‘แต่งงานรอบสองได้หรือไม่’ ทำไมราชวงศ์อังกฤษเคยห้ามการสมรสกับบุคคลที่ผ่านการหย่าร้าง

Highlights

  • ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไม่อนุญาตให้มีการหย่าระหว่างคู่สมรส การหย่าและแต่งงานใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 โดยทรงนำอังกฤษออกจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกและตั้งนิกาย Church of England เป็นของตนเอง
  • การตัดขาดจากพระสันตะปาปาหมายความว่าราชวงศ์อังกฤษจะเป็นประมุขแห่งศรัทธาคนใหม่ การหย่าร้างสามารถกระทำได้ในนิกายใหม่ แต่การปฏิบัติจริงกลับไม่ง่าย เพราะกว่าจะหย่ากันได้ต้องผ่านการฟ้องร้อง การไต่สวน และการสืบความในชั้นศาล

เป็นที่ทราบกันดีว่าศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกไม่อนุญาตให้มีการหย่าระหว่างคู่สมรส การหย่าและแต่งงานใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ในช่วงปี 1534

ในตอนนั้นเฮนรีที่ 8 ต้องการหย่าขาดจากพระนางแคเทอรีนแห่งอารากอน เจ้าหญิงจากสเปนและราชินีที่ไม่สามารถมอบพระโอรสให้พระองค์ได้ โดยทรงให้เหตุผลว่าแคเทอรีนเคยสมรสกับพี่ชายของตัวเองมาก่อน (เจ้าชายอาร์เทอร์สิ้นพระชนม์หลังสมรสกับแคเทอรีนไม่ถึง 5 เดือน) และการแต่งงานกับภรรยาของพี่ชายทำให้ทรงโดนพระเจ้าลงโทษด้วยการไม่มีลูกหลานสืบสกุล (ซึ่งไม่จริงเพราะทรงมีลูกสาวที่แข็งแรงด้วยกันหนึ่งคนคือ เจ้าหญิงแมรี) แน่นอนว่าคำขอนี้ไม่เป็นที่ยอมรับจากพระสันตะปาปา แต่เฮนรีไม่สน โอนอังกฤษออกจากศาสนจักรโรมันคาทอลิกและตั้งนิกาย Church of England เป็นของตนเอง 

การตัดขาดจากพระสันตะปาปาหมายความว่าราชวงศ์อังกฤษจะเป็นประมุขแห่งศรัทธาคนใหม่ และก็คล้ายกับศาสนาคริสต์นิกายอื่น ความเชื่อทางศาสนามักสะท้อนค่านิยมของสังคมร่วมสมัยที่ไม่ใคร่จะนิยมการหย่าร้างมากนัก น่าสนใจว่าแม้การหย่าร้างจะกระทำได้ในนิกายใหม่ แต่การปฏิบัติจริงกลับไม่ง่าย เพราะกว่าจะหย่ากันได้ต้องผ่านการฟ้องร้อง การไต่สวน และการสืบความในชั้นศาล จนไม่แปลกว่าในระหว่างช่วงปี 1700-1800 มีคู่สมรสที่หย่าขาดกันได้ลุล่วงเพียง 131 คู่เท่านั้น 

แม้ว่าหลังปี 1800 การหย่าจะเป็นเรื่องทั่วไปในหมู่ประชาชน แต่สำหรับราชวงศ์อังกฤษการหย่ายังเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะการหย่าและแต่งงานใหม่กับคู่สมรสที่ผ่านการหย่าร้างมาก่อน เพราะตอนนั้นนิกาย Church of England ไม่ยอมรับการแต่งงานรอบสองของคู่แต่งงานที่ผ่านการหย่าร้างโดยที่คู่สมรสเก่ายังมีชีวิตอยู่ 

นอกจากนี้การแต่งงานของเจ้านายอังกฤษยังมีประเด็นน่าสนใจ คือต้องได้รับอนุญาตจากกษัตริย์หรือราชินีคนปัจจุบันเสียก่อน (The Royal Marriages Act 1772) หากผู้ครองบัลลังก์ไม่ประสงค์จะวินิจฉัย การตัดสินใจจะตกไปที่การพิจารณาของสภาสูง (House of Lords) และสภาล่าง (House of Commons)

ประเด็นเรื่องการแต่งงานใหม่กับคู่สมรสที่ผ่านการหย่าร้างกลายมาเป็นที่จับตามากที่สุดเมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ขออภิเษกสมรสกับวอลลิส ซิมป์สัน แม่ม่ายหย่าร้างชาวอเมริกัน การสมรสครั้งนั้นได้รับการคัดค้านจากคณะรัฐมนตรี และแม้ว่าทางกฎหมายพระองค์จะไม่ต้องฟังความเห็นสังคมก็ได้ แต่นั่นจะทำลายความน่าเชื่อถือของระบบรัฐสภาอังกฤษในทันที เมื่อคิดเช่นนี้จึงทรงเลือกสละราชสมบัติโดยสมัครใจ

