จากป๊อปไอคอนสู่มหาเศรษฐี ทำไม ไมเคิล จอร์แดน ถึงไปได้ไกลกว่านักบาสคนอื่น

Highlights

  • จากความสำเร็จในเชิงกีฬาที่ไมเคิล จอร์แดน ทำได้ในสนาม ชื่อเสียงของเขาขยายไปไกลยังแวดวงอื่น และด้วยความมุมานะผสมกับโอกาสจากหลากหลายวงการที่เข้ามา ในวันที่เขายังเล่นบาสเป็นอาชีพ เขาถือเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของโลก และเขาใช้มันต่อยอดชีวิตหลังจากเลิกเล่นบาสแล้วด้วย
  • ไมเคิล จอร์แดน ไปปรากฏตัวตามสื่อต่างๆ เรื่อยมา ตั้งแต่โฆษณา ภาพยนตร์ ไปจนถึงงานเพลง เขาได้รับรายได้และชื่อเสียงมากมาย แต่นั่นเทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่เขาได้จาก 'Air Jordan' แบรนด์รองเท้าที่เกิดจากตัวเขาและแบรนด์กีฬา Nike ตั้งแต่วันแรกที่มันวางจำหน่าย Air Jordan ได้รับความนิยมเรื่อยมาจนสร้างทรัพย์สินให้ไมเคิลเป็นกอบเป็นกำ
  • ปัจจุบัน ไมเคิล จอร์แดน ยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่พูดถึงในหน้าสื่อเสมอ เขามีทรัพย์สินมากถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนั่นทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาล

ในนาทีที่บทความนี้เผยแพร่ในโลกออนไลน์ สารคดีเรื่อง Last Dance ใน Netflix ก็เดินทางสู่ตอนที่ 4 พอดี

แม้เป็นสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องหลักคือความเก่งกาจของ Michael Jordan นักบาสระดับตำนานของทีม Chicago Bulls และการลุ้นแชมป์ครั้งที่ 6 ของเขา แต่เรื่องราวแวดล้อมใน Last Dance นั้นกลับชวนคนดูไปไกลผ่านการพูดคุยลงลึกกับคนรอบตัวไมเคิลและช่วงเวลาสำคัญก่อนหน้าในชีวิต เมื่อผสมกับวิธีการเล่าเรื่องและตัดต่อที่สวยงาม ในตอนนี้ Last Dance จึงเป็นสารคดีที่คนรักบาสหรือคนที่ไม่ได้สนใจบาสต่างพูดถึงไม่ขาดปาก

แน่นอน เมื่อวันที่สารคดีนี้จบตอนที่สิบ เราจะพูดถึงผลงานน้ำดีชิ้นนี้อีกครั้ง แต่ระหว่างนี้เราอยากพาทุกคนไปหาคำตอบของคำถามที่มีสารคดีนี้เป็นต้นทาง

ทำไมนักกีฬาบาสเกตบอลอย่างไมเคิล จอร์แดน ถึงมีสารคดีเป็นของตัวเอง ทำไมชื่อของเขายังไม่เคยเลือนหาย และทำไมเขาจึงกลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาบาสที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกแม้เลิกเล่นบาสไปแล้ว

ลองดูเกมชีวิตของเขานอกสนามบาส ไม่แน่ว่าคำเฉลยอาจซ่อนอยู่ในนั้น

Last Dance

ควอเตอร์ที่หนึ่ง : มากกว่าบาสเกตบอล

ถ้าเป็นเรื่องในสนามบาส เราคงแทบไม่ต้องพูดกันแล้วว่าไมเคิล จอร์แดน เป็นตำนานขนาดไหน 

คว้า 6 แชมป์, ผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล (MVP) 5 ครั้ง, ติดทีม NBA All-Stars 14 ครั้ง, เป็นผู้เล่นที่ทำแต้มมากที่สุดในหนึ่งฤดูกาลถึง 10 ครั้ง และรางวัลอื่นๆ อีกมาก เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันความสำเร็จของสิ่งที่เขาทำตลอด 15 ปีที่ยึดบาสเกตบอลเป็นอาชีพ และส่วนหนึ่งของเรื่องราวก็ถูกพูดถึงแล้วในสารคดี

แต่นอกจากปาฏิหาริย์ในสนามที่เขาทำไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ปรากฏการณ์นอกสนามที่ไมเคิลทำนั้นยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

จากฟอร์มการเล่นในระดับที่ใครหลายคนยกให้เป็น ‘GOAT’ (Greatest of All Time–ผู้เล่นที่ดีที่สุดตลอดกาล) ชื่อเสียงของไมเคิล จอร์แดน นั้นไปไกลเกินกว่าสนามบาส เขาเป็นที่พูดถึงไม่ว่าจะที่ไหนๆ ไม่ว่าจะสนใจบาสหรือไม่ ในช่วงเวลานั้นทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อเขา และนั่นนำพามาซึ่งภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ชนะที่ไม่ยอมแพ้ หลายแบรนด์สินค้าระดับโลกจึงอยากได้เขามาอยู่กับตัวเองตั้งแต่ยังเล่นบาสเป็นอาชีพ 

แม้ไมเคิลปรากฏตัวในงานโฆษณาครั้งแรกจากการเป็นพรีเซนเตอร์หลักของแบรนด์กีฬา Nike ตั้งแต่เล่นอาชีพช่วงปีแรกๆ แต่หลังจากนั้น ชื่อเสียงของเขามีแต่เพิ่มมากขึ้นจนแบรนด์อย่าง Coca-Cola, ChevroletMcDonald’s และ Gatorade ต่างหันมาเลือกใช้บริการเขาด้วยกันทั้งนั้น หลายแบรนด์เลือกใช้เขาในงานโฆษณามากกว่าหนึ่งครั้ง และบางโฆษณาถูกยกขึ้นหิ้งให้เป็นหนึ่งในโฆษณาที่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดตลอดกาลด้วยซ้ำ

Be Like Mike คือโฆษณาของแบรนด์เครื่องดื่ม Gatorade ที่ออกอากาศเมื่อปี 1993 ในเวลานั้นไมเคิลถือว่าอยู่ในช่วงดังสุดขีด เขาคว้าแชมป์ NBA มาแล้วและกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นสุดๆ โฆษณาตัวนี้จึงเลือกสื่อสารด้วยเมสเซจที่เข้าใจง่ายอย่างคำว่า ‘Be like Mike, Drink Gatorade’ ประกอบกับเพลงในชื่อเดียวกัน ยิ่งเมื่อผสมกับภาพไมเคิลเล่นบาสอยู่ท่ามกลางเด็กๆ ในแง่ความรู้สึกของคนดูที่รักบาสเกตบอลในยุคนั้น โฆษณานี้ถือว่าทำงานกับพวกเขาอย่างสูงและประสบความสำเร็จจนถึงขนาดว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว Gatorade นำโฆษณานี้กลับมาทำใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัยในวาระครบรอบ 50 ปีของแบรนด์ด้วย

จากความโด่งดังที่ทำให้ไมเคิล จอร์แดน มีซีรีส์รองเท้ากีฬาเป็นของตัวเองกับ Nilke ในชื่อ Air Jordan โฆษณาของรองเท้า Air Jordan VII ตัวนี้ที่ชื่อ ‘Hare Jordan’ เกิดขึ้นในปี 1993 และทำให้หลายคนตื่นตาตื่นใจ เพราะจากที่ก่อนหน้านี้ Nike มักเลือกโฆษณารองเท้าในรูปแบบของวิดีโอคนแสดงที่นำนักกีฬาที่มีชื่อเสียงมาเป็นตัวเอก คราวนี้พวกเขาเลือกฉีกกรอบโดยการใช้ตัวละครจากการ์ตูนอย่าง Bugs Bunny มาผสมเข้ากับไมเคิล จอร์แดน เพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ใหม่ แน่นอนว่าด้วยความแปลกใหม่ โฆษณาตัวนี้เป็นที่พูดถึงแทบจะทันที 

และนั่นนำมาสู่การต่อยอดไปยังสื่อใหญ่ที่สร้างปรากฏการณ์อื่นๆ ตามมา

ควอเตอร์ที่สอง : Space Jam 

ภาพยนตร์เรื่อง Space Jam คือหนังที่มีไมเคิล จอร์แดน แสดงนำเป็นตัวเอง และออกฉายในปี 1996

ที่มาที่ไปของ Space Jam นั่นเกิดขึ้นจากการต่อขยายของโฆษณา Hare Jordan หนังเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวสมมติของไมเคิลที่ถูกตัวละครจากการ์ตูนของ Looney Tunes อย่าง Bugs Bunny และ Daffy Duck ลักพาตัวไปเล่นบาสเกตบอลสู้กับเหล่ามอนสเตอร์ต่างดาว เป็นอีกครั้งที่พวกเขาใช้วิธีนำคนแสดงจริงมาผสมกับภาพการ์ตูนจนเกิดเป็นเรื่องราว เพียงแต่คราวนี้พวกเขาเล่นใหญ่ทำเป็นภาพยนตร์ฉายขึ้นโรง เมื่อความแปลกใหม่บนจอเงินผสมกับความนิยมในตัวนักบาสขวัญใจมหาชน ผลที่ออกมาคือการประสบความสำเร็จทั้งในแง่คำชื่นชมและรายได้ 

จากต้นทุน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ Space Jam ทำเงินไป 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนังทำสถิติเป็นภาพยนตร์กีฬาที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาลและเข้าชิงรางวัลต่างๆ มากมาย เพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง I Believe I can Fly ของ R. Kelly ขึ้นแท่นบทเพลงในตำนาน นักวิจารณ์บางคนถึงขนาดบอกว่าแม้หนังเรื่องนี้อาจพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นหนังที่ดี แต่ Space Jam เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญยิ่งของวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะฉากจำในตำนานจากการทำคะแนนลูกสุดท้ายของไมเคิลในหนังที่ทำให้ผู้ชมอ้าปากค้าง

 

นอกจากการปรากฏตัวของไมเคิลที่ทั้งสร้างภาพลักษณ์และรายได้ที่กล่าวมานี้ ยังมีงานสร้างสรรค์อีกมากมายที่เลือกเขาผสมรวม หรือแม้กระทั่งสื่อประเภทต่างๆ ที่ดึงเขาไปเพื่อสร้างคาแร็กเตอร์บางอย่าง เช่น เกมบาสเกตบอลในซีรีส์ 2K ที่เซ็นสัญญากับเขาเพื่อให้ได้รับสิทธิเป็นเกมเจ้าเดียวที่สามารถนำไมเคิลมาเป็นตัวละครภายในเกมได้ หรือแม้กระทั่งวงการเพลง ไมเคิล จอร์แดน ยังเคยไปปรากฏตัวในเพลง Jam ของราชาเพลงป๊อปอย่าง Michael Jackson มาแล้วเช่นกัน

ทั้งหมดนี้สร้างมูลค่าและเม็ดเงินให้เขามหาศาล ยิ่งประกอบกับรายได้จากการเล่นบาสอาชีพ ดูแล้วเขาคงร่ำรวยได้ไม่ยากในวันที่เขาต้องเลิกเล่นบาสจากสังขารที่ร่วงโรย แต่กลายเป็นว่าพอถึงวันนั้น เขาไม่ใช่แค่ร่ำรวยธรรมดา เขากลับมีทรัพย์สินมากขึ้นกว่าเดิมเป็นสิบๆ เท่า

และปัจจัยหลักของเรื่องนี้ คือแบรนด์กีฬาที่มีชื่อเขาบรรจุอยู่นั่นเอง

Last Dance

ควอเตอร์ที่สาม : Air Jordan

ถ้าจะย้อนความผูกพันระหว่างไมเคิล จอร์แดน และแบรนด์ Nike เราคงต้องย้อนไปตั้งแต่ปี 1984 หรือตั้งแต่เขายังไม่ทันเล่นบาสอาชีพด้วยซ้ำ

จากชื่อเสียงที่สั่งสมมาตั้งแต่การเล่นระดับมหาวิทยาลัย ในวันที่ทีม Chicago Bulls เลือกเขาเข้าทีมในวัย 21 ปี แบรนด์กีฬาอย่าง Nike จับไมเคิลเซ็นสัญญา 5 ปี มูลค่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เม็ดเงินนี้ถือว่าสูงมากในยุคนั้นสำหรับนักบาสที่ยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานในระดับมืออาชีพ แต่สาเหตุที่ Nike เลือกทำแบบนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าพวกเขาเล็งเห็นว่านักบาสจากมหาวิทยาลัย North Carolina คนนี้มีสิทธิก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ได้ในอนาคต และด้วยความเชื่อมั่นนั้นเอง พวกเขาจึงออกแบบรองเท้าบาสรุ่นใหม่ที่มีเขาเป็นพรีเซนเตอร์โดยเฉพาะ 

‘Air Jordan I’ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1984 และถูกออกแบบให้มีสีแดงและดำเป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องไปกับทีม Chicago Bulls  สำหรับตอนนั้น รองเท้าที่ใช้คู่สีสดแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เมื่อผสมกับฟอร์มในสนามที่เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ Air Jordan I จึงทำยอดขายได้ถล่มทลายจนทำให้รองเท้าบาสในซีรีส์ Air Jordan ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามตั้งแต่นั้น

หลังจากรุ่นแรก Air Jordan ยังคงปล่อยรองเท้าบาสใหม่มาเรื่อยๆ แม้ในวันที่ไมเคิลเลิกเล่นบาสเกตบอลอาชีพไปแล้ว Nike ยังคงรักษาชื่อแบรนด์นี้ พร้อมกับต่อยอดให้ไปไกลกว่าการเป็นรองเท้าบาส ตั้งแต่การเชิญศิลปินมาร่วมออกแบบ การนำโลโก้ Jumpman ของพวกเขาไปปรากฏตัวตามที่ต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แวดวงบาสเกตบอลอีกแล้ว หรือการสร้างแบรนด์ให้มันเป็นได้ทั้งรองเท้ากีฬาและแฟชั่น สุดท้ายนี่จึงเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีแฟนเหนียวแน่นและได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ของโลก และจากความสำเร็จที่เกิดขึ้น Nike ถึงกับตั้งแผนก ‘Jordan’ แยกออกมาจากบริษัทหลักเพื่อดูแลแบรนด์นี้ร่วมกับไมเคิล จอร์แดนโดยเฉพาะ

มีการเปิดเผยผ่านนิตยสาร Forbes ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่า มูลค่าของแบรนด์ Jordan ในปัจจุบันนั้นสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกับเม็ดเงินที่มากมายขนาดนี้ ไมเคิลได้รับผลตอบแทนถึง 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แค่จำนวนเลขส่วนนี้แค่ปีเดียวก็มากกว่าเงินที่เขาได้รับตลอดการเล่นบาสอาชีพแล้ว ดังนั้นในวันที่ลาจากสนามบาส ชื่อของเขายังคงทำเงินให้เขาจนถึงตอนนี้

แต่โดยรวมแล้วมากขนาดไหนกัน เอาเป็นว่าในปีที่ผ่านมาเขามีทรัพย์สินที่เปิดเผยต่อสาธารณะสูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์ และนั่นส่งผลให้เขาถูกจัดอันดับให้เป็นนักกีฬาที่ร่ำรวยที่สุดตลอดกาล

Last Dance

ควอเตอร์ที่สี่ : นักบาสมืออาชีพสู่นักธุรกิจมืออาชีพ

ถ้าว่ากันตามเป็นจริง ไมเคิล จอร์แดน ไม่ใช่คนแรกที่ก้าวสู่การเป็นไอคอนและทำเงินได้มากมายจากการเป็นนักกีฬา แต่ว่ากันว่าเขาเป็นคนแรกที่รักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ พร้อมกับต่อยอดให้สำเร็จมากขึ้นไปอีก

ปัจจุบันนอกจากรายได้ที่ได้จากแบรนด์ Jordan ชื่อเสียงของไมเคิลยังทำให้เขามีสัญญาการเป็นพรีเซนเตอร์กับอีกหลายธุรกิจ พร้อมกันนั้น เขายังนำเงินที่ได้มาลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองสนใจ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กอย่างการทำร้านอาหารไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการเป็นเจ้าของทีมบาสเกตบอลใน NBA 

ในปี 2014 ไมเคิล จอร์แดน ได้ชื่อว่าเป็นอดีตนักบาสอาชีพคนแรกที่ได้ขึ้นเป็นเจ้าของทีม NBA เขาค่อยๆ ซื้อหุ้นทีม Charlotte Hornets (ชื่อเดิม Charlotte Bobcats) จนมีหุ้น 90 เปอร์เซ็นต์ นั่นทำให้เขากลายเป็นเจ้าของทีมนี้เต็มตัว โดยปัจจุบันหุ้นที่เขาถือมีมูลค่ากว่า 780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทีมนี้ยังคงทำกำไรให้เขาทุกปี แม้ผลงานของทีมจะเดินไปอย่างช้าๆ แต่โดยรวมยังถือว่ามีพัฒนาการถ้าเทียบกับวันแรกที่เขาเข้ามา

นอกจากการลงทุนหลักๆ เหล่านี้ ไมเคิลยังคงมีข่าวการลงทุนย่อยของเขาปรากฏอยู่เป็นประจำ ไล่ตั้งแต่การลงทุนกับธุรกิจกีฬา eSports ไปจนถึงลงทุนในธุรกิจแบรนด์เครื่องดื่มเตกีล่า ยิ่งเงินที่เขาได้รับมีมากเท่าไหร่ การนำไปลงทุนต่อยอดออกดอกออกผลของเขายิ่งมีมากขึ้น พร้อมกันนั้น ระหว่างทางเขายังแบ่งปันมันให้กับคนอื่น

อย่างวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่ลีกบาสเกตบอลต้องมีอันหยุดชั่วคราว ทีม Charlotte Hornets เป็นหนึ่งทีมที่ยังคงจ่ายเงินค่าจ้างพนักงานเท่าเดิม หรือแม้กระทั่งรายได้ที่เขาได้รับจากสารคดีเรื่อง Last Dance เขาก็นำเงินทั้งหมดบริจาคให้กับองค์กรการกุศล

ถ้าดูจากเม็ดเงินและความนิยมที่เขาได้รับ หลายคนอาจไม่แปลกใจที่วันนี้ไมเคิล จอร์แดน กลายเป็นนักฬาที่ร่ำรวยที่สุดในโลก แต่พูดก็พูดเถอะ ไม่ใช่ทุกคนที่มีเงินหลักล้านดอลลาร์แล้วจะทำได้อย่างเขา สื่อและอีกหลายๆ คนจึงลงความเห็นว่าความเป็นไมเคิล จอร์แดน นั่นเองที่ทำให้เขาเดินมาได้จนถึงทุกวันนี้

เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดไว้ ว่า “บางคนอยากให้บางอย่างเกิดขึ้น บางคนหวังให้บางอย่างเกิดขึ้น แต่ผมจะทำให้มันเกิดขึ้น”

และวันนี้เขาทำสำเร็จแล้ว


ข้อมูลและรูปภาพจาก

foxsports.com

bleacherreport.com

notablebiographies.com

businessinsider.com

solecollector.com

 

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที