หนึ่งวันกับราชินี : ชีวิตที่โรยด้วยดอกไม้จากวันแรกจนวันสุดท้ายของมารี อ็องตัวแน็ต 

Highlights

  • มารี อ็องตัวแน็ต ถือกำเนิดในฐานะเจ้าหญิงแห่งออสเตรีย โดยมีพระมารดาคือพระนางมาเรีย เทเรซา จักรพรรดินีแห่งออสเตรีย
  • พอพระชนม์ 15 พรรษา มารี อ็องตัวแน็ต ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส และได้ขึ้นเป็นราชินีเมื่อพระชนม์เพียง 19 พรรษา
  • สำหรับราชินีแห่งฝรั่งเศส 'ชีวิตโรยด้วยดอกไม้' ไม่ใช่แค่คำเปรียบเปรยเกินฝัน ด้วยทุกย่างก้าวที่พระองค์ดำเนินไปต้องมีดอกไม้เป็นส่วนประกอบ
  • หนึ่งวันของราชินีมีอะไรบ้าง? เราชวนไปดูชีวิตที่ทุกอย่างเริ่มต้นตอน 8 โมงเช้า และจบลงตอน 5 ทุ่ม

“เธอชอบดอกไม้ ดีเลย ถ้าเช่นนั้นฉันจะมอบช่อดอกไม้ที่งามที่สุดในฝรั่งเศส–ตำหนักตริอานง” พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กล่าวไว้เช่นนี้ตอนมอบตำหนักตริอานงให้เป็นของขวัญแก่พระนางมารี อ็องตัวแน็ต ผู้เป็นภรรยา

และก็เป็นดังว่า ตริอานงกลายเป็นดอกไม้ช่อโปรดของราชินี เพราะไม่เพียงแค่สวนที่รายล้อม แต่ทุกห้องของตำหนัก เครื่องตกแต่งทุกชิ้น แจกัน ผ้าม่าน และสิ่งใดๆ ที่สามารถประดับด้วยดอกไม้ ล้วนมีดอกไม้ปรากฏอยู่แทบทั้งนั้น เพราะเป็นที่รู้กันว่าราชินีโปรดชื่นชมดอกไม้ทั้งจากข้างนอกและภายในอาคาร 

สำหรับราชินีแห่งฝรั่งเศส ‘ชีวิตโรยด้วยดอกไม้’ ไม่ใช่แค่คำเปรียบเปรยเกินฝัน หนึ่งในงานสำคัญของเหล่านางสนองพระโอษฐ์ราชินีคือ การทำให้แน่ใจว่าทุกย่างก้าวที่พระองค์ดำเนินไปต้องมีดอกไม้เป็นส่วนประกอบ

ภาพ : Marie Antoinette ที่มา : cameline.org

มารี อ็องตัวแน็ต ถือกำเนิดในฐานะเจ้าหญิงแห่งออสเตรีย พระมารดาคือพระนางมาเรีย เทเรซา จักรพรรดินีแห่งออสเตรีย เธอมีชีวิตที่เข้มงวดอยู่ในกฎเกณฑ์ แต่กลับไม่ใช่คนรอบรู้หรือมีผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ มารี อ็องตัวแน็ต ในพระชนม์ 10 พรรษายังเขียนภาษาเยอรมันผิดๆ ถูกๆ พูดอิตาเลียนได้เล็กน้อย และพูดฝรั่งเศสได้น้อยมาก ถึงอย่างนั้นเจ้าหญิงแห่งออสเตรียก็โปรดดนตรีและการขับร้อง พอพระชนม์ 15 มารี อ็องตัวแน็ต แต่งงานมาฝรั่งเศสและได้ขึ้นเป็นราชินีตอนพระชนม์เพียง 19 พรรษา

หนึ่งวันของราชินีมีอะไรบ้าง? เราชวนไปดูชีวิตที่ทุกอย่างเริ่มต้นตอน 8 โมงเช้า และจบลงตอน 5 ทุ่ม

8:00 น. ราชินีตื่นบรรทม สาวใช้ที่รับผิดชอบเรื่องเสื้อผ้าถือตะกร้าที่มาพร้อมเสื้อคลุมตัวบาง ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ นางสนองพระโอษฐ์คนแรกเดินตามมาพร้อมสมุดเสื้อผ้าให้ทรงเลือก ในเล่มประกอบด้วยแบบชุดและชนิดของผ้า ราชินีจะเลือกชุดที่จะทรงสวมโดยการนำเข็มหมุดกลัดลงไป ชุดที่ทรงเลือกจะถูกจัดเข้ามาสำหรับตอนเช้า กลางวัน และชุดทางการสำหรับตอนค่ำ ในระหว่างนั้นราชินีจะอาบน้ำ กลับเข้าห้อง และใช้เวลาเล็กน้อยตามลำพังกับการอ่านหนังสือ

9:00 น. รับประทานอาหารเช้า เป็นที่รู้กันว่าราชีนีโปรดเสวยครัวซองต์ร้อนๆ พร้อมกาแฟหรือช็อกโกแลตร้อน ครัวซองต์ที่ว่าไม่เคยเป็นอาหารที่เสิร์ฟกันในฝรั่งเศส แต่เป็นสิ่งที่ทรงนำติดตัวมาจากบ้านเพราะเป็นความทรงจำสมัยเด็กที่ราชสำนักออสเตรีย 

10:00 น. ราชินีเยี่ยมสมเด็จป้าของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (บรรดาลูกสาวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15) ก่อนเข้าพบพระเจ้าหลุยส์เพื่อกล่าวทักทายยามเช้า

Photographed by Annie Liebovitz, Vogue, September 2006

11:00 น. ราชินีทำผม ทรงโปรดดีไซน์ทรงผมและเครื่องประดับด้วยตัวเอง ในระหว่างนั้นบรรดาน้องชายของพระเจ้าหลุยส์จะทยอยกันเข้ามา ราชินีโปรดการสังสรรค์เป็นกันเองในช่วงเช้าและมักอวดผมทรงใหม่ให้บรรดาเจ้าชายอยู่เสมอ มารี อ็องตัวแน็ต ยังเป็นผู้ริเริ่มนำดอกไม้มาประดับทรงผม จนสาวฝรั่งเศสน้อยใหญ่ก็เริ่มทำตาม ยิ่งดอกไม้เยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งหรูมากเท่านั้น แฟชั่นแบบนี้ถูกนำมาล้อในภายหลังว่าเหมือนเอาสวนดอกไม้หรือพวงหรีดมาประดับบนศีรษะ

Satirical image of one outlandish headdress titled ‘The Flower Garden’ Author’s collection.

12:00 น. ราชินีออกพบสมาชิกราชวงศ์ สุภาพสตรีชั้นสูง หัวหน้ากองทหารรักษาพระองค์ เจ้าหน้าที่คนสำคัญของคณะรัฐบาล ทรงต้อนรับทุกคนด้วยการพยักหน้าน้อยๆ บุคคลเหล่านี้จะนั่งบนเก้าอี้ที่จัดเป็นวงกลมไว้รอบห้อง ในขณะที่ราชินีทรงนั่งลงที่โต๊ะเครื่องแป้งตรงกลางห้อง แล้วนางสนองพระโอษฐ์จะล้างหน้าและแต่งหน้าให้ราชินี ทรงโปรดพรมน้ำหอมกลิ่นดอกส้ม และหากต้องการสิ่งของอื่นใดในระหว่างนั้น สิ่งของจะไม่ถูกส่งให้ราชินีโดยตรง แต่ถูกส่งผ่านบุคคลที่มีศักดิ์สูงสุดในห้อง ยกตัวอย่างเช่นหากราชินีต้องการน้ำ สาวใช้จะเป็นผู้รินน้ำใส่แก้ว แต่นางสนองพระโอษฐ์จะเป็นผู้รับแก้วนั้นส่งให้ผู้มีศักดิ์สูงที่สุดในห้อง ก่อนที่ผู้นั้นจะส่งแก้วน้ำให้ราชินี 

ที่มา : garethrussellpopular.blogspot.com

13:00 น. มี้ออาหารตอนบ่ายโมงเรียกว่า dinner ราชินีรับประทานอาหารร่วมกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยมีหัวหน้าทหารรักษาพระองค์ยืนอยู่หลังเก้าอี้ของพระราชา และหัวหน้าพ่อบ้านประจำพระราชวังยืนอยู่หลังเก้าอี้ของพระราชินี มื้ออาหารเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าชายที่ประทับอยู่ใกล้พระราชามากที่สุดยื่นชามใส่น้ำให้พระเจ้าหลุยส์สำหรับล้างมือ เจ้าหญิงที่ประทับอยู่ใกล้พระราชินีมากที่สุดก็จะทำเช่นเดียวกัน ตามบันทึกกล่าวว่ามารี อ็องตัวแน็ต มักเสวยเนื้อสัตว์เพียงเล็กน้อย โปรดเสวยน้ำเปล่า และแทบไม่แตะแอลกอฮอล์เลย ทรงบันทึกว่า dinner นั้นเป็นมื้อด่วนเพราะพระองค์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นพวก ‘ทานอาหารไว’

13:30 น. ราชินีเสด็จเยี่ยมลูกๆ คือเจ้าหญิงมารี-เตแรซ และ เจ้าชายหลุยส์-ชาร์ล โดแฟง (เจ้าชายรัชทายาท) แห่งฝรั่งเศส มีเรื่องเล่าว่าเจ้าชายองค์น้อยโปรดการปลูกดอกไม้ไม่แพ้พระมารดาและมักเสด็จมาที่สวนทุกวันเพื่อเยี่ยม ‘เป็ด ไก่ และชมดอกไม้ที่ทรงปลูก’ จากนั้นทรงเลือกดอกไม้ที่งามที่สุดให้เป็นของขวัญกับพระมารดาเสมอ

15:00 น. ราชินีเสด็จเยี่ยมสมเด็จป้าพร้อมพระเจ้าหลุยส์อีกครั้ง

16:00 น. ร่วมสวดมนต์กับเจ้าอาวาสที่ห้องส่วนพระองค์

17:00 น. เรียนขับร้องและฮาร์ปซิคอร์ด (เครื่องดนตรีตะวันตกยุคบาโรก ประเภทเครื่องดีด ลักษณะคล้ายเปียโน)

18:00 น. เสด็จเยี่ยมสมเด็จป้า (อีกครั้ง) หรือลงไปเดินเล่นในสวนเพื่อชื่นชมดอกไม้

19:00 น. กิจกรรมสนุกสนานต่างๆ เช่น เล่นไพ่ ดูละคร ฟังดนตรี ดูโอเปร่า ฯลฯ ราชินีจะเปลี่ยนไปสวมชุดกลางคืนสำหรับออกงานและอาจเปลี่ยนทรงผมให้เข้ากับคอนเซปต์ของกิจกรรมที่ทรงตั้งใจเข้าร่วม มารี อ็องตัวแน็ต บันทึกว่าตอนที่พี่ชายของเธอ (กษัตริย์โจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย) เดินทางมาหา ‘เราพาพี่ชายไปชมละคร 5 องก์ เรื่อง Iphigénie เนื่องจากเป็นละครโศกนาฏกรรม เราจึงให้ช่างผมออกแบบทรงผมประดับด้วยดอกไม้สีดำประดับเพชร’

21:00 น. มื้ออาหารก่อนนอนหรือ supper ราชินีทานมื้อนี้ตามลำพัง ทรงรับประทานอาหารง่ายๆ ในห้องพักส่วนตัว ซึ่งมักประกอบไปด้วยเนื้อสีขาว เช่น เนื้อไก่ปรุงสุกอย่างง่ายด้วยการต้มหรือย่าง ทานคู่กับผักประจำฤดูกาล ในช่วงศตวรรษที่ 18 ช็อกโกแลตเป็นของหรูที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรวย มารี อ็องตัวแน็ต โปรดช็อกโกแลตมากเช่นกันจึงสั่งให้ช่างทำช็อกโกแลตส่วนพระองค์ส่งช็อกโกแลตแบบพิเศษสำหรับราชินีโดยมี ‘ดอกไม้’ เป็นส่วนประกอบ สูตรช็อกโกแลตของมารี อ็องตัวแน็ต เช่น ช็อกโกแลตผสมเมล็ดดอกกล้วยไม้เพื่อบำรุงร่างกาย ช็อกโกแลตผสมดอกส้มเพื่อลดความเครียด ช็อกโกแลตผสมนมอัลมอนด์เพื่อช่วยย่อย

23:00 น. สาวใช้คนเดิมถือตะกร้าที่คราวนี้บรรจุเสื้อคลุมสำหรับใส่นอน หมวกคลุมผม และถุงน่องสำหรับเช้าวันถัดไป หลังเปลี่ยนชุดนอนราชินีจะสวมถุงมือเพื่อรักษาผิวให้นุ่มสวย เนื่องจากเวลาเข้านอนและตื่นนอนของมารี อ็องตัวแน็ต และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ต่างกัน ทั้งสองจึงโปรดนอนแยกห้อง 

Photographed by Annie Liebovitz, Vogue, September 2006

ทุกวันนี้ชีวิตประจำวันและรสนิยมของมารี อ็องตัวแน็ต กลายเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มีมูลค่าทางการค้า มีแบรนด์จำนวนมากพยายามสร้างสินค้าที่บอกเล่าชีวิตของราชินีผ่านความรักในดอกไม้และรสนิยมส่วนพระองค์ 

หนึ่งในนั้นคือแบรนด์น้ำหอมที่ใช้เรื่องราวในชีวิตของพระนางเป็นแรงบันดาลใจ

น้ำหอมกลิ่นแรกในคอนเซปต์นี้ออกมาในปี 2007 โดย Francis Kurkdjian นักทำน้ำหอมชี่อดังที่คิดค้นกลิ่น Sillage de la Reine (In the Wake of the Queen) จากดอกไม้โปรดของราชินี (มะลิ ส้ม ซ่อนกลิ่น ไอริช ซีดาร์ และไม้จันทน์)

Sillage de la Reine (In the Wake of the Queen)

ในปี 2011 Parfums Lubin หนึ่งในแบรนด์น้ำหอมที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส ออกกลิ่น Black Jade น้ำหอมกลิ่นสุดท้ายที่ราชินีใช้ก่อนขึ้นลานประหาร

Black Jade

และล่าสุดพระราชวังแวร์ซายส์กับ Maison Guerlain ก็จับมือกันออกกลิ่นน้ำหอม Le Bouquet de la Reine (The Queen’s Bouquet) ตามมาในปี 2016 ซึ่งนี่คือกลิ่นสวนดอกไม้ของราชินี

Le Bouquet de la Reine (The Queen’s Bouquet)


อ้างอิง

Marie Antoinette and Her Passion for Flowers

Marie Antoinette’s Daily Schedule as Queen

Queen of Fashion: What Marie Antoinette Wore to the Revolution

ภาพประกอบ

Ambrosius Bosschaert the Elder, Flowers in a Glass Vase, 1614. Oil on copper, 26 x 20.5 cm © The National Gallery, London.

Jan Davidsz. de Heem, Flowers in a Glass Bottle on a Marble Plinth, about 1670. Oil on canvas, 50 × 40.9 cm. Private collection © Photo courtesy of the owner.

Louise Elisabeth Vigée-Lebrun – Marie-Antoinette dit « à la Rose

Paulus Theodorus van Brussel, Flowers in a Vase, 1792. Oil on mahogany, 81.1 x 58.9 cm © The National Gallery, London.

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา