Why Creative People Stay Young? – เมื่อความสร้างสรรค์ทำให้เราอ่อนวัยแบบไม่อ่อนแอ

เราต่างรู้กันดีว่า ‘ความแก่’ เป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ต้องเจอ

ในอดีตช่วงที่วิทยาการทางวิทยาศาสตร์ยังไม่เพียบพร้อม ความแก่เป็นเหมือนปรากฏการณ์ธรรมชาติ มนุษย์มีวิธีปฏิบัติต่อความแก่โดยยอมรับและอยู่กับธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร้การควบคุม เราไม่สามารถหนีความแก่ได้ ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องแก่เข้าสักวัน

จนเมื่อประมาณ ค.ศ. 1975 การรับรู้เรื่องความแก่เปลี่ยนไปตั้งแต่มีการเข้ามาของวิทยาศาตร์ เริ่มมีงานวิจัยที่เสนอแนวคิดในการหนีความแก่หรือที่ใครหลายคนมักเรียกว่า ‘การชะลอความแก่’ ปัจจัยหลายอย่างถูกค้นพบว่ามีผลต่อธรรมชาติของร่างกายนี้ ดังนั้นการเข้าไปควบคุมหรือปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เราเข้าไปผ่อนหนักผ่อนเบากับวัฏจักรชีวิตที่กำลังหมุนไป

เมื่อมีการพูดถึงแนวคิดนี้ครั้งแรก หลายปีหลังจากนั้นได้เกิดงานวิจัยเกี่ยวกับการสูงอายุขึ้นมากมาย หลายคนพยายามเข้าใจกระบวนการแก่นี้ทั้งในแง่ของร่างกายและจิตใจ พวกเขาพยายามเข้าไปหาเบื้องหลัง เคล็ดลับ หรือวิธีการที่จะแทรกแซงระบบธรรมชาตินี้ ช่วงปี 2000s เริ่มมีงานวิจัยที่พูดถึง ‘the creative age’ ขึ้นมา มีการทดลองด้วยสมมติฐานที่ว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ มีผลต่อการชะลอความแก่ ซึ่งผลวิจัยต่างชี้ไปที่คำตอบเดียวว่า สิ่งนี้สามารถสร้างผลกระทบทางบวกต่อวัยของเราได้จริง

แล้วความคิดสร้างสรรค์ มีผลต่อร่างกายได้อย่างไรกัน?

นั่นคือคำถามที่ตามมาซึ่งมีอีกหลายคนที่อยากรู้คำตอบ

งานวิจัยของ Rodin ในปี 1989 บอกว่าการเพิ่มขีดความสามารถให้ร่างกายตัวเองนั้น ปัจจัยหนึ่งเกิดจากการที่เราทำอะไรสำเร็จโดยที่ไม่คิดว่าจะทำได้มาก่อน สิ่งเหล่านั้นเหมารวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์และศิลปะที่มักจะพามนุษย์หลุดจากกรอบไปหาสิ่งใหม่ที่ไม่คิดว่าจะทำได้

กลไกเหล่านี้ถูกอธิบายไว้โดย Kiecolt-Glaser และคณะ ในปี 2002 และ Kramer ในปี 2004 พวกเขาอธิบายว่าเมื่อไหร่ที่เราท้าทายตัวเองและทำสำเร็จ อารมณ์ที่เกิดขึ้นตามมาจะมีผลต่อร่างกายในหลายระบบ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันที่ส่งผลให้ร่างกายเพิ่มเซลล์ภูมิคุ้มกันมากขึ้น รวมถึงระบบประสาทที่เราต้องใช้สมองคิดและรู้สึก การทำงานของสมองอย่างมีประสิทธิภาพนี้จะทำให้สมองเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและคงสภาพตัวเอง (brain plasticity) การเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทจะเพิ่มขึ้น และการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นนี้เองย่อมหมายถึงการสื่อสารของสมองที่พัฒนาขึ้น สิ่งนี้เป็นต้นทุนที่ช่วยให้ระบบอื่นๆ ในร่างกายดำเนินไปด้วยประสิทธิภาพที่ดี ร่างกายของเราจึงเสื่อมถอยช้าลงตามนาฬิกาชีวิตที่ควรจะเป็น

นอกจากปัจจัยทางด้านร่างกายที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ปัจจัยทางด้านจิตใจและด้านสังคมก็ได้รับการพิสูจน์ว่ามีผลเช่นเดียวกัน ความคิดสร้างสรรค์มักทำให้เราหลุดจากกรอบเดิมๆ และเติบโตได้ทุกเมื่อไม่ว่าเวลาไหน ในความคิดของเราจึงมักมองเห็นคนที่มีไอเดียแหวกแนวเหล่านี้แตกต่างจากคนอื่น ความทันสมัยและการสังเคราะห์อะไรใหม่ๆ ต่างทำให้พวกเขาเหล่านั้นดูโดดเด่น ไม่ได้แก่ตามวัย และได้รับการยอมรับจากสังคมด้วยการรับรู้ถึงความคิดมากกว่าอายุ อายุจึงกลายเป็นเพียงตัวเลขที่บ่งบอกระยะเวลาที่เราอยู่บนโลก แต่ไม่ได้บอกถึงความแก่ของเราแต่อย่างใด เทรนด์ของโลกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ที่สัมพันธ์กับการแก่ตัวมากขึ้นจนเราเห็นได้ชัด ทั้งจากการเชิดชูคนเหล่านี้ตามสื่อต่างๆ หรือการรณรงค์กระตุ้นให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนสำคัญที่เราควรจะมีไม่ว่าช่วงวัยไหนก็ตาม

สุดท้ายแล้ว ถึงเราจะรู้ว่าความคิดมีผลต่ออายุได้จริงๆ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราไม่ลงมือเปลี่ยนแปลงให้ความคิดกลายการกระทำ การออกนอกกรอบหรือความคิดสร้างสรรค์ที่เราเคยคิดไว้จะไม่ก่อให้เกิดผลอะไรตามมา ถ้าเรามัวแต่ปล่อยมันไว้อย่างนั้น

ถ้าเราไม่อยากให้ชีวิตของเราแก่ ก็มีเพียงแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะก้าวออกไปลงมือทำให้เราได้กลายเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง

อย่างที่ใครหลายคนกล่าวไว้นั่นแหละว่า ‘Live Alive จงออกไปใช้ชีวิต’

แล้วคำถามที่ว่า เราจะ ‘แก่’ หรือเป็น ‘หนุ่มสาว’ ?

เราจะกลายเป็นผู้กำหนดคำตอบได้ด้วยความคิดของเราเอง

อ้างอิง Research on Creativity and Aging: The Positive Impact of the Arts on Health and Illness by Gene D. Cohen

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR