Repairability Index คะแนนการซ่อมได้ในเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อลดขยะพังแล้วทิ้ง

จำได้ไหมว่าเคยเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือมากี่เครื่องในชีวิต  มีเครื่องใช้ไฟฟ้ากี่ชิ้นที่เราเลือกจะซื้อใหม่มากกว่าซ่อมเครื่องเก่า 

ในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะ E-waste มากถึง 53.6 ล้านตัน มีเพียงร้อยละ 17.4 เท่านั้นที่ถูกบันทึกในระบบและถูกนำไปรีไซเคิล นักวิจัยจาก Global E-waste Monitor 2020 ประเมินว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์จะพุ่งสูงถึง 74.7 ล้านตันในปี 2030

ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 4 แสนตันต่อปี คิดเป็น 64.8% ของขยะอันตรายที่เกิดในชุมชน 

แม้หลายครั้งเราจะไม่ได้ตั้งใจทิ้งของเก่าและซื้อของใหม่ แต่การซ่อมนั้นยาก หรือมีค่าซ่อมที่คำนวณดูแล้วไม่คุ้ม ผลักดันให้เราต้องทิ้งของเก่า อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์หากยิ่งยาวนาน ซ่อมได้ ก็ยิ่งจะช่วยลดการบริโภคและลดขยะที่เกิดขึ้นบนโลกอันเกิดจากเราทุกคน

สัปดาห์นี้ผู้เขียนอยากแนะนำให้รู้จักกับคำว่า Repairability Index และ Repair Score รวมไปถึงแนวคิดสิทธิในการซ่อม (Roght to Repair) ที่จะเพิ่มความโปร่งใสและเพิ่มหลักประกันว่าสินค้าที่เราเลือกจะมีอายุขัยที่ยืนยาวสมเหตุผล ไม่ได้พังแล้วต้องทิ้งเท่านั้น

Repair Score คะแนนซ่อมได้หวังจะลดขยะ E-waste ในระยะยาว

ต้นปี 2021 ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่แนะนำให้โลกรู้จักคำว่า indice de réparabilité หรือ “ดัชนีการซ่อมได้” Repairability Index มันคือข้อกำหนดที่ผู้ผลิตต้องรายงานให้ผู้บริโภครับทราบถึง Repair Score ของเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยสินค้าแบ่งออกเป็น 5 ประเภทได้แก่ มือถือสมาร์ทโฟน แล็ปท็อป เครื่องซักผ้า ทีวี และเครื่องตัดหญ้า

ดัชนีซ่อมได้นี้เป็นส่วนหนึ่งบัญญัติต่อต้านขยะ (anti-waste bill) มุ่งหวังลดขยะในระยะยาว เนื่องจากสินค้าไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ซ่อมง่าย เพราะหาอะไหล่ไม่ได้ หรือไม่คุ้มแก่การซ่อมแต่แรก

การรายงานคะแนนการซ่อมได้ คือการรายงานให้ทราบว่าสินค้าที่เราซื้อมา เมื่อใช้งานไปแล้วเกิดพังชำรุด ผู้ผลิตจะได้คะแนนจากการประเมินว่าอำนวยความสะดวกกับการซ่อมมากแค่ไหน เป็นการกดดันให้ผู้ผลิตขายสินค้าที่สามารถซ่อมได้เพื่อเพิ่มคะแนนให้กับตัวเอง เพิ่มความโปร่งใสให้กับตลาดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหลายคนคุ้นเคยประสบการณ์การซื้อของมาใช้แล้วไม่สามารถซ่อมได้ เราจึงกลายเป็นผู้สร้างขยะให้กับโลกมากมายไปโดยปริยาย

คะแนนการซ่อมได้มีคะแนนตั้งแต่ 0-10 เต็มสิบคะแนน โดยคำนวณจาก

  • เอกสาร (Documentation) เกิดจากการให้คะแนนผู้ผลิตที่จัดทำเอกสารทางเทคนิคที่ฟรีและเข้าถึงง่ายกับผู้ซ่อมและผู้บริโภค
  • การแยกประกอบ เครื่องมือ การประกอบยึดเข้าด้วยกัน (Disassembly, tools, and fasteners)  คะแนนที่ระบุว่าสินค้าสามารถถอดประกอบเพื่อซ่อมแซม เครื่องมือที่ใช้ และลักษณะการวัสดุยึดติด
  • ความพร้อมของอะไหล่ (Availability of spare parts)  คะแนนจากระยะเวลาที่ผู้ผลิตสัญญาว่าจะทำให้อะไหล่นั้นหาได้ และเวลาที่ใช้ในการขนส่ง
  • ราคาของอะไหล่ (Price of spare part) คะแนนจากการเทียบสัดส่วนราคาขายกับราคาอะไหล่ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
  • คะแนนเฉพาะตามประเภทผลิตภัณฑ์ (Product specific) คะแนนจากประเภทเฉพาะของผลิตภัณฑ์ การเข้าถึงบริการหลังการขายจากระยะไกล การอัปเดตซอฟท์แวร์ การรีเซ็ทเครื่อง

นอกจากนี้ฝรั่งเศสมีแผนระยะยาวที่จะพัฒนา Repairability Index นี้ไปสู่ Durability Index หรือดัชนีความทนทาน ภายในปี 2024 ซึ่งผู้ผลิตต้องไม่ใช่แค่เปิดเผยว่าสินค้านั้นซ่อมได้ง่ายแค่ไหน แต่ต้องอธิบายทั้งวงจนชีวิตของผลิตภัณฑ์ตนเองตั้งแต่ผลิตจนสิ้นอายุการใช้งาน

ตัวอย่างผลลัพธ์คะแนนทั้ง 5 ด้าน แสดงเป็นผลลัพธ์สีไล่จาก แดงไปเขียว

ที่มา: https://www.ecologie.gouv.fr/indice-reparabilite#scroll-nav__6

Planned Obsolescence การตั้งใจวางแผนล่วงหน้าให้ตกรุ่นเพื่อกระตุ้นการซื้อใหม่

เราหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการที่เราเลือกซื้อของใหม่เพราะรู้สึกว่าซ่อมไปก็ไม่คุ้มค่า เราต่างชินชาและยอมรับกับผลิตภัณฑ์ที่มีชีวิตแสนสั้น เครื่องใช้ไฟฟ้าถูกออกแบบมาให้มีราคาถูกที่สุด เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ มากกว่าจะออกแบบให้ใช้ได้หลายปียาวนาน และเมื่อพังก็ไม่มีอะไหล่ กลายเป็นขยะและเป็นภาระให้เราๆ ต้องเสียเงินซื้อใหม่ไว และโทษตัวเองว่ารักษาของได้ไม่ดี 

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดถูกออกแบบให้ซ่อมยากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยความตั้งใจ หรือการล็อกซอฟท์แวร์ที่อนุญาตให้แค่ผู้ที่ได้รับอนุญาตบางกลุ่มที่มีเครื่องมือสามารถเข้าไปแก้ไขได้ บริษัทเทคโนโลยีที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกอย่าง Apple ได้คะแนนการซ่อมที่ 7/10 ในขณะที่ไมโครซอฟต์เองได้คะแนนซ่อมเพียง 5/10 ในผลิตภัณฑ์​แล็ปท็อป Surface 

แต่ความเก่าไว ตกรุ่นไวอาจเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตที่วางแผนให้สินค้าตกรุ่น เพราะย่อมดีกับธุรกิจที่เพราะคนต้องวนกลับมาซื้อใหม่เรื่อยๆ ผลิตภัณฑ์ที่มีอายุสั้นนั้นเป็นการวางแผนจงใจบังคับทางอ้อมให้ผู้บริโภคเลือกซื้อรุ่นใหม่มากกว่าซ่อมอันที่มีอยู่แล้ว สิ่งนี้คือ Planned Obsolescence ที่ Repairability Index กำลังจะต่อสู้เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

Right to Repair สิทธิในการซ่อมที่ออกแบบไว้ตั้งแต่แรก

นอกจากนี้ประเทศอังกฤษก็ออกกฎหมาย Right to Repair เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียต้องซ่อมได้ มีอะไหล่ให้เปลี่ยนอย่างน้อย 10 ปี ผลิตภัณฑ์ที่มีอายุไม่เกิน 5 ปีหลังการซื้อนั้นเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ หลายคนถูกบังคับทางอ้อมให้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ เพียงเพราะส่วนเล็กๆ ที่เสียกลับไม่มีอะไหล่ขาย เช่น ยางขอบประตูตู้เย็น เป็นต้น ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องซ่อมเองแต่ทำให้สินค้าซ่อมได้โดยช่างซ่อมรายเล็กหรือแม้แต่ผู้บริโภคอยากซ่อมเองก็ทำได้

ในทวีปยุโรปการรวมกลุ่มเพื่อผลักดันสิทธิในการซ่อม หริอ Right to Repair พวกเขาคือชุมชนที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์จะอายุยืนขึ้น และเมื่อชำรุด ก็สามารถซ่อมได้ในราคาที่เหมาะสม นั่นแปลว่าผลิตภัณฑ์ต้องออกแบบมาให้ซ่อมได้ตั้งแต่แรก และสนับสนุนให้ผู้สามารถซ่อมได้คือใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดการซ่อมไว้แค่เพียงผู้ได้รับอนุญาตจากผู้ผลิตเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมคือ

  • การออกแบบที่ดี ผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เพียงออกแบบมาเพื่อใช้งานเท่านั้น แต่ออกแบบให้ทนทาน ซ่อมเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ ง่ายต่อการถอดประกอบเพื่อซ่อมแซม การจะซ่อมได้ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การออกแบบ
  • การเข้าถึงที่เป็นธรรม การซ่อมควรเข้าถึงได้ ราคาจ่ายไหว การซ่อมไม่ควรแพงกว่าซื้อใหม่ ไม่มีกำแพงทางกฏหมายกีดกันช่างซ่อมรายเล็กทุกคนสามารถเข้าถึงอะไหล่และเอกสารประกอบการซ่อม (repair manuals) ตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
  • ผู้บริโภคที่ความรู้ความเข้าใจ ประชาชนทั่วไปควรจะได้รับทราบว่าสินค้าที่ตัวเองซื้อนั้นออกแบบมาให้ซ่อมได้ไหม หรือออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้งเมื่อพัง ข้อมูลเรื่องการซ่อมควรเข้าถึงได้ตั้งแต่จุดขาย

ปัจจุบัน เครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อไหนที่ซ่อมได้และคุ้มค่าที่จะซ่อม มีบริการหลังการขายน่าประทับใจ สินค้ามีอายุยืนนาน (ซึ่งต้องใช้เวลานานเพื่อจะพิสูจน์ความทนทานยั่งยืน) กลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นยินดี มากกว่าเป็นเรื่องปกติมาตรฐานที่ควรจะเกิดขึ้น และหลายครั้งแต่กลายเป็นต้นทุนที่สูงและทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถทำราคาสู้กับคู่แข่งได้

เมื่อผู้เขียนลองมองกลับมาที่ตัวเอง มองดูไปที่กองมือถือเครื่องเก่าที่ค่าซ่อมเริ่มไม่คุ้มค่าเท่าซื้อใหม่ อดีตเครื่องดูดฝุ่นราคาถูกหน้าตาแสนมินิมัลที่พังลงในเวลาไม่กี่เดือน  พบว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่สร้างขยะมากมายให้กับโลก การกลับมาคิดถึงการซ่อมได้ทุกครั้งที่ซื้อของ จึงเป็นเรื่องสำคัญ คำว่า คุณสมบัติ “การซ่อมได้” จึงคุณค่าอีกประการที่เราควรคำนึงไว้ในใจตั้งแต่วันแรกที่ซื้อของ ไม่ควรตัดสินใจซื้อแค่จากฟีเจอร์หวือหวาล้ำสมัยหรือหน้าตาที่ถูกใจ ทำให้เราเรียนรู้จะโอบกอดของเก่าที่เรามี แม้จะไม่คูลเท่าของใหม่รุ่นล่าสุด อย่างน้อยเราไม่เพิ่มขยะและมลพิษให้กับโลกนี้โดยไม่จำเป็นก็น่ายินดีใจไม่แพ้การซื้อของใหม่ให้เป็นรางวัลชีวิต

“สิทธิที่จะซ่อม” สินค้าที่เราซื้อมาควรจะสิทธิพื้นฐานของเราที่จะใช้ของที่เราซื้อมาได้นานมากพอให้คุ้มค่าทรัพยากรธรรมชาติ และเราต่างควรมีอำนาจที่จะซ่อมแซมโดยไม่ต้องซื้อใหม่ในราคาที่เป็นธรรม 

อ้างอิง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ksmac

Ordinary person who’s trying to do non-ordinary work.