Nevertheless คือซีรีส์ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ทั้งหวานหอมและขมขื่นระหว่าง Yoo Na-bi (แสดงโดย Han So-hee) และ Park Jae-eon (แสดงโดย Song Kang) ที่ดูจากดาวอังคารก็รู้ว่าทั้งสองคนมีใจให้กัน แต่เพราะนาบีโหยหาความชัดเจนและความมั่นคงในความสัมพันธ์ ในขณะที่แจออนกลับไม่ต้องการสร้างข้อผูกมัดกับใครทั้งนั้น ทำให้ตลอดทั้งเรื่องคือส่วนผสมของความละมุนและความหน่วง เป็นความสัมพันธ์ที่เหมือนจะเรียบง่ายแต่ก็ซับซ้อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้ใครหลายคน (รวมถึงเรา) อดทนดูความสัมพันธ์ที่แสนจะอึดอัดของพระ-นางได้ คือความหล่อร้ายที่สร้างดาเมจรุนแรงของพระเอก ความสวยโดดเด่นของนางเอก และที่ขาดไม่ได้คือรอยยิ้มของพระรองที่ทำเอาหลายคนเข่าอ่อน รวมถึงคู่รักอื่นๆ รอบตัวนางเอกที่สร้างความกรุ้มกริ่ม ชวนอมยิ้มตั้งแต่ต้นจนจบ
แต่มากกว่าความบันเทิงแล้ว ในฐานะคนทำงานด้านจิตใจ เราก็อดสวมแว่นของนักจิตบำบัดระหว่างดูไม่ได้ และท่ามกลางเส้นความสัมพันธ์หวานขมของตัวละครหลัก เราพบว่าตัวเองดำดิ่งลงไปในความรู้สึกของพวกเขา ตกผลึกแง่มุมของความสัมพันธ์นี้ในเชิงจิตวิทยา และต่อไปนี้คืออีกแง่มุมของ Nevertheless ที่เราอยากมาเล่าสู่กันฟัง
[ข้อความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง]
ยอมถูกล้ำเส้นเพื่อความรัก
ยูนาบียืนตัวสั่นเทาอยู่หน้ารูปปั้นในหอศิลป์แห่งหนึ่งด้วยสายตาที่เจ็บปวดและหัวใจที่แหลกสลาย เพราะไม่คิดว่าคนรักของเธอจะนำรูปปั้นนู้ดของตัวเองมาจัดแสดงโดยไม่ถามความสมัครใจก่อน เธอรับไม่ได้และเดินออกจากตรงนั้นด้วยความอับอายและเสียใจ
นี่คือ ‘จุดเริ่มต้น’ ของซีรีส์ แต่กำลังจะเป็น ‘จุดสิ้นสุด’ ความสัมพันธ์ระหว่างนาบีกับ Yoo Hyeon-woo รุ่นพี่ที่เป็นรักแรกของเธอ
ตอนดูฉากนี้ เราแอบคิดว่าการที่นาบีเจอหนักขนาดนี้ยังไงก็ต้องบอกเลิกรุ่นพี่แน่นอน แต่เหตุการณ์นี้กลับไม่ใช่เหตุผลที่เธอตัดสินใจบอกเลิก เพราะจริงๆ แล้วฉากแรกเป็นเพียงการตอกย้ำให้เห็นภาพความเจ็บปวดเรื้อรังที่เธอทนอยู่กับความสัมพันธ์ที่เสียสมดุลมาโดยตลอดต่างหาก
ถ้าเราลองหยุดสำรวจความสัมพันธ์นี้กันสักนิด จะเห็นได้ว่าในภาพอดีตที่ผ่านมา นาบีถูกรุ่นพี่มองข้ามความรู้สึกอยู่บ่อยๆ และได้แต่ทำตามความต้องการของเขาโดยที่ไม่ได้สัมผัสความสุขที่เกิดจากการได้ทำตามความต้องการของตัวเอง มากกว่านั้นคือเธอแทบไม่ได้สัมผัสความอบอุ่นจากการที่มีคนรักคอยซัพพอร์ตความรู้สึกเลย ความสุขที่นาบีได้รับจากความสัมพันธ์นี้คือการได้รับ ‘ความรัก’ ในรูปแบบของคนพิเศษ ถูกลูบหัวและบอกว่าเป็นเด็กดีเพราะอยู่ในโอวาทของรุ่นพี่อยู่เสมอ แม้ต้องแลกมาด้วยการถูก ‘ล้ำเส้น’ ให้ทำตามความต้องการของเขามากกว่าความต้องการของตัวเองก็ตาม
ถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมนาบีถึงโง่อยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้มาตั้งนาน?
ในทางจิตวิทยา ความสัมพันธ์แบบนี้เรียกว่า manipulative relationship คือความสัมพันธ์ที่มีฝ่ายหนึ่งคุมเกมและชอบล้ำเส้นอีกฝ่ายด้วยการทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด บางทีก็ใช้คำพูดผลักภาระ เช่น ‘เธอควรเป็นคนที่เข้าใจฉันมากที่สุดสิ’ หรือหว่านล้อมให้อีกฝ่ายพิสูจน์ความรักด้วยการทำบางสิ่ง ซึ่งบางครั้งก็ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่านี่คือเงื่อนไขในการได้รับความรัก และในเวลาเดียวกันก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองพิเศษและสำคัญ โดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกควบคุมอยู่
หนอนผีเสื้อที่ยังลอกคราบไม่สมบูรณ์
ท้ายที่สุด ความสัมพันธ์ของนาบีกับรุ่นพี่ไม่ได้จบลงเพราะรูปปั้น แต่ฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดลงตอนเธอจับได้ว่ารุ่นพี่นอกใจ คำบอกเลิกสั้นๆ ของเธอคือ “ไอ้ชาติหมา” ที่พูดด้วยน้ำเสียงโกรธแค้นปนสะใจ แต่ลึกๆ แล้วกลับซ่อนความเสียใจและผิดหวัง เพราะมันชัดเจนแล้วว่าเธอไม่ใช่คนพิเศษหรือคนสำคัญของเขาอีกแล้ว และความรักบริสุทธิ์ที่เธอพิสูจน์ให้เขาเห็นตลอดระยะเวลาที่คบกันมามันก็กลายเป็นผุยผง เหลือไว้แต่ความรู้สึกโทษตัวเองว่า ‘ฉันมันโง่เองที่ไปคบกับคนแบบนั้น’
‘นาบี’ แปลว่า ‘ผีเสื้อ’ ซึ่งถ้าให้เทียบพัฒนาการของผีเสื้อกับการอกหักครั้งนี้ของเธอละก็ มันคงคล้ายกับหนอนผีเสื้อที่ลอกคราบครั้งแรกและกำลังเติบโตขึ้นเพื่อจะเตรียมลอกคราบครั้งถัดไป แต่ทว่าการลอกคราบครั้งนี้ยังไม่ทันได้สมบูรณ์ เพราะเธอยังไม่ได้ตกผลึกว่าได้เรียนรู้อะไรจากความสัมพันธ์ครั้งก่อน และยังไม่ได้ทำความเข้าใจตัวเองมากพอก่อนจะมีความสัมพันธ์ครั้งใหม่ ทำให้การพบกับ ‘พัคแจออน’ กลายเป็นความยุ่งเหยิงที่ตามมา
หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรกันแน่ที่พาให้เธอมาถึงจุดนี้ จุดที่ทุ่มความรักให้คนที่ไม่คู่ควรและอ่อนไหวกับรักครั้งใหม่ได้ง่ายดาย จุดที่เธอถลำลึกกับความรักจนทำให้การเรียนไม่ราบรื่น เห็นได้จากผลงานศิลป์ของเธอที่ไม่ค่อยคืบหน้า แถมอาจารย์ก็บอกว่างานของเธอมันยังดูไม่สื่ออารมณ์ความรู้สึกมากพอ
ชิ้นส่วนอะไรของเธอที่หายไป ทำไมเธอจึงโหยหาการถูกเติมเต็มด้วยความรักขนาดนั้น?
หลุมดำกลางใจที่ไม่อาจลบเลือน
“หนูอยู่ที่โหล่อีกแล้ว…”
ประโยคสั้นๆ ที่นาบีพูดกับแม่ในวันเกิดของเธออาจบอกใบ้คำตอบได้ ชั่วชีวิตเธอรู้สึกเหมือนอยู่ที่โหล่สำหรับแม่เสมอ เพราะแม่เอาแต่คบกับผู้ชายแย่ๆ และไม่เคยให้ความสำคัญกับเธอ ‘ความรัก’ ที่ควรหล่อเลี้ยงหัวใจของเด็กหญิงนาบีตั้งแต่ตอนเด็กกลับทิ้งบาดแผลเหมือนเป็นหลุมใหญ่กลางใจ เธอไม่เคยเป็นคนพิเศษแม้แต่กับแม่ของตัวเอง ความเปล่าเปลี่ยวนี้สำหรับเธอมันคือหลุมดำกลางใจที่ไม่มีอะไรมาลบเลือนได้
“เคยมีช่วงเวลาที่ฉันสนใจแต่เพื่อนด้วย พอมีแฟนฉันก็คิดว่าความรักคือทุกอย่าง”
สำหรับนาบี ความรักจึงเป็นทั้งสิ่งที่เธอโหยหาและเป็นทางหนีจากความรู้สึกโดดเดี่ยวและน้อยใจที่เธอเผชิญมาตลอด เพียงหวังว่าความรักจะช่วยปลอบประโลมให้ตัวเองรู้สึกได้รับความสำคัญหรือกลายเป็นคนพิเศษของใครสักคน แม้จะเคยอยู่ในความสัมพันธ์ที่ toxic กับแฟนเก่า แต่เมื่อแลกกับการได้รับความรักมันก็มากเกินพอสำหรับเธอ
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแจออนจะคลุมเครือ แต่หลายๆ อย่างที่เขาทำให้เธอกลับมอบความรู้สึกพิเศษในแบบที่เธอไม่เคยรู้สึกมาก่อน นาบีจึงเลือกกระโดดลงไปในสนามความรักอีกครั้ง
เริ่มที่หลงใหล จบที่หลงทาง
เสน่ห์ของแจออนและสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อนาบีนั้นหอมหวาน ทำเอาแม้แต่คนดูก็ขวยเขินไปตามๆ กัน แต่ถ้าถามว่าให้เราอยู่ในความสัมพันธ์ที่คลุมเครือแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะทนได้ไหม อะไรทำให้แจออนน่าหลงใหลแต่กลับไม่น่าลงเอยความสัมพันธ์ด้วย? ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ทำไมนาบีถึงเลือกแจออนในตอนจบ ทั้งๆ ที่เขาเคยทำร้ายความรู้สึกเธอมานับครั้งไม่ถ้วนขนาดนี้?
ความสัมพันธ์ของนาบีและแจออนทำให้เรานึกถึงตอนที่เราเรียนวิชาจิตวิทยาคู่สมรส บทเรียนหนึ่งบอกว่ามนุษย์เรามี ‘ภาษารัก’ อยู่ 5 แบบ ถ้าเทียบกับทฤษฎีนี้ แจออนเป็นคนที่ใช้ภาษารักได้แพรวพราวมากเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่ ‘คำพูด’ (word of affirmation) แจออนมักจะบอกว่านาบีสวย บอกว่าผลงานศิลป์ของเธอน่าสนใจ บางทีก็เป็นประโยคเรียบง่ายว่า “ตอนทำงาน เธอดูมีความสุขนะ” ซึ่งการใช้คำพูดเติมเต็มหรือชื่นชมนาบี นั่นทำให้หัวใจเธอพองโตและรู้สึกว่าเธอมีดีในแบบของเธอ
ต่อมาคือ ‘การใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน’ (quality time) เวลา 2 คนนี้อยู่ด้วยกัน ต่างคนต่างโฟกัสกับคนตรงหน้าและใช้เวลาร่วมกันอย่างละเมียดละไม ซึ่งมักจะมาพร้อมกับ ‘การสัมผัสทางกาย’ (physical touch) ไม่ว่าจะเป็นการลูบหัว โอบ กอด หรือแม้แต่มีเซ็กซ์ก็ตาม
นอกจากนี้ แจออนก็เป็นคนที่ ‘ดูแลใส่ใจ’ (acts of service) เขาจดจำรายละเอียดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของเธอได้และคอยเทคแคร์เธอเสมอ แม้จะมาๆ หายๆ ในบางช่วง แต่ตลอดระยะเวลาที่คบกัน เขามักจะเข้ามาช่วยหรืออยู่เคียงข้างในช่วงเวลาสำคัญของเธอ ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดหรือเป็นผู้ช่วยในการสร้างผลงานศิลป์ของนาบี และที่น่าประทับใจคือการให้ ‘ของขวัญ’ ไม่ว่าจะเป็นชุดเดรสในวันเกิด โมบายรูปผีเสื้อ หรือแม้แต่สร้อยข้อมือที่มีจี้รูปผีเสื้อ
แต่ไม่ว่าภาษารักของแจออนจะน่าหลงใหลแค่ไหน สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เสียสมดุลคือการที่ ‘สามเหลี่ยมความรัก’ ของเขาและเธอไม่ได้มีขนาดหรือสัดส่วนที่เหมือนกัน
ในทางจิตวิทยา ‘สามเหลี่ยมความรัก’ (triangular theory of love) ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างที่ทำให้ความรักค่อยๆ ก่อตัวขึ้น นั่นคือความใกล้ชิดผูกพัน (intimacy) ความหลงใหล (passion) และการผูกมัด (commitment) ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสิ่งที่นาบีหาจากแจออนไม่ได้คือการผูกมัดในความสัมพันธ์นี้ เพราะเขาไม่เคยให้คำมั่นสัญญาหรือสถานะใดๆ ที่ทำให้เธอสบายใจหรือจินตนาการถึงอนาคตร่วมกันได้เลย
ทุกครั้งที่เจอกัน นาบีก็จะถูกให้ความหวังและมีความสุขลอยขึ้นไป แต่ไม่ทันไรก็จะถูกฉุดให้ลงมากระแทกกับพื้นแห่งความเป็นจริงว่าเธอกับเขาไม่ได้เป็นอะไรกัน
ความสัมพันธ์ที่ทั้งหอมหวานและขมขื่น
ในมุมหนึ่ง หลุมดำกลางใจของนาบีก็โหยหาความรัก โหยหาคนที่รับฟังเรื่องราวและความรู้สึกของเธอ ซึ่งแจออนตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดี อันที่จริงแม้แต่ ‘พ่อก๋วยเตี๋ยว’ หรือ Yang Do-hyeok (แสดงโดย Chae Jong-hyeop) ผู้ชายแสนดีที่มีรอยยิ้มทำคนดูใจละลายก็ตอบโจทย์ข้อนี้ได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ทำให้เธอมีความรู้สึกที่ลึกซึ้งกับแจออนมากกว่า อาจเพราะเวลาที่อยู่กับแจออน นาบีเป็นธรรมชาติและมีอิสระในการแสดงออกทั้ง ‘ด้านดี’ และ ‘ด้านไม่ดี’ ได้หลายมิติมากกว่า ในขณะที่ตอนอยู่กับโดฮยอก นาบีเคยพูดให้แจออนฟังว่า
“ถ้าคบกันไป เขา (โดฮยอก) คงจะผิดหวังในตัวฉันน่ะสิ เพราะฉันไม่ใช่คนแบบที่เขาคิดไว้ อย่างน้อยๆ สำหรับเขา ฉันก็อยากจะถูกจดจำว่าเป็นคนดี”
แต่การที่เราจะมีชีวิตคู่กับใครสักคน มันคงเลี่ยงการเผยธาตุแท้หรือมุมมืดของตัวเองให้อีกฝ่ายเห็นไม่ได้ การที่นาบีไม่อยากจะแสดงมุมอื่นๆ ให้โดฮยอกเห็น แต่กลับกล้าแสดงออกให้แจออนเห็นได้อย่างเป็นธรรมชาติ สำหรับเธอแล้วความรู้สึกที่มีต่อแจออนจึงไม่ใช่แค่ความรักหรือความผูกพัน แต่มันคือความสบายใจแปลกๆ ที่ไม่ต้องฝืนเป็นคนดีในสายตาเขาตลอดเวลา
นี่อาจเป็นความหอมหวานที่ทำให้นาบีถลำลึกลงไปในความสัมพันธ์นี้ แม้จะรู้ว่ายิ่งถลำลึกมากเท่าไหร่มันก็ยิ่งเจ็บมากเท่านั้น เพราะในอีกมุมหนึ่งความขมขื่นที่เธอกล้ำกลืนอยู่ตลอดคือการที่แจออนขีดเส้นกั้นไม่ให้เธอเข้าใกล้ตัวตนที่แท้จริงของเขา และแทบไม่เคยเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เธอฟังเลย ยิ่งนาบีรู้จักแจออนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกว่าเขาลึกลับซับซ้อนมากเท่านั้น พอทนความขมขื่นไม่ไหวและถามหาความชัดเจนในความสัมพันธ์ก็มักจะถูกเขาบ่ายเบี่ยงและใช้ความหอมหวานกดทับสิ่งที่เธอต้องการ…ครั้งแล้วครั้งเล่า
อำนาจที่ไม่เท่ากันของทั้งคู่ทำให้เรานึกถึงคำพูดหนึ่งของ Peter Bromberg นักพูดชื่อดังที่เคยบอกไว้ว่า “When we avoid difficult conversations, we trade short term discomfort for long term dysfunction.” ถ้าเราเลี่ยงที่จะพูดเปิดอกถึงปัญหาหรือความลำบากใจของเราในตอนนี้ นั่นเท่ากับว่าเรากำลังเลี่ยงที่จะเผชิญ ‘ความไม่สบายใจ’ ที่จริงๆ อาจจะเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อที่จะแลกกับ ‘ความยุ่งเหยิง’ ที่มันจะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน
ไม่อยากชัดเจน เพราะไม่อยากอ่อนแอ
แจออนเป็นตัวละครที่เรามองว่าเป็นได้ทั้ง ‘พระเอก’ และ ‘ตัวร้าย’ เพราะการให้ความหวังและปล่อยให้ความสัมพันธ์ที่คลุมเครือทำร้ายความรู้สึกของอีกฝ่าย ไม่ว่าจะกับนาบี, Yoon Seol-ah หรือคนอื่นที่ไม่ได้พูดถึง ถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ ‘เย็นชา’ และ ‘ไร้หัวใจ’ ทว่าเรื่องราวค่อยๆ เผยให้พวกเราได้ยินเสียงในหัวของแจออน ว่าลึกๆ แล้วเขากลัวความชัดเจนในความสัมพันธ์ เพราะเขามีชุดความคิดว่า ‘ทันทีที่มั่นใจในความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์นั้นก็จะอ่อนแอลง’
หากมองจากแง่มุมจิตวิทยาแล้ว แจออนดูคล้ายกับว่ามีอาการ ‘กลัวการผูกมัด’ (commitment phobia) ซึ่งจุดเริ่มต้นอาจจะมาจากการที่เขาต้องแยกกับแม่ตั้งแต่ 10 ขวบ จริงอยู่ที่เขาดูไม่มีปัญหาในการมีปฏิสัมพันธ์กับใคร เขาดูไม่ได้โหยหาความรักหรือความมั่นคงในความสัมพันธ์ไหนๆ แต่มันเป็นไปได้ไหมว่า ที่แจออนกลัวการผูกมัดเพราะการผูกพันกับใครมากๆ แล้ววันหนึ่งอีกฝ่ายเดินจากไป (เหมือนกับที่แม่จากเขาไปตั้งแต่ตอนเด็กๆ) มันเหมือนเป็นการถูกทิ้งให้ลอยแพอยู่กับความเจ็บปวดและความว่างเปล่า
เมื่อเขาโตขึ้น การไม่ผูกมัดกับใครอาจเป็นการป้องกันไม่ให้บาดแผลเดิมถูกกรีดซ้ำอีกครั้ง หรือหากมองลึกลงไปอีกนิด เขาอาจจะกลัวการพึ่งพิงทางความรู้สึก (emotional dependence) กับใครสักคน เพราะมันจะทำให้เขาอ่อนแอ และเต็มไปด้วยความกลัวว่าอาจจะต้องแยกจากคนๆ นั้นอีกก็ได้
แหลกสลาย เพื่อสร้างขึ้นใหม่
ในช่วงท้ายของเรื่อง ฝันร้ายทุกอย่างประเดประดังเข้ามาหานาบี ทั้งผลงานศิลป์ของเธอที่เกิดอุบัติเหตุพังทลายลงมาไม่เหลือชิ้นดี ไม่ต่างจากหัวใจของเธอที่แหลกสลายเพราะความรัก เธอดูสิ้นหวังและหมดอาลัยตายอยาก จนกระทั่งแจออนเข้ามาช่วยเธอสร้างผลงานขึ้นมาใหม่ ทำให้ท้ายที่สุดผลงานเดิมที่เคยได้รับฟีดแบ็กจากอาจารย์ว่ามันยังขาดความรู้สึก กลายเป็นงานศิลป์ที่สง่า งดงาม และเต็มไปด้วยความรู้สึกและประสบการณ์อันโชกโชน
สำหรับเรา ฉากนี้สื่อให้เห็นถึงการเติบโตของนาบี (หรือแม้แต่ของแจออนด้วย) ที่ผ่านการแหลกสลายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่ยอมแพ้ที่จะสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ แม้จะมีรอยแตกร้าวหรือบาดแผลที่เพิ่มขึ้นจากการแตกสลายในทุกครั้ง แต่ทุกๆ รอยร้าวก็มีเรื่องราวของมัน และถูกเล่าผ่านตัวตนใหม่ที่ต่างไปจากเดิม
ซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้และยอมรับว่าเราเองก็อาจเป็นส่วนที่ไปสร้างบาดแผลหรือไปทำให้ใครสักคนแหลกสลายได้เหมือนกัน อย่างที่นาบีเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำร้ายความรู้สึกของโดฮยอกด้วยการปฏิเสธความรักของเขา ไม่ว่าโดฮยอกจะดีกับนาบีมากแค่ไหน แต่สุดท้ายมันก็เป็นธรรมชาติของชีวิตที่เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เราทำได้เพียง ‘เคารพการตัดสินใจ’ และ ‘เคารพความรู้สึก’ ของทั้งตัวเองและอีกฝ่ายเท่านั้นเอง
ท้ายที่สุด เราชอบสิ่งที่ป้าของนาบีอธิบายความหมายของชื่อ ‘นาบี’ ที่แปลว่า ‘ผีเสื้อ’ ให้เธอฟังว่า
“ผีเสื้อจริงๆ ชีวิตไม่ได้หวานชื่นเหมือนดูดน้ำหวานอย่างเดียวหรอกนะ ผีเสื้อน่ะกินทุกอย่าง ทั้งสารอาหาร เพลี้ย และมูลด้วย
“เรื่องทุกอย่างที่แกพบเจอมาจนถึงตอนนี้ เป็นสารอาหารของชีวิตที่ทำให้แกเติบโต แล้วมีอะไรให้ต้องกลัวล่ะ”
แม้ทั้งแจออนและนาบีจะรู้อยู่แล้วว่าการลงเอยของทั้งคู่อาจจะทำให้ทั้งสองเจ็บปวดอีก แต่ก็ยังเลือกที่จะลองดูอีกสักครั้ง แม้ไม่มีทางรู้ว่าเรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นยังไง แต่เราเชื่อว่าไม่ว่ารอยยิ้มหรือคราบน้ำตาที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ล้วนเป็นสารอาหารของชีวิตที่จะทำให้ทั้งคู่เติบโตขึ้นได้สักวันหนึ่ง
3 ทริกแนะนำ หากคุณอยากมูฟออนจาก toxic relationship
- ‘คนเรามักจะอยู่กับสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองคู่ควร’ เพราะฉะนั้นการมอบความรักและเห็นคุณค่าในตัวเองจึงเป็นก้าวแรก อาจลองเริ่มจากการถามตัวเอง และตระหนักว่าความสัมพันธ์ที่เราอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งที่เราคู่ควรแล้วหรือยัง
- ‘อย่าเอาจุดยืนของตัวเองไปผูกกับการตัดสินใจของใคร’ ถ้าสมดุลของความสัมพันธ์มันเริ่มเสีย และเราคือฝ่ายที่ปรับหรือเข้าหาอยู่คนเดียว เราก็มีสิทธิที่จะเลือกจุดยืนว่า จะให้อีกฝ่ายปรับสามเหลี่ยมความรักให้มาตรงกับเรา (เหมือนที่นาบีฮึดต่อต้านแจออน จนเขายอมปรับเข้าหาเธอ) หรือจะพอแค่นี้ และออกไปตามหาคนที่มีสามเหลี่ยมความรักที่ตรงกับเราแทน
- สุดท้ายนี้เราอยากให้คุณ ‘โอบกอดทุกความรู้สึกและยอมรับทุกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น’ แม้การเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดจะเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ถ้าเราผ่านจุดนี้ไปได้ สักวันหนึ่งมันจะกลายเป็นอดีตและจะเป็นบทเรียนให้เราเติบโตอย่างสวยงาม