ในปีนี้ ท็อป–พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น–ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาครบสิบปีแล้ว
จากบทบาทนักแสดงและพิธีกรที่หลายคนรู้จัก ปัจจุบันพวกเขาเป็นเจ้าของบริษัท คิดคิด บริษัทออกแบบและสื่อสารผลงานเพื่อสังคมและทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาผลงานของพวกเขาเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่ามีความตั้งใจมากแค่ไหน
งานชิ้นล่าสุดของพวกเขาคือแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า ECOLIFE
เล่าให้ฟังคร่าวๆ แอพนี้เป็นเกมที่มีระบบการทำงานเพื่อช่วยลดการใช้ single-use plastic หลักการคือเพียงแค่คุณปฏิเสธรับพลาสติกในชีวิตจริงจากร้านค้าที่ร่วมกับทางแอพ คุณจะสามารถสแกน QR code เพื่อรับคะแนนไปพัฒนาตัวละครและขยายพื้นที่ในเกม นอกจากนี้คุณยังสามารถนำคะแนนมาแปรเปลี่ยนเป็นส่วนลดหรือของแถมในโลกแห่งความเป็นจริงได้อีกต่างหาก
พูดง่ายๆ ว่านอกจากรักษ์โลก แอพนี้จะให้ทั้งความสนุกและสิทธิประโยชน์แก่ผู้ใช้
หลังจากทดลองใช้ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอยู่ 4 เดือน ในวันที่ 23-27 มกราคมที่จะถึงนี้ ECOLIFE ก็ได้เวลาเปิดตัวในเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2562 เป็นครั้งแรก
ภายในงานจะมีทั้งสิทธิพิเศษรวมถึงการรณรงค์การลดใช้พลาสติกโดยแอพพลิเคชั่นนี้จะเข้ามาเป็นแกนกลางในการเชื่อมผู้บริโภคและผู้ให้บริการไว้ด้วยกัน ปัจจุบันทุกคนสามารถดาวน์โหลดแอพนี้มาลองเล่นดูได้แล้วทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android
‘ทำไมเกมในโทรศัพท์มือถือจะช่วยโลกให้ดีขึ้นได้’ นั่นคือคำถามที่เราสงสัยและอยากฟังคำตอบจากพวกเขาทั้งสอง
ไม่แปลกใจที่ในขั้นต้นทั้งคู่บอกเราว่าทำได้แน่ แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจยิ่งกว่านั้นคือคำบอกเล่าจากพวกเขาทั้งสองที่บอกว่าสิ่งนี้จะยั่งยืนและทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจไปพร้อมๆ กับโลกที่ค่อยๆ ดีขึ้นตามไปด้วย
พวกเขาทำได้ยังไง
ถ้าอยากรู้ เรามาเริ่มเกมกันเลย
ECOLIFE มีความเป็นมายังไงบ้าง
ท็อป : จริงๆ ผมกับนุ่นทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาได้ประมาณสิบปีแล้ว ที่ผ่านมามันยากมากเวลาเราเล่าให้คนฟังว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เหนืออื่นใดคือเราก็ยังอยากสื่อสารด้วยวิธีที่สนุก ทันสมัย และเข้าใจง่าย เราเลยมองว่าแอพพลิเคชั่นน่าจะตอบโจทย์เพราะคนใช้สมาร์ตโฟนมากขึ้นทุกวัน ก่อนหน้านี้เราเคยมีแอพมาแล้วแต่เป็นเวอร์ชั่นเก่า ตอนนั้นเราเน้นเรื่องการเดินทาง ถ้าคุณเปลี่ยนการเดินทางให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คุณจะได้ ECOPOINT เพื่อมา redeem รับส่วนลดตามร้านค้า เพียงแต่ตอนนั้นมันไม่เวิร์ก เราไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้คนทำได้มากพอ ดังนั้นพอมาเมื่อปี ’60 เลยลองพยายามปรับวิธี เป้าหมายเรายังคงเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม แต่คราวนี้เราเลือกประเด็น single-use plastic
ทำไมถึงต้องเป็น single-use plastic
ท็อป : เรามองเป็น 2 ประเด็น หนึ่งคือเมืองนอกเขาพูดถึงเรื่องนี้มานาน ดังนั้นถ้าเราเล่นเรื่องนี้มันน่าจะไม่ยากมากเพราะเทรนด์กำลังมาอยู่แล้ว อีกประเด็นคือถ้าเรามองว่าทุกวันนี้เวลาเข้าร้านสะดวกซื้อ บางทีเราได้ถุงมาก็ทิ้งหน้าร้านเลย หรืออย่างเช่นซื้อน้ำ เดี๋ยวนี้เราได้แก้ว ฝาปิดแก้ว หลอด กระดาษทิชชู่ ถุงพลาสติกหูหิ้วรวมแล้ว 6-7 ชิ้น เลยคิดว่าถ้าลดได้ตั้งแต่ต้นทาง ผลที่ได้จะต่อเนื่องกันมา
การทำงานของ ECOLIFE เป็นยังไงบ้าง
ท็อป : ปัญหาพลาสติกในบ้านเรามันเยอะมากและมีบริษัทที่อยากทำแคมเปญตรงนี้จำนวนมาก เราเลยมองว่าถ้าคุณอยากทำแต่ไม่สามารถหาวิธีได้ เราก็ควรลดมันตั้งแต่ต้นทางเลย วิธีการของเราง่ายมากๆ คือการปฏิเสธ พอปฏิเสธการรับ single-use plastic กับร้านที่ร่วมกับทางเรา คุณจะสามารถสแกน QR code แล้วได้คะแนน ECOPOINT คะแนนนี้จะทำให้ตัวละครและพื้นที่ของเกมในแอพโตขึ้น รวมถึงสามารถเอาคะแนนไป redeem เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากพาร์ตเนอร์ที่เข้าร่วมกับเรา ในขั้นต้นเราเอาโมเดลนี้ไปให้นักศึกษาลองใช้เป็นกลุ่มแรกเพื่อดูผลตอบรับ
ทำไมต้องเด็กมหาวิทยาลัย
นุ่น : เราคิดว่าวัยรุ่นคือคนที่ใช้โทรศัพท์มากที่สุดและเราก็อยากรู้ทั้งเรื่องของแอพและคนที่ใช้ พอทำเป็นเกมมันยิ่งต้องเริ่มจากเขาโดยตรง เพราะสื่อสารได้ง่ายกว่า ซึ่งเราคิดว่าเราตัดสินใจถูกนะ เราได้ทั้งความมั่นใจและทิศทางว่าแอพพลิเคชั่นจะต้องไปทางไหนเพื่อตอบโจทย์คนส่วนใหญ่
ท็อป : มันค่อนข้างท้าทายเราเหมือนกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารกับนักศึกษา แต่เรามองว่าอย่างน้อยพวกเขาก็สามารถเอาสิ่งนี้ไปพัฒนาต่อได้ และอีกอย่างหนึ่งที่ชอบคือการตอบรับของพวกเขา ถ้าชอบเขาจะบอกว่าชอบ ถ้าไม่ชอบเขาก็บอกเลยว่าเพราะอะไร ซึ่งดีนะ อะไรที่ดีเราก็เอาไปพัฒนา อะไรที่ไม่ดีเราก็เอามาแก้ไข
ผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง
ท็อป : เราให้น้องๆ 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศลองใช้ ผลคือน้องๆ ลดการใช้ single-use plastic ได้ประมาณ 200,000 กว่าชิ้น มีคนดาวน์โหลดแอพ 12,000 คน แอพเราสามารถบันทึกได้ด้วยว่าร้านไหนลดได้เท่าไหร่ ลดชนิดไหนบ้าง แต่ละคณะและมหาวิทยาลัยลดได้ต่างกันขนาดไหน เราเก็บสถิติทั้งหมดเพื่อเป็นหลักฐานและหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมต่อกันและกัน ส่วนเรื่องแอพเราก็แก้ไขไปเรื่อยๆ ตลอด 4 เดือน ทั้งเรื่องของโปรแกรม เซิร์ฟเวอร์ และความเร็วของแอพ
นุ่น : บางคนเขาก็ไม่ได้มาแนะนำอย่างเดียว มีหลายคนเหมือนกันที่เข้ามาบอกว่ามันดี หรือร้านอาหารอื่นที่ทักเข้ามาหาเราว่าเขาอยากเอามาใช้ที่ร้าน อยากได้เครื่องมือที่เข้ามาทำให้ลูกค้าเข้าใจ ก่อนหน้านี้เขาก็อยากลดการใช้พลาสติก แต่พอไม่แจกถุงลูกค้าก็ด่า ดังนั้นแอพตัวนี้เลยตอบโจทย์การทำให้เขาลด cost ได้ ถึงเขาไม่มีเครื่องมือเขาก็ยังได้ทำอะไรเรื่องสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างเป็นข้อเสนอแนะที่ดีมาก
เหมือนเป็นตัวกลางสำหรับคนที่อยากรักษาสิ่งแวดล้อม
ท็อป : เรามองว่าเราอยากทำแอพพลิเคชั่นให้วิน-วินกับทุกฝ่ายนะ ในส่วนของผู้ใช้งานคุณจะได้พอยต์สำหรับร่วมสนุกในเกมและมา redeem เอาสิทธิพิเศษ ในมุมพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาช่วย เขาก็จะได้ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ และในมุมของพ่อค้าแม่ค้าเราก็สามารถลด cost ให้เขาได้จากปริมาณพลาสติกที่ลดลง รวมถึงผลประโยชน์ทางอ้อมอย่างเรื่องสุขภาพ เรามองให้ครบทุกด้านตั้งแต่ตอนแรกเลยว่าจะมีใครมีส่วนได้ส่วนเสียอะไรบ้าง เราทำการบ้านมาหนักเหมือนกัน เพราะอยากให้มันเป็น social enterprise มากกว่าการทำ CSR
นุ่น : อีกมุมหนึ่งที่เราอยากแชร์เพิ่มคือบริษัทที่เขาอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่เขาไม่รู้จะทำยังไง ก่อนหน้านี้เราอาจเห็นหลายบริษัททำ CSR แล้วกลายเป็นว่าทำ ถ่ายภาพ แล้วก็ลง จบแค่นั้น แต่พอหลายคนเห็น ECOLIFE เขาก็อยากเอางบส่วนนั้นมาลงกับเราหรืออยากเอาของมาแจก เราเจอหลายคนที่ติดต่อเข้ามาเองหรือหาโมเดลว่าจะร่วมกับเรายังไงได้บ้าง เราเป็นเหมือนตัวกลางในแง่การเชื่อมระหว่างการตลาดและการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยกัน
ไอเดียการเป็นตัวกลางสำหรับทุกฝ่ายเกิดขึ้นมาตั้งแต่แรกที่เราคิดจะทำ ECOLIFE เลยหรือเปล่า
นุ่น : คนที่จุดประกายเรื่องนี้คือท็อป เราทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นสิบปีโดยใช้เงินจากการเป็นนักแสดงและพิธีกร วันหนึ่งท็อปก็บอกนุ่นว่าสิ่งที่เราทำมันต้องทำกำไรเพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรที่ทำอยู่ ที่ผ่านมาคือพอมีรายได้แต่ก็อยู่แบบปริ่มๆ โดยที่เราต้องเอาเงินเข้าไปทบ ดังนั้นโมเดลธุรกิจที่ทำมันต้องดีและครบลูปกับทุกฝ่าย เราเริ่มต้นจากอินเนอร์แบบนั้น ไม่ใช่แบบสตาร์ทอัพทั่วไป
จุดที่ยากของการทำให้ยั่งยืนคืออะไร
ท็อป : การทำให้คนเห็นภาพตรงกับเรา ยกตัวอย่างเช่นเรื่องพลาสติก เราพูดมาหลายปีมากเลยแต่บางคนก็จะบอกว่าแล้วจะลดได้ยังไง คือการใช้พลาสติกมันกลายเป็นพฤติกรรมปกติไปแล้ว อยู่ดีๆ วันหนึ่งเรามาบอกให้เปลี่ยนมันเลยยาก ยอมรับว่าบางทีก็ทำให้เราเบื่อเหมือนกันนะ แต่ก็คิดว่าถ้าเบื่อแล้วไม่ทำอะไร สุดท้ายจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นช่างมัน ทำสิ่งที่เราเข้าใจให้ดีที่สุด โชคดีที่ช่วงหลังมานี้มีสื่อเข้ามาช่วย อย่างการนำเสนอภาพของเต่าที่หลอดติดในจมูก หรือท้องปลาที่มีพลาสติก ภาพเหล่านี้ทำให้เราเชิญชวนคนได้ง่ายขึ้น
จุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว
ท็อป : มีหลายคนที่สนใจและติดต่อเข้ามา อย่างเร็วๆ นี้ ECOLIFE กำลังจะถูกเอาไปใช้ในเทศกาลเที่ยวเมืองไทยในวันที่ 23 มกราคม เรามองว่างานนี้เป็นอีเวนต์ใหญ่ที่รวมคนจากหลายที่ แต่ละคนจากแต่ละที่ก็จะมาเห็นว่าเราตั้งใจทำอะไรกันอยู่ ทำไมเราถึงต้องการลดปริมาณพลาสติกพวกนี้ ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ดังนั้นคนที่เขาเห็นว่ามันเกิดการปฏิเสธการใช้พลาสติกจริงๆ มันก็จะไปกระตุกต่อมเขาว่าบางอย่างมันทำได้ องศาจะขยับ แทนที่จะอยู่อย่างเดิมๆ มันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ฉีกออกไปไม่มากก็น้อย
นุ่น : เรารู้สึกว่ามันเหมือนการสร้างเมล็ดพันธุ์เหมือนกัน แทนที่เราจะเอาตัวเองที่มีกำลังอันน้อยไปหาทุกคน แต่งานนี้เรารวม 4-5 ภาคมาสร้างเมล็ดพันธุ์ ถ้าเขามางานแล้วกลับไปมันอาจจะเกิดการเอาไปลองใช้ดู เรามองว่าจริงๆ แล้วแอพพลิเคชั่นของเรามันเป็นแค่เครื่องมือ แต่แก่นของพวกเราคืออยากให้ทุกคนมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ดังนั้นถ้าเขามีหัวใจเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ถือว่างานเราประสบความสำเร็จแล้ว
ในอนาคตคาดหวังให้เป็นยังไงต่อบ้าง
ท็อป : เราแค่อยากให้คนมาร่วมเยอะๆ เลยนะ เราเชื่อว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะแข็งแรงพอ มันเป็นเหมือนการตะโกนบอกว่าเราทำเรื่องอย่างนี้ เราช่วยกันและเราทำได้ เราเชื่อว่าสุดท้ายแอพนี้สามารถจดสถิติไปบอกกับผู้บริหารประเทศนี้ได้ว่าคุณควรจะออกนโยบายบางอย่างมาได้แล้ว เพราะนี่คือสถิติของคนที่ออกมาบอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้ single-use plastic และมาใช้พลาสติกให้คุ้มค่ากว่านี้ดีกว่า ใช้ให้มันสมศักดิ์ศรีของความเป็นพลาสติกที่ถูกคิดและผลิตออกมาเพื่อให้ใช้ได้ในระยะยาวหน่อย เรามาพยายามลดบางอย่างเท่าที่เป็นไปได้ เพราะมีหลายคนที่พอเริ่มเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบสุดโต่งแล้วทำไม่ได้ก็พานเลิก ดังนั้นการเริ่มเท่าที่ทำได้ เราคิดว่ามันจะช่วยโลกได้ยั่งยืนมากกว่าจริงๆ
นุ่น : จากการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอดสิบปี สิ่งที่เราเข้าใจคือคุณทำไปเถอะ ใครจะทำอะไรถือว่าดีหมด แต่ทำหลายๆ คนน่ะจะดี ทำคนเดียวมันเหนื่อย เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมสุดท้ายมันก็คือบ้านเรา ถ้าร่วมด้วยช่วยกันทำน่าจะดีกว่า