‘สีแดง’ ตัวแทนความร้อนแรง ทรงพลัง และโชติช่วงเกินกว่าสีไหนๆ
ช่วงเวลาเดียวของปีที่ทั่วท้องถนนจะถูกย้อมไปด้วยสีแดง นั่นก็คือ ‘ตรุษจีน’ หรือ ‘เทศกาลปีใหม่จีน’
การเริ่มต้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีน โดยมีกิจกรรมยืนพื้นที่ทุกบ้านต้องทำเหมือนกัน ทั้งแต่งกายชุดแดงตั้งแต่หัวจรดเท้า, แขวนโคมไฟแดงตกแต่งบ้าน, มอบซองอั่งเปาแดงเป็นเงินขวัญถุงให้แก่เด็กๆ และไหว้บรรพบุรุษด้วยเซตของไหว้สีแดงสุดอลังการ
ใดๆ ในตรุษจีนล้วน ‘สีแดง’ จนถึงกับมีคำที่พูดกันเล่นๆ ว่า ไม่แดงไม่มีแรงไหว้ เพราะสีแดงสำหรับชาวจีน ไม่ใช่แค่แม่สีเหมือนที่หลายคนรู้จัก แต่อัดแน่นไปด้วยความเชื่อ จิตวิญญาณ และขนบธรรมเนียมที่ถูกหล่อหลอมจนเรียกว่า ‘วัฒนธรรมแดง’ (红文化)
ตรุษจีนปีนี้ เราอยากชวนทุกคนไปหาความหมายที่ซ่อนอยู่ของ ‘สีแดง’ ผ่านประวัติศาสตร์ของชาวจีน รับรองว่าอ่านจบแล้ว คุณจะมองสีแดงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สีแรกในแม่แบบที่มนุษย์คิดค้น
สีแดง เป็นสีแรกที่มนุษย์คิดค้น
ใช้งาน ผลิต และเผยแพร่
แม้แม่สีตามระบบ RGB จะมีทั้งหมด 3 สี แต่จากคำบอกเล่าของ Micheal Pastoureau นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ Red: The History of a Color กลับระบุว่า สีแดง คือสีแรกที่มนุษย์คิดค้นและนำมาใช้ โดยเห็นได้จากหลักฐานภาพเขียนบนผนังถ้ำ ที่มีการใช้สีแดงที่ได้จากการบดดินเหลือง จนเกิดปฏิกิริยาออกไซด์ รวมถึงใช้รากของต้นแมดเดอร์มาทำเป็นสีแดงแล้วบันทึกเรื่องราวลงบนผนัง โดยหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบคือ ภาพเขียนวัวไบซัน ในถ้ำ Altamira ทางตอนเหนือของสเปน

สำหรับชาวจีนในยุคก่อนคริสตกาล แม้จะยังไม่ได้มีความเชื่อที่ผูกโยงกับสีแดงเหมือนทุกวันนี้ แต่พวกเขาก็ริเริ่มการใช้สีแดงมาก่อนสีอื่นๆ โดยพบเห็นได้จากงานเครื่องปั้นดินเผาในสมัยวัฒนธรรมหย่างเฉา (ราว 5000 – 3000 ปีก่อนคริสตกาล) ที่มีการใช้ดินเหนียวที่มีแร่เหล็กออกไซด์ ทำให้เวลาเผาออกมาจะได้สีแดงธรรมชาติ ความโดดเด่นของเครื่องปั้นดินเผาสีแดงที่ไม่เหมือนใครนี้ ทำให้คนทั่วโลกเรียกเฉดสีแดงสดออกส้มเล็กน้อยนี้ว่า Chinese Red
แม้ปัจจุบันสีแดงจะถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของความมงคลในงานเฉลิมฉลอง แต่ในอดีตเครื่องปั้นดินเผาสีแดงมักถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมอย่างงานศพ โดยพวกเขาจะฝังเครื่องปั้นดินเผาลงไปในหลุมศพเพื่อปกป้องวิญญาณและนำโชคดีมาในชีวิตหลังความตาย
ตัวแทนแสงอาทิตย์ ตามศาสตร์ฮวงจุ้ย
สีแดง เริ่มเข้ามามีบทบาทด้านความเชื่อและจิตวิญญาณของชาวจีน ผ่านพิธีกรรมบูชาดวงอาทิตย์ โดยในสมัยก่อนชาวจีนต้องเผชิญกับอากาศหนาวเหน็บที่เป็นผลมาจากภูมิประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่บนที่สูง แสงจากดวงอาทิตย์จึงกลายเป็นสิ่งที่ช่วยคลายความหนาวเข้ากระดูกให้บรรเทาลง และแน่นอนว่าสีที่เป็นตัวแทนของแสงแดด ก็คงหนีไม่พ้น ‘สีแดง’
นอกจากนั้น สีแดงในภาษาจีนคือคำว่า 红色 (hóng sè) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธาตุไฟในศาสตร์เบญจธาตุของจีน ที่หมายถึงแสงสว่าง พละกำลัง และความรุ่งโรจน์ ทำให้ชาวจีนยกสีแดงให้กลายเป็นสีแห่งความมั่งคั่งมงคลมาตั้งแต่สมัยก่อน
นอกจากช่วยเสริมบารมีแล้ว สีแดงยังมีนัยเรื่องการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ตามตำนานของชาวจีนสมัยก่อนที่เชื่อว่ามีปีศาจที่เรียกว่า ‘เหนียน’ ออกอาละวาดไปทั่วในวันตรุษจีน และวิธีเดียวที่จะไล่มันไปได้ ก็คือการจุดประทัดและแต่งกายด้วยชุดสีแดง ซึ่งเป็นสีที่เจ้าปีศาจตนนี้กลัว ตั้งแต่นั้น โคมไฟสีแดงในช่วงตรุษจีนจึงถูกแขวนขึ้นเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย และนำพาความโชคดีมายังเจ้าของบ้าน ดังสุภาษิตจีนที่ว่า ‘红灯笼高挂,福气自然来到’ ที่แปลว่า
เมื่อโคมไฟสีแดงถูกแขวนสูง
ความโชคดีก็จะมาถึงโดยธรรมชาติ

สีประจำชาติที่โบกสะบัดบนธง
แม้จะเห็นได้ชินตาตามเทศกาลงานมงคลของจีน แต่สีแดงยังมีอีกหนึ่งบทบาทที่หลายคนคาดไม่ถึง นั่นก็คือ ‘สัญลักษณ์ทางการเมือง’ เนื่องจากเป็นเฉดสีที่แสดงถึงพลังและอำนาจ แต่ก่อนที่สีแดงจะไปปรากฏอยู่บนธงชาติจีนเหมือนที่เราคุ้นเคยนั้น มันมีที่มาที่ไปมาก่อน !
ย้อนกลับไปในยุคสงครามสมัยก่อน สีแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ของไฟที่ใช้ในการหลอมโลหะเพื่อสร้างอาวุธ ทำให้คนในสมัยนั้นมีภาพจำติดตาว่า สีแดง คือสัญญะของพละกำลังและอำนาจ ทำให้มีการใช้สีแดงเพื่อแสดงอำนาจอยู่บ่อยครั้งในราชสำนัก ทั้งการที่ฮ่องเต้ใช้หมึกประทับตราลัญจกรเป็นสีแดง ไปจนถึงการใช้สีแดงในงานสถาปัตยกรรมอย่าง ‘พระราชวังต้องห้าม’ ในราชวงศ์หมิงที่ทาผนัง ประตู และเสาไม้ด้วยสีแดงเข้มเพื่อแสดงความมั่นคงของอำนาจจักรพรรดิ
ถัดมาในศตวรรษที่ 19 สีแดงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Communist Party of China – CPC) หรือที่เราเรียกว่า ‘จีนแดง’ โดยสาเหตุที่ใช้สีแดง เนื่องจากเป็นเฉดสีสากลของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

สีแดง หมายถึงการปฏิวัติ
การต่อสู้ของชนชั้นแรงงาน
และการปลดปล่อยจากการกดขี่
หลังจากชัยชนะในสงครามกลางเมืองในปี 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สถาปนา สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี เหมา เจ๋อตง (Mao Zedong) เป็นผู้นำสูงสุด และในวันที่ 1 ตุลาคม 1949 เป็นวันแรกที่ธงชาติจีนถูกใช้อย่างเป็นทางการ โดยพื้นหลังสีแดงสื่อถึงการหลอมรวมประเทศด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และการปลดปล่อยประชาชนจากระบบจักรวรรดิ โดยมีดาวสีเหลืองทั้ง 5 แสดงถึงพรรคคอมมิวนิสต์และประชาชน
หล่อหลอม สู่จิตวิญญาณคลั่งสีแดง
เมื่อต้องอยู่กับสีแดงในแทบทุกจังหวะชีวิตแบบนี้ จึงไม่แปลกที่ความคลั่งไคล้สีแดงของชาวจีนจะถูกถ่ายทอดผ่าน DNA และสะท้อนออกมาผ่านรูปแบบ ‘วัฒนธรรมแดง’ (红文化) ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ
นอกจากตรุษจีนที่เต็มไปด้วยสารพัดไอเทมสีแดง อย่างอั่งเปา โคมแดง ประทัด ชุดกี่เพ้า เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษ และผ้าสีแดงที่ประดับประดารอบบ้านแล้วนั้น ในชีวิตประจำวันของคนจีน ยังมีการใช้สีแดงในมุมที่เราคิดไม่ถึงอีกด้วย เช่น ในตลาดหุ้นที่เซียนหุ้นต่างรู้ดีว่า ตัวเลขสีแดง มักจะแทนเวลาหุ้นร่วง แต่กลับกันประเทศจีน รวมทั้งไต้หวันและฮ่องกง กลับใช้สีแดงแทนหุ้นที่กำลังขึ้น จึงเป็นที่มาของวลี ‘กระดานแดง’ (开红盘) ที่หมายถึง หุ้นที่ดีดตัวสูงขึ้นหลังจากเปิดตลาด
ยังไม่รวมถึงในแง่มุมภาษาศาสตร์ ที่นำคำว่า 红 ที่หมายถึงสีแดง มาใช้แทนความหมายของคนดังในคำว่า 红人 หรือคำว่า ดวงดี อย่าง 红运 ก็มีการนำสีแดงมาใช้ด้วยเช่นกัน นี่เป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ ของจิตวิญญาณความคลั่งไคล้สีแดงของชาวจีนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต และยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด
สีแดง อาจถูกค้นพบโดยบังเอิญจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่กลับกลายเป็นสีที่บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาวจีนไว้อย่างเข้มข้น ตั้งแต่เป็นสีของความตายในยุคโบราณ สู่การเป็นสีแห่งอำนาจในราชวงศ์และสงคราม ไปจนถึงการเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติและอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคใหม่ ทั้งหมดคือคำตอบว่าทำไมคนจีนถึงคลั่งไคล้สีแดง เพราะมันคือจิตวิญญาณที่พวกเขาไม่มีทางตัดขาดนั่นเอง