‘โคโรนาบลู’ และวิธีรับมือของคนเกาหลี ตั้งแต่เดินเขาคนเดียว นอนในรถ ยันเปิดโฮมคาเฟ่

เมื่อโควิด-19 มาเยือน ไม่ใช่แค่ร่างกายที่เสี่ยงกับอาการป่วยไข้ แต่จิตใจก็น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเมื่อคนเกาหลีต้องอยู่กับมาตรการรักษาระยะห่างกันมาเกินหนึ่งปี โคโรนาบลู

แรกเริ่มที่เกิดโรคระบาด ทางการเกาหลีเรียกมาตรการนี้ว่า social distancing แต่เมื่อประเทศอื่นๆ ประกาศมาตรการคล้ายกันนี้ ก็อาจปรับเปลี่ยนคำเป็น physical distancing ในบางประเทศ เพราะใจความจริงๆ คือห่างกันแค่ทางกาย แต่ไม่ได้ห้ามเข้าสังคมกันในทางอื่นๆ

แต่ใครจะรู้ การห่างกันทางกายก็เกิดผลทางใจได้เหมือนกัน และการเจอหน้ากันตรงๆ ไม่ได้ก็ทำให้โอกาสเชื่อมสัมพันธ์กันยามปกติที่เป็นไปตามธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นน้อยลง

ช่วงที่โควิด-19 ระบาดในเกาหลีใต้ ผู้คนต้องลดการพบปะกัน แม้จะดูเหมือนรับมือได้ดีในช่วงแรก แต่ทั้งที่ผ่านมาหนึ่งปีก็แล้ว เดือนนี้ยังมีผู้ติดโควิดจำนวนประมาณ 500-700 คนต่อวัน หลังจากตัวเลขพุ่งขึ้นในระลอกที่ 3 ทางการเกาหลีใต้จึงมีมาตรการห้ามรวมตัวกันในสถานที่สาธารณะเกิน 4 คนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สถานการณ์เหล่านี้ทำให้คนเกาหลีหลายคนประสบปัญหาทางสุขภาพจิตไปด้วย อาการแบบนี้เรียกว่าภาวะ ‘Corona Blue‘ (코로나 블루)

โคโรนาบลูเป็นอาการหม่นเศร้า รู้สึกหมดเรี่ยวแรง สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของชีวิตประจำวันที่ต้องทำตามมาตรการต่างๆ เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคม บวกกับความเครียดสะสมต่อปัญหาด้านอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 

ผลสำรวจคนเกาหลีจำนวน 1,031 คนเมื่อปลายปีที่แล้ว พบว่ามีคนที่เคยตกอยู่ในภาวะโคโรนาบลูถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และอีกผลสำรวจหนึ่งได้สอบถามคนเกาหลีจำนวน 1,000 คนเกี่ยวกับความรู้สึกในช่วงก่อนและหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่าหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 มีคนที่รู้สึกกังวลและเครียดมากขึ้นจำนวน 78 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกกระวนกระวายและรู้สึกกลัวถึง 65.4 เปอร์เซ็นต์ 

ไม่ใช่แค่โคโรนาบลูเท่านั้น ยังมี Corona Red และ Corona Black อีกด้วย ซึ่งก็เดาความหมายได้ตามสี โคโรนาเรดคืออาการเครียดสะสมจากสถานการณ์โควิด-19 จนรู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็รู้สึกโมโห ส่วนโคโรนาแบล็กคือความรู้สึกมืดมนและโศกเศร้าหนักหน่วงยิ่งกว่าโคโรนาบลู ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีคนที่เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าสูงขึ้น 6 เท่า และมีคนที่มีความคิดจะฆ่าตัวตายสูงขึ้น 3 เท่า

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจของประชาชน ภาครัฐจึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2 ล้านล้านวอน (ราวๆ 1,791 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อหาทางบรรเทาปัญหาโคโรนาบลู และประกาศวางแผนระยะยาวดูแลสุขภาพจิตของประชาชนไปจนถึงปี 2025 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยงบประมาณดังกล่าวจะจัดสรรเพื่อใช้ในทางการแพทย์ การลงทุนวิจัยและพัฒนาการบำบัดรักษาแบบออนไลน์ และจะหามาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนลดภาวะเสี่ยงต่อความรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย

ส่วนหน่วยงานต่างๆ ยังได้จัดแคมเปญเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตให้พลเมืองเกาหลี เช่น เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา หน่วยงานโซลได้จัดแคมเปญที่ชื่อว่า “คุณเก่งมากเลย” โดยสุ่มมอบช่อดอกไม้ส่งตรงถึงบ้านให้ครัวเรือนจำนวน 500 ครัวเรือนเพื่อเป็นกำลังใจแก่ครอบครัวนั้นๆ 

ภาพจาก eroun.net

มาตรการและแคมเปญต่างๆ นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐและหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนในสังคมเกาหลีใต้

นอกจากหน่วยงานต่างๆ จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตแล้ว ชาวเกาหลีเองก็ได้มีวิธีรับมือกับโคโรนาบลูเช่นกัน คนที่เคยตกอยู่ในภาวะโคโรนาบลูส่วนใหญ่ได้ใช้วิธีออกกำลังกายเบาๆ หรือการเดินเล่น บ้างก็หางานอดิเรกที่สามารถทำได้ที่บ้าน และสนทนากับคนอื่นๆ ผ่านช่องทางออนไลน์

โควิด-19 ยังทำให้วิถีชีวิตของคนเกาหลีเปลี่ยนไป ไม่เพียงแค่คนต้องหันมาออกกำลังกายหรือเดินเล่นเพื่อลดความเครียดและเศร้า แต่เมื่อฟิตเนสปิดทำการ คนเกาหลีจึงหันมาเดินเขากันมากขึ้น ที่จริงคนเกาหลีชอบเดินเขากันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนวัย 40 ปีขึ้นไปที่นิยมกิจกรรมนี้มากกว่าวัยหนุ่มสาว แต่ในสถานการณ์โควิด-19 มีคนรุ่นใหม่หันมาเดินเขากันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (ทั้งนี้ทุกคนยังต้องสวมหน้ากากไปด้วย จึงต้องระมัดระวังไม่ให้หักโหมจนเกินไป)

มีคำศัพท์ใหม่ใช้เรียกนักเดินเขามือใหม่ว่า ‘ทึงรีนี (등린이)’ เป็นการผสมเอาคำว่า ‘ทึงซัน (등산)’ ที่แปลว่าการเดินเขาหรือการปีนเขา มารวมกับคำว่า ‘ออรีนี (어린이)’ ที่แปลว่าเด็ก มีการโพสต์ภาพเดินเขาในโซเชียลมีเดีย เช่น อินสตาแกรม พร้อมติดแฮชแท็กว่า ‘เดินเขาคนเดียว’, ‘ทึงรีนี’, ‘เส้นทางเดินเขา’ หรือ ‘แฟชั่นเดินเขา’ แค่ช่วงปลายปีที่แล้ว นับรวมแฮชแท็กเหล่านี้ได้ประมาณ 4 ล้านโพสต์ และเมื่อการเดินเขาเป็นที่นิยม สายแฟฯ ก็ไม่พลาดที่จะช้อปปิ้งออนไลน์ซื้อชุดเดินเขาหรือชุดเดินป่า โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมีอัตราการซื้อชุดเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

ภาพจาก thesmartlocal.com/read/korea-hiking

ชาวเกาหลียุคมิลเลนเนียล (ผู้ที่เกิดปี 1980-2000) ยังเริ่มหันมาท่องเที่ยวแบบปลีกวิเวกกันมากขึ้น เช่น การตั้งแคมป์ส่วนตัวด้วยวิธีการนอนในรถแทนการจองโรงแรม มีการจัดแจงประดับตกแต่งรถให้สวยงามเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ รักษาระยะห่างกับผู้อื่น มีการติดแฮชแท็กคำว่า ‘ช่าบัก’ (차박) ซึ่งหมายถึงการพักค้างคืนในรถ และแฮชแท็ก ‘ช่าบักแคมป์ปิ้ง’ (차박캠핑) ในโซเซียลเป็นจำนวนมาก

ภาพจาก wadiz.kr/web/campaign/detail/71646

คนที่เคยดูซีรีส์หรือหนังเกาหลีอาจจะเคยเห็นวัฒนธรรมการกินดื่มของชาวเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นการนัดเจอพูดคุยกันที่ร้านกาแฟ วัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันเป็นหมู่คณะ สั่งเมนูใหญ่ๆ มากินด้วยกัน อย่างหมูสามชั้นย่างหรือที่เรียกว่าซัมกย็อบซัล (삼겹살) ก็มักจะกินกันหลายคน ช่วยกันย่าง นำมาห่อผักเป็นคำใหญ่ๆ ระหว่างนั้นก็พูดคุยกันออกรส กระดกโซจูหรือมักกอลลีไปพลาง 

แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ต้องลดการพบปะกัน จะรวมกันเกิน 4 คนให้ครบแก๊งเพื่อนก็ยาก คนเกาหลีจึงมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้านลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และมีหลายคนใช้วิธีซื้อเครื่องชงกาแฟติดบ้านเอาไว้เลย ทั้งยังจัดโซนจิบกาแฟให้สวยงามเหมือนอยู่ร้านกาแฟเก๋ๆ เป็นเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า ‘โฮมคาเฟ่’ (홈카페) อันที่จริงเทรนด์นี้มีมาก่อนช่วงโควิด-19 แล้ว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดนี้ก็ยิ่งทำให้คนเกาหลีสนใจโฮมคาเฟ่มากขึ้นไปอีก และยังมีการแชร์สูตรการทำกาแฟและอัพโหลดรูปกาแฟที่ตัวเองทำลงโซเชียลฯ กันเป็นจำนวนมาก

ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมโฮมคาเฟ่เท่านั้น ยังมีการรวมกลุ่มทางออนไลน์ที่ไม่ใช่แค่การพูดคุยกัน แต่ยังมีการนำข้าวปลาอาหารมาตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์และรับประทานไปพร้อมๆ กับคนอื่นที่กำลังมีตติ้งกันอยู่ และไม่ใช่แค่การกินข้าว การนัดกันจิบกาแฟหรือแม้กระทั่งการนัดดื่มเหล้าดื่มเบียร์กันผ่านโปรแกรม Zoom ก็เป็นเทรนด์ออกมาแล้ว เรียกว่า ‘แรนซอน ซุลจารี’ (랜선 술자리) หรือ “วงเหล้าผ่านสายแลน”

ภาพจาก gonggam.korea.kr/newsView.do?newsId=GAJT8RJowDGJM000

ที่น่าสนใจคือ นอกจากสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังกระทบต่อเรื่องหัวใจหรือความรักของคนเกาหลีในยุคนี้ด้วย การหาคู่ของคนเกาหลีมีวิถีเปลี่ยนไปจากเดิมคือ แต่ก่อนคนเกาหลีจะนิยมนัดบอดกับคู่ผ่านการแนะนำของเพื่อนหรือคนรอบตัว (หรือที่เรียกว่า ‘โซแกติ้ง’) โดยการเจอกันที่ร้านอาหารไม่ก็ร้านกาแฟ ถ้าได้เจอได้คุยกันแล้วถูกใจก็อาจจะได้สานสัมพันธ์กันต่อไป แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การตัดสินใจออกไปเจอคนแปลกหน้ากลายเป็นเรื่องยากขึ้นกว่าแต่ก่อน ไม่ใช่แค่ที่ประเทศเกาหลีเท่านั้น มีรายงานออกมาว่าในช่วงปีที่แล้วคนทั่วโลกดาวน์โหลดแอพฯ หาคู่ถึง 560 ล้านครั้ง มากขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 15 เปอร์เซ็นต์

ในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตคนเกาหลีที่พยายามปรับตัวประคองใจให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง และช่วยเตือนให้เราเห็นว่าสุขภาพใจนั้นก็สำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย ดูแลร่างกายแล้วต้องอย่าลืมดูแลหัวใจตัวเองด้วย 


อ้างอิง

donga.com

edaily.co.kr

eroun.net

greenpostkorea.co.kr

haemuklife.com

hankyung.com

koreapost.co.kr

mdon.co.kr

mhns.co.kr

m.medipana.com

news.joins.com

news.mk.co.kr

news.seoul.go.kr

safetimes.co.kr

sedaily.com

yna.co.kr

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที