‘Perfect Imperfection’ PLUSHIE สตูดิโอที่ออกแบบคาแรกเตอร์สัตว์พิการมาเป็นเพื่อนกับทุกคน

“หลายคนอาจจะมีความไม่มั่นใจในตัวเอง น้องเหล่านี้เลยเกิดขึ้นมาเพื่อสื่อให้ทุกคนเห็นว่าทุกคนมีความสมบูรณ์แบบ”

‘Perfection in Imperfection‘ หรือข้อบกพร่องล้วนงดงาม คือคอนเซ็ปต์หลักของ PLUSHIE สตูดิโอออกแบบคาแรกเตอร์น้องใหม่ที่อยากให้ทุกคนกลับมารักความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองอีกครั้ง ของ นิว-ณัชชา ศิริขวัญชัย นักออกแบบ UX/UI ฟูลไทม์ ที่แบ่งเวลามาทำงานออกแบบคาแรกเตอร์พาร์ตไทม์ เพราะอยากให้น้องสัตว์ต่างๆ ที่ตัวเองขีดเขียนมีชีวิตจริงเหมือนอย่างที่เธอเคยมีตุ๊กตาอยู่เป็นเพื่อน 

จุดเด่นที่ทำให้คาแรกเตอร์ของนิวไม่เหมือนใคร คือการดึงความพิการประเภทต่างๆ มาร่วมออกแบบให้ดูน่ารักสดใส พร้อมเรื่องราวแสนซนของน้องแต่ละตัวจนทำให้เราอดอมยิ้มไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น น้องหมาพิการทางสายตา นกฮูกแสนรู้กับความพิการทางการได้ยิน เจ้าเหมียวอวกาศแสนเศร้า และลูกเจี๊ยบขี้โรคสุดซ่า

ในวันที่เหนื่อยล้ากับการตามหาความสมบูรณ์แบบในชีวิต นิวไม่หยุดให้คาแรกเตอร์เหล่านี้จบแค่เพียงตัวการ์ตูน 2D เท่านั้น แต่ยังให้พวกเขาออกมาผจญภัยบนโลกภายนอกในรูปแบบอาร์ตทอย และตั้งใจให้คาแรกเตอร์เหล่านี้เติบโตไปพร้อมๆ กับทุกคนด้วย

ในวันที่ตลาดอาร์ตทอยในไทยเริ่มคึกคัก ตามเราไปรู้จักสตูดิโอออกแบบน้องใหม่ที่น่าจับตามอง พร้อมเรื่องราวก่อนที่แก๊งขนปุยจะประสบบาดแผลทั้งทางกายและจิตใจไปพร้อมกัน

คาแรกเตอร์ที่เป็นเพื่อนเหมือนตุ๊กตา

“เรารู้สึกว่าเราทำคาแรกเตอร์เพื่อมาเป็นเพื่อนเราเหมือนตุ๊กตา”

หากใครที่เป็นลูกคนเดียวอาจเข้าใจความเหงาจากการไม่มีพี่น้องเช่นเดียวกับนิว ช่วงเวลาเด็กเธอมีตุ๊กตาสัตว์ขนนุ่มนิ่มเป็นเพื่อน และใช้เวลาไปกับการวาดภาพโดยมีการ์ตูนโดราเอม่อน เฮลโล คิตตี้ และมาริโอ้มาเป็นต้นแบบลายเส้น

“เราชอบวาดการ์ตูนมากตั้งแต่อนุบาล แล้วทุกคนก็ชอบชมว่ารูปสวยจัง แต่ไม่เคยคิดว่าคาแรกเตอร์นั้นมันจะมันจะมีเอกลักษณ์หรือเปล่า ไม่ได้คิดว่านักวาดคาแรกเตอร์จะเป็นอาชีพได้จริงๆ เราแค่รู้สึกว่าเราชอบในสิ่งที่เราวาด แล้วก็ทำมันต่อไปเรื่อยๆ เราไม่เคยหยุดวาดรูปเลย ตั้งแต่ตอนเด็กจนถึงตอนโต แต่ประมาณ ม.5-ม.6 เราแค่คิดว่าเราชอบเล่น The Sims เราเลยไปเรียนสถาปัตย์ จุฬาฯ ”

“จุดเปลี่ยนคือคุยกับอาจารย์ ป.โท ว่าเราอยากทำแบรนด์บางอย่างเพื่อที่เราจะได้เอารายได้นั้นไปช่วยสัตว์พิการหรือว่าสัตว์ที่เจ็บป่วย ถ้าเกิดเราทำในสิ่งที่เราชอบแล้วมันก็เป็นประโยชน์ด้วยมันก็น่าจะดี

“เราออกแบบเป็นเซ็ตแรกก่อน ตอนนั้นโชคดีที่ได้มีโอกาสไปโชว์ที่ TCDC Open Space เสียงตอบรับก็ดี เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด PLUSHIE ขึ้นมา 

“จากนั้นเราอยากทำให้น้องน่ารักขึ้น เลยมาลอง re-design ใหม่ จนกระทั่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ขึ้นมา เราถึงออกแบบมาเป็นอาร์ตทอยคอนเซ็ปต์ ‘Perfection in Imperfection’  

“ตอนนั้นที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เราแค่คิดว่าถ้าเราทำอย่างน้อยเราก็เดินไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว แต่เราไม่ทำอะไรเลยเราก็ไม่มีวันเดินต่อ เลยเอาชนะใจตัวเองแล้วลองทำดู บางทีเราเป็นประเภทคิดแล้วไม่ทำสักที เช่น ส่งข้อความไปแล้วลบ หรือคิดว่าจะทำสิ่งนี้แต่ไม่ทำดีกว่า แล้วก็นั่งคิดวนไปวนมา จนมาปลดล็อกตัวเองได้ว่าคิดแล้วก็ต้องทำเลยดีกว่า”

Perfect Imperfection

“ทุกคนมีความสมบูรณ์แบบ” คอนเซ็ปต์หลักที่นิวตั้งใจจะสื่อสารไปถึงทุกคนที่ยังขาดความเชื่อมั่นเหมือนกับเธอก่อนหน้านี้ 

“ปัจจุบันสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้สึกว่าสำคัญ เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เพอร์เฟกต์ ถ้าพูดง่ายๆ คือเราเป็นไบโพลาร์ เป็นซึมเศร้า เรารู้สึกว่าทำไมเราทำไม่ได้เหมือนกับคนอื่น มีความเปรียบเทียบตัวเองตลอดเวลา ซึ่งเราอินกับมันมากและเราก็อยากให้คนที่เป็นแบบนี้รู้ว่าจริงๆ ชีวิตคุณไม่ได้มีแต่ด้านมืด เราเลยพยายามคิดคอนเซ็ปต์ Imperfection ขึ้นมา 

“งานเราคือส่วนผสมของคนที่ชอบสัตว์และชอบจิตวิทยา น้องเลยเกิดขึ้นมาเพื่อสื่อให้เห็นว่าทุกคนมีความสมบูรณ์แบบนะ แล้วแตกออกมาเป็นเรื่องราวของน้องแต่ละคน เราพยายามทำให้ครบทุกอย่าง 

“ตอนแรกเราก็คิดว่าจะทำยังไงให้ความพิการนั้นไม่ใช่ความพิการที่น่าเศร้า แต่เป็นความพิการที่ดึงจุดเด่นทำให้เขาน่ารัก เราถึงกับมานั่งทำตารางเลยนะว่าถ้าเขาไม่เพอร์เฟกต์สักนิด เขาจะไม่เพอร์เฟกต์ในด้านไหน 

“เช่น น้องไก่ เรารู้สึกว่าน้องไก่มีปีกเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เขาดูแล้วเป็นไก่ ถ้าเกิดว่าทำให้ปีกไม่สมบูรณ์ละ เขาจะยังเป็นไก่อยู่ไหม หรือน้องเป็นตัวแทนของสัตว์ที่เจ็บป่วยอย่างโรคเรื้อน เราจะทำยังไงให้รอยเรื้อนนั้นมันน่ารัก เช่น ทำเป็นรูปหัวใจหรือเปล่า ตาต้องเปิดองศาประมาณไหน เพื่อให้ดูน่ารักไม่น่ากลัว เพราะพอวิชวลมันออกมา คนที่มองเข้ามาต้องรีเลตกับคนด้วย เราต้องทำให้น่ารักในความที่เขาไม่สมบูรณ์แบบ”

“ถ้าเราไม่โดนจำกัดที่โจทย์คาแรกเตอร์เรามักจะคิดแนว Perfection in Imperfection หรือความหลากหลายในสังคม สิ่งที่เราพยายามจะ raise คือประเด็นสังคมจากด้านลบให้เป็นด้านบวก เราไม่อยากให้คนรู้สึกว่ามันเป็นขาว-ดำ แต่อยากให้มันเป็นเทากึ่งไปทางขาวด้วยซ้ำ”

“พอได้มาทำอันนี้มันเหมือนปลดล็อกตัวเองมันทำให้ฝังไปในความคิดว่าจริงๆ แล้ว ทุกคนมันมีความเพอร์เฟกต์ทั้งนั้นแหละ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองความเพอร์เฟกต์นั้นยังไงเท่านั้นเอง”

คาแรกเตอร์ในซีรีส์นี้จึงประกอบไปด้วยแก๊งสัตว์ขนปุยที่มาเป็นตัวแทนความเจ็บป่วยทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Gifted Owl ตัวแทนความเจ็บป่วยทางการได้ยิน Recover Puppy ตัวแทนความเจ็บป่วยทางการมองเห็น Pirate Chick ตัวแทนความเจ็บป่วยทางกาย และ Space-AI Cat ตัวแทนความเจ็บป่วยทางจิตใจ

เรื่องราวของแก๊งขนปุย

โปรเจกต์นี้เธอทำหน้าที่เหมือน Project Manager ที่คอยดูแลกับเพื่อนๆ ทุกขั้นตอน เพื่อให้เหล่าแก๊งขนปุยส่งตรงไปถึงมือทุกคน นับตั้งแต่การออกแบบ ก่อนส่งไปให้ทีมปั้น 3D สุดเนี้ยบ จากนั้นเป็นขั้นตอนส่งช่างหล่อเรซิ่นและทำสี สุดท้ายคือขั้นตอนแพ็กเกจจิ้ง ที่สำคัญคือการวางไทม์ไลน์ให้ทุกอย่างประสานกันพอดี

ที่ขาดไม่ได้คือเพื่อนที่คอยช่วยแต่งเติมเรื่องราวเบื้องหลังสนุกๆ ของเหล่าคาแรกเตอร์

“โปรเจกต์นี้จะบอกว่าเราโชคดีมากเลย มันเกิดจากเรากับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ที่เรียนด้วยกันตอน ป.โท เพื่อนชอบคาแรกเตอร์มาก เป็นกะเทยตุ้งติ้ง น่ารักๆ เพื่อนก็จะเสริมความเป็นกะเทยให้กับงานเรา 

“ตอนแรกเราจะดูเป็นนักคิด จริงจังมาก เพื่อนบอก ทำไมแกไม่ให้น้องเป็นลูกสาวของช่างทำอะไหล่ยนต์ หรือทำไมแกไม่ให้น้องไปอยู่ในตลาด บางทีเติมตัวเองเราก็ไม่เห็นว่าเรื่องราวมันได้หรือยัง เพื่อนมาเห็นก็จะบอกว่าทำไมแกไม่ไปให้มันบียอนด์กว่านั้นล่ะ”

“บางทีเรารู้สึกว่าการทำงานแบบนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำกับเพื่อน เพราะถ้าทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ ทำคนเดียวจะเหงา”

อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดทางวัสดุเรซิ่นที่ยังไม่เหมาะสำหรับเด็ก ประกอบกับเรื่องราวทางจิตวิทยาที่ต้องใช้ประสบการณ์ชีวิตทำความเข้าใจ นิวจึงวางกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กอายุ 18 ไปจนถึงผู้สูงอายุ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวความไม่สมบูรณ์แบบได้ง่ายกว่า

“แบรนด์เราคือการไม่ได้เป็นของที่ Abstract ถึงขั้นเข้าใจยาก เพราะเราอยากให้ทุกคนเข้าใจมันได้ด้วยตัวเขาเอง จากการสื่อสารผ่านเรื่องราวหรือภาพลักษณ์ที่เขาจะจินตนาการได้”

“เราตั้งชื่อ Plushie ให้เป็นคำกลางๆ แต่ก็ทำให้เรารู้สึกถึงความ Fluffy ความน่ารัก เรารู้สึกว่าอยากทำให้แก๊งนี้เติบโตไปเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลาย โดยมีแก่นหลักคือ Perfection in Imperfection ในอนาคตอาจจะงอกเป็นตัวอื่นๆ ต่อไป เป็นความสนุกของคาแรกเตอร์ เราสามารถดีไซน์อะไรที่คิดในหัวแล้วออกมาเป็นอะไรก็ได้ จะมีผมแบบนี้ แมสก์แบบนี้ เสื้อแบบนี้ แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันแล้วแต่คอนเซ็ปต์”

อาร์ตทอยศิลปะจับต้องได้

อาร์ตทอยอาจเป็นผลงานที่มีคนชื่นชอบเฉพาะกลุ่ม บางครั้งอาจถูกจัดวางไว้ในหมวดหมู่ของตกแต่ง นิวจึงอยากเอาชนะใจคนกลุ่มนี้ด้วยเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับชีวิตและจิตใจทางใดทางหนึ่ง

“เรารู้สึกว่าเราคงเปลี่ยนคนที่เขาไม่อินไม่ได้ แต่สิ่งที่จะทำให้เราเอาชนะใจเขาได้มันน่าจะเป็นการที่รีเลตกับชีวิตเขาหรือเปล่า”

“ในตลาดอาร์ตทอยตอนนี้ นักออกแบบหลายๆ ท่านที่เป็นจะเน้นบริบทของไทย ทำให้คนที่เป็นชาวต่างชาติเขาอาจจะไม่เชื่อมโยงกับชีวิตเขา เช่น ทำเรื่องความเชื่อ ประเพณี แต่นิวรู้สึกว่าถ้าเราจะไปต่างประเทศเราต้องสากล เพราะเราไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่ต่างประเทศเขาจะรีเลตกับวัฒนธรรมไทยมากน้อยแค่ไหน 

“จะเห็นว่าถ้าเป็นคาแรกเตอร์ต่างประเทศที่อยู่ใน POPMART เราก็เห็นความน่ารัก ค่อนข้างเข้าถึงได้ง่ายจัง ตอนนิวส่งประกวดต่างประเทศ เขาก็จะชอบมีธีมที่ใช้ในการประกวด เช่น ความเห็นอกเห็นใจ (Compassion) หรือความยั่งยืน (Sustainability) ที่ทุกอย่างจะเป็นประเด็นสากล (Global Impact) ไปหมด 

“แต่นิวรู้สึกว่ามันแล้วแต่คนเลยว่าคุณอยากใส่ความเป็นไทยหรือความเป็นสากล การจะออกแบบอาร์ตทอยให้มีเอกลักษณ์แบบไทย อาจต้องใช้กฎ 20:80 คือคุณอาจจะใส่ความเป็นสากลสัก 80 แต่คุณจะใส่อะไรก็ได้ 20 เพื่อให้มันเป็นเอกลักษณ์ แต่ถ้ามันเต็มร้อยมันจะไม่น่าสนใจ หรืออาจจะเป็นกลุ่มที่เจาะจงมากๆ”

ปัจจุบันสิ่งที่ทำให้วงการอาร์ตทอยน่าตื่นเต้นขึ้น นิวบอกว่ามีอยู่ 2 เรื่อง คือเทคนิคการผลิตที่เริ่มใช้วัสดุใหม่ๆ เช่นการหล่อใสเรซิ่น หรือทำเป็นตุ๊กตากึ่งอาร์ตทอย เรื่องที่สองคือการมีเทคโนโลยีที่ทำให้อาร์ตทอยดูเหมือนมีชีวิตขึ้นมา

“นิวเคยแอบคิดในหัวว่าถ้าวันหนึ่งน้องไม่ได้เป็นแค่หุ่นนิ่งๆ แต่สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าไป แล้วน้องสามารถวิ่งให้เราเห็นได้เป็นตัวๆ เลี้ยงน้องได้ในแอปฯ รู้สึกว่ามันเป็นมาผนวกรวมกันได้หมดเลยสมัยนี้ หรือถ้าใครยังใช้เทคโนโลยีไม่เป็นเขาก็ยังมีอาร์ตทอยอันเก่าที่ยังเล่นได้อีก”

คาแรกเตอร์ที่เติบโตไปพร้อมกับคุณ

ในอนาคตเราอาจได้เห็นคาแรกเตอร์ในคอลเลกชันใหม่ๆ ของ PLUSHIE Studio กับสัตว์ที่คนไม่ค่อยคุ้นเคย แต่ในระยะอันใกล้ นิวบอกว่าอยากทำเจ้าของของน้องแก๊งขนปุยแต่ละตัว อย่างน้องหมาพิการทางสายตา นกฮูกแสนรู้กับอาการออทิสติก เจ้าเหมียวอวกาศแสนเศร้า และลูกเจี๊ยบขี้โรคสุดซ่า

“เราอยากออกแบบคาแรกเตอร์คน วันหนึ่งอยากทำเจ้าของของน้องๆ ว่าจะหน้าตาเป็นยังไง เพราะว่าเบื้องหลังน้องมีเจ้าของหมดเลยนะ อย่างนกฮูก เจ้าของอยากเป็นนักร้อง หรือลูกเจี๊ยบเจ้าของเป็นแม่ค้าในตลาดแถวๆ ริมทะเล น้องแมวอวกาศเจ้าของเป็นคนทำอะไหล่รถยนต์ เพราะหมวกทำมาจากอะไหล่รถ คือเจ้าของทำให้ น้องอยากเก็บตัวเลยอยากมีหมวกกันน็อกคลุม”

“นิวคิดเป็นสเต็ปก่อน เราต้องสร้างฐานที่ไทยก่อน เราถึงจะไปต่างประเทศได้ คือนิวก็ส่งไปทั่วเลยนะ ส่งงานแฟร์ ไต้หวัน เกาหลี เขาก็ตอบรับกลับมาหมด แต่นิวไม่ได้ไป เพราะข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่เราก็ไปไม่ได้ เช่น เรื่องเวลา เพราะนิวเรียน ป.เอก แล้วก็ทำงานประจำ แล้วก็ทำแบรนด์ด้วย บางครั้งก็ต้องจัดเวลา

“ตอนนี้เราเลยวาง Phrase แรกเป็นในประเทศ อยากให้ทุกคนจำ PLUSHIE ในเวอร์ชันอาร์ตทอยก่อน แล้วจะให้น้องทุกคนโตไปกับทุกคน สำหรับวันนี้น้องอาจจะเป็นเบบี๋ แต่โตขึ้นเราอาจจะเล่าเรื่องอื่น เช่น เรื่องความฝัน เรื่องอาชีพ ที่รู้สึกว่าน้องเติบโตไปกับทุกคนได้ อยากให้น้องชุดนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นไปตามปีที่เปลี่ยนไปของสตูดิโอ และก็อยากทำแอปฯ ให้น้องมีชีวิตจริงๆ

“อนาคตเราคิดว่าเราจะเปิดเป็นสายเครื่องเขียน นี่ไง อาร์ตทอยเป็นเพื่อนตอนที่คุณอยู่บ้าน เครื่องเขียนเป็นเพื่อนตอนที่คุณเรียน หรือไลฟ์สไตล์โปรดักต์ เป็นเพื่อนตอนคุณใช้ชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวัน คอนเซ็ปต์ความเป็นเพื่อนในหลายบริบท”

ติดตาม PLUSHIE ที่ FB: https://www.facebook.com/plushie.ds และ ntchnew.wixsite.com/plushie

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กุลชนาฎ เสือม่วง

ปูนพร้อมก่อสุดหล่อพร้อมยัง IG: cozy_cream