พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อาบน้ำครั้งเดียวตลอดชีวิต
ชาววังทั้งชาย-หญิงทำธุระกันกลางสวน
กษัตริย์ว่าราชการบนบัลลังก์เจาะรู
แวร์ซายมีห้องหรูหลักพัน แต่ไม่มีห้องอาบน้ำ…
ถ้าข้อความเหล่านี้เป็นจริงทั้งหมด เราคงดีใจที่ภาพวาดจากศตวรรษที่ 17 มีแต่สีไม่มีกลิ่น…
เป็นที่รู้กันว่าแวร์ซายคือสุดยอดความสำเร็จทางศิลปะ แต่ในด้านสุขอนามัย คนในยุคนั้นมีความเข้าใจที่ต่างจากเราอยู่ไกลโข
น้ำคือแหล่งรวมความสกปรก
ย้อนกลับไปในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แวร์ซายถูกสร้างขึ้นโดยไม่คำนึงถึงระบบน้ำ สุขาของพระเจ้าหลุยส์เป็นเก้าอี้เจาะรู ที่ต้องถูกนำไปเททิ้งทันทีหลังกษัตริย์ทำธุระเสร็จ บรรดาขุนนางหามุมทำธุระกันหลังบานประตูหรือในมุมอับลับสายตา บรรดามาดามชุดยาวฟูฟ่องต่างมีคนใช้ถือกระโถนสำหรับใช้รองฉี่และเททิ้งออกนอกหน้าต่าง ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และแทนที่จะกำหนดหลุมกลบฝังสิ่งสกปรก หนังสือแนะนำกฎของแวร์ซายกลับกำหนดว่าเวลาจะเทกระโถนลงตรงไหนให้ตะโกนบอกคนข้างล่างก่อน (watch out below!)
เพื่อแก้ปัญหาการทำธุระไม่เป็นที่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กำหนดกำแพงในสวนให้เป็นที่สำหรับทำธุระของบรรดาข้าราชบริพาร ตั้งชื่อตรงตัวว่า กำแพงฉี่ (Pissing Wall) แต่ทางออกนี้ไม่เพียงพอสำหรับชาววังหลายพันชีวิต แทนที่จะรอให้กำแพงว่าง หลายคนเลือกทางเก่า ทำธุระกันทุกที่ที่พอจะเป็นไปได้ แวร์ซายเต็มไปด้วยคราบฉี่ที่ต้องใช้กองทัพแม่บ้านคอยทำความสะอาดทุกวัน มีเรื่องเล่าขำขันของเจ้าชายที่ฉี่จากระเบียงชั้นสองลงไปยังโถงรับรองกลาง นายทหารฉี่กลางกำแพงห้องโถงที่เต็มไปด้วยฝูงชน หรือขุนนางแอบปลดทุกข์หลังบานประตู ไม่มีทิชชู่หรือกระดาษชำระรูปแบบอื่น ชาววังพกผ้าสำหรับซับล้าง โดยไม่ต้องพึ่งน้ำสำหรับทำความสะอาดเหมือนในปัจจุบัน
การอาบน้ำในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็น ข้ารับใช้ขนอ่างใส่น้ำเข้ามาเมื่อพระเจ้าหลุยส์มีพระประสงค์จะอาบน้ำ (แน่นอนว่าพระองค์อาบน้ำมากกว่าหนึ่งครั้งตลอดทั้งชีวิต) กรณีนี้เกิดไม่บ่อย เพราะช่วงศตวรรษที่ 17 น้ำถูกมองเป็นแหล่งรวมของโรคร้ายโดยเฉพาะการอาบน้ำต้มร้อน ความร้อนของน้ำทำให้รูขุมขนเปิดออก เปิดทางให้เชื้อโรคหลุดรอดเข้าร่างกายได้ง่าย เชื่อกันว่าการอาบน้ำบ่อยๆ ทำให้สุขภาพอ่อนแอ และการดูแลความสะอาดที่ดีควรทำจากภายใน เช่น การใช้ปลิงดูดเลือดเสียเพราะเป็นการถ่ายเทสิ่งสกปรก ลดความร้อนของร่างกาย พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไม่โปรดการอาบน้ำ แต่กำหนดให้มีการใช้ปลิง ‘ทำความสะอาดจากภายใน’ หนึ่งครั้งทุกๆ สองสัปดาห์
แวร์ซายมีห้องอาบน้ำแบบถาวรเพียงหนึ่งห้อง และถูกใช้ในจุดประสงค์เพื่อพักผ่อนหย่อนใจมากกว่าเพื่อความสะอาด พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใช้อ่างอาบน้ำหินอ่อนในลักษณะคล้ายสปา และหลายครั้งที่ทรงชวนนางสนมลับมาร่วมสมาคม
ในศตวรรษที่ 17 การอาบน้ำเป็นเรื่องยุ่งยากแถมมีความเสี่ยงเรื่องโรคภัยตามความเข้าใจในสมัยนั้น ชนชั้นสูงส่วนใหญ่จัดการเรื่องความสะอาดด้วยการใช้ผ้าลินิน ด้วยเชื่อว่าผ้าลินินสามารถดูดซับกลิ่นและชะล้างสิ่งสกปรก หรือสบู่ถูตัว (dry wash) บันทึกของเจ้าหญิง Palatine เล่าว่าเธอเดินทางไกลจากวังหนึ่งไปสู่อีกวัง ถนนสกปรกและเนื้อตัวเปื้อนไปด้วยฝุ่น ‘เมื่อมาถึงจุดหมายปลายทาง ฉันให้สาวใช้นำผ้ามาเช็ดตัวและเปลี่ยนชุดเปื้อนฝุ่นออกเสีย’ เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไม่ได้อาบน้ำ การเช็ดตัวด้วยผ้ากับการเปลี่ยนเครื่องทรงเพียงพอแล้วที่ทำให้เจ้าหญิงพอใจและรู้สึกว่าพระองค์ ‘สะอาด’
สะอาดหรือไม่ ใครเป็นคนนิยาม
ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นิยามความสะอาดอยู่ที่ภาพลักษณ์และกลิ่น โลชั่นและน้ำยาดับกลิ่นถูกคิดค้นขึ้นเพื่อดับกลิ่นปากและกลิ่นเท้า น้ำหอมกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของบุรุษและสตรี ในสมัยที่ยังหนุ่ม พระเจ้าหลุยย์ที่ 14 โปรดการฉีดน้ำหอมกลิ่นฉุนและเชื่อว่าพวกมันมีสรรพคุณทางยา พระองค์หลงใหลการใช้น้ำหอมกระทั่งได้รับฉายา le doux fleurant (the sweet flowery one) และการใช้น้ำหอมมากเกินไปทำให้พระองค์เกิดอาการแพ้เมื่อมีอายุมากขึ้น พระองค์ทนกลิ่นฉุนไม่ได้ ทุกห้องที่ดำเนินไปต้องเปิดหน้าต่าง ทรงเกลียดการเดินทางในรถม้าร่วมกับสตรีและมักบ่นว่าพวกเธอฉีดน้ำหอมมากเกินไป
ในช่วงท้ายรัชกาล กลิ่นเดียวที่พระเจ้าหลุยส์โปรดและทนได้ คือกลิ่น orange blossoms สกัดจากสวนส้มในแวร์ซาย พระองค์โปรดให้ข้ารับใช้พ่นกลิ่นส้มในทุกห้องของพระราชวัง และยังสั่งให้นำเสื้อเชิ้ตลินินสีขาวของพระองค์แช่ลงในน้ำหอมกลิ่นส้มก่อนนำมาให้ทรงสวม
เครื่องสำอางโดยเฉพาะแป้งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนั้น ฝรั่งเศสเฟื่องฟูเรื่องการละครและนำการแสดงละครมาใช้ในชีวิตจริง ผู้คนแต่งหน้าทาปากประหนึ่งกำลังเดินอยู่บนเวที ความน่าสนใจของยุคนี้คือผู้คนให้ความสำคัญกับสิ่งที่เห็นมากกว่าความจริงที่เป็น การแต่งหน้าคือวิธีเข้าสังคมและเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอารมณ์ความรู้สึก
ชาย-หญิงนิยมลงแป้งจนหน้าขาว เพราะสีขาวสื่อถึงความสะอาด บริสุทธิ์ เป็นอุดมคติของมนุษย์ก่อนถูกเนรเทศออกจากสวนเอเดน คนที่มีใบหน้าสีขาวสะอาด (snow-white face) หมายถึงผู้มีวิญญาณบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสตัณหา น่าเสียดายที่แป้งในสมัยนั้นมักส่งผลร้ายต่อผิว ทำให้แก่เกินวัย หลายชนิดเป็นพิษต่อปอดและเป็นอันตรายต่อดวงตา
ถ้านั่นว่ามากแล้ว ผู้ดียังนิยมสวมวิกหนักลงแป้งอย่างหนา เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาววังจะไม่สระผม แต่จะใช้การลงแป้งแทนแชมพู การสวมวิกขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องดีเพราะเต็มไปด้วยไรฝุ่นและแมลง และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เคยมีอาการปวดคออย่างรุนแรงเพราะสวมวิกน้ำหนักมากเป็นประจำทุกวัน ภาระทางสังคมทำให้ชาวแวร์ซายต้องใช้เวลาแต่งหน้าทำผมร่วม 3 ชั่วโมงจนเป็นเรื่องปกติ สตรีอาจเปลี่ยนชุดวันละหลายครั้ง มีทั้งชุดสำหรับอาหารกลางวัน ชุดสำหรับออกงาน ชุดสำหรับอาหารค่ำ ฯลฯ
กลิ่นปากไม่ใช่เรื่องตลก
ถ้ากลิ่นและภาพลักษณ์เป็นเรื่องสำคัญหนักหนา ปัญหาในช่องปากคงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในแวร์ซายยุคนั้นยาสีฟันทำมาจากหลายอย่าง ตั้งแต่สมุนไพรตากแห้งบดผง ใบของต้น sage ไปจนถึงใบยาสูบหรือขี้เถ้า เป็นที่รู้กันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มีปัญหาเรื่องฟันตั้งแต่อายุยังน้อย ทรงถูกถอนฟันบนหมดทั้งแถบตั้งแต่ปี 1685 และก่อนจะอายุครบ 50 ปี พระราชาแห่งฝรั่งเศสก็แทบไม่มีฟันเหลือ รายการอาหารของพระองค์ลดลงเหลือแค่ซุปกับพูเร เพราะเป็นสองอย่างที่ไม่ต้องใช้ฟันในการบดเคี้ยว
ไม่ใช่พระเจ้าหลุยส์คนเดียวที่มีปัญหาในช่องปาก พระนางมาเรีย เทเรซา พระชายา ก็มีสุขภาพฟันถึงขั้นติดลบตั้งแต่แต่งงานมาฝรั่งเศสใหม่ๆ ที่เป็นแบบนี้เพราะคนในยุคนั้นชอบรับประทานของหวาน น้ำตาลเป็นของหายากและสื่อถึงความมั่งมี ผู้ดีในราชสำนักนิยมปรุงอาหารโดยใช้น้ำตาลเป็นจำนวนมากเพื่ออวดฐานะ บางทีถึงขั้นผสมน้ำตาลเข้ากับผงทำความสะอาดฟันเสียด้วยซ้ำ
โชคยังดีว่าความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ความรู้เรื่องการจัดการน้ำเริ่มเป็นที่ยอมรับต่างจากพระบิดาในยุคก่อน พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 มีห้องน้ำส่วนตัวมากถึง 7 ห้อง มีการติดตั้งอ่างอาบน้ำถาวร และมีระบบระบายน้ำที่สามารถส่งผ่านน้ำสกปรกเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ในสวน
ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อ่างอาบน้ำได้รับการติดตั้งในตำหนักตริอานองของพระนางมารี อองตัวแนต พระชายา กล่าวกันว่าพระนางโปรดการอาบน้ำในอ่างโดยสวมชุดผ้าลินินบางเบา ทันทีที่ลุกจากอ่าง นางสนองพระโอษฐ์จะนำผ้าคลุมอย่างหนามาคลุมพระวรกาย เพื่อไม่ให้ใครเห็นเรือนร่างเปียกน้ำของพระนาง
ไม่เพียงแค่เรื่องความสะอาด รสนิยมการแต่งหน้ายังได้รับการถกเถียงอย่างหนักในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 การแต่งหน้าลงแป้งหนาไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป คนยุคใหม่ชอบการแต่งหน้าที่แลดูเป็นธรรมชาติ ลงแป้งแต่น้อย และแต่งแก้มและริมฝีปากแค่พองาม แวร์ซายกลายเป็นศูนย์รวมของคน 2 ยุคสมัยคือ บรรดาคุณปู่คุณป้าที่แต่งแป้งขาวเหมือนเล่นละคร กับเด็กรุ่นใหม่ที่นิยมลุคอ่อนหวานเรียบง่าย
ความหมายของความสะอาดก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในอนาคตแป้งและน้ำหอมจะไม่ถูกใช้เพื่อปกปิดกลิ่นเหม็นอีกต่อไป มาตรฐานความสะอาดไม่อาจวัดได้ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก แต่วัดกันด้วยวิทยาการทางการแพทย์ ในศตวรรษที่ 19 ความสะอาดจึงหมายถึงการอาบน้ำ และนั่นหมายถึงการอาบด้วย ‘น้ำ’ จริงๆ
อ้างอิง