‘จิตวิทยาการปรึกษา’ การสนทนาและรับฟังที่จะช่วยเยียวยาให้คุณเติบโต

เมื่อไม่นานมานี้ฉันป่วย

จิตแพทย์ที่ฉันไปพบวินิจฉัยว่าฉันเป็น ‘ภาวะซึมเศร้า’ บวกกับมีความเสี่ยงจะเป็นโรคไบโพลาร์ ว่ากันตามตรง ฉันไม่แปลกใจกับสิ่งที่หมอบอกเท่าไหร่

เพราะอะไรน่ะเหรอ อาจเพราะความรู้สึกแย่ที่เกิดกับตัวฉันหลายเดือนก่อนหน้า มันแย่เสียจนฉันคิดว่าตัวเองไม่ปกติ ฉันอยากหาทางออก คิดถึงการรักษาอะไรก็ได้ที่จะพาตัวเองออกไปจากความมืด แต่วันนั้นการรักษาที่ฉันเจอกลับไม่ใช้ยาใดๆ มันเป็นการนั่งคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง

น่าแปลก, จากที่มีปัญหาในหัวตัวเองเป็นเดือน แต่หนึ่งชั่วโมงนั้นทำฉันดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

ฉันเดินออกมาด้วยวิธีคิดชุดใหม่ในหัว มันสร้างทั้งความดีใจและประหลาดใจในตัวฉัน หนึ่งชั่วโมงนั้นเกิดอะไรขึ้นกันนะ ฉันเฝ้าคิดถึงมันเรื่อยๆ จนเกิดความสงสัยที่กระตุ้นความอยากรู้ในตัว และฉันอยากรู้จักนักจิตวิทยาการปรึกษาให้มากขึ้น

ฉันติดต่อไปหา เอิ้น-ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ เจ้าของเพจ ‘นักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง’ เพื่อให้เขาช่วยตอบความอยากรู้ของฉัน สำหรับเราสองคนนี่อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เอิ้นเองก็ทำหน้าที่พูดคุยเพื่อบำบัดคน ฉันเองก็ทำหน้าที่พูดคุยเพื่อสัมภาษณ์ สิ่งหนึ่งที่อาจต่างออกไปคือครั้งนี้เป็นการคุยที่ผสมผสานกันระหว่างประสบการณ์ส่วนตัวกับเรื่องการทำงานของนักจิตวิทยาการปรึกษา

เรากำลังปรึกษากัน เรื่องการปรึกษา

ฉันสงสัยว่านักจิตวิทยาการปรึกษาคือใคร

“ถ้าให้อธิบายศาสตร์นี้คร่าวๆ จิตวิทยาการปรึกษาคือการพูดคุยที่เอื้อให้คนตรงหน้าเข้าใจตัวเอง คล้ายๆ เรากำลังเรียนรู้เรื่องราวผ่านการพูดคุย สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่มาปรึกษาคือ Healing and Growth Process นั่นคือกระบวนการที่นักจิตวิทยาจะค่อยๆ เยียวยาแล้วให้คนคนนั้นค่อยๆ งอกงามดีขึ้นจากที่เคยเป็น”

“วิธีที่เราเน้นคือการพูดคุยเพื่อให้คุณเห็นแง่มุมบางอย่างที่อยู่ในตัวคุณ แต่บางทีคุณอาจจะไม่เห็น เช่น ถ้าสมมติว่าคุณร้องไห้ เราจะไม่ได้โฟกัสที่ไปการร้องไห้ แต่เราจะชวนคุณคุยเพื่อมองไปให้ลึกกว่านั้น อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกนี้ การชวนให้เห็นนี้จะทำให้คุณเริ่มคิดได้ว่าสิ่งที่ทำให้คุณมีปัญหาคืออะไร สุดท้ายจะเกิดความเข้าใจและทำให้คุณรู้ว่าถ้าอยากออกจากปัญหานี้ คุณจะต้องตัดตรงไหน”

“ถ้าให้เปรียบคงเหมือนการประเมินและแก้ไขตึก สมมติว่าตึกนี้มันเฮงซวยมาก สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่การทาสีเคลือบให้ดูดี แต่คือการชวนให้เห็นมุมกว้างของทั้งตึก คนที่มาปรึกษาจะเริ่มปรับมุมมองและเรียนรู้ว่าจะต้องปรับตึกตรงไหนบ้าง อาจเป็นการเสริมฐานให้แข็งแรงหรือทุบใหม่ทั้งตึกแล้วสร้างใหม่ การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ฉาบฉวย แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงด้วยความเข้าใจ”

ต่างกันไหมระหว่าง ‘ปรึกษานักจิตวิทยา’ กับ ‘ปรึกษาเพื่อนหรือพ่อแม่’

“จากหลายๆ เคสที่เราเจอ เรามักพบว่าเพื่อนหรือครอบครัวจะรีบแนะนำคนที่มีปัญหาเร็วเกินไป ‘เอ็งทำอย่างนี้สิวะ’, ‘อย่าคิดแบบนี้นะ’, ‘เพราะเอ็งคิดแบบนี้ไง ชีวิตเอ็งถึงเป็นแบบนี้’ สิ่งที่ตามมาส่วนใหญ่คือคนที่ปรึกษาคนอื่นแล้วเจอแบบนี้เขาจะรู้สึกไม่ได้รับการเข้าใจ รู้สึกว่าถูกบังคับให้เปลี่ยนความคิด ถูกตำหนิตลอดเวลา ส่วนคำแนะนำก็มักมาพร้อมความคาดหวังให้รีบเปลี่ยน พอไม่เปลี่ยนก็ถูกเร่งจนเกิดปัญหา”

“แต่กับนักจิตวิทยาที่เรียนเรื่องการปรึกษามา เราจะชวนเขาคุยมากกว่าจะไปบอกเขาว่าควรทำอะไร เราทำตัวเป็นผู้ฟังที่มีพื้นที่ว่างๆ ไม่จำกัดกรอบ ถึงมีกรอบเราก็จะไม่เอากรอบของเราไปครอบเขา เราอยากเป็นพื้นที่ที่ให้เขาเอาทุกอย่างในหัวที่ยุ่งเหยิงออกมาคลี่คลาย เราไม่ตัดสินว่าอันนี้ถูก อันนี้ผิด อันนี้ดี อันนี้เลว เราจะต้อนรับมันไว้ทั้งหมดแล้วเอามาจัดเรียงเพื่อให้เขาเห็นถึงเหตุผลและปัจจัยที่ก่อให้เกิดแต่ละสิ่ง ทั้งหมดคือความเป็นจริงที่จะประจักษ์ต่อชีวิตเขา ไม่ใช่การชี้นำจากเรา ที่สำคัญคือเราไม่เร่งรีบ เราหวังแค่ให้เขาเกิดความเข้าใจจริงๆ แล้วออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้”

ลองยกตัวอย่างให้ฉันฟังหน่อยได้ไหม

“มีเคสนึงที่มาหาเราหลังจากกินยารักษาอาการซึมเศร้ามา 2-3 ปีแล้วชีวิตไม่ได้ดีขึ้น จิตแพทย์เจ้าของไข้เลยแนะนำให้ลองหานักจิตบำบัด เขาเลยมาหาเรา”

“เราคุยกับเขาเรื่องชีวิตจนพบว่าพ่อแม่เขาหย่าร้างกันตั้งแต่เด็ก ไม่มีใครดูแล ต้องมาอยู่บ้านญาติที่ด่าทอ ใช้ความรุนแรง ขาดผู้นำ ขาดสังคมที่ดี หนักจนถึงมีการล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้นเขาจึงโตมาแบบขาดที่พึ่งและโตมาด้วยตัวเอง วันหนึ่งเขาก็มีแฟน แต่แฟนก็มีนิสัยชอบเอาชนะ ชอบควบคุม ชอบชี้นำ แต่เป็นการชี้นำในทางที่ไม่ดี ถึงแม้จะแย่แต่เขาก็ยึดแฟนเป็นสรณะ เพราะโดยพื้นฐานเขารู้สึกว่าไม่มีใครรักเขาเลย แฟนจึงเป็นที่ยึดเหนี่ยวเดียวที่ทำให้เขามีคุณค่า ทีนี้พอเลิกกันชีวิตเขาก็เคว้งคว้าง มีปัญหามาโดยตลอด กรอบความคิดที่แฟนสร้างให้เขายังคงอยู่ในหัว มันสร้างปัญหามาตลอดหลายปีจนมาเจอเรา พอเราฟังเขาเล่าแบบนี้เราจะเห็นเลยว่าเขายังคงอยู่ในกรอบชีวิตที่พื้นฐานครอบครัวทำให้เขารู้สึกขาด เอาแต่เฝ้าเรียกร้องชีวิตว่าทำไมมีแต่คนไม่รัก”

“ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือชวนให้เขามองความจริงอีกข้อที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือถ้าอยากให้คนรัก ก็ต้องทำตัวให้คนมารักด้วย ไม่ใช่เป็นแค่ฝ่ายรออย่างเดียว เราทำให้เขาตระหนักว่าถ้าอยากเปลี่ยนให้ชีวิตดีขึ้นกรอบความคิดนี้ต้องขยับออกไป ทำให้เขาคิดว่าถ้าเขามองแบบนี้ชีวิตจะเปลี่ยนยังไงบ้าง กรอบเดิมไม่ดียังไง กรอบใหม่ดียังไง ทำให้เขาเห็นเชิงเหตุผลและทบทวนตัวเอง ผลปรากฏว่าหลังจากนั้นเขาก็ดีขึ้น จิตแพทย์ก็ลดยาที่เขาต้องรับลง เราเลยค้นพบว่านี่แหละคือสิ่งที่เขาขาด นั่นคือความเข้าใจทางด้านจิตใจของตัวเอง”

ถ้างั้นฉันควรทานยาหรือเปล่า

“เราไม่ได้ปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์ เราไม่ได้ปฏิเสธกันและกัน เพียงแต่เรามีวิธีการมองไม่เหมือนกัน หลักคิดทางการแพทย์จะมองว่าโรคคือความผิดปกติที่มีอาการบ่งชี้ เกณฑ์วินิจฉัยจะบอกว่าร่างกายมีอะไรที่ผิดปกติ อย่างโรคจิตเวช จิตแพทย์จะมีวิธีวินิจฉัยว่าคนที่จะเป็น depression หรือไบโพลาร์ต้องเป็นอะไรบ้าง การแพทย์จะมองว่าอะไรคือความป่วยที่มีสาเหตุมาจากร่างกายเป็นหลัก ดังนั้นเลยมีการใช้ยาเพื่อควบคุมหรือแก้ไขบางอย่างในร่างกายให้กลับมาฟังก์ชั่น ถามว่าเขาถูกเทรนมาเรื่องจิตบำบัดไหม ก็มีนะ แต่อาจจะไม่ได้เข้มเท่าเรื่องยา”

“ในสายจิตวิทยาการปรึกษาจะมองต่างกัน เราจะมองว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะต่างกันแต่เราอยู่ร่วมกันได้ด้วยความเข้าใจ ขอแค่คุณยอมรับตัวเองได้ มีความสุขได้จากความเข้าใจตัวเอง เราเลยไม่ได้เน้นการมองหาความเจ็บป่วยทางกาย แต่เรามองเรื่องใจและสุขภาวะเป็นหลัก พูดให้เข้าใจกว่านั้นคือมนุษย์ประกอบด้วยกายกับจิต เราไม่ได้ปฏิเสธเรื่องกาย กายที่ดีก็ทำให้สุขภาพจิตดีได้ แต่เราจะเสริมว่าสุดท้ายบางทีจิตก็เป็นตัวนำชีวิต ถ้ามันขาดความเข้าใจหรือมีความทุกข์ จิตก็บั่นทอนร่างกายได้เหมือนกัน”

“ถ้าให้เปรียบเทียบมันเหมือนคนว่ายน้ำอยู่บนกระแสชีวิตน่ะครับ บางช่วงตะคริวขึ้น เรากำลังจะจมน้ำ การใช้ยารักษาเปรียบเหมือนห่วงยางที่พอโยนให้เขาปุ๊บ เขาสามารถเกาะลอยและรอดชีวิตได้เลย แต่การรักษาจิตบำบัดเหมือนทำให้เขาว่ายน้ำเองเป็นแล้วว่ายต่อไปได้ เราไม่ได้จะบอกว่าห่วงยางไม่สำคัญ ในบางเคสที่ตะคริวขึ้นและว่ายต่อไม่ได้จริงๆ เราก็จำเป็นต้องใช้ห่วงยาง แต่ปัญหาคือเราไม่ได้อยากจะให้ใช้ห่วงยางทุกเคสเท่านั้นเอง เพราะไม่อย่างนั้นเขาก็ว่ายน้ำไม่เป็นสักที”

ทำไมฉันถึงไม่รู้จักคุณมาก่อน

“ถ้าเราพูดถึงปัญหาสุขภาพจิตในไทย จิตแพทย์จะเป็นชื่อที่โดดเด่นขึ้นมาที่สุด อาจเพราะในประเทศไทย หมอคล้ายเป็นอาชีพชั้นนำของประเทศจึงมักเป็นแนวหน้าในการผลักดันหรือดำเนินนโยบายต่างๆ ดังนั้นคนเลยรับรู้การมีอยู่ของจิตแพทย์มากกว่า”

“อีกอย่างคือส่วนของนักจิตวิทยาเองก็ยังขาดความร่วมมือร่วมใจ ด้านที่มีตัวตนในทางกฎหมายก็มักเป็นนักจิตวิทยาคลินิกเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายเลยกลายเป็นว่าถึงแม้หลักสูตรจิตวิทยาการปรึกษาจะผลิตเด็กออกมาเยอะ แต่เขาไม่มีที่ไป หลายคนไปทำอาชีพอื่น คนข้างนอกก็หาเราไม่เจอ โดยส่วนตัวเราเลยไม่โทษคนไข้นะ เหมือนเขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราคือใคร ดูได้จากกระทู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในเว็บพันทิปช่วงหลังๆ ก็ได้ เริ่มมีบ้างที่หลายคนมาแนะนำให้ผู้ป่วยไปหานักจิตวิทยา แต่คำถามต่อมาคือไปหาที่ไหน ขนาดจิตแพทย์เองก็ไม่รู้จะแนะนำให้คนไข้ไปหานักจิตวิทยาที่ไหน ดังนั้นสำหรับนักจิตวิทยาในบ้านเราก็ยังเหลือสิ่งที่ต้องสู้อีกเยอะเหมือนกัน”

แล้วฉันจะปรึกษาคุณอีกครั้งได้ยังไง

“การปรึกษากับนักจิตวิทยา ตัวเลือกแรกคือการมาเจอตัวและพูดคุยกัน ทางเลือกนี้จะสร้างประโยชน์ให้เราเต็มที่ เราจะเห็นบุคลิกของกันและกัน เห็นบรรยากาศ แววตา น้ำเสียง เราจะสัมผัสสารที่คุณส่งมาได้ทุกอย่างทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เราสามารถสังเกตบุคลิกของผู้มาปรึกษาแล้วเอื้อให้เขาเห็นสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเห็นได้”

“แต่ในความเป็นจริง หลายคนมีข้อจำกัดทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ เราเลยพยายามเสนอตัวเลือกที่มากกว่าให้กับคนไข้และนักจิตวิทยา ตัวเราเองก็ทำวิจัยเรื่องนี้นั่นคือการปรึกษาแบบออนไลน์ซึ่งเป็นการนำเว็บไซต์ อีเมล แชท โทรศัพท์และวิดีโอคอลมาประยุกต์ใช้ในการให้การปรึกษา ถามว่าบรรยากาศที่ได้เหมือนการเจอหน้ากันไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ แต่มันตอบโจทย์คนที่ไม่สะดวกมาหาเรา บางคนอยู่ต่างประเทศ ต่างจังหวัดหรือเลิกงาน 2-3 ทุ่ม หรือบางคนเขาอาจยังไม่อยากให้คนอื่นรู้ว่ามาหานักจิตวิทยา เขาก็จะใช้ช่องทางนี้เพื่อการคุยกันเป็นส่วนตัว อีกอย่างคือการปรึกษากันผ่านช่องทางออนไลน์เหล่านี้ บางอย่างสามารถบันทึกไว้ได้ เราเจอหลายคนเหมือนกันที่บอกเราว่าเขามักจะหยิบเอาคำปรึกษาที่เคยคุยกันมาดู ตรงนี้ก็เป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับเทคโนโลยีที่เข้ามา”

“แก่นคือการที่เราเข้าใจโจทย์ของผู้มาปรึกษา ถ้าเรามองหารากของปัญหาเจอ ไม่ว่าช่องทางไหน เราก็ทำงานได้เหมือนกัน”

คำถามสุดท้าย, ฉันจะเป็นกลับไปเป็นคนปกติได้จริงๆ ใช่ไหม

“เราแต่ละคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง เวลาเราเจอความผิดหวัง บางคนก็จบที่ว่าเรารู้สึกเจ็บแต่ไม่ได้ถอดบทเรียนจากความเจ็บนั้น ดังนั้นเราเลยเจ็บซ้ำซากกับปัญหาเดิม สิ่งที่นักจิตวิทยาการปรึกษาอยากบอกคุณก็คือ สิ่งเหล่านั้นจะไม่สูญเปล่าหรอก เราทำให้เป็นบทเรียนได้ เราอยากชวนคุณมองย้อนกลับไปดูว่าคุณพลาดตรงไหน ไม่ใช่ทำเป็นลืมว่ามันเคยเกิดขึ้น เราจะเน้นให้คุณเห็นและใช้เวลาทำความเข้าใจกับตัวเองมากๆ โดยไม่เร่งร้อนให้คุณเปลี่ยนความคิดเลย”

“โลกมีทั้งกลางวันและกลางคืน เราจะเอาแต่ใช้ชีวิตอยู่แค่ตอนกลางวันไม่ได้หรอก เราต่างมีอารมณ์สีดำเป็นส่วนหนึ่ง เรามีด้านมืดกันทุกคน สิ่งที่เราชวนทำเลยเหมือนกับผูกมิตรเป็นเพื่อนกับมันไว้เพื่อลดความขัดแย้งในใจ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมันและจัดสมดุลชีวิต งานของเราเหมือนการพาคนจากที่มืดไปสู่ที่ที่่มีแสงสว่าง จากที่แคบไปสู่ที่กว้าง จากที่หลงทางสู่การกลับบ้าน เป็นอิสระจากพันธนาการในใจ เราไม่ได้กระชากหรือผลักให้คุณออกมา แต่เราค่อยๆ ชวนให้คุณเรียนรู้ เข้าใจ และเดินไปด้วยตัวเองโดยมีเราเดินอยู่ข้างๆ เรารอคุณได้ พร้อมจะอยู่กับคุณในทุกๆ การก้าว จุดนี้อยากนั่งเหรอ นั่งเลย นั่งด้วยกัน ถ้าพร้อมแล้วก็ลุก ลุกแล้วเราจะชี้ให้ดูด้วยว่าที่นั่งเมื่อกี๊เพราะอะไร จากตรงนั้นจะเกิดการเรียนรู้เพื่อสุดท้ายทำให้คุณกลับไปใช้ชีวิตได้และอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข”

facebook | นักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง : ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์
website l www.onemancounselor.com/

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, ธนวัฒน์ อัศวชุติพงษ์

AUTHOR