‘สีแดง’ ความรัก ความงาม การดิ้นรน และความเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์แบบ

Highlights

  • สีแดงเป็นสีที่อยู่ใกล้มนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ เลือดของมนุษย์เป็นสีแดง สัตว์ที่มนุษย์ล่ามาเป็นอาหารก็มีเลือดและเนื้อเป็นสีแดง และแม้แต่ดินสีแดงก็พบเห็นได้ทั่วไป สีแดงจึงมีอยู่ทุกที่
  • ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน สีแดงถูกให้ความหมายมากมาย ในศตวรรษที่ 16 กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 แห่งสเปนใช้ดอกคาร์เนชั่นสีแดงเป็นตัวแทนของความรัก กษัตริย์ในยุคกลางใช้สีแดงเพื่ออ้างว่าตนได้รับอำนาจปกครองจากพระผู้เป็นเจ้า ส่วนสาวๆ ในปารีสช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้ลิปสติกสีแดงเป็นสีของการต่อต้านศัตรู
  • แต่ไม่ว่าจะมีความหมายหลากหลายเพียงใด จุดร่วมคือสีแดงมักถูกใช้ในเชิงการต่อต้าน โทสะ ความรัก อันเป็นอารมณ์สุดขั้วรุนแรงของมนุษย์ เป็นความไม่สมบูรณ์แบบ จนอาจเป็นสีที่สื่อถึงความเป็นมนุษย์ได้ดีที่สุดสีหนึ่ง

ในทางประวัติศาสตร์ ‘สีแดง’ มักเป็นตัวแทนของสองสิ่งที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว ความดีกับความชั่ว ความรักกับความแค้น ความกล้ากับความกลัว มันคือนิยามของความหลงใหล ความเข้มแข็ง และในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนของอารมณ์รุนแรงยากต้านทาน

ในทางวิทยาศาสตร์ สีแดงเป็นสีที่สามที่ตาของมนุษย์สามารถมองเห็นรองจากสีขาวและสีดำ สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับความกระทบกระเทือนจนสูญเสียความสามารถในการมองสีเป็นการชั่วคราว สีแดงเป็นสีแรกที่สายตาสามารถกลับมามองเห็นได้เมื่อร่างกายใกล้กลับมาเป็นปกติ

ในทางภาษา ไม่ว่าสีแดงจะถูกเรียกต่างกันยังไง แต่เมื่อถูกวางไว้ตามลำดับสีแดงมักอยู่เป็นสีที่สามตามหลังสีขาวและสีดำในตารางคำศัพท์อยู่เสมอ หนึ่งในเหตุผลที่ดูจะเข้าท่าอธิบายว่าเพราะสีแดงเป็นสีที่อยู่ใกล้มนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ เลือดของมนุษย์เป็นสีแดง บรรดาสัตว์ต่างๆ ที่ถูกล่ามาเป็นอาหารก็ล้วนมีเลือดและเนื้อเป็นสีแดง แม้แต่ดินแดงซึ่งเป็นดินผสมกับแร่เหล็กก็สามารถพบได้ตามธรรมชาติ

สีแดงในภาพวาดยุคก่อนประวัติศาสตร์

สีแดงมีอยู่ทุกที่ ต่างจากสีฟ้าที่เห็นได้แค่บางเวลาและต้องเงยหน้าถึงจะมองเห็น นั่นอาจเป็นเหตุที่ศิลปะในยุคแรกๆ ของมนุษย์มักใช้สีแดงเป็นส่วนประกอบหลัก อย่างภาพวาดเก่าแก่ในสเปน (ย้อนอายุกลับไปได้ไกลถึง 16,500-15,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ที่มีการใช้รงควัตถุธรรมชาติอย่างออเกอร์มาใช้เพื่อให้ได้สีแดง

เพราะสีแดงเป็นสีเดียวกับเลือดและหัวใจ สีแดงจึงยังมีความหมายสื่อถึงความรักและมีความเชื่อว่าการสวมเครื่องประดับสีแดงจะทำให้ผู้สวมใส่โชคดีเรื่องความสัมพันธ์ เช่น คาร์เนเลียน เครื่องประดับสีแดงที่เป็นที่นิยมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชาวอียิปต