉายลงไปบนผ้า ซึ่งเป็นสื่อที่เชื่อมโยงเราเข้ากับบางลำพู”

6. 40 persons สำคัญ

จัดงานเกี่ยวกับบางลำพูทั้งทีจะไม่มีชาวบางลำพูเป็นทีมงานได้ยังไง สุพิชชาจึงชวน ปานทิพย์ ลิกขะไชย แกนนำชมรมเกสรลำพูมาทำงานด้วยกัน พอดีกับที่ปานทิพย์ได้ทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกำลังทำวิจัยเรื่อง 40 บุคคลสำคัญในบางลำพู ทีมงานจึงจัดแจงวาดภาพบุคคลทั้ง 40 คนนำมาฉายบนผนังฝั่งหนึ่งของตึก พร้อมโควตคำพูดของพวกเขาที่เล่าสิ่งที่ตัวเองทำและวิถีของชุมชน เป็นนิทรรศการส่วนที่ 4

“ตอนเริ่มต้นโปรเจกต์ใจเราคิดแค่ว่าอยากบันทึกสิ่งเหล่านี้เอาไว้เป็นเหมือนคู่มือ เล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านคน เราจึงเลือกไปคุยกับคนที่เป็นเหมือน key person เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงในย่านบางลำพู ไม่ว่าเขาจะเป็นนักธุรกิจที่เกิดและเติบโตในบางลำพู ประธานชุมชน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นที่รักษาวิถีในประวัติศาสตร์เอาไว้ เช่น การแทงหยวก การทำชุดโขน หรือการจัดงานสงกรานต์ประเพณี” 

ปานทิพย์ผู้เกิดและโตในบางลำพูเล่าอย่างกระตือรือร้น พร้อมโชว์รูปวาดคนในชุมชนให้เราดูก่อนเสริมว่า งานวิจัยของเธอไม่เพียงเล่าแค่เรื่องบุคคล 40 คนนี้ แต่เธอยังเล่าเรื่องไกด์เด็กๆ ของชมรมเกสรลำพูอีก 16 คน แม้งานวิจัยจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ใครได้ไปงาน NEW เวิลด์ โอล TOWN ก็จะได้ลองดูงานชิ้นนี้เป็นคนแรกๆ ของประเทศ

ที่สำคัญใครมีโอกาสได้ไปงานนี้ยังจะได้เจอบุคคลสำคัญของย่านบางลำพู รวมถึงชาวบางลำพูตัวจริงเสียงจริงด้วย

7. exhibition ที่ออกแบบได้ครึ่งเดียว

สารภาพตามตรงว่าเมื่อครั้งที่ได้ยินว่านิทรรศการนี้ไม่เปิดให้สาธารณะเข้าชมเราออกจะงงอยู่สักหน่อย ซึ่งสุพิชชาอธิบายให้ฟังอย่างเห็นภาพว่าเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์บ้านเมืองและสภาพของตึก ในขณะที่อีกส่วนขึ้นอยู่กับเป้าหมายของนิทรรศการ นั่นคือชาวบางลำพู

“เราคิดทั้งเรื่องโควิด-19 ที่ทำให้ต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน และเรื่องพื้นที่ตึกที่มีจุดอันตรายเยอะ สุดท้ายเราจึงทำนิทรรศการในลักษณะปิด คือไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่จะใช้การชวนชาวบางลำพูเข้ามาเดินในนิทรรศการ แล้วเล่าผ่านมุมมองของเขา ส่วนหนึ่งก็คือ 40 key persons จากงานวิจัยของปานทิพย์นี่แหละ นอกจากนั้นก็จะมีดีไซเนอร์ คนที่ทำงานเกี่ยวกับเมือง ซึ่งเราสนใจว่าเขาคิดกับพื้นที่นี้ยังไง รวมถึงสื่อที่จะช่วยเราถ่ายทอดเรื่องราวของบางลำพูสู่วงกว้าง”

ฟังอย่างนี้แล้วไม่ต้องตกใจว่าคนทั่วไปที่สนอกสนใจนิทรรศการนี้จะร่วมชมได้ยังไง เพราะเมื่อชาวบางลำพูดูนิทรรศการจนเต็มอิ่มแล้ว ทีมงานเพจบางลำพู everyday จะพาชวนคุยเรื่องนิทรรศการนี้และความทรงจำเกี่ยวกับนิวเวิลด์เพื่อนำมาเล่าในเพจด้วย

“เรามีทีมที่จะนำสิ่งที่ผู้ชมพูดไปลงเพจบางลำพู everyday ให้คนทั่วไปได้อ่าน ซึ่งคนที่มาดูเขาจะไม่สนใจนิทรรศการหรืองานนักศึกษาก็ไม่เป็นไร เขาจะเล่าเรื่องลิฟต์ที่เคยขึ้น ร้านทองที่เคยไปซื้อของ เล่าเรื่องอื่นๆ ที่เป็นความทรงจำของเขาก็ได้ เราเองก็คาดเดาไม่ได้ว่าเขาจะเล่าอะไร เพราะฉะนั้นนิทรรศการนี้จึงเป็นนิทรรศการที่คนจัดเองก็ไม่รู้ว่าเรื่องราวอีกครึ่งหนึ่งจะมีหน้าตาเป็นยังไง”

มากกว่าคำบอกเล่าของชาวบางลำพู สุพิชชายังวางแผนจัดวงเสวนาผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในเพจบางลำพู everyday อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 14 และ 20 มิถุนายน 2563 ครั้งแรกเพื่อเล่าเรื่องบางลำพูในอดีตจากมุมมองของคนในชุมชน และอีกครั้งเพื่อชวนคนนอกในแวดวงออกแบบและสถาปัตยกรรมมาคุยกันเรื่องความพิเศษของนิวเวิลด์และย่านบางลำพู

8. platform ของชุมชน

อาคารนิวเวิลด์ต้องฟื้นฟูฉันใด ชุมชนรอบๆ ก็ต้องฟื้นฟูฉันนั้น เราสรุปได้เช่นนี้จากเรื่องเล่าของสุพิชชา

“สิ่งที่บางลำพูต้องฟื้นฟูคือเรื่องชีวิต เมื่อก่อนย่านนี้มีชีวิตชีวามาก ทั้งจากคนที่อยู่อาศัย คนที่มาทำงาน เมื่อก่อนข้าราชการก็จะอยู่กันแถวๆ เกาะรัตนโกสินทร์ ก่อนกระทรวง ทบวง กรม จะย้ายออกไปอยู่ศูนย์ราชการนอกเมือง ซึ่งพอคนทำงานหายไปย่านก็ค่อยๆ เงียบเหงา มันอาจจะไม่ได้โทรมหรอกเพราะรัฐบาลก็บูรณะมันอย่างดี แต่มันไม่มีชีวิต ร้านค้าเดิมๆ ก็อยู่ยากเพราะชุมชนน้อยลงและมีแต่นักท่องเที่ยว

“เราสอนวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ซึ่งคนจะนึกถึงบ้านไม้ไผ่กลางป่าหรือบ้านชาวเขา แต่เราโฟกัสเรื่องความเป็นพื้นถิ่นในเมือง คือพื้นถิ่นเดิมที่โดนความเป็นเมืองเข้ามาแทรกแซง ส่วนตัวเราไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแช่แข็งหรือบูรณะแบบเป๊ะๆ เพราะถ้ามัวแต่หาความจริงแท้หรือสุนทรียะที่แท้จริงมันหายาก สมมติเราถามว่าบางลำพูคืออะไร ย้อนไปเมื่อวานบางลำพูก็เป็นอย่างหนึ่ง 40 ปีที่แล้วก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง อีก 100 ปีก็เป็นอีกอย่าง ถามว่าอะไรคือความออริจินอล ดังนั้นสำหรับเราเมืองเก่าต้องมีฟังก์ชั่นที่เป็นเนื้อเดียวกับชีวิตร่วมสมัยถึงจะอยู่ได้ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน ถกเถียงกันได้ 

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้คุยกับคนบางลำพู ใช้สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือสร้างการรวมตัวของคน ทำให้เกิดความเป็นชุมชน ในที่นี้สถาปัตยกรรมไม่ได้ถูกมองว่าเป็น end product เป็นตึกระฟ้า เป็นบ้านเดี่ยว แต่สถาปัตยกรรมเป็นกระบวนการสร้างชุมชนมากกว่า ชวนคนเข้ามามีส่วนร่วมและทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหรือเป็นส่วนหนึ่งของย่าน นิทรรศการนี้ก็เป็นเหมือนกระบวนการอย่างหนึ่ง นี่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ชุมชนเข้ามาร่วมออกแบบด้วยเสมอไป แต่ให้เขาเข้ามาดูนิทรรศการ มีไอเดียบางอย่าง แล้วเขาอาจจะเอาสิ่งที่ได้คุยกันตรงนี้ไปใช้กับชุมชนก็ได้

“เราจะใช้คำว่าแพลตฟอร์มบ่อย ทำทุกอย่างให้เป็นแพลตฟอร์ม เพราะมันเป็นพื้นที่แบนๆ ไม่มีชนชั้น คนในบางลำพูมาดูนิทรรศการอาจจะสปาร์กบางอย่าง ได้เจอคนใหม่ๆ ได้สร้างความเป็นชุมชนขึ้น หรือได้ไอเดียไปทำอะไรบางอย่างในที่ของตัวเองก็ได้”

9. สู่ the future

แล้วตึกร้างที่เรานั่งคุยกันอยู่นี้มีผลต่อชีวิตของย่านรอบๆ ไหม–เราถามคำถามสุดท้าย

“มีแน่นอน” สุพิชชาตอบทันที “ลองคิดว่าบ้านเราอยู่ติดกับตึกร้างสิ พูดง่ายๆ การมีตึกร้างในชุมชนทำให้ย่านมีชีวิตชีวาน้อยลง อย่างสี่แยกที่มีห้างนิวเวิลด์นี้ก็แทบจะไม่มีคนเดินผ่านเลย

“ดังนั้นถ้าตึกนี้กลับมาเปิดให้บริการเราคิดว่าย่านนี้ก็น่าจะมีชีวิตชีวามากขึ้น เราดูแลในส่วนกิจกรรมของตึก ก็อยากให้ตึกนี้เป็นพื้นที่ของทุกคน เช่น ไกด์เด็กแก๊งเกสรลำพูสามารถเดินเข้ามาในนิวเวิลด์แล้วมีการจ้างงานหรือรู้สึกว่าเป็นที่ของเขา ไม่ใช่ที่ของฮิปสเตอร์อย่างเดียว และมันก็ต้องไม่โลคอลมากจนคนนอกชุมชนไม่กล้ามา เราว่าเป็นโจทย์ที่น่าสนุกซึ่งเราต้องพัฒนากันต่อไป

“ถึงงานนี้จะเริ่มจากคนในชุมชนก่อน แต่คนนอกชุมชนก็สำคัญ เราอยากให้เขาได้ดูนิทรรศการนี้ผ่านช่องทางต่างๆ แล้วสนุกไปกับงาน สนุกไปกับย่านบางลำพู ดูแล้วอยากมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ย่านนี้มีชีวิต เพราะถ้าเกิดมีแค่คนในอย่างเดียวมันก็ไม่สามารถฟื้นฟูย่านได้นะ เพียงแต่ว่าคนในต้องพร้อมก่อน รู้ว่าตัวเองจะเติบโตไปในทิศทางไหน สุดท้ายพอคนนอกเข้ามาในพื้นที่ มาแลกเปลี่ยนกัน มันก็จะทำให้ย่านกลับมามีชีวิตมากขึ้น”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone