‘เราคือเหยื่อจากสงครามที่ไม่ได้ก่อ’ ความหวังของนักกีฬาวีลแชร์บาสเกตบอลอัฟกานิสถานและกัมพูชา

เสียงตะโกนเชียร์และลูกบาสเกตบอลที่กระทบพื้นสนามกีฬาของศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่น อาจทำให้การแข่งครั้งนี้ฟังดูไม่น่าตื่นเต้นนัก แต่ภาพที่นักกีฬาใช้พลังแขนบังคับรถเข็น พลางเอื้อมมือชู้ตลูกบาสคงเป็นภาพที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำเราไปอีกนาน

เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมการแข่งขันรอบคัดเลือกวีลแชร์บาสเกตบอลของพาราลิมปิกเกมส์หรือกีฬาโอลิมปิกสำหรับผู้พิการ วันนั้นเราเห็นนักกีฬาหลากชาติตบเท้าเข้าร่วมกันอย่างคึกคัก ทุกคนล้วนมีความฝันที่จะคว้าถ้วยรางวัลจากสิ่งที่รักติดมือกลับประเทศอย่างภาคภูมิใจ แต่สำหรับทีมชาติอัฟกานิสถานและกัมพูชาแล้ว นี่ยังเป็นโอกาสที่พวกเขาจะสะท้อนให้โลกเห็นถึงชีวิตหลังเสียงระเบิดและอาวุธสงครามที่น้อยคนจะได้รับรู้

นักกีฬาเหล่านี้คือเหยื่อจากสงครามภายในประเทศที่ไม่เคยได้รับการเยียวยาหรือสวัสดิการจากรัฐบาลแม้แต่น้อย พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากและสิ้นหวังจากพิษสงครามที่ไม่ได้ก่อ จนกระทั่งความช่วยเหลือจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) เข้าไปถึง และต่อลมหายใจพวกเขาด้วยการสนับสนุนเงินทุนให้ฝึกเล่นกีฬาจนมีโอกาสเติบโตถึงระดับทีมชาติ

1

“ผมยังจำวันนั้นได้ดี ผมกำลังเรียนตามปกติ จู่ๆ ก็มีระเบิดตกใส่หลังคาห้อง ทุกอย่างวุ่นวายมาก ผมยังพอมีสติและพยายามคลานหาทางหนีตาย สุดท้ายผมถูกส่งไปโรงพยาบาลเพื่อที่จะได้รู้ความจริงว่าผมเสียขาทั้งสองข้างไปแล้ว” Khawja Wasiqullah Sediqi หนึ่งในผู้เล่นทีมวีลแชร์บาสเกตบอลชายของทีมชาติอัฟกานิสถานนั่งรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พลิกทั้งชีวิตของเขาบนรถเข็นให้เราฟัง

ย้อนกลับไปในปี 1996 เขาเป็นเพียงเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ของกลุ่มก่อการร้ายตาลีบันในกรุงคาบูล เมืองหลวงของอัฟกานิสถาน สงครามยังคงดำเนินต่อไปพร้อมพรากชีวิตผู้บริสุทธิ์อีกหลายรายก่อนจะยุติในอีก 6 ปีให้หลัง เหลือไว้เพียงความสูญเสียที่จะคงอยู่กับเหยื่อความไม่ยุติธรรมอย่างเซดิคิไปตลอดชีวิต

ช่วงที่กลุ่มตาลีบันกุมบังเหียนชีวิตประชาชนชาวอัฟกานิสถาน กฏหมายอิสลามถูกบังคับใช้อย่างรุนแรง ผู้หญิงห้ามเรียนและทำงาน ต้องแต่งตัวปกปิดร่างกายให้มิดชิดเหลือแค่ดวงตา ส่วนผู้ชายถูกบังคับให้ไว้หนวดและแต่งกายแบบพื้นถิ่นเท่านั้น การทำโทษอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนเช่นการโบยตีและประหารชีวิตในที่สาธารณะนั้นกลายเป็นเรื่องที่เห็นได้ปกติตามท้องถนน ถือเป็นการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ตามคำอ้างของกลุ่มตาลีบันเพื่อไม่ให้มีผู้กล้าทำผิดอีก

“ขาฉันพิการตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ ส่วนพี่ชายฉันเสียชีวิตคาที่ แม่บอกว่าตอนนั้นมีจรวดตกใส่หลังคาบ้าน ฉันใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้านจนมีโอกาสได้ไปโรงเรียนพร้อมเด็กสาวคนอื่นๆ ครั้งแรกตอนอายุ 12 ปีหลังกลุ่มตาลีบันถูกขับไล่ หลังจากนั้นฉันก็เข้าร่วมทีมวีลแชร์บาสเกตบอลหญิงของอัฟกานิสถาน แน่นอนว่าฉันถูกครอบครัวต่อต้าน เพราะกีฬาไม่ได้มีไว้เพื่อผู้หญิง” นี่คือเสียงจาก Nilofar Bayat กัปตันทีมวีลแชร์บาสเกตบอลหญิงของอัฟกานิสถานที่แสดงให้เห็นผลพวงของการบังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด เธอบอกกับเราว่าตัวเธอเองไม่ใช่คนเดียวที่ต้องเจอเรื่องแบบนี้ เพื่อนร่วมทีมบางคนโดนตีเมื่อกลับบ้านค่ำหลังการซ้อมด้วยเหตุผลที่ว่าผู้หญิงไม่ควรกลับบ้านดึก

แม้บายัตจะได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่และมีความสุขกับชีวิตดีแล้ว แต่กว่าจะถึงจุดนี้ เธอคู่ควรกับความพิการและการปฏิบัติเช่นนั้นแล้วใช่หรือไม่?

2

นอกจากอัฟกานิสถานแล้ว ยังมีผู้คนอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องต่อสู้ชีวิตอย่างยากลำบากภายใต้ผลกระทบจากสงคราม หนึ่งในนั้นคือชาวกัมพูชาเพื่อนบ้านเรา

“ฉันเดินไม่ได้ตั้งแต่ถูกกระสุนลูกหลงเข้าที่สันหลังช่วงสงครามกลางเมืองพระตะบอง ความเป็นอยู่ยากลำบากมาก เพราะครอบครัวฉันคนอื่นๆ ก็พิการเช่นกัน ฉันต้องลาออกจากโรงเรียนเพราะตอนนั้นการขนส่งไม่เอื้ออำนวย ฉันเดินไปโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ ไม่ได้ ทำงานก็ไม่ได้ ฉันอับอายและถูกกีดกันจากสังคม จนในที่สุด ICRC ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยให้ฉันได้ทำหน้าที่ในฐานะโค้ชวีลแชร์บาสเกตบอลของประเทศ ฉันอยากจะเป็นกำลังใจให้เหยื่อและผู้พิการคนอื่นๆ ได้มายืนที่เดียวกับฉันในตอนนี้” Sokchan Sieng บอกกับเรา และแม้ตอนนี้สงครามในกัมพูชาจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ซากกับระเบิดและอาวุธที่หลงเหลืออยู่ก็ยังคอยสร้างความเจ็บปวดและทำร้ายชาวบ้านจนถึงชีวิต นี่แหละคือสิ่งที่สงครามและความรุนแรงมอบให้มนุษย์อย่างพวกเราไว้เป็นที่ระลึก

หากลองมองจากมุมกว้าง เราจะเห็นว่านอกจากเหยื่อที่พิการจากสงครามโดยตรงแล้ว ยังมีผู้คนอีกมากมายที่อดอยาก ขาดยารักษาโรค และไม่ได้รับการศึกษา เพราะเงินคงคลังทั้งหมดถูกทุ่มไปกับการกว้านซื้ออาวุธมาทำสงคราม จนประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างที่ควรจะเป็น

“ผมว่าเราไม่ควรจะมองเห็นแค่คนพิการจากระเบิดนะ ยังมีคนอีกมากที่เจ็บป่วยล้มตายเพราะประเทศขาดการพัฒนาทางการแพทย์ แม้แต่โรคโปลิโอที่ควรจะรักษาให้หายขาดได้ก็ยังมีให้เห็นอยู่ ยังไม่นับโรคทางจิตเวชอื่นๆ นี่แหละคือผลพวงของสงคราม ไม่ว่าจะคนก่อการร้าย คนบริสุทธิ์ หรือคนที่เข้ามาช่วยเหลือ ทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของมันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง” Jess Markt โค้ชทีมวีลแชร์บาสเกตบอลของอัฟกานิสถานจาก ICRC บอกกับเรา

จริงอย่างที่มาร์คว่า ไม่เคยมีสงครามไหนที่มีผู้ชนะ ทุกคนต่างพ่ายแพ้และเจ็บปวด นี่เป็นเพียงการแข่งขันว่าใครจะสูญเสียน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง

“แล้วตอนนี้พวกคุณกำลังฝันถึงอะไร” เราถาม

“ประเทศที่สงบสุข” พวกเขาตอบสั้นๆ และนั่นเพียงพอแล้วที่จะทำให้เรารู้สึกถึงความสำคัญของการเป็นมนุษย์

Let there be peace.

ภาพ ปฏิพล รัชตอาภา

AUTHOR