บางจังหวะชีวิตก็เหมือนการสวมรองเท้าคู่ใหม่ เราแค่ต้องลองเดินไปกับ ‘ความไม่รู้’

นี่เป็นเรื่องที่ฉันไม่ค่อยเล่าให้ใครฟังเท่าไหร่ มันออกจะตลกอยู่นิดๆ แต่มันยังเป็นปัญหาสุดคลาสสิกของชีวิตที่แก้ไม่ตกสักที วิตกกังวล

ฉันเป็นมนุษย์ที่ซื้อรองเท้ายากมาก 

ที่ซื้อยากไม่ใช่เพราะไม่มีคู่ที่ถูกใจ (ที่ถูกใจน่ะมีเยอะเลยล่ะ) แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมฉันถึงคิดเยอะมากกับการซื้อรองเท้าสักคู่ ต่อให้รองเท้าคู่นั้นราคาไม่แรงเกินเหตุ ฉันก็จะคิดแล้วคิดอีก ลองแล้วลองอีก ซื้อดีไหมน้า ใส่พอดีแต่จะเข้ากับสีผิวไหมน้า ใส่เดินแล้วจะกัดไหมน้า จะใส่เข้ากับชุดแบบไหนน้า สีแบบนี้จะใช้คุ้มไหมน้า ฯลฯ บางเรื่องในชีวิตฉันอาจตัดสินใจได้รวดเร็ว แต่ถ้าเป็นเรื่องรองเท้า ฉันสามารถวนเวียนคิดชั่งใจอยู่ได้เป็นชั่วโมง จนหลายครั้งรำคาญตัวเอง แล้วก็เขินคนขายด้วย

ด้วยเหตุนี้ หลายๆ ทีก็เลยไม่ค่อยอยากเข้าร้านไปเลือกไปลองรองเท้าเพราะเกรงใจว่าลองไปลองมาก็ไม่ซื้ออยู่ดี และลงเอยด้วยการเป็นผู้หญิงที่ใช้รองเท้าจริงๆ ในแต่ละช่วงชีวิตน่าจะแค่ไม่เกิน 3 คู่ จนกว่าคู่ใดคู่หนึ่งพังไปถึงจะได้ฤกษ์เปลี่ยนใหม่ เหลือบมองไปที่สาวๆ รอบตัวที่มีรองเท้าสีสนุกหลายคู่ ก็นึกเสียดายอยู่บ้างว่าน่าจะอนุญาตให้ตัวเองสนุกแบบนั้นบ้าง แต่ทุกครั้งไปที่การจะตัดสินใจรับรองเท้าคู่ใหม่มาอยู่ในชีวิต กลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องคำนวณบวกลบยุบยิบในหัว 

ส่วนหนึ่งคงเพราะรองเท้าเป็นสิ่งสำคัญ ฉันใส่ใจกับการซื้อรองเท้าสักคู่มากกว่าเสื้อยืดสักตัว เสื้อยังใส่โอเวอร์ไซส์ได้ แต่รองเท้าฉันอยากให้มันพอดี พร้อมไปไหนไปกันทุกที่ และเป็นตัวฉันที่สุด 

แต่การคิดเยอะไป สุดท้ายแต่ละคู่ก็จะมีข้อเสียหรือจุดให้ติบางอย่าง แล้วฉันก็จะจากมาโดยไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือ 

ไม่รู้สุดท้ายตัวเองจะชอบไหม ก็ไม่เอาแล้วกัน 

สุดท้ายไม่รู้จะเป็นยังไง ปล่อยมือก่อนแล้วกัน 

ไม่รู้ผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง ไม่เสี่ยงแล้วกัน 

ถ้าลำพังมีปัญหากับแค่รองเท้าจริงๆ มันคงไม่ยากเท่าไหร่ แต่บังเอิญว่าถ้าเปลี่ยน ‘รองเท้า’ เป็นตัวแปรอื่นๆ หลายครั้งการไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวผลลัพธ์ที่จะตามมาก็ทำให้ชีวิตมีปัญหาได้ไม่น้อย 

“ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ จะปล่อยให้ผิดพลาดไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่าจะเป็นยังไงก็ขอติดแหง็กอยู่ตรงนี้สักพักเถอะ ฉันตัดสินใจไม่ได้จริงๆ” นี่คือประโยคจำลองวิธีคิดในสมองตั้งแต่ฉันจำความได้จนถึงราวๆ อายุ 30 โชคดีที่ตอนนี้ฉันผ่านอายุ 30 มาแล้ว เลยพอจะบอกเล่าถึงอุปมาการซื้อรองเท้าจากมุมอื่นๆ ได้บ้าง 

30 เป็นตัวเลขที่มีความหมาย เพราะมันคืออายุที่ฉันพาตัวเองเข้าไปนั่งต่อหน้าจิตแพทย์ แล้วหมอก็เอ่ยออกมาว่า “คุณมี anxiety disorder ระดับ mild นะ” 

มันเป็นประโยคที่ค่อนข้างเซอร์ไพรส์กับตัวเองพอสมควร แปลภาษาหมอเป็นภาษาบ้านๆ ได้ว่า ฉันป่วยเป็นโรควิตกกังวลอย่างอ่อนๆ จากนั้นหมอก็อธิบายว่าฉันเลือกได้ว่าจะรักษาโดยใช้ยาหรือไม่ใช้ยาดี แต่ใจฉันหายไปครุ่นคิดอยู่กับสิ่งอื่น

ช็อกไหม ก็นิดนึง เพราะไม่ได้คิดว่าจะป่วย ตอนนั้นฉันนึกว่าตัวเองก็แค่อยู่ใน ‘ช่วงยากๆ’ ของชีวิต ไม่ได้คิดว่ามันจะ ‘เป็น’ ส่วนหนึ่งในตัวฉันเหมือนกาฝากที่เกาะต้นไม้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน 

จำได้ดีทีเดียวว่าหลังจากหาหมอ ฉันตรงไปที่คาเฟ่บรรยากาศอบอุ่นคนเดียว สั่งชามะนาวหนึ่งแก้ว นั่งโต๊ะสำหรับที่เดียวที่มีแสงส่องผ่านหน้าต่างเข้ามา พิจารณาของเหลวในแก้วที่แดดตกกระทบจนเป็นประกายระยิบระยับ

“ป่วยเหรอวะ ป่วยได้ไงวะ” คำถามผุดขึ้นในใจ เป็นประโยคคำถามที่ไม่ได้มีน้ำเสียงของความโกรธหรือตัดพ้อ แค่ฉงนสงสัยจนต้องย้อนมาถามตัวเองว่า “ที่ผ่านมากูใช้ชีวิตยังไงให้ป่วยได้วะเนี่ย” 

ก่อนจะถึงจุดพังจุดนั้นราว 2-3 ปี ปัญหาชีวิตคือความกลัวสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่มักมีจุดขัดแย้ง พอผนวกกับการโตมาแบบ ‘ไข่ในหิน’ ที่ถูกสอนให้ระมัดระวังและต้องทำตัวเองให้ปลอดภัยในทุกจังหวะ ฉันเลยใช้ชีวิตโดยมีการ ‘หลีกเลี่ยงความผิดพลาด’ เป็นงานประจำใจ 

ถามว่าจะหลีกเลี่ยงยังไง คำตอบง่ายๆ คือการคิด คิดๆๆ ว่าอะไรคือทางที่ชัวร์สุด ปลอดภัยสุด ฉันหมดพลังงานและเวลาในชีวิตไปกับ ‘การเมคชัวร์’ เยอะมาก มากกว่าจะลงมือทำให้รู้ๆ กันไป ก่อนส่งข้อความหาใครก็จะอ่านแล้วอ่านอีกว่าจะไม่ดูห้วนเกินไป ก่อนโทรหาใครก็ต้องเตรียมพร้อม ก่อนส่งงานก็อ่านทวนไม่รู้กี่รอบ 

หากคุณมีสิ่งที่เรียกว่า anxiety อยู่ในตัว คุณมีแนวโน้มที่จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งต่างๆ จะออกมาโอเค แค่การซื้อรองเท้ายังกลายเป็นมหกรรมประมวลความคิดครั้งใหญ่ได้ ดังนั้นในเรื่องราวที่ไม่รู้จะออกหัวออกก้อย มันก็อาจทำให้คุณไม่สบายใจเอามากๆ เพราะมันยากที่จะทนอยู่กับ ‘ความไม่รู้’ ‘ความคลุมเครือ’ และ ‘ความไม่ชัดเจน’ ทุกอย่างควรจะ ‘เคลียร์’ และ ‘แน่นอน’ ว่ามันจะเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

ปัญหามันอยู่ที่ว่า ชีวิตไม่เคยเป็นแบบนั้นให้เราหรอก

ถ้าลองเปลี่ยนตัวแปรรองเท้าในสมการการตัดสินใจ คุณอาจเห็นภาพมากขึ้นว่ามันค่อนข้างจะเต็มไปด้วยความปวดหัว เมื่อเราติดอยู่ในความไม่รู้ว่า…

เขาจะโกรธไหมถ้าเราพูดแบบนี้ออกไป, คนจะมองว่าฉันเป็นตัวตลกไหมที่ทำแบบนั้น, เขียนข้อความแบบนี้ไปแล้วจะมีคนที่อ่านแล้วหมั่นไส้ปะวะ, ถ้าเห็นต่างจากคนอื่นจะเป็นอะไรไหมนะ, ถ้าไม่มีเขาแล้วเราจะอยู่ได้ไหม และอื่นๆ อีกมากมาย 

จะเป็นอะไรไหม จะเกิดอะไรไหม จะโอเคไหม จะรอดไหม…ฯลฯ  คำถามพวกนี้วนเวียนอยู่ในหัวฉันมา 30 ปีเต็ม 30 ปีแห่งการใช้ชีวิตบนความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ และไม่รู้ตัวด้วยว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนความกลัวเสมอมา ไม่ว่ากลัวเล็กกลัวน้อย หรือกลัวแบบใหญ่ๆ ชนิดที่รู้สึกว่าถ้ามันเกิดขึ้นแล้วชีวิตต้องไปต่อไม่ได้ 

เปรียบให้เห็นภาพคือฉันมักใช้ชีวิตประหนึ่งตัวเองเป็นรถที่กำลังขับผ่านสี่แยกไม่ก็วงเวียน ที่ไม่รู้ว่าปลายทางของแต่ละทางแยกจะมีหน้าตาแบบไหน ก็เลยไม่กล้าเลี้ยว แล้วก็จอดนิ่งคิดอยู่แบบนั้นจนรถคันอื่นๆ เริ่มบีบแตรไล่ ไม่ก็ขับวนไปมาอยู่จนน้ำมันหมดก็ยังตัดสินใจไม่ถูก

ไม่ใช่ทุกเรื่องที่ฉันเป็นแบบนี้ แต่แค่มีเรื่องใหญ่ๆ ให้คิดกังวลอยู่เป็นระยะมาตลอดชีวิต มันก็เพียงพอที่จะกัดกินทั้งพลังงาน เวลา และตัวตนของเราเอง ความต้องการแท้จริงของเราจะค่อยๆ เลือนไป แต่ละก้าวจะค่อยๆ ยากขึ้น เพราะภารกิจหลักไม่ใช่การลุยไปตามเป้าหมาย แต่คือการหนีจากความไม่ปลอดภัยไปเรื่อยๆ เหมือนเราเล่นเกม Minesweeper ที่หนทางเดียวที่จะชนะคือ อย่าไปเผลอเหยียบกับระเบิดที่มองไม่เห็นเข้า 

นานวันเข้า ฉันถึงรู้สึกตัวว่าแม้ยังไม่มีภัยอันตรายอะไรมาถึงตัว แต่การใช้ชีวิตคู่ความกลัวมาเป็นสิบๆ ปีนั้นเหน็ดเหนื่อยที่ต้องเคร่งเครียดเกือบตลอดเวลา และน่าเศร้าจนรู้สึกสงสารตัวเอง

แม้จะยาก แต่ก็ต้องลองที่จะเริ่มแงะตัวเองออกจากวิธีใช้ชีวิตเก่าๆ ที่ทำให้เหนื่อยล้าและวิ่งแตกตื่นเป็นหนูติดจั่นเวลาเกิดปัญหา เอาจริงฉันรู้สึกอิจฉาคนที่ใช้ชีวิตแบบสบายๆ กับตัวเอง อิจฉาคนที่มีความชิลล์อยู่ในสายเลือด แต่ทางเดียวก็คือต้องลองและพยายามดู

นับตั้งแต่เจอหมอวันนั้น ฉันพยายามเสาะหาวิธีการบรรเทาอาการ anxiety ของตัวเอง ไล่ตั้งแต่ทำความเข้าใจว่าความวิตกกังวลมักทำให้ฉันคิดแบบไหน พอคิดแบบนั้นแล้วติดขัดยังไง เจอนักจิตวิทยาการปรึกษา พยายามออกกำลังกาย ฝึก grounding (เทคนิคการตั้งหลักเพื่อเรียกสติ) ลองทำสมาธิ สุดท้ายก็ลองกินยาจนกระทั่งหมอให้หยุดยา ปัจจุบันถือว่าโดยรวมเสถียรขึ้น แต่บางช่วงก็กลับมาติดหล่ม ซึ่งเกิดขึ้นได้เป็นธรรมชาติเหมือนทุกเรื่องในชีวิตที่มีขึ้นมีลง แต่ก็เป็นปกติเช่นกันที่เราจะรู้สึกปวดใจเมื่อเห็นตัวเองถอยหลังลงคลองอีกครั้ง 

เวลาฉันรู้สึกกังวล จ๋อย อึน เศร้า เครียด นิสัยหนึ่งที่เป็นคือฉันจะเดินเข้าร้านหนังสือ หาหนังสือสักเล่มที่พลิกๆ ดูแล้วน่าจะช่วยได้ แล้วสอยกลับบ้าน แต่สุดท้ายส่วนหนึ่งในนั้นกลับกลายเป็นกองดอง พอเจอวงจรอึนระลอกใหม่ ฉันก็จะเสียเงินใหม่ แล้วก็ได้หนังสือเล่มใหม่เข้ากองดอง พอมาสังเกตนิสัยตรงนี้ดีๆ ฉันก็พบว่ามันสะท้อนอะไรได้ดีทีเดียว

เวลาเจอปัญหา ฉันอยากจะไปให้พ้นจากตรงจุดนั้น อยากจะให้ความรู้สึกลบๆ จางหายไปโดยไว ฉันไม่อยากทนอยู่กับช่วงอิรุงตุงนัง ไม่ชอบระหว่างทางที่ ‘ไม่รู้’ จะเป็นยังไงต่อ ไม่รู้ว่าจะดีขึ้นหรือจะแย่ลง ฉันแค่อยากให้มีคนเฉลยตอนจบว่า “ทำตามนี้แล้วเดี๋ยวอะไรๆ จะดีขึ้นแล้วเธอจะไม่กลับมาเจอปัญหานี้ใหม่” ไม่ต้องมีทางเลือกมากมาย ขอแบบจบสวยๆ เป็นทางออกที่ใช่

การได้จ่ายเงินซื้อหนังสือ self-help สักเล่มคือการบรรเทาความรู้สึกติดหล่ม คล้ายการบอกตัวเองว่าฉันกำลังจะมีทางออกที่ใช่เป็นของตัวเองสักที แต่พอกลับมาลองอ่านนิดๆ หน่อยๆ แล้วไม่รู้สึกว่าได้ความรู้อะไรใหม่ ฉันก็วางมันทิ้งไว้อย่างนั้น 

ฉันทำเหมือนว่าถ้าซื้อหนังสือเล่มใหม่แล้วจะมียาวิเศษเด้งขึ้นมาจากหน้ากระดาษ ทั้งที่จริงแล้ว การดูแลตัวเองหรือการแก้ปัญหาระยะยาวใดๆ มีแค่ต้องค่อยๆ ลงมือทำไปเรื่อยๆ ทำในสิ่งพื้นฐานเรียบง่ายที่รู้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างลงรายละเอียดจนกระทั่งมันซึมเข้าเนื้อ

คู่มือมันมีของมันอยู่แล้ว เราแค่ต้องค่อยๆ ไปทีละบรรทัด 

แม้จะรู้ตัวแล้วว่าต้องหัดอยู่กับความกลัวให้ได้มากขึ้น เผชิญกับความกังวลและดูแลมันมากขึ้น แต่ฉันเพิ่งเข้าใจเมื่อไม่นานมานี้เองว่า หลักใช้ชีวิตที่ช่วยให้ไม่ต้องเป็นหนูติดจั่นในวงล้ออย่างเคย มันไม่มีทางลัด ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มี life-hack ใดๆ มันเรียบง่ายกว่านั้น มันคือการที่เราแค่อยู่กับมันไปทีละก้าว ทีละก้าว ในแต่ละวัน 

ฉันรู้ เราต่างอยากกระโจนข้ามไปถึง EP ที่ชีวิตอยู่บนผิวน้ำนิ่งสงบ คนมักพูดกันว่าระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทาง แต่เวลาที่ระหว่างทางมันแย่ มันพัง ใครก็อยาก skip ไปทั้งนั้น โดยเฉพาะช่วงหัดเยียวยาตัวเองที่บางครั้งมันก็สะบักสะบอมไม่น้อย 

ฉันเองก็อยากเห็นตัวเองใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เป็นอิสระจากความกังวล แต่ก็เพิ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้งจริงๆ ว่า สิ่งสำคัญกว่าปลายทางที่เราอยากเห็น สิ่งสำคัญกว่าสิ่งที่เราอยากได้มาและพยายามทำให้เกิดขึ้น คือการใส่ใจแต่ละขณะที่เรา ‘ได้’ ลงมือทำมันไปทีละเล็กละน้อย โดยไม่ต้องคาดหวังหรือกะเกณฑ์ผลลัพธ์อะไรมาก 

แค่ทำ ทำไปทีละนิดละหน่อย ยังไม่ต้องตัดสินอะไร 

หากทำโดยวางใจอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง ใจจะไม่วิ่งพล่านที่ยังไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นยังไง

หลักคิดที่ช่วยให้ใจเย็นกับตัวเองได้มากขึ้น และอยากให้คนรอบตัวได้ลองกันเยอะๆ คือ ‘ลองมองสิ่งต่างๆ เป็นกระบวนการ’ เป็น process เป็นเรื่องของวันนั้นๆ วินาทีนั้นๆ มากกว่าเป็นคำตอบตายตัว มากกว่าเป็นปลายทางที่ไม่มีวันเปลี่ยน

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่ามันจะมีประโยชน์ขนาดนี้ แต่จากประสบการณ์ตรง มันเป็นหลักคิดพื้นฐานที่ช่วยให้สงบใจได้มาก (ฟีลลิ่งเหมือนยาสามัญครอบจักรวาล) เพราะมันบอกให้เรารู้ว่าสิ่งต่างๆ ยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น และความเป็นไปได้นั้นๆ ยังยืดหยุ่นได้ เซอร์ไพรส์เราได้ กลับลงไปเพื่อขึ้นมาใหม่ได้ และช่วยให้เรายอมรับความผิดพลาดหรือเรื่องที่ออกมาไม่ตรงปก ไม่ตรงใจ ได้มากขึ้น 

สำหรับฉัน คนที่อยู่ในโลกความกังวลคือคนที่กลัวการหลงทาง กลัวการตัดสินใจแต่ละครั้งจะพาเราไปสู่ทางที่ไม่ได้อยากไป กลัวปลายทางตรงนั้นจะเป็นหน้าผา 

จังหวะที่เป็นกังวลตรงนั้น เราลืม 2 เรื่องสำคัญไป 

หนึ่งคือ เราลืมไปว่าเราเรียนรู้ที่จะหัดใช้แผนที่ให้เก่งขึ้นได้ ต่อให้หลงทางเข้าจริงๆ หรือไม่ใช่ทางที่อยากไป เราก็น่าจะพอหาทางกลับมาจุดเดิมได้อยู่ (เรามีศักยภาพที่จะรับมือปัญหามากกว่าที่ตัวเองคิด)

สองคือ ถ้าเดินออกจากจุดที่อยู่สักหน่อย หรือรอเวลาอีกนิด เมฆหมอกมัวๆ อาจจางไป เราอาจมีสติและเห็นทางไปมากขึ้น (ยืดหยุ่นกับวิธีการรับมือและแก้ปัญหา มองเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายมากกว่าแค่ถูกหรือผิด พังหรือปัง) 

ชีวิตประกอบขึ้นจากการตัดสินใจยิบย่อยหลายครั้งและข้อมูลใหม่ๆ ที่เราเรียนรู้ไปในแต่ละวัน ไม่เป็นไรถ้าวันนี้จะเป็นวันที่แย่มากวันหนึ่ง ไม่เป็นไรถ้าจะยังรู้สึกหาทางออกไม่เจอ ไม่เป็นไรถ้าทางที่เลือกไปจะยังทำให้ผิดหวัง ไม่เป็นไร…ถ้าซื้อรองเท้าคู่ใหม่แล้วพบว่าเสียดายเงิน 

เพราะอย่างน้อยที่สุดคือเราได้ลองใส่มัน แล้วก้าวออกไป 

ได้ลองทำ ลองตัดสินใจ ลองใช้ชีวิตในวันนั้นๆ จนกระทั่งมันผ่านไป เพื่อให้วันใหม่หรือโอกาสใหม่ๆ ได้ผ่านเข้ามา ถึงรสชาติผลลัพธ์จะไม่หวานหอมทุกครั้งเพราะมันไม่มีวันเป็นแบบนั้นได้ แต่จากสายตาฉันที่เป็นนักขี้กังวลระดับแชมป์ การยังมีความกล้าหาญแม้ต้องเผชิญหน้ากับความไม่รู้หรือความกลัว คือคุณสมบัติที่น่ายกย่องและควรค่าแก่การชมตัวเองมากๆ เลย 

ดังนั้นอย่าลืมชมตัวเองกันด้วยนะ 🙂 


สูตรอาหารใจฉบับกระชับสั้น วิตกกังวล

  • อ้างอิงจากหนังสือ Don’t Feed Your Monkey Mind ของคุณ Jennifer Shannon ส่วนผสมหลักที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลคือ ความไม่สามารถทนทานต่อความไม่แน่นอน (อยากให้ทุกอย่างชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์) ความต้องการให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ (ห้ามทำผิด!) และความรับผิดชอบที่สูงเกินไป (เราต้องปกป้องความสุขและความปลอดภัยให้คนรอบข้างตลอด) หากรู้สึกว่าตัวเองตกหลุมข้อใดข้อหนึ่งใน 3 อย่างนี้ ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกให้กลับมาสำรวจตัวเองและยืดหยุ่นกับตัวเองมากขึ้น
  • ปัจจุบันมีวิธีการหลากหลายที่ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลได้ วิธีพื้นฐานที่เราอยากแชร์คือ เมื่อเริ่มวิ่งวุ่นในความไม่รู้ ลองพาตัวเองกลับมาสู่สิ่งที่ ‘จับต้องได้’ ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น กลับมาโฟกัสที่ลมหายใจ ความรู้สึกในร่างกาย สัมผัสของสิ่งต่างๆ รอบตัว เสียงที่กำลังได้ยิน พอความคิดเริ่มสงบลงและจูนตัวเองกลับมาสู่ปัจจุบันได้บ้างแล้ว ลองทำความเข้าใจในสิ่งที่กำลังกังวลว่าต้นตอความกลัวนี้มาจากไหน มีอะไรเป็นวิธีรับมือที่เราลงมือทำได้บ้าง หากดีลคนเดียวไม่ไหว การได้พูดกับใครสักคนเช่นเพื่อนสนิท หรือใช้บริการผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิตก็เป็นทางเลือกที่ดีมากๆ

AUTHOR