“ถ้ามันจะเป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิตก็ไม่เสียดาย” คุยกับ อัด-เป้-เอม จาก Doi Boy หนังที่ว่าด้วยการบังคับสูญหายและคนชายขอบ

ดอยบอย (Doi Boy) ถือเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ได้ท้าทายแค่การเล่าเรื่องคนชายขอบในรัฐไทย แต่ยังท้าทายในแง่บทบาทของตัวละครสำหรับนักแสดงด้วย

เรื่องนี้ทำให้นักแสดงนำทั้ง 3 คนทุ่มเทกับบทบาทการแสดงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อัด-อวัช รัตนปิณฑะ ที่เคยเกือบถอดใจเส้นทางนักแสดงไปแล้ว กลับมาทุ่มเทให้อาชีพนี้อีกครั้ง และเรียนภาษาไทใหญ่เพื่อเปลี่ยนสำเนียงพูด เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ ใช้เวลาศึกษาบุคลิกของตัวละครนักเคลื่อนไหวที่มีตัวตนอยู่จริง และ เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ ต้องเพิ่มน้ำหนักตัวถึง 9 กิโลกรัม เพื่อทำให้ทุกตัวละครที่พวกเขาถ่ายทอดออกมาดูมีเลือดเนื้ออย่างที่เราสามารถพบเจอในสังคมได้มากที่สุด

เรื่องนี้คือโปรเจกต์ต่อยอดจาก ดินไร้แดน (Soil Without Land) สารคดีที่ว่าด้วยเรื่องของคนไทใหญ่ที่อาศัยบริเวณชายแดนไทย-รัฐฉาน ของ เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับสายสารคดีที่ตั้งคำถามต่อความไร้ตัวตนที่รัฐกระทำต่อมนุษย์ ซึ่งสามารถพรากได้แม้กระทั่งสิทธิที่จะฝันของคนๆ หนึ่งได้อย่างน่าเศร้า 

ครั้งนี้เขาถ่ายทอดเรื่องราวการไร้ความฝันของคนชายขอบที่เชื่อมโยงกับทุกคนผ่าน ศร (รับบทโดย อวัช รัตนปิณฑะ) เด็กหนุ่มจากรัฐฉานที่ลี้ภัยเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายและทำงานค้าบริการในบาร์เกย์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในเรื่องพาเราไปสำรวจประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณตะเข็บชายแดน แม้ดูไกลในด้านภูมิศาสตร์ แต่ก็ใกล้ในแง่ประเด็น ทั้งการดิ้นรนหาเงินเพื่อเลี้ยงปากท้อง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การบังคับบุคคลให้สูญหาย และชวนตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐว่าสามารถบีบให้เราทำอะไรได้บ้าง

ในวันที่ภาพยนตร์สามารถคว้ารางวัล Rising Star Award จากเวที Marie Claire with BIFF Asia Star Awards 2023 และได้ไปฉายที่เกาหลีใต้ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 เราชวน เป้ อัด เอม มาพูดคุยถึงเบื้องหลังการรับบทที่ท้าทายชีวิตนักแสดงให้มากขึ้น

บทสนทนาเริ่มต้นด้วยเบื้องหลังการรับบทบาทคนชายขอบที่ห่างไกลจากตัวนักแสดง การบังคับอุ้มหายที่ยังถูกปิดตาข้างหนึ่งในสังคม ช่วงเวลาที่เกือบถอดใจในฐานะนักแสดงของ อัด อวัช ไกลไปจนถึงการหนทางของการนำเสนอเรื่องราวที่หลากหลายขึ้นให้กับแวดวงภาพยนตร์ไทย

ก่อนหน้านี้เคยคิดไหมว่าจะการเล่นหนังเรื่องนี้จะทำให้ได้รางวัลด้วย

อัด: ไม่คาดคิดเลยครับว่าจะได้รางวัลอะไร แต่พอรู้ก็ช็อกนิดหนึ่ง แต่ก็ดีใจแล้วก็ appriciate กับรางวัลที่ได้ เพราะสุดท้ายที่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะเขาได้ดูหนังแล้วเขาก็ชอบ แล้วก็เห็นศักยภาพของเรา ก็ไม่ได้คาดคิด เพราะตอนเล่นเราก็อยากทำงานนี้ให้ดี อยากเต็มที่กับงาน เกินความคาดหมาย แต่ก็เป็นรางวัลที่เป็นกำลังใจให้ดำเนินชีวิตต่อไปในฐานะนักแสดง

แต่ละบทบาทที่แต่ละคนได้รับท้าทายตรงไหนบ้าง

เอม: ผมรับบทเป็น วุธ เป็นนักเคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่ สิ่งที่เขาเผชิญคือคนรักของเขาถูกบังคับทำให้สูญหาย มันก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องออกมาต่อสู้ นอกจากจะเพื่อคนอื่นในสังคมที่เขาอยู่ ยังเป็นอีกเหตุผลส่วนตัวด้วย แล้วเขาก็ต้องต่อสู้กับอำนาจที่ตัวเขาเองก็ยังไม่แน่ใจว่ามันทรงพลังขนาดไหน หรือมันสามารถเข้าถึงตัวเขาได้รวดเร็วและก็โหดร้ายขนาดไหน แล้วสิ่งที่เขาเผชิญทั้งหมดมันเกิดขึ้นแค่ 1 คืน เวลาที่เราได้เห็นในหนัง 

เป้: รับบทเป็น จิ จิเป็นคนที่ทำตามคำสั่งองค์กรลึกลับบางอย่าง เพื่อปฏิบัติการบางอย่าง เป็นคนภายนอกดูแข็งกร้าว รุนแรง เป็นคนสับสนและซับซ้อนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องเพศสภาพและครอบครัว

อัด: รับบทเป็น ศร ศรเป็นชายหนุ่มผู้ลี้ภัยจากรัฐฉาน มาทำงานแบบผิดกฎหมายที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ประเทศไทย เป็น Sex Worker ค้าประเวณีในบาร์ที่ชื่อว่า Doi Boy แต่ตัวศรก็เป็นคนที่ไม่ได้มีความฝันอะไร ทำงานเพื่อจะมีเงินไปใช้ชีวิต จ่ายค่าห้อง อยู่กับคนที่ตัวเองรัก และค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัว แต่ปัญหาที่เขาเจอคือพอเจอสถานการณ์โควิด บาร์ที่เขาทำงานอยู่ก็ปิดตัวลง แล้วมันก็ต้องหางานอื่นทำ ปัญหาของศรคือเขาไม่มีพาสปอร์ตที่สามารถทำงานหรือเข้าเมืองได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะฉะนั้นต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ให้เจอเจ้าหน้าที่จับได้ในฐานะผู้ลี้ภัย มีความยากลำบากตรงที่ตัวละครเจอ

Doi Boy. Awat Ratanapintha (อวัช รัตนปิณฑะ) in Doi Boy. Cr. Courtesy of Netflix © 2023
Doi Boy. Aelm Thavornsiri (เอม ถาวรศิริ) in Doi Boy. Cr. Courtesy of Netflix © 2023

ตอนที่อ่านบทมีประเด็นไหนที่ทำให้คุณรู้สึกว่าอยากเล่นเรื่องนี้

เอม: เราถูกดึงไปโดนตัวบท ทั้งโปรเจกต์เลย เราเห็นงานของพี่เบิ้ล (นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับ) มาก่อนแล้ว แล้วเราก็ชอบงานสารคดีของเขา พอรู้ว่าเขาทำฟิกชันเรื่องแรก เราเลยตื่นเต้นว่าเขาจะทำเรื่องเกี่ยวกับอะไร เอาจริงๆ ผมได้ยินโปรเจกต์ Doi Boy มานานมากๆ แล้วเราก็ติดตามมันมาผ่านๆ แล้ววันหนึ่งก็มีแคสติ้งมาเข้าหา เราเลย โอเค ก็รู้สึกว่าท้าทาย มันเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว และค่อนข้างชาเลนจ์ประมาณหนึ่ง ก็เลยตกลงมาแคสติ้ง

เป้: ตอนที่เขาเล่าให้ฟัง แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ตัวนี้มันน่าเล่นว่ะ เพราะว่าบทตัวจิมันซับซ้อน แล้วก็เป็นบทที่ต้องการกายภาพอะไรหลายอย่างที่เราอยากจะลองทำดู เพราะเราก็เล่นหนังหรือเล่นละครค่อนข้างหลากหลาย ตัวนี้มันก็ต้องการความตั้งใจทำงานบางอย่างกับมัน ก็เลยอยากลุยดู

อัด: ผมรู้สึกว่าตั้งแต่อ่านบท เราชอบทั้งเรื่อง เรารู้สึกสนุก เรารู้สึกว่าหนังพูดในหลายๆ ประเด็นที่เราเองก็สนใจ ไม่รู้สึกว่ามีคำถามอะไรมาก เราอ่านเราก็เห็นตัวเองในบทบาทนี้และพร้อมจะกระโจนลงไปทำความรู้จักตัวละครหรือเป็นของคนกลุ่มนี้มากขึ้น เลยตัดสินใจว่าต้องได้บทนี้มา 

เวลาแสดงคุณทำความเข้าใจตัวละครเหล่านี้ยังไง

อัด: เยอะเลยครับ ตัวละครศรกับตัวผมเอง ชีวิตจริงเราก็แตกต่างกันมากๆ มาจากคนละแบ็กกราวนด์ พอต้องมาเล่นเป็นคนไทใหญ่ เป็น Sex Worker เป็นคนชายขอบ มีหลายอย่างที่ต้องเตรียมตัว ทั้งเรื่องความเข้าใจในธรรมชาติของงาน เรื่องมายด์เซตว่าเขามองโลกแบบไหน แล้วเราต้องปรับความคิดเรา ให้เชื่อมโยงกับคาแรกเตอร์ศร ซึ่งมันเป็นความยากที่เราต้องตัดความเข้าใจที่เรามีออกไป เพื่อเป็นตัวละครที่มีความไร้เดียงสากับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราต้องลดอายุ รวมถึงเรื่องเรียนภาษาไทใหญ่ การเปลี่ยนสำเนียงพูดภาษาไทยให้เป็นสำเนียงที่คนไทใหญ่พูด การเรียนเต้นโชว์ในบาร์เกย์ การนวด มีอะไรมากมาย 

แล้วก็เรื่องพัฒนาการของตัวละครที่เราต้องแม่นกับมันนิดหนึ่งว่าตัวละครมันอยู่จุดไหน ตัวละครคิดอะไรอยู่ มีพัฒนาการไปยังไง ตอนที่เป็นพระ เป็นทหาร ตอนทำงานบาร์เกย์ครั้งแรกเป็นยังไง ทำไปเรื่อยๆ แล้วเป็นยังไง ดีเทลมันเยอะมากๆ ที่เราต้องถือไว้ แต่มันก็ชาเลนจ์มากๆ มันได้เรียนรู้อะไรมากเหมือนกันในขณะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เราไปรู้จักกับตัวละครนี้ มันทำให้เราเข้าใจคนกลุ่มนี้จริงๆ ก่อนที่เราจะไปเล่นเป็นเขา หรือก่อนที่เราจะพูดเพื่อเขาในฐานะนักแสดง 

เป้: ตัวผมเพิ่มน้ำหนักประมาณ 9 กิโลกรัม พยายามทำมายด์เซตให้เหมือนเป็นคนที่เจอใครก็ได้ อัดได้หมด ไปอยู่เชียงใหม่ สภ.ภูพิงค์ ไปอยู่กับสายสืบ แล้วก็ลองไปเที่ยวบาร์เกย์

เอม: ผมไม่ได้ทำอะไรกับร่างกายตัวเองมาก โชคดีที่ตัวละครวุธมันมีเบสมาจากคนจริงๆ คนที่เป็นเพื่อนพี่เบิ้ล เราก็ไปใช้เวลาอยู่กับเขา ไปดูว่าเขามีท่าทางแบบไหน มีความคิดแบบไหน เขาจะรีแอ็กต์อย่างไรต่อสถานการณ์ที่วุธเจอ เราก็พยายามที่จะคุยกับเขา เอาวิญญาณของเขามา แต่ว่าเราก็ต้องมาเลือกอีกทีว่าเราจะเอาอะไรหรือไม่เอาอะไรมา เพราะว่าเราก็ไม่ได้เป็นตัวลีดที่คนดูจะเห็นทุกด้านแบบตัวละครศร เราก็จะเลือกเอาเฉพาะด้าน แล้วก็ลองวางดูว่าถ้าเป็นแบบนี้มันจะเวิร์กมั้ย

พอได้มาทำงานกับเบิ้ล ซึ่งเป็นผู้กำกับหนังสายสารคดี ทำให้การทำงานต่างจากผู้กำกับหรือหนังเรื่องอื่นๆ ไหม

เอม: เรารู้สึกว่าพี่เบิ้ลให้อิสระกับนักแสดงตั้งแต่ตอนที่เขาเริ่มดีไซน์ตัวละคร ก่อนที่เวิร์กช็อปจะเริ่มด้วยซ้ำ แล้วก็จะมีวิธีการทำงานที่ปล่อยให้นักแสดงได้ครีเอตสิ่งที่เขาอยากเห็นกับตัวละคร พี่เบิ้ลก็จะมาช็อปปิ้งอีกทีว่าเอาอะไรไม่เอาอะไร พอไปเวิร์กช็อปเสร็จ พี่เบิ้ลก็ยังให้อิสระในการที่เราจะเล่น รับผิดชอบในตัวละครของเรา แต่ในมุมมองนักแสดงเราก็อยากทำมากกว่านั้น อยากลอง explore มากกว่านั้น แต่ว่าเขาชอบแล้วเราก็ต้องชอบเขา

อัด: เขาจะวางใจในสิ่งที่เราส่งไปในครั้งแรกมากๆ มันก็จะมีการปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย แต่ว่าส่วนใหญ่ทุกคนก็ทำการบ้านของตัวเองมาแล้วว่าเราเข้าใจตัวละคร และเราอยากนำเสนอตัวนี้ออกไป ค่อนข้างมีอิสระในการทำงาน รู้สึกว่าชอบที่เขาเชื่อใจในแต่ละคนที่เขาเชื่อมาแล้ว ผมว่ามันดีในแง่ความรู้สึก

เป้: เขาก็จะปล่อยให้ทำตามสิ่งที่คนนั้นเชื่อไปเลย แล้วพอได้ดูหนังเราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เขาปล่อยให้เราทำตามสบาย มันก็จบที่ว่าเขาเป็นวัยรุ่นเทสต์ดีอะ เป็นคนเก๋ๆ ตัดออกมามันก็เก๋ เท่ จริงๆ มันมีฉากถูกตัดออกไปเยอะมากเลย แต่หนังมันสนุกมากเลย เราเลยแฮปปี้ เราก็คุยกันตอนออกจากโรงว่า เฮ้ย ตัดแบบนี้ก็ได้ว่ะ มันสนุก ออกมามันดี

ก่อนหน้านี้อัดเคยพูดในงานรับรางวัลว่าเคยถอดใจกับงานแสดงไปแล้ว อะไรทำให้คุณรู้สึกแบบนั้น แล้วบทนี้มันสำคัญกับคุณยังไง

อัด: ที่ถอดใจเพราะรู้สึกว่าอยู่มา 11 ปี แล้วไม่เคยได้รับบทนำเลย รู้สึกว่าเราก็พยายามมาตลอด แล้วรู้สึกว่ามันไปไม่ถึงฝันสักที เหมือนเราไม่ได้มีโอกาสเข้ามามากขนาดนั้น ขณะเดียวกันถ้าพูดในความเป็นจริง คนเราต้องกินต้องใช้ เรารู้สึกว่าเรามีความฝันก็จริง  แต่ในเมื่อเราไม่ได้รับโอกาส มันไม่ถึงวันของเราเราก็ต้องเบนไปทำอันอื่นเพื่อความอยู่รอด บางทีมันก็ต้องยอมแพ้ ซึ่งมันก็เจ็บปวดที่เราต้องยอมแพ้ให้กับความฝัน 

ในขณะเดียวกันลึกๆ ก็ยังอยากทำอยู่ แต่เราเหนื่อยกับการโดนปฏิเสธหรือเฝ้ารอโอกาส การวิ่งเข้าไปแล้วมันไม่ได้สักที มันไม่ใช่ว่าเราอยู่เฉยๆ แล้วเราไม่ได้ทำอะไร เราพยายาม แต่โอเค มันอาจจะไม่ใช่เส้นทางของเรา

จนหนังเรื่องนี้ติดต่อมา เรารู้สึกว่ามันคงถูกที่ ถูกเวลา ถูกจังหวะ ที่มันเกิดขึ้น พอเราอ่านบทแล้วเราไม่ได้รู้สึกแบบนี้มานานแล้วว่า เฮ้ย กูอยากได้บทนี้ อ่านแล้วมันมีชาเลนจ์เต็มไปหมดเลยที่เหมือนเรารอคอยมา 11 ปีเพื่อที่จะได้ทำอะไรแบบนี้ มันรู้สึกว่าอยากจะทุ่มเทแรงกายแรงใจ จิตวิญญาณให้กับตัวละคร และให้กับผู้กำกับที่มีแพสชัน หรือทีมนักแสดงที่มีแพสชันเหมือนกัน พออ่านบทแล้วเรารู้สึกว่าสักครั้งในชีวิต ถ้ามันจะเป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิตเราก็ไม่เสียดายที่เราจะได้ทำเรื่องนี้ มันก็เลยเป็นความรู้สึกเหมือนมันจุดไฟเราอีกครั้งหนึ่งในฐานะนักแสดง มันทำให้รู้ว่าเรายังรักการแสดง เราอยากจะแสดงต่อไป

เคยได้ยินว่าบางครั้งนักแสดงก็อาจจะไม่ได้ท้าทายเพราะบทภาพยนตร์บ้านเรายังไม่หลากหลายมากพอ ในฐานะนักแสดงคุณคิดอย่างไร

เอม: เราว่าหลายอย่าง Censorship ก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เรามีคอนเทนต์ที่จำกัด เราไม่สามารถพูดเรื่องนี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างมีอิสระภาพในการพูด จะขยับไปทางไหนก็ต้องระวังทั้งอุปสรรค เรื่องนี้จะมีคนดูหรือเปล่า เรื่องนี้มันจะไปกระทบใครไหม เรารู้สึกว่าการมาถึงของสตรีมมิงมันช่วยปลดล็อกสิ่งนี้ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน หรือการที่ผู้ชมก็สะท้อนกลับไปว่าเขาต้องการคอนเทนต์อื่นที่มันหลากหลายขึ้น มันก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าผู้ชมพร้อมแล้ว แต่ว่าเราก็ต้องไม่ละเลยพวกเขา 

ผมรู้สึกว่าทั้งนายทุน ทั้งคนสร้าง ผู้ชม มันต้องไปด้วยกันข้างหน้า มันจะมากลัวไม่ได้ว่าอีกฝ่ายไม่พร้อมหรอก ผู้ชมก็อาจจะมองว่าไม่มีใครทำหนังแบบนั้นหรอก ซึ่งมันมี ยูแค่ต้องหาให้เจอ หรือฝั่งนายทุน ฝั่งคนสร้างมองกลับไปว่าไม่มีใครดูหรอก มันมี เรามองว่าต้องหากันจนเจอให้ได้ ไม่ว่าในแพลตฟอร์มไหน ซึ่งผมมองแนวโน้มมันค่อยๆ ดีขึ้นนะ ในแง่ของการมีคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น เรามีผู้สร้างใหม่ เรามีเพลย์เยอร์ใหม่ รวมถึงผู้ชมฐานใหม่ที่เพิ่มขึ้นทุกวันและเติบโตขึ้นทุกวัน เรามองว่ามันเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าเราเร่งสปีดได้ก็จะเป็นเรื่องดีกับทุกคน

ช่วงหลังบทบาทตัวละครหลักหลายเรื่องอาจไม่ใช่ ‘คนดี’ อย่างที่เข้าใจออกมาให้เราเห็นมากขึ้น เหมือนตัวละครในเรื่องดอยบอยที่มีความเทาๆ คุณคิดว่าเรื่องนี้มันสะท้อนอะไรออกมาได้บ้าง

อัด: ผมว่ามนุษย์เรามันมีเฉดไม่รู้จบ มันไม่มีใครขาวดำ 100% อยู่แล้ว ผมรู้สึกว่าภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์ ตัวละครก็คือตัวละครที่มันคือการเล่าเรื่อง มันคือหนึ่งในงานศิลปะที่ผมคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องมีกฎ จะต้องเป็นคนดี สุดท้ายทุกคนจะเรียนรู้อะไรจากหนังแต่ละเรื่องมันก็มี Perception ไม่เหมือนกัน มันคล้ายๆ การที่พี่เอมบอกว่ามันเหมือนอาหาร บางคนคิดว่าอาหารแบบนี้ สีแบบนี้มันดูดี กินแล้วมันมีประโยชน์ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ 

ผมรู้สึกว่ามันไม่สามารถใช้กรอบความคิดเดียวมาตัดสินว่านี่คือดีหรือไม่ดี หรือนี่ควรเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นหรือไม่ควรจะเป็น ผมว่ามันบล็อกอิสระทางความคิดเชิง Creativity ในการสร้างสรรค์มากกว่า 

แต่เราควรจะดูเพื่อเรียนรู้ว่ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นบนโลก มันมีคนที่คิดแบบนี้จริงๆ หรือเปล่า กลับไปตั้งคำถามกับตัวเอง ผมว่าถ้ามันเอากรอบศีลธรรมมาครอบไปเลย มันก็จะไม่มีความคิดสร้างสรรค์ มันก็จะไม่เกิดการถกเถียงประเด็นทางสังคม ผมคิดว่าดูแล้วถกเถียง มันเป็นสิ่งที่ดี ที่ดูแล้วมีการ Discuss กัน เพื่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ ที่ทำให้เห็นว่าสังคมไปถึงไหนแล้ว โลกมันไปถึงไหนแล้ว แล้วก็อย่างที่บอกมนุษย์มันมีหลายเฉดมากๆ เราอย่าตัดสินใครแค่มุมเดียว

พอเป็นหนังที่ได้รับรางวัล หลายครั้งก็มีภาพจำว่าอาจเป็นหนังที่ดูยาก คุณกังวลว่าจะเกิดกับหนังเรื่องนี้ไหม

เป้: ในฐานะที่ผมก็ทำงานภาพยนตร์มานาน ผมรู้สึกว่าอย่าไปมองรวมกัน รางวัลมันก็ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับคนทั่วไปการที่ได้รางวัล มันอาจจะไม่ได้ตอบอะไรเลยก็ได้ เพราะช่วงหลังๆ ในชีวิตผม รางวัลหรือคำวิจารณ์มันไม่มีผลกับความชอบของเราเลย เรื่องไหนที่สนุก เราไม่ได้รางวัล โดนด่า ได้สามเต็มสิบ เราชอบมากๆ ในขณะเดียวกันเรื่องไหนที่คนชอบกันสุดๆ เราดูแล้วมันประมาณหกว5ะ

มันเป็นระบบของสิ่งที่มันควรจะต้องเป็น ไม่งั้นหนังเล็กๆ หนังที่ไม่มีใครเห็น ทุนสร้างไม่ได้เยอะมันก็จะไม่ได้ขึ้นไปอยู่ในสายตาคน มันก็ขึ้นไปได้ด้วยรางวัล แต่ว่ามันไม่ได้ตอบทุกอย่าง แต่ไม่ได้บอกว่ารางวัลที่อัดได้ หรือรางวัลที่เราเข้าชิงมันไม่มีค่า มันมีอยู่แล้ว เพราะไม่งั้นมันคงไม่ได้ไปอยู่ในสายตากรรมการ

เอม: ผมชอบเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าศิลปะทุกอย่างมันเหมือนศิลปะอย่างอื่น เช่น เราสามารถเปรียบเทียบตัวเองกับอาหารได้ อย่างเช่นหนังเรื่องนี้มันคืออาหารร้านหนึ่ง ต่อให้ยูได้มิชลินกี่ดาวก็ตามมันก็มีคนที่ไม่ชอบยูอยู่ดี หรือร้านที่อยู่ทั่วไป หรือไม่ได้ดาวอะไรเลย แต่มันอร่อยสำหรับเรา เราว่าหนังแบบนั้นยูจะไม่มีทางรู้เลยว่าชอบมันหรือเปล่าถ้ายูไม่ลองตักใส่ปาก ไม่ต้องกินหมดชามก็ได้ ลองสักคำสองคำ แค่นั้นเราก็รู้แล้วว่าเราชอบหรือไม่ชอบ ลองเพื่อให้รู้ ไม่ใช่ว่ามิชลินสูงส่ง กูจะไม่แดก ไม่ เรารู้สึกว่าถ้าเราลองเพื่อให้รู้ว่าเราชอบหนังแบบนี้ หรือเราไม่ชอบ 

อย่างผมชอบแนะนำหนังให้พี่เป้ หายไปสองวัน พี่เป้บอก เอม มึงเอาหนังเหี้ยอะไรให้กูดู (หัวเราะ) เราเป็นคนที่เดาเทสต์พี่เป้ไม่ค่อยถูก อย่างบางเรื่องเราคิดว่าพี่เป้ไม่ชอบแน่นอน ชอบเฉย ผมว่าเรื่องนี้มันคือความสนุก มันคือความงดงาม เราแค่ต้องไม่มองว่าหนังที่เราไม่ชอบเท่ากับหนังไม่ดี อันนี้ไม่ได้ หนังที่เราไม่ชอบมันมีคนชอบ เราแค่ไม่ถูกจริต มันแค่ไม่ใช่เทสต์ของเรา เราก็ต้องเคารพเทสต์ของคนอื่นและเทสต์ของเราเอง มันจะมีความหลากหลาย มีความงดงามเกิดขึ้นในการเสพศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นหนัง เพลง หนังสือ อาหาร ภาพถ่าย เรารู้สึกว่าถ้าเราเคารพเทสต์คนอื่นมันจะทำให้เรามีระบบนิเวศของการเสพงานศิลปะที่น่าอยู่และแฮปปี้ 

สำหรับเรื่อง Doi Boy แต่ละคนคาดหวังกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง

เป้: ดูหนังแล้วอยากให้แมส แมสได้ หนังมันไม่ได้อาร์ตเลย คือตัวผมคิดว่าถ้าภาพยนตร์ก็คือภาพยนตร์ ถ้ามันสนุกมันก็สนุก ถามว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ไหมเรื่องของสังคม ผมไม่ได้คาดหวังตรงนั้น ผมคาดหวังให้คนดูแล้วสนุก แล้วแฮปปี้กับมัน ซึ่งเรื่องนี้ดูสนุก เลยคาดหวังให้มันแมส ให้ยอดคนดูเป็นอันดับ 1 ในเน็ตฟลิกซ์ ก็หวังครับ

เอม: ผมก็หวังให้คนเห็นมัน และได้เข้าใจวิญญาณของมันมั้ง ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขาดูไปตามดูงานเก่าๆ ของพี่เบิ้ลด้วย ไปตามศึกษาเรื่องของประเด็นในหนัง ประเด็นผู้ลี้ภัยหรือการถูกอุ้มหาย ก็จะเป็น Goal ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นไป ถ้าเกิดเรื่องนี้มันถูกเน้นขึ้นมา หรือมีคนเข้าไปศึกษาหรือสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เราก็รู้สึกว่าหนังได้ทำหน้าที่ของมันเกินขึ้นไปอีก ก็ย่อมเป็นกำไรทั้งกับคนสร้าง คนดู และคนชายขอบเอง

อัด: เราก็รู้สึกว่าอยากให้คนดูเยอะๆ เพราะเรารู้สึกว่าประเด็นที่พี่เบิ้ล ผู้กำกับเขาอยากเล่าในหนัง หรือเราในฐานะนักแสดง เราก็อินกับประเด็นเหล่านี้ เราก็คิดว่าถ้าหนังมีคนดูเยอะเท่าไหร่ คนก็อาจจะดูแล้ว entertain ก็ดี ก็รู้สึกว่าภาพยนตร์ก็เป็นแบบที่พี่เป้บอก แต่อีกมุมก็รู้สึกว่าถ้าเขาดูแล้วพยายามให้ความสนใจกับเรื่องที่มันลึก หรือประเด็นที่เซนซิทีฟในหนัง หรือเมสเสจหลักในหนัง อย่างเรื่องที่เอมบอก ทั้งเรื่องอุ้มหาย คนชายขอบ ผู้ลี้ภัย หรือคนที่ต้องดิ้นรนของคนไทใหญ่ แล้วมีคนสนใจเรื่องนี้เพิ่มเติมหลังจากที่ดูหนัง นอกจากดูสนุกแล้ว ได้ไปเข้าใจชีวิตคนในอีกมุมที่ลึกขึ้นก็จะเป็นโบนัสที่เรารู้สึกว่าขอบคุณคนดู และเป็นโบนัสให้กับทีมงานทุกคน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่