“มากินรามยอนที่บ้านเราไหม” ชวนดูที่ทางของรามยอนในชีวิตคนเกาหลีใต้

กว่า ‘รา-มยอน’ (라면) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของประเทศเกาหลีจะได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเช่นทุกวันนี้ รามยอนมีที่มาที่น่าสนใจและยังสะท้อนวิถีชีวิตของคนเกาหลีในแง่มุมต่างๆ เอาไว้อีกด้วย

รามยอนมีประวัติความเป็นมากว่าครึ่งศตวรรษ ในยุคสงครามเกาหลีเกิดภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก จึงเริ่มมีการจัดจำหน่ายรามยอนในประเทศเกาหลีขึ้นเมื่อปี 1963 ในชื่อแบรนด์ซัมยัง (Samyang) โดยนำเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมาใช้ในการผลิต รามยอนไม่ได้รับความสนใจจากชาวเกาหลีมากนักในช่วงแรกที่เปิดตัว เนื่องจากประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่นิยมบริโภคข้าวมากกว่า ประกอบกับในสมัยแรกที่เริ่มมีการจำหน่ายรามยอนนั้นหน้าตาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอะไรที่แปลกใหม่ไม่คุ้นเคยอย่างมาก จนถึงกับมีคนเข้าใจผิดว่ารามยอนคืออาหารปลอมที่ทำมาจากเส้นด้าย ไม่ก็ทำมาจากพลาสติกเป็นแน่แท้ จนทำให้ต้องมีการจัดงานชิมรามยอนฟรีเพื่อให้ทุกคนรู้จักมากขึ้น

รามยอน
บนซองรามยอนของแบรนด์ซัมยังถึงกับมีข้อความกำกับไว้ว่า Since 1963

หลังจากผ่านยุคแรกๆ ที่มีการวางขายรามยอน เมื่อตัดภาพมาในยุคปัจจุบันจะเห็นได้ว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ชอบกินรามยอนมาก ไม่ว่าจะต้มกินเองที่บ้าน ที่ร้านสะดวกซื้อ หรือตอนไปเดินเขา แม้กระทั่งในร้านอาหารเกาหลีบางร้านก็ยังมีเมนูรามยอน ซึ่งเมนูที่ว่านี้ไม่ได้นำมาพลิกแพลงเป็นแบบผัดหรือยำแซ่บใส่เครื่องหลากหลายแบบบ้านเรา แต่เมนูรามยอนนี้โดยปกติแล้วที่ขายในราคาถูกในร้านอาหารจะเสิร์ฟด้วยรามยอนต้มธรรมดา อาจมีใส่ไข่และผักเล็กน้อย แต่เมื่อกินกับเครื่องเคียงและกิมจิก็นับว่าลงตัวมาก ถือเป็นเมนูที่เรียบง่าย สามารถอิ่มท้องได้ในราคามิตรภาพ

รามยอน
รามยอนและเครื่องต้มกึ่งอัตโนมัติในร้านสะดวกซื้อ ภาพจาก singaporefoodie.com

มีแนวโน้มสูงมากที่เราจะเห็นคนเกาหลีกินรามยอนอย่างเอร็ดอร่อยในฉากละครหรือภาพยนตร์เกาหลี จนผู้ชมชาวเกาหลีบางคนถึงกับรวบรวมฉากกินรามยอนในละครหรือภาพยนตร์เกาหลีเป็นจำนวนถึง 30-40 เรื่องเพื่อเอาไปโพสต์ลงโซเซียลฯ และเรียกกันว่าเป็น ‘มอกบัง’ (การกินโชว์หน้ากล้อง) จากละครหรือหนังยอดฮิต

มีคำกล่าวที่ว่าประเทศเกาหลีเป็นเมืองแห่งรามยอน สิ่งที่ยืนยันความป๊อปของรามยอนในกลุ่มชาวเกาหลีอีกอย่างหนึ่งคือข้อมูลทางสถิติของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association: WINA) ผลสำรวจพบว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในอัตราส่วนต่อหนึ่งคนแล้วเป็นปริมาณที่มากที่สุดในโลก ในแต่ละปีประเทศเกาหลีมักจะครองอันดับหนึ่งอยู่เสมอ จากสถิติล่าสุดเมื่อปี 2019 โดยเฉลี่ยแล้วคนเกาหลีบริโภครามยอนเป็นจำนวนราวๆ 75 ซองต่อคนต่อปี

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่ารามยอนเป็นอาหารที่กินง่ายและราคาถูกกว่าอาหารเกาหลีทั่วไป จึงเป็นอาหารยอดนิยมในหมู่คนเกาหลีที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วและมีข้อจำกัดทางการเงิน เมื่อปี 2016 เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินจนมีผู้เสียชีวิต ในที่เกิดเหตุยังพบบะหมี่ถ้วยกระเด็นออกมาจากกระเป๋าของผู้เสียชีวิต และในปี 2018 คนงานในโรงงานไฟฟ้าเสียชีวิต หนึ่งในของส่วนตัวที่เขาพกไว้คือบะหมี่ถ้วย มีข่าวที่พูดถึงเหตุการณ์เหล่านี้ และในข่าวได้มีการพูดถึงรามยอนว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ทำงานหนัก ไม่มีเวลา และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

นอกจากแหล่งข่าวต่างๆ ที่มีการกล่าวถึงรามยอนที่สะท้อนภาพชีวิตอันขื่นขมของชาวเกาหลีกลุ่มหนึ่งในสังคม เมื่อปี 2007 เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก ในปีนั้นมีภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง The Show Must Go On เข้าฉาย มีฉากที่พ่อ (รับบทโดย ซงคังโฮ) นั่งกินรามยอนไปด้วยและดูวิดีโอของสมาชิกในครอบครัวของเขาที่อยู่ต่างประเทศไปด้วย ตอนแรกเขายิ้มสุขใจแต่สุดท้ายก็ร้องไห้ออกมาขณะที่ยังกินรามยอนอยู่

ถึงแม้ว่ารามยอนคือสิ่งที่สะท้อนถึงความยากลำบากของคนเกาหลีตั้งแต่ยุคหลังสงครามไปจนถึงความดิ้นรนของคนในสังคมเกาหลีแล้ว แต่ก็ยังมีอีกแง่มุมหนึ่งจากอาจารย์ยังเจซุก อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอินเจ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอาหารเอเชียตะวันออก ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนเกาหลีกับรามยอนไว้ว่า “หากไม่มีรามยอนชีวิตเราคงเปล่าเปลี่ยวเหลือเกิน รามยอนเป็นทั้งสมาชิกในครอบครัวและเป็นเพื่อนที่คอยปลอบประโลมร่างกายและจิตใจเราเสมอมา”

นอกจากนี้เราจะเห็นการนำเสนอรามยอนในมุมมองใหม่ คือเมนู “จาพากูรี” ในภาพยนตร์เรื่อง Parasite (ชนชั้นปรสิต) ที่มาจากการนำรามยอน 2 สูตร ได้แก่ “จาพาเกที” กับ “นอกูรี” มาผสมกัน และใส่เนื้อวัวอย่างดีลงไปด้วย องค์กรการค้าสินค้าเกษตร ประมง และอาหารแห่งเกาหลีใต้ระบุว่า จากภาพยนตร์เรื่อง Parasite ในช่วงต้นปี 2020 “จาพากูรี” ได้กลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรม และการระบาดของโควิด-19 ทำให้รามยอนที่มีราคาต่ำและสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานกลายเป็นที่นิยมไม่ใช่แค่ในประเทศเกาหลีเอง แต่ยังมีความนิยมในระดับโลก

เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณการบริโภครามยอนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วงครึ่งปีแรกการขายรามยอนในเกาหลีเติบโต 7.2 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวนกว่า 1.1 ล้านล้านวอนเมื่อเทียบเป็นรายปี และมียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อัตราการเติบโตของตลาดที่สูงขึ้นนี้ทำให้รามยอนได้ชื่อว่าเป็น “อาหารที่แข็งแกร่งในภาวะวิกฤต” เลยทีเดียว

เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคม มีการส่งออกรามยอนเพิ่มขึ้น 36.7 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้นำเข้ารามยอนรายใหญ่ที่สุดคือประเทศจีน ตามด้วยสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และด้วยกระแสฮันรยู (คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี) ทำให้มีการส่งออกรามยอนไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

ไม่ใช่เพียงจาพากูรีเท่านั้นที่ทำให้การกินรามยอนเกาหลีเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นในต่างประเทศ The New York Times ได้เลือกให้ชินรามยอนแบล็ก (Shin Ramyun Black) ของแบรนด์นงชิมเป็นรามยอนที่อร่อยที่สุดในโลก ส่วนรามยอนผัดพุลดัก (buldak) ของแบรนด์ซัมยังก็เป็นเมนูฮิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้รามยอนที่จัดจำหน่ายในรูปแบบคล้ายข้าวกล่องของแบรนด์พัลโดยังได้ความนิยมในประเทศรัสเซียอีกด้วย

รามยอน
Shin Ramyun Black ภาพจาก nongshimusa.com

การกินรามยอนยังถูกนำมาใช้ในประโยคกำกวมว่า “รามยอน มอกโก คัลแร?” หมายถึง “มากินรามยอนที่บ้านเราไหม” ประโยคนี้นอกจากจะหมายถึงการชวนกินรามยอนจริงๆ แล้ว หลายคนยังตีความว่าการชวนกินรามยอนที่บ้านนั้นมีนัยถึงการชวนคนที่กำลังชอบพอกันอยู่มามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันที่บ้านด้วย

ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจนว่าประโยคนี้กลายเป็นการพูดแฝงนัยลึกซึ้งทางชู้สาวได้ยังไง แต่ภาพยนตร์เกาหลีเรื่องแรกๆ ที่มีคนเกาหลีกล่าวถึงกันมากเกี่ยวกับฉากชวนกินรามยอนนั้นคือเรื่อง One Fine Spring Day (2001) อึนซู (รับบทโดย อียองแอ) นางเอกของเรื่องชวนซังอู (รับบทโดย ยูจีแท) มากินรามยอนที่ห้อง เมื่อซังอูเข้ามาที่ห้องอึนซูก็ได้พูดประโยคต่อไปว่า “คืนนี้นอนที่นี่ไหม” แล้วทั้งคู่ก็ยิ้มให้กัน

ส่วนในซีรีส์เรื่อง Run On (2020-2021) โอมีจู (รับบทโดย ชินเซคยอง) ชวนคีซอนกยอม (รับบทโดย อิมชีวาน) มากินรามยอนที่บ้าน และโอมีจูเป็นคนเปิดประเด็นตรงๆ ว่า “มาจุ๊บกันหน่อยดีไหม” จนคีซอนกยอมถามว่า “เราจะกินรามยอนกันตอนไหน”

นอกจากนี้ ในซีรีส์เรื่อง What’s Wrong with Secretary Kim? (2018) อียองจุน (รับบทโดย พักซอจุน) กินรามยอนที่บ้านของเลขาคิม (รับบทโดย พักมินยอง) แต่ทั้งคู่ไม่ได้รู้ความหมายแฝงนั้นเลยจนกระทั่งคนรอบตัวได้เล่าให้ฟังภายหลัง

การเชิญชวนและการตอบรับการกินรามยอนด้วยกันที่บ้านนั้นหมายถึงการยินยอมให้มีการหลับนอนกันเสมอไปเช่นนั้นหรือ คนเกาหลีมีความคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้

เมื่อปี 2015 ในรายการทอล์กโชว์รายการหนึ่งได้พูดถึงเหตุการณ์ที่ผู้หญิงแจ้งความว่าตัวเองถูกผู้ชายที่เธอรักล่วงละเมิดทางเพศ ในรายการได้มีการถามความคิดเห็นกันว่า สมมติมีการชักชวนให้ไปกินรามยอนด้วยกัน แล้วหากเราตอบตกลง นั่นหมายถึงการยินยอมมีเพศสัมพันธ์กันหรือไม่ ในมุมของผู้ชายคืออย่างน้อยก็มีความคาดหวังว่าอาจจะไปถึงขั้นนั้นได้ แต่ก็มีอีกความเห็นหนึ่งที่ว่าผู้ชายตีความไปไกลกว่าที่ควร นอกจากนี้ได้มีความเห็นหนึ่งที่ว่า “รามยอนก็คือรามยอน ส่วนการมีเซ็กซ์ก็คือการมีเซ็กซ์” ต้องแยกให้ออก ไม่ควรเหมารวมว่าการตกลงกินรามยอนที่บ้านเท่ากับการตกลงปลงใจอยากมีเพศสัมพันธ์กันเสมอไป 

หลังจากนั้นในปี 2017 ก็ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นนี้อีกครั้งในรายการทอล์กโชว์อีกรายการหนึ่ง มีความเห็นเกี่ยวกับการชักชวนให้ไปกินรามยอนที่บ้านว่า “อย่าจินตนาการเองไปไกลเลย ขอให้ถามกันตรงๆ” จากทั้งสองรายการข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความพยายามของสื่อเกาหลีในการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับประโยคชักชวนดังกล่าว 

จากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปธรรมดาที่ในอดีตถึงขั้นถูกมองว่าเป็นอาหารปลอม ตัดภาพมาในปัจจุบัน รามยอนได้กลายเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้มหาศาล สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวเกาหลี และกลายเป็นสำนวนกำกวมที่ชวนให้ไปกินรามยอนที่บ้าน นับว่ารามยอนนั้นเดินทางมาไกลไม่น้อย ในอนาคตเราอาจจะเห็นแง่มุมอื่นๆ จากรามยอนอีกก็เป็นได้


อ้างอิง

businesskorea.co.kr

instantnoodles.org

kpinews.co.kr

kunews.ac.kr

lcnews.co.kr

news.kbs.co.kr

seoul.co.kr

sisajournal.com

star.ytn.co.kr

view.asiae.co.kr

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที