เชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีช่วงเวลาดีๆ ในอดีต ซึ่งก็อาจผสมรวมทั้งความสุข ทุกข์ ขม หวาน ปนเปกันไป และเมื่อได้หวนนึกขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ผ่านเลยไปเนิ่นนาน อดีตเหล่านั้นจึงมีคุณค่ากว่าสิ่งใด
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Reply 1988 ซีรีส์เกาหลีที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิต ครอบครัว ความรัก มิตรภาพ ความทรงจำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1988 ณ ย่านซังมุนดง กรุงโซล ได้กลายเป็นซีรีส์ที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมชาวเกาหลีทั่วประเทศ รวมถึงผู้ชมชาวไทยที่ถึงแม้อยู่ไกลจากย่านซังมุนดงกว่า 3,000 กิโลเมตร แต่ก็รู้สึกผูกพันกับตัวละครและบรรยากาศในย่านซังมุนดงไม่น้อยไปกว่ากัน
ด้วยความรู้สึกโหยหาอดีต (nostalgia) อันเป็นจุดร่วมสากลของคนทั่วโลก ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ถูกใจคนดูทุกเพศทุกวัย ชนิดที่ต่อให้เกิดไม่ทันปี 1988 ก็ยังอินประหนึ่งเติบโตมากับตัวละครในเรื่อง
ช่วงนี้ที่เกาหลียิ่งมีกระแสนิยมอะไรๆ ที่เป็นสไตล์เรโทรมากขึ้น ถึงขั้นมีการสร้างคำศัพท์ใหม่อย่าง ‘นิวโทร’ (มาจากคำว่า new รวมกับคำว่า retro) ซึ่งหมายถึงหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่สนใจสไตล์บางอย่างจากยุคเก่า นำมาดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่อย่างที่เห็น
อาจเป็นเพราะวัยรุ่นเหล่านี้แทบจะไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับสไตล์หรือของเก่ามากนัก จึงมีแนวโน้มที่พวกเขาจะไม่ได้มองของเก่าในฐานะการรื้อฟื้นหรือหวนคืนอดีตที่คิดถึง แต่มองว่าของเก่าเหล่านี้คือสไตล์ใหม่ที่แปลกตาและดูเก๋นั่นเอง
อย่างการแต่งตัวสไตล์ย้อนยุคที่ได้รับความนิยมจนมีการติดแฮชแท็ก ‘ลุคคุณยาย’ (#할미룩) หรือ ‘แกรนนี่ลุค’ (#그래니룩) ซึ่งมีเอกลักษณ์คือการใส่เสื้อผ้าตัวยาวๆ บ้างสวมคาร์ดิแกน สวมกางเกงขาพอง หรือกระโปรงยาวลายดอกไม้ เสื้อกั๊กไหมพรม ซึ่งบางคนอาจมองว่าเชยนิดๆ แต่มิกซ์แอนด์แมตช์ดีๆ แล้วก็ดูเก๋ไม่ใช่เล่น
นักศึกษาชาวเกาหลีวัย 22 ปีได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีไว้ว่าการแต่งตัวลุคคุณยายนั้นทั้งน่ารักแถมยังช่วยพรางหุ่นได้ดีอีกด้วย
เช่นกันกับข้าวของเครื่องใช้และบรรดาของกินสไตล์เรโทรที่ต่างก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นไม่น้อย ในตลาดขายของมือสองออนไลน์ก็มีการซื้อ-ขายของเก่าต่างๆ กันจำนวนมาก อย่างเครื่องทำกาแฟเรโทร เครื่องเล่นแผ่นเสียง แก้วเบียร์สไตล์เก่าๆ โคมไฟตั้งโต๊ะสไตล์ย้อนยุค หรือพัดลมโบราณที่กลายมาเป็นสินค้ายอดฮิตในช่วงนี้
จากผลการสำรวจพบว่า ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมในปีนี้มียอดขายสินค้าสไตล์เรโทรสูงขึ้นจากปีที่แล้วถึง 53 เปอร์เซ็นต์ และในบรรดาสินค้าทั้งหมด สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือขนมโบราณซึ่งมียอดขายสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 184 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ขนมโบราณที่ว่านั้นก็มีมากมาย หลายอย่างอาจเป็นสิ่งที่เราเคยผ่านตากันอยู่บ่อยๆ ในสื่อเกาหลีช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น ‘จนดือกี’ ขนมที่ทำจากแป้ง เป็นแผ่นยาว ‘ป็องทวีกี’ ขนมที่มีลักษณะคล้ายแผ่นข้าวเกรียบ และ ‘ทัลโกนา’ ขนมน้ำตาลเคี่ยว บ้างเรียกอมยิ้มเกาหลี
ส่วนอาหารคาวสไตล์ย้อนยุคเองก็ฮิตตามกันมา เช่น ‘ทงดัก’ หรือไก่ที่ทำให้สุกทั้งตัวโดยไม่ได้หั่นเป็นชิ้น นิยมนำไปทอด ซึ่งปรากฏอยู่ในฉากหนึ่งของเรื่อง Reply 1988
จากสถิติเมื่อปี 2020 ขนมต็อกหรือก้อนแป้งข้าวเหนียวหนึบคลุกถั่วชนิดที่เรียกว่า ‘อินจอลมี’ นั้นมียอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และอาหารที่มีส่วนผสมของงาดำหรือเครื่องดื่มธัญพืชต่างๆ ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน อย่างไอศครีมรสงาดำของแบรนด์ emart24 ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วมียอดขายถึง 3 ล้านแท่ง!
นอกจากคำว่านิวโทรแล้ว ความนิยมอาหารโบราณและการแต่งตัวย้อนยุคเหล่านี้ยังมีคำบัญญัติเฉพาะที่ใช้เรียกรวมกระแสทั้งหมดได้ด้วยคำว่า ‘ฮัลแมเนียล’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘ฮัลแม’ (ภาษาถิ่น) หมายถึง คุณย่าหรือคุณยาย รวมกับคำว่า ‘มิลเลเนียล’ นั่นเอง
โคฮยังมันดู ก็ได้ทำเซตของขวัญสไตล์เรโทร เช่นกันกับกาแฟกระป๋องลอตเต้ที่ออกแพ็กเกจครบรอบ 30 ปีในสไตล์เรโทร หรือแม้กระทั่งพัดลมจิ๋วสไตล์เรโทรก็ยังมีให้เห็นเช่นกัน
เมื่อสินค้าเรโทรกลายเป็นของขายดีขนาดนี้ ไม่แปลกที่บริษัทต่างๆ จะหันมาห่อหุ้มสินค้าของตัวเองเสียใหม่ด้วยแพ็กเกจจิ้งสไตล์เรโทร อย่างช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาบริษัทเกี๊ยวเช่นกันกับเกมเก่าๆ ที่วนกลับมาฮิตติดเทรนด์ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเกมสไตล์นี้โดยมากสามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้ฟรี ทำให้เข้าถึงได้ง่าย ทั้งยังให้อารมณ์เหมือนกำลังอยู่ในร้านเกมสมัยก่อนอีกด้วย
กระแสนิยมเรโทรนี้เองที่ทำให้ย่านอึลจีโรกลายเป็นที่นิยมขึ้นมาในหมู่วัยรุ่น เนื่องจากย่านนี้มีทั้งร้านอาหารและกาแฟที่เปิดมานานหลายสิบปีซึ่งตกแต่งร้านด้วยสไตล์เรโทรแท้ๆ ขณะเดียวกันก็ยังมีร้านเปิดใหม่ที่ตกแต่งเป็นสไตล์เรโทรด้วยเช่นกัน ถึงขั้นมีการขนานนามย่านอึลจีโรว่าเป็น ‘ฮิปจีโร’ (มาจากคำว่า ‘ฮิปสเตอร์’ รวมกับคำว่า ‘อึลจีโร’) เลยทีเดียว
เมื่อกระแสเรโทรได้แพร่กระจายไปทั่วทุกวงการขนาดนี้ มีหรือที่ K-pop จะพลาด
ในช่วงปีที่ผ่านมาเราได้เห็นศิลปินนำกลิ่นอายเก่าๆ มานำเสนอให้เห็นกันมากมาย อย่างวง SSAK3 (อ่านว่า ซักซือรี) โปรเจกต์กรุ๊ปที่เป็นการรวมตัวของศิลปินรุ่นใหญ่คือ ยูแจซ็อก อีฮโยรี และเรน จากรายการ Hangout with Yoo ซึ่งได้ปล่อยเพลง Beach Again ออกมาเมื่อกรกฎาคมปีที่แล้ว หรืออัลบั้ม Hello ของ JOY หนึ่งในสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป Red Velvet ที่ได้นำเพลงเก่าช่วง 90s-00s มารีเมกใหม่และปล่อยออกมาเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี่เอง
นอกจากนี้ศิลปินวง BTS ก็ได้มี BTS 2021 Season’s Greetings ถ่ายแบบในคอนเซปต์ BTS Goes Retro ทั้งสถานที่ถ่ายทำและเสื้อผ้าเป็นสไตล์ย้อนยุค
ชาวเกาหลีอายุ 22 ปีได้ให้สัมภาษณ์ว่า เดี๋ยวนี้มิวสิกวิดีโอเพลงต่างๆ มักใช้ CG และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้ภาพออกมาสวยงาม แต่เมื่อได้เห็นศิลปิน BTS ที่ตนชื่นชอบอยู่ในบรรยากาศเรโทรแล้วกลับทำให้รู้สึกว่าวิดีโอสไตล์ย้อนยุคนั้นน่าดึงดูดและน่าสนใจไม่น้อยเลย
คำถามที่ตามมาก็คือ ความนิยมเรโทรของคนเกาหลีนั้นมีที่มาจากอะไร?
อาจารย์จากภาควิชา Global Communication มหาวิทยาลัยคย็องฮี วิเคราะห์ว่า เมื่อในตลาดไม่มีอะไรใหม่อีกต่อไปแล้ว ผู้บริโภคจึงหันกลับไปมองของย้อนยุคและรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องสดใหม่ขึ้นมา
ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการนิยมอะไรที่เป็นสไตล์ย้อนยุคแบบนี้อาจมีสาเหตุมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยสตรีซุกมย็อง (Sookmyung Women’s University) กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจต่างๆ ถดถอยลงเพราะโควิด-19 ทำให้คนวัย 20-29 ปีรู้สึกหวั่นใจกับอนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป เหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงโหยหากลิ่นอายของอดีตที่สร้างความมั่นคงทางจิตใจได้มากกว่ายุคปัจจุบัน
สอดคล้องกับสิ่งที่นักศึกษาคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตอนนี้เธอรู้สึกเหนื่อยล้ากับสภาพสังคมที่ต้องเร่งรีบตลอดเวลา จึงอยากมีที่ว่างให้ตัวเองไม่ต้องรู้สึกรีบร้อนอะไร และเริ่มหันมาสนใจสไตล์เรโทร
ไม่เพียงแต่วัยรุ่นเท่านั้น คนเกาหลีในวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุเองก็เห็นว่าสินค้าสไตล์เรโทรช่วยชดเชยความรู้สึกไม่แน่นอนของอนาคต และทำให้นึกถึงอดีตที่ไม่ว่าใครก็คงจะมีความทรงจำดีๆ กับมันอยู่บ้าง
การหลีกหนีจากความจริงที่เราควบคุมไม่ได้และสถานการณ์อันแสนวุ่นวาย ไหนจะความอึดอัดจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเกาหลีอยากหลีกหนีปัจจุบันและย้อนไปสู่ยุคเก่าที่สบายใจกว่านี้ ถึงจะแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งที่ได้สวมเสื้อผ้าย้อนยุค ไม่กี่นาทีที่ได้ฟังเพลงเก่า นั่งกินขนมโบราณกับครอบครัว หรือแค่ชั่วเวลาที่ได้นั่งจิบกาแฟในร้านย้อนยุค ก็คงช่วยเยียวยาหัวใจของคนเกาหลีในยุคนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อย
อ้างอิง