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 กับวอลลิส ซิมป์สัน

ในหนังเรื่อง W.E. (2011) มีการกล่าวถึงความไม่พอใจของสมาชิกสภาสูงต่อความประสงค์ที่จะแต่งงานกับสตรีที่ผ่านการหย่าร้าง โดยกล่าวว่า ‘จะให้ชายอื่นพูดว่าเคยหลับนอนกับราชินีแห่งอังกฤษได้ยังไง’ หลังตัดสินใจสละราชสมบัติ น้องชายของเอ็ดเวิร์ดที่ได้ขึ้นครองราชย์แทนเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงตั้งตำแหน่งใหม่ให้อดีตกษัตริย์เป็นดยุกแห่งวินด์เซอร์ ตามความตั้งใจที่จะใช้นามสกุลแทนการเอ่ยพระนาม ตำแหน่งนี้ไม่เคยมีมาก่อนและไม่มีใครสืบทอดเพราะดยุกและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ไม่มีทายาทที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงระดับ Royal Highness ตลอดพระชนม์ชีพ 

อีกหนึ่งประเด็นใหญ่ที่คล้ายกันคือ เรื่องรักของเจ้าหญิงมาร์กาเรต น้องสาวของควีนเอลิซาเบทที่ 2 เมื่อมีพระประสงค์จะสมรสกับปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ นายทหารอากาศยศนาวาอากาศเอกและราชเลขาฯ ส่วนพระองค์ของพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบิดา 

ปีเตอร์อายุมากกว่าเจ้าหญิง 16 ปี เคยผ่านการหย่าร้างมาแล้ว และแน่นอนว่าไม่มีความเหมาะสมกับเจ้าหญิงแห่งสหราชอาณาจักรตามความเห็นของรัฐสภา เคสนี้จบต่างออกไปเพราะเจ้าหญิงมาร์กาเรตเป็นฝ่ายยอมแพ้ และกล่าวต่อหน้าประชาชนว่า 

“ข้าพเจ้าขอประกาศให้ท่านทั้งหลายทราบโดยทั่วกันว่า…ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจที่จะไม่แต่งงานกับกัปตัน ปีเตอร์ ทาวน์เซนด์ เพื่อความถูกต้องแห่งกฎของพระศาสนาและด้วยภาระหน้าที่ที่ข้าพเจ้ามีต่อสหราชอาณาจักรที่ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด”

เรื่องนี้น่าคุยต่อเพราะหลายคนตีความกันไปว่าเจ้าหญิงอาจกลัวถูกระงับเงินปี อาจต้องสละยศหรือเสียสิทธิในการสืบราชสมบัติต่อจากพี่สาว อย่างไรก็ดีนักประวัติศาสตร์บางส่วนมองว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่น่าจะเป็นเพราะกระแสสังคมที่กำลังต่อต้านการแต่งงานของเอ็ดเวิร์ดที่ 8 กับวอลลิส ซิมป์สัน ที่ยังคุกรุ่นอยู่ในสังคมช่วงนั้นมากกว่า 

เจ้าหญิงมาร์กาเรต กับปีเตอร์ ทาวน์เซนด์

เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน ดูเหมือนว่าการแต่งงานกับคู่สมรสที่ผ่านการหย่าร้างเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น ในบรรดาลูกทั้ง 4 ของควีนเอลิซาเบทมีถึง 3 คนที่ผ่านการหย่าร้าง โดยเฉพาะเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ที่ทรงหย่ากับเจ้าหญิงไดอานา มาแต่งงานกับคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ แม้ว่าคามิลลาจะผ่านการหย่าร้างมาก่อน แต่ท้ายที่สุดควีนเอลิซาเบทก็ยอมรับและสนับสนุนให้เจ้าฟ้าชายดำรงยศเช่นเดิมต่อไป

ส่วนคามิลลาได้ดำรงตำแห่งดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์แทน ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าหญิงแห่งเวลส์ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมของเจ้าหญิงไดอานา และหากวันใดเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ขึ้นครองราชย์ก็จะมีการขนานนามคามิลลาเป็นเจ้าหญิงพระราชชายา (Her Royal Highness the Princess Consort) อ้างอิงตามพระอิสริยยศของเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของควีนวิกตอเรีย ที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายพระราชสวามี (His Royal Highness the Prince Consort)

เหตุที่การหย่าและการแต่งงานกับคู่สมรสที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วได้รับการยอมรับในปัจจุบันก็มาจากการปรับตัวของราชวงศ์ที่ตอบรับกับกระแสสังคมสมัยใหม่ ที่มองว่าการหย่าหรือการผ่านการหย่าร้างไม่ใช่เรื่องพิเศษ แต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

อันที่จริงตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา Church of England เริ่มอนุญาตให้คู่แต่งงานที่เคยผ่านการหย่าร้างมาก่อนทำการสมรสใหม่ (in certain special circumstances–ในกรณีพิเศษ) ดังเช่นกรณีการสมรสของเจ้าชายแฮร์รี กับเมแกน มาร์เคิล เมื่อ 2 ปีก่อน Archbishop of Canterbury ก็กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าทั้งสองได้ผ่านขั้นตอนที่เหมาะสมและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ประกอบพิธีสมรสครั้งนี้

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์

นอกจากการแต่งงานกับคู่สมรสที่ผ่านการหย่าร้าง ราชสำนักอังกฤษมีกฎการแต่งงานของสมาชิกราชวงศ์ชั้นสูงทั้งที่ยังคงอยู่และยกเลิกไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น 

เจ้าชายและเจ้าหญิงอังกฤษจะต้องแต่งงานกับสายเลือดกษัตริย์เท่านั้นกฎนี้ถูกยกเลิกในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 5 พระราชบิดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 และพระเจ้าจอร์จที่ 6 เหตุผลเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้จำนวนเจ้านายในยุโรปลดลงอย่างน่าตกใจ บ้างสิ้นพระชนม์ บ้างโดนถอดยศหลังสงคราม พระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกจึงตัดสินพระทัยเสนอแก้กฎหมายให้เจ้าชาย-เจ้าหญิงอังกฤษสามารถสมรสกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นเจ้าได้ 

แนวคิดของพระเจ้าจอร์จที่ 5 อ้างอิงจากคำอนุญาตของควีนวิกตอเรีย ที่เคยอนุญาตให้เจ้าหญิงลูอีส พระธิดาคนที่ 4 แต่งงานกับจอห์น แคมป์เบลล์ ดยุกที่ 9 แห่งอาร์กายล์ เป็นกรณีพิเศษ สร้างความตกใจให้ราชสำนักเพราะไม่เคยมีเจ้าหญิงอังกฤษพระองค์ใดแต่งงานกับข้ารับใช้มาหลายร้อยปี ครั้งสุดท้ายที่มีการแต่งงานระหว่างเจ้าหญิงอังกฤษกับชายที่มีฐานะทางสังคมต่ำกว่าคือ งานสมรสของเจ้าหญิงแมรี (1496-1533) น้องสาวของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 กับชาร์ลส์ แบรนดอน ดยุกที่ 1 แห่งซัฟโฟล์ก

เหตุที่ควีนวิกตอเรียอนุญาตเพราะไม่ต้องการให้อังกฤษตกที่นั่งลำบากหากเกิดสงครามในยุโรป พระราชินียังมองว่าการแต่งงานกับขุนนางอังกฤษดีกว่าเจ้าชายต่างชาติเพราะเป็นการนำ ‘สายเลือดใหม่’ เข้าสู่ราชวงศ์ ปรากฏว่าคู่สมรสระหว่างเจ้าหญิงสูงศักดิ์กับชายฐานะตำ่กว่าได้รับเสียงชื่นชมมากในหมู่ประชาชน แถมยังเพิ่มความนิยมให้ราชวงศ์ที่รู้จักปรับตัวตามกาลเวลา 

การเปลี่ยนกฎของพระเจ้าจอร์จที่ 5 ยังเปิดทางให้ลูกชายคนรอง เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ 6 เข้าพิธีสมรสกับเลดี้เอลิซาเบท โบวส์-ลีออน ลูกสาวเอิร์ลที่ 14 แห่งสแตรทมอร์และคิงฮอร์น กลายเป็นราชินีอังกฤษคนแรกในรอบหลายร้อยปีที่ไม่ได้มาจากเลือดสีน้ำเงิน

เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าจอร์จที่ 6 กับเลดี้เอลิซาเบท โบวส์-ลีออน

เจ้าชายและเจ้าหญิงอังกฤษไม่สามารถแต่งงานกับอดีตพี่เขย น้องเขย พี่สะใภ้ น้องสะใภ้ได้กฎนี้อ้างอิงจากสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เช่นกัน การสมรสของพระองค์กับพระนางแคเทอรีนแห่งอารากอน อดีตพี่สะใภ้ กลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้กรณีเช่นนี้ไม่ได้รับการยอมรับจาก Church of England  

กฎที่ว่าเคยถูกเสนอแก้ในยุควิกตอเรียน เมื่อเจ้าหญิงอลิซ ลูกสาวคนรอง ที่แต่งงานกับเจ้าชายหลุยส์ที่ 4 แกรนด์ดยุกแห่งเฮสส์และไรน์ เกิดเสียชีวิตตอนอายุเพียง 35 ทิ้งลูกเล็กๆ อีก 4 คนให้กำพร้า เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ลูกชายคนโตของควีนวิกตอเรีย เสนอให้มีการแก้กฎใหม่ ยอมให้เจ้าหญิงเบียทริซ ลูกสาวคนเล็ก แต่งงานกับอดีตพี่เขยเพื่อรับช่วงต่อดูแลหลานๆ ปรากฏว่าข้อเสนอของเจ้าชายไม่ผ่านมติของสภาสูง ทำให้การแต่งงานระหว่างพี่เขย-น้องสะใภ้ยังไม่ได้รับการพิจารณาใหม่จนถึงปัจจุบัน 


อ้างอิง

Princess Beatrice of the United Kingdom
wikipedia.org

Princess Louise, Duchess of Argyll
wikipedia.org 

The Beat of Her Own Drum: Princess Louise, Duchess of Argyll
rebeccastarrbrown.com

Why the Royal Family Used to Forbid Marriage After Divorce
history.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา