นักวาดภาพเจ้าสาว และนิยามความ ‘ไม่ตรงปก’ ในยุคเรอเนซองซ์

Highlights

  • ในยุคเรอเนซองซ์ การแต่งงานของชนชั้นสูงเป็นการแต่งงานโดยมีนัยทางการเมืองเพื่อความเหมาะสม บ่าวสาวส่วนใหญ่มักมีโอกาสได้เห็นกันครั้งแรกในวันแต่งงาน
  • คำขอแต่งงานระหว่างราชสำนักมักมาพร้อมกับพ่อสื่อแม่ชักฝีปากกล้า พร้อมบทพรรณนาสรรเสริญความดีงามและภาพเหมือนตัวจริงของเจ้านายฝ่ายตน
  • บางครั้งเจ้าชายก็สั่งให้จิตรกรหลวงเดินทางไปยังราชสำนักต่างๆ เพื่อเฟ้นหาและวาดภาพเจ้าสาวในอุดมคติ
  • จิตรกรเหล่านี้จึงได้รับการขนานนามว่า นักวาดภาพเจ้าสาว (bride portrait)

‘ถ้าเลือกได้ ใครๆ ก็อยากแต่งงานกับคนหน้าตาดี’ ประโยคนี้เป็นจริงทุกสมัย ในยุคที่การเดินทางไกลเป็นเรื่องยุ่งยากและการศึกษาดูใจแทบเป็นไปไม่ได้ เจ้านายในยุคเรอเนซองซ์ฝากความหวังสุดท้ายไว้ที่จิตรกรหลวงผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปยังราชสำนักต่างๆ เพื่อเฟ้นหาเจ้าสาวในอุดมคติ จิตรกรเหล่านี้ได้รับการขนานนามว่า ‘นักวาดภาพเจ้าสาว’ (bride portrait)

เป็นที่รู้กันว่าร้อยละ 99 ของการแต่งงานระหว่างชนชั้นสูงมักเป็นการแต่งงานโดยมีนัยทางการเมืองเพื่อความเหมาะสม บ่าวสาวส่วนใหญ่มีโอกาสได้เห็นกันครั้งแรกในวันแต่งงาน คำขอแต่งงานระหว่างราชสำนักจึงมักมาพร้อมกับพ่อสื่อแม่ชักฝีปากกล้า พร้อมบทพรรณนาสรรเสริญความดีงามและภาพเหมือน (หรืออ้างว่าเหมือน) ตัวจริงของเจ้านายฝ่ายตนไว้ใช้ประกอบการพิจารณา

ดังนั้นเมื่อเจ้านายชั้นสูงอายุถึงกำหนด สิ่งแรกๆ ที่ต้องทำคือการเรียกจิตรกรมาวาดภาพเพื่อส่งไปตามราชสำนัก แต่ก็มีบ้างที่ภาพวาดเหล่านั้นไม่ใคร่จะเหมือนตัวจริงสักเท่าไหร่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือภาพวาดของฮันส์ ฮอลไบน์ (ผู้ลูก) จิตรกรที่รับคำสั่งจากพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ให้ไปวาดภาพเจ้าสาวที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมมาครองมงกุฎราชินีที่ยังว่างอยู่ 

ในตอนนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 8 มีอายุ 40 ปลาย แต่งงานมาแล้ว 3 ครั้ง หลังเจน ซีย์มัวร์ ราชินีคนล่าสุดเสียชีวิตจากการคลอดบุตรไปได้ไม่นาน พระเจ้าเฮนรีก็ริเริ่มภารกิจตามหาเจ้าสาวคนใหม่ ครั้งนี้ต้องไม่ใช่แค่เลดี้ธรรมดาแต่ต้องเป็นเจ้าหญิงจากต่างแดนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอังกฤษ

เฮนรีรู้ว่าการหย่าขาดกับพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอน มเหสีองค์แรกที่มีดีกรีเป็นถึงเจ้าหญิงแห่งสเปน สร้างความไม่พอใจให้หลายชาติ โดยเฉพาะบรรดามหาอำนาจที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก (เพราะคาทอลิกห้ามไม่ให้มีการหย่า เฮนรีที่ต้องการหย่ากับแคทเธอรีนมากจึงต้องแยกตัวไปตั้งคริสตจักรแห่งอังกฤษ หรือ Church of England นิกายใหม่ของตัวเอง) 

เฮนรียื่นคำขาดว่าเจ้าสาวคนใหม่ต้องไม่มีสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ฮับสบูร์ก (เพราะเป็นสายตระกูลของแคทเธอรีน) และที่สำคัญ ‘ต้องสวย’

เฮนรีจริงจังกับข้อหลังมากถึงขนาดกำชับราชทูตอังกฤษ ห้ามดำเนินการใดๆ ก่อนที่พระองค์จะได้เห็นภาพและพอใจรูปลักษณ์ของฝ่ายหญิง ความเยอะของเฮนรีทำให้ภารกิจตามหาเจ้าสาวลากยาวเป็นปีกว่า เพราะไม่ใช่ว่าฝ่ายหญิงทุกคนจะเต็มใจให้วาดภาพ อีกทั้งเฮนรีมีประวัติไม่สู้ดี นอกจากหย่าขาดกับแคทเธอรีน ยังประหารแอนน์ โบลีน ราชินีคนที่สอง 

และแล้วแคนดิเดต 4 คนสุดท้ายก็ได้รับการประกาศ มารี เดอ กีส ภรรยาม่ายของดยุกแห่งลองก์วิลล์ สูงสง่า สวยงาม และผ่านการพิสูจน์ว่าสามารถมอบทายาทที่แข็งแรงจากการแต่งงานครั้งก่อน ทูตของเฮนรียื่นข้อเสนอให้มารี แต่เธอกลับปฏิเสธและเลือกสมรสกับพระเจ้าเจมส์ที่ 5 แห่งสกอตแลนด์ (ลูกสาวของทั้งคู่คือแมรี ราชินีแห่งสกอตแลนด์) ทูตอังกฤษจึงได้ผ่านข้อเสนอไปให้น้องสาวของมารี แต่เธอกลับปฏิเสธอีกเช่นกัน 

แคนดิเดตเบอร์สามของพระเจ้าเฮนรีคือ คริสติน่าแห่งมิลาน สาวน้อยวัย 16 ที่ขึ้นชื่อทั้งความงามและความฉลาด คริสติน่ายอมให้จิตรกรของเฮนรีวาดภาพ แต่ไม่พยายามปกปิดความจริงว่าเธอมีศักดิ์เป็นหลานห่างๆ ของแคทเธอรีน เมื่อเฮนรีทราบความจริงข้อนี้จึงตัดสิทธิคริสติน่าออกจากบรรดาเจ้าสาวในอุดมคติ

แอนน์แห่งคลีฟส์ ลูกสาวคนโตของจอห์นที่ 3 ดยุกแห่งคลีฟส์ ผู้ครองดินแดนในแถบเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ กลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่เหมาะสมที่สุด แต่เมื่อเจอหน้ากัน พระเจ้าเฮนรีกลับผิดหวังอย่างหนักเพราะผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้าแตกต่างจากภาพวาดที่ทรงหลงใหลราวฟ้ากับเหว

แอนน์ในวัยยี่สิบกว่าถูกวิจารณ์จากพระสวามีว่า ‘เป็นผู้หญิงร่างใหญ่น่าเกลียด จมูกบาน ผิวเต็มไปด้วยรอยอีสุกอีใส แถมหน้าอกหน้าใจก็แทบจะไม่มี’ เฮนรีที่กำลังช็อกอยู่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเข้าพิธีกับผู้หญิงที่อยู่ตรงหน้า เช้าวันต่อมาก็ทรงบ่นให้เหล่าองครักษ์ฟัง ‘ไม่ไหวจริงๆ ไม่มีอารมณ์เลย’ เฮนรี่ยังบรรยายร่างกายของเจ้าสาวว่า ‘ดูอย่างกับม้าอ้วนๆ’

พูดกันเรื่องหน้าตา แอนน์เองก็น่าจะผิดหวังอยู่เหมือนกัน เพราะพระเจ้าเฮนรีตัวจริงต่างจากภาพวาดที่ส่งไปให้จนน่าใจหาย เฮนรีในตอนนั้นเข้าขั้นอ้วนมาก รอบเอวพุ่งจาก 32 เป็น 52 (เปรียบเทียบกับตอนครองราชย์ใหม่ๆ) ตาเล็กจนแทบจะมองไม่เห็น คางย้วยเป็นชั้นจนไม่เห็นคอ แถมปากยังแทบหายไปจากใบหน้า มีคำกล่าวว่าความ ‘หนา’ ของพระราชาช่างมากมายนัก ถึงขนาดเอาคนอังกฤษที่ว่าอ้วนที่สุด 3 คนยัดเข้าไปก็ยังได้

แทนที่จะมาคร่ำครวญเรื่องไม่ตรงปก แอนน์พูดกับเหล่านางสนองพระโอษฐ์และเขียนจดหมายไปหาครอบครัวว่าชีวิตแต่งงานมีความสุขดี ‘พระสวามีทรงดีกับลูกมาก ทรงมาเยี่ยมลูกทุกคืน จูบและกล่าวคำอวยพร ตอนเช้าก็ทรงมาทักทาย และจูบลาก่อนออกว่าราชการ ลูกเชื่อว่าอีกไม่นานคงจะตั้งครรภ์รัชทายาทแห่งอังกฤษ’ นางสนองพระโอษฐ์ได้ฟังถึงกับถอนใจส่ายหน้า ‘พระนาง… คงต้องใช้ความพยายามมากกว่านี้อีกสักหน่อยเราถึงจะมีเจ้าชายน้อยได้…’

ใครจะรู้ว่าระหว่างที่แอนน์เขียนจดหมายเหล่านี้ พระเจ้าเฮนรีกำลังสนุกอยู่กับการเกี้ยวพาราสีสาวน้อยวัย 16 นามว่าแคทเธอรีน ฮาวเวิร์ด ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นราชินีคนต่อไปเมื่อพระเจ้าเฮนรีทำเรื่องหย่าขาดกับพระราชินีแอนน์แห่งคลีฟส์ในอีกหกเดือนต่อมา 

เมื่อเวลานั้นมาถึง แอนน์ยอมรับและเดินทางออกจากวังโดยดี พระเจ้าเฮนรีเห็นแอนน์ว่าง่ายก็ทรงพอพระทัยมาก ทรงมอบคฤหาสน์หลายหลังใกล้พระราชวังริชมอนด์ รวมไปถึงปราสาทเฮเวอร์ บ้านเก่าของแอนน์ โบลีน เป็นของรางวัล ทั้งยังอนุญาตให้เก็บเครื่องเพชรและทรัพย์สมบัติทั้งหมด และรับค่าเลี้ยงดูรายปีในฐานะเจ้าหญิงแห่งอังกฤษจนสิ้นอายุขัย

ที่แอนน์ยอมหลบฉากแต่โดยดี นักประวัติศาสตร์อังกฤษตั้งข้อสังเกตว่าเพราะสาวชั้นสูงในแถบเยอรมนีได้รับการศึกษาต่างจากสาวในราชสำนักอังกฤษและฝรั่งเศส แทนที่จะศึกษาด้านดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม และภาษา ผู้หญิงอย่างแอนน์กลับได้รับการอบรมในเรื่องที่ ‘เป็นชิ้นเป็นอัน’ มากกว่า อย่างงานเย็บปักถักร้อยและการบริหารจัดการบ้าน หรือไม่อย่างนั้น แอนน์อาจได้รับบทเรียนจากจุดจบที่ไม่สวยนักของเหล่าราชินีคนก่อนหน้า จนรู้ดีว่าดื้อไปก็ไม่ได้อะไร สู้พอใจกับสิ่งที่มีคงจะดีกว่า 

คำถามที่ว่าฮันส์ ฮอลไบน์ ตั้งใจวาดแอนน์ให้สวยกว่าตัวจริงหรือไม่ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในปัจจุบัน บ้างก็ว่าเขารับสินบนก้อนใหญ่ หรืออาจเป็นความตั้งใจของบรรดาขุนนางอังกฤษที่ต้องการให้เฮนรีเลือกเจ้าหญิงสักคนก่อนที่จะจบลงด้วยการตั้งนางกำนัลเป็นราชินีเหมือนครั้งก่อนๆ บ้างก็ว่าฮอลไบน์แค่ใช้เทคนิคการวาดภาพเพื่อซ่อนจุดบกพร่องบนใบหน้าของแอนน์ เช่น การวาดภาพหน้าตรงสามารถซ่อนทรงจมูกที่อาจจะไม่งาม และการซ่อนริ้วรอยบนผิวด้วยการใช้แสง

หรือความจริงแล้ว อาจไม่มีใครหลอกลวงใครตั้งแต่ต้น ทั้งแอนน์และเฮนรีต่างต้องการบันทึกภาพที่ดีที่สุด แบบเดียวกับที่คนปัจจุบันเลือกทำกับภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊ก

เพื่อแก้อาการตกใจแบบเฮนรี (และแอนน์) ในยุคนั้นราชสำนักส่วนใหญ่จึงมักจ้างจิตรกรฝีมือดีที่ไว้ใจได้ คนหนึ่งให้ไปวาดภาพว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวอย่างเป็นทางการ อีกคนแอบวาดภาพเหมือนแบบลับๆ เพราะไม่มั่นใจว่าภาพถ่ายที่เดินทางมาจะเหมือนจริงมากแค่ไหน

  • พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 แห่งฝรั่งเศสเคยส่งจิตรกรถึง 3 คนแอบแทรกซึมในราชสำนักยุโรป 3 แห่งเพื่อวาดภาพหญิงงามชั้นสูงส่งมาให้พิจารณา
  • แคทเธอรีน เดอ เมดิชี ราชินีฝรั่งเศสผิดหวังกับภาพวาดของราชินีเอลิซาเบทที่ 1 แห่งอังกฤษที่ถูกส่งมาให้ลูกชายสุดที่รัก–พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 9 โชคดีที่พระนางโทษจิตรกรอังกฤษว่าวาดไม่ได้เรื่อง และส่งรีเควสต์ใหม่ไปยังกงสุลฝรั่งเศสในกรุงลอนดอนให้ ‘หาศิลปินฝรั่งเศสมาวาดภาพเหมือนของราชินีแห่งอังกฤษในหลายอิริยาบถ ทั้งแบบหน้าตรงและแบบหันข้าง’
  • แคทเธอรีนคนเดิมอีกเช่นกันส่งศิลปินจากราชสำนักฝรั่งเศสไปยังราชสำนักนอร์เวย์และสวีเดนแบบลับๆ เพื่อค้นหาสตรีสูงศักดิ์ที่ต้องตาสำหรับลูกชายอีกคนของพระนาง–พระเจ้าอองรีที่ 3 (ยกตำแหน่งแม่ดีเด่นให้เลย)

อาชีพที่ว่ายังเป็นความหวังเดียวของเหล่าเชื้อพระวงศ์จนกระทั่งถาพถ่ายเริ่มเข้ามาแทนที่ ทุกวันนี้ภาพวาดเหมือนของเจ้าสาวถือเป็นหนึ่งในงานศิลปะเซตใหญ่ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีในยุโรป


อ้างอิง

englishhistory.net

historyextra.com

theguardian.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา