แม่น้ำของฉัน แม่น้ำของเธอ แม่น้ำของใคร

หากความสำคัญของประเด็นต่างๆ
ในสังคมวัดจากยอดไลก์และแชร์ในเฟซบุ๊ก นอกเหนือจากข่าวการเมือง กอสซิปดารา
เรื่องดราม่าของเน็ตไอดอล เราเชื่อว่าเรื่องของ ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ คงอยู่ห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คนในสังคม

ทำไมเราต้องหันมาใส่ใจเรื่องของแม่น้ำ? นี่คงเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจระหว่างที่คุณกำลังเลื่อนนิ้วมือผ่านหน้าจอในย่อหน้าที่ผ่านมา
ในเมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาที่เห็นอยู่ทุกวันคงไม่มีทางเปลี่ยนแปลงไป
เหมือนกับน้ำในแม่น้ำที่มองไปเมื่อไหร่ก็ยังไหลเอื่อยๆ อยู่เช่นเดิม
ตั้งแต่ก่อนผู้คนจะเริ่มไหลเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำเพียงเพื่ออาศัยใช้ชีวิต
จนถึงยุคสมัยปัจจุบันที่พื้นที่ริมน้ำกลายเป็นสิ่งหอมหวานของโครงการต่างๆ
ที่ขายความสวยงามของทิวทัศน์เพื่อให้ผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาสัมผัส

นอกเหนือจากโครงการเมกะโปรเจกต์จากเอกชนน้อยใหญ่ที่เข้ามาจับจองพื้นที่ริมแม่น้ำเพื่อสร้างเป็นพื้นที่เชิงการค้า
หนึ่งในโครงการที่ตั้งใจสร้างให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำจากภาครัฐคือ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เจ้าพระยาเพื่อทุกคนที่ตั้งใจพัฒนาภูมิทัศน์ริมน้ำ
และสร้างเครือข่ายทางเดิน-ทางจักรยานตลอด 2 ฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา
ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า
รวมความยาว 14 กิโลเมตร
โดยเริ่มลงพื้นที่ศึกษามาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ก่อนจะเริ่มต้นก่อสร้างในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

ภาพ: กนกศักดิ์ ดวงละออ

ถ้าติดตามข่าวตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน
โครงการทางจักรยานเลียบแม่น้ำความยาว 14
กิโลเมตรที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความเหมาะสมกับการทำทางคอนกรีตในรูปแบบคล้ายทางด่วน
คือหนึ่งในความสำเร็จที่พิสูจน์ว่าการรวมกลุ่มของคนในสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดแบบ
‘สั่งการ’ ที่รัฐชอบทำอยู่บ่อยๆ สามารถทำได้จริง
จนทำให้เกิดเป็นโครงการพัฒนาแม่น้ำใหม่ล่าสุดที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม

ทว่าภายใต้โครงการที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยรอบ
สิ่งที่เราและอีกหลายภาคส่วนในสังคมยังเป็นห่วงนอกเหนือไปจากระยะเวลาการทำงานที่เร่งรัดจนหลายๆ
คนตั้งข้อสังเกตว่าอาจไม่เพียงพอต่อการทำงานอย่างละเอียด
คือแนวคิดตั้งต้นในการทำโครงการที่เริ่มต้นจากความต้องการที่เน้นสร้าง ‘การเข้าถึงแม่น้ำ’ ผ่านทางเดินและทางจักรยาน
โดยยังไม่ได้ศึกษาถึงความต้องการจากผู้คนและสิ่งที่สังคมจะได้รับ ทั้งประโยชน์และผลกระทบในหลายด้านอย่างเพียงพอก่อนที่จะเริ่มต้นโครงการ

ที่จริงแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ริมน้ำไม่ใช่เรื่องแปลกและน่ากลัว
หากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการศึกษาอย่างจริงจังและรอบด้านในหลากหลายมิติ
ให้เวลากับการทำงานอย่างไม่รีบเร่ง
เพื่อกำหนดอนาคตแม่น้ำของเราว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรต่อไป
เพราะการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความสลับซับซ้อนทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม
และส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรอบจะคงอยู่ต่อไปสู่คนรุ่นหลัง ไม่ใช่แค่มนุษย์
แต่ยังหมายรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ภาพ: พรศักดิ์ ณ นคร

ลองจินตนาการภาพแม่น้ำเจ้าพระยาของเราเองที่อยากเห็นในอนาคตว่าเป็นอย่างไร
คำตอบที่ได้ของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน
และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องหันมาคุยเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา
หาวิธีการพัฒนาแม่น้ำสายนี้ในแต่ละมิติไปด้วยกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างเจ้าพระยาในอนาคตที่เราทุกคนในสังคมจะอาศัยอยู่กับมันได้ต่อไปยั่งยืน

ในเวลา
4 เดือนที่ยังเหลืออยู่ก่อนแม่น้ำของเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจากโครงการของรัฐชิ้นนี้ นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เรื่องราวของแม่น้ำในมุมมองต่างๆ
ทั้งประวัติศาสตร์ รูปแบบการพัฒนา การขับเคลื่อนของผู้คนริมสายน้ำ ฯลฯ
จะถูกขยายความและส่งต่อให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในโครงการนี้ได้เห็นถึงการพัฒนาแม่น้ำในอีกมุมมองหนึ่ง
ที่พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของแม่น้ำสายนี้ได้อย่างแท้จริง

จะมีอะไรที่เราควรรู้เกี่ยวกับแม่น้ำอีกบ้าง
ติดตามได้ในตอนต่อไปของ WE NEED TO TALK ABOUT RIVER สัปดาห์หน้า

ร่วมลงชื่อสนับสนุนกิจกรรมและติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่ม
FOR
ได้
ที่นี่

AUTHOR