‘โรงภาพยนตร์จะไม่ตาย’ : ความเชื่อหนักแน่นของ Hussain Currimbhoy ผู้จัดรายการฉายหนังสารคดีเทศกาลซันแดนซ์

หากพูดถึงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เราคงคิดถึง Cannes Film Festival ของฝรั่งเศสก่อนเป็นอันดับต้นๆ แต่คราวนี้ เราจะลองข้ามทวีปมาส่องดูเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ (Sundance Film Festival) ของฝั่งสหรัฐอเมริกากันบ้าง

Sundance Film Festival เป็นเทศกาลที่จัดโดย Sundance Institute หนังที่ฉายในเทศกาลนี้จะเป็นผลงานฝีมือนักทำหนังหน้าใหม่ทั้งสิ้น หนังทุกเรื่องต้องไม่มีสังกัด หากใครเคยชมหนังจากซันแดนซ์มาคงพอสังเกตได้ว่า หนังในเทศกาลนี้มักไม่เล่าเรื่องให้หวือหวา แต่กลับสร้างอารมณ์ร่วมและความรู้สึกที่รุนแรง พุ่งตรงกระแทกใจจนอยากเก็บเอามาเล่าต่อ บางทีก็มีเนื้อเรื่องแหวกจนหลุดจินตนาการไปเลย อย่างเรื่อง RAW (2017) เกี่ยวกับสาวมังสวิรัติที่ลองกินเนื้อเป็นครั้งแรกแล้วเกิดติดใจจนเริ่มหาทางลองกินเนื้อมนุษย์ หรือเรื่อง Swiss Army Man (2017) ที่ตัวเอกนำศพมาใช้เป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์เพื่อเอาตัวรอดบนเกาะ

ทาง Sundance Institute เองยังเป็นเหมือนสถาบัน เหมือนมหาวิทยาลัยที่พร้อมชุบเลี้ยงนักทำภาพยนตร์หน้าใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นกระจกสะท้อนว่า Sundance Institute และ Sundance Film Festival พร้อมมอบพื้นที่ให้เหล่าคนทำภาพยนตร์หน้าใหม่ไฟแรง และนี่คือ ‘โอกาส’ ที่ Sundance Institute เล็งเห็นเพื่ออนาคตของวงการภาพยนตร์

โชคดีที่เราได้พบ Hussain Currimbhoy คนจัดโปรแกรมหนังสารคดีประจำเทศกาลซันแดนซ์ เขามาบรรยายเกี่ยวกับงานเทศกาลและอนาคตของวงการภาพยนตร์ในงานเสวนาที่ TCDC เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เราจึงใช้โอกาสนี้ร่วมฟังบรรยายก่อนจะจับเข่าคุยกับเขาต่ออีกหน่อย

“เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์เป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน Sundance Institute ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ของศิลปินจากทั่วโลก เวลาเราเลือกหนังมาฉายในงาน คนคัดหนังทุกๆ คนจะต้องดูหนังทุกเรื่องแล้วมาเลือกกันว่าจะฉายเรื่องไหนดี ถ้าหลังจากดูหนังเรื่องหนึ่งไปสัก 2 – 3 วันแล้วยังมีบางฉากของหนังเรื่องนั้นวนอยู่ในหัว เรื่องนั้นแหละที่น่าเอามาฉาย เพราะเราอยากให้หนังในเทศกาลของเราทิ้งบางอย่างไว้ในใจคนดู”

“องค์กรของเรายังมีโปรแกรม Documentary Film Program (DFP) ให้คนที่สนใจทำหนังอ้างอิงจากเรื่องจริง (non-fiction) ส่งโปรเจกต์เข้ามา ถ้าโปรเจกต์ได้รับเลือก เราจะให้ทุนสนับสนุนสำหรับขั้นตอนการทำภาพยนตร์ตั้งแต่เขียนบทจนถึงถ่ายทำ ตัวอย่างหนังที่เราให้ทุนไป เช่น CITIZENFOUR และ I Am Not Your Negro

นอกจากนี้ Sundance Institute ยังร่วมกับ Adobe Project 1324 จัดโปรแกรม Sundance Ignite เฟ้นหาเหล่านักเรียนนักศึกษาอายุ 18 – 24 ปีที่มีใจรักการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ มาร่วมโครงการสร้างแรงบันดาลใจและทำภาพยนตร์เป็นเวลาถึงหนึ่งปีเต็ม โดยมีรุ่นพี่จาก Sundance Institute มาประกบสอนอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างคนทำหนังรุ่นใหม่ Sundance Institute จึงไม่ใช่แค่พื้นที่เผยแพร่ภาพยนตร์อย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่ยังเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างก้าวต่อไปให้วงการภาพยนตร์และสืบทอดการเล่าเรื่องผ่านภาพยนตร์ให้คงอยู่ต่อไป

ตลอดการเสวนา Hussain ได้เล่าถึงหมวดหมู่ของภาพยนตร์ที่แสดงในเทศกาลซันแดนซ์ ก่อนเราจะสะดุดตากับหมวดหมู่หนึ่งที่เรียกว่า New Frontier ซึ่ง Hussain ดูแลอยู่ด้วย

“New Frontier เป็นหมวดหมู่ที่พยายามรวมศิลปะของการทำภาพยนตร์กับเทคโนโลยีไว้ด้วยกัน เพราะฉะนั้น นอกจากการฉายหนังแล้วเราจะมีโชว์เคสของ VR (Virtual Reality) หรือโฮโลแกรมด้วย นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เรานำ VR ร่วมโรงกับเทศกาลภาพยนตร์ VR จะพลิกโฉมวงการภาพยนตร์ไปเลย เพราะผู้ชมจะได้รับประสบการณ์ที่ถูกสร้างขึ้น ไม่มีการใช้มุมกล้องอย่างเวลาชมภาพยนตร์”

อย่างที่เรารู้กัน VR พาเราไปสัมผัสอีกภาพความจริงหนึ่งได้อย่างอิสระ เพียงสวมใส่แว่นตาที่รูปร่างเหมือนกล่อง ผู้ชมจะเหมือนเข้าไปอยู่ในโลกแห่งนั้นจริงๆ เราจึงเรียกสิ่งนี้ว่า Virtual Reality หรือความจริงเสมือน ขณะที่หากชมภาพยนตร์ นั่นคือศิลปะการเล่าเรื่องที่ใช้มุมกล้องและเสียง ประสบการณ์รับรู้ความจริงผ่าน VR และภาพยนตร์จึงต่างกัน ทำให้คนทำหนังบางกลุ่มเกิดกังวลว่าโรงภาพยนตร์จะตายไหม Hussain เองก็หนักใจกับคำถามนี้ไม่น้อย เขาถึงกับต้องยืนขึ้นเมื่อมีคนถามในงานเสวนา ถอนหายใจเฮือกใหญ่ ก่อนขมวดคิ้วตอบด้วยสีหน้าจริงจังพร้อมรอยยิ้มที่ท้าทาย

“ผมไม่คิดนะว่าโรงภาพยนตร์จะตาย เพราะผมมองว่า VR มีภาษาของมันเองซึ่งต่างจากการดูหนังในโรงภาพยนตร์ แต่ VR เป็นที่นิยมเพราะมันสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้ผู้บริโภค ให้เราได้ลองมีตัวตนอยู่ในอีกความจริงหรือโลกอีกใบหนึ่งที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของโลกใบนี้ VR จึงสร้างวิธีเล่าเรื่องแบบใหม่ ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมและขยับเนื้อตัวในโลกนั้นได้จริงๆ ซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่ภาพยนตร์ทำไม่ได้

“แต่การดูหนังร่วมกันในโรงก็เป็นประสบการณ์ที่แทนกันไม่ได้ เพราะนี่คือการแบ่งปันช่วงเวลาและความรู้สึกร่วมกันกับคนทั้งโรงและยังเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย ผมคิดว่าในเร็วๆ นี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ กับการดูหนังในโรงจะหลอมรวมกัน เส้นแบ่งระหว่างเลือดเนื้อของเรากับโลกจำลองจากระบบดิจิทัลจะค่อยๆ จางลงในที่สุด”

แต่ในปัจจุบัน ยังมีอีกคู่ต่อสู้หนึ่งที่มาต่อกรกับโรงภาพยนตร์ เรากำลังพูดถึงการดูหนังออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกข้อพิพาทที่สร้างความกังวลให้กับคนทำหนังเช่นกัน เพราะกลัวว่าโรงหนังจะต้องล้มตายไปเพราะคนหันมาดูหนังออนไลน์แทน แต่ Hussain กลับตอบประเด็นนี้ด้วยความสนใจและดูผ่อนคลาย

“ผมไม่เชื่อว่าการดูหนังออนไลน์จะมาแทนที่การดูหนังในโรงภาพยนตร์ อย่างที่บอกว่าการดูหนังในโรงภาพยนตร์คือการแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกระหว่างดูหนังไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการดูหนังออนไลน์ทำไม่ได้ แต่ผมก็ไม่ปฏิเสธการดูหนังออนไลน์บน Netflix หรือ Amazon นะ เพราะนี่คือการปฏิวัติวงการหนังที่จะช่วยให้คนทั่วโลกเข้าถึงและเผยแพร่ผลงานภาพยนตร์ได้กว้างขวางขึ้น สำหรับบางประเทศที่งดฉายภาพยนตร์บางเรื่อง การดูหนังออนไลน์จะเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้คนทำหนังได้เผยแพร่ผลงาน และให้คนดูหนังได้ดูเรื่องที่พวกเขาอาจหาดูในโรงไม่ได้”

สิ่งหนึ่งที่ Hussain ทำให้เราเชื่อ คือการดูหนังในโรงจะยังคงหายใจต่อไป เราฟังแล้วคิดถึงเวลาดูหนังกับเพื่อนจนจบแล้วออกมาพูดคุยกันทันทีหน้าโรง เป็นความในใจต่อหนังเรื่องหนึ่งที่สดใหม่จริงๆ หรือเวลานั่งดูหนังผีแล้วกรี๊ดลั่นตกใจพร้อมกันทั้งโรงก็ชวนอุ่นใจว่าเราไม่ได้ถูกผีหลอกอยู่คนเดียว

ขณะเดียวกัน วงการภาพยนตร์จะยังก้าวหน้าต่อไป รอยเท้าที่ผ่านมาจะไม่ลางเลือน แต่ก้าวต่อไปยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่คนทำหนังพอทำได้จึงอาจไม่ใช่การต่อสู้แย่งชิงพื้นที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์กับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่เป็นการหาจุดยืนร่วมกันของเทคโนโลยียุคใหม่และเก่า

ภาพ ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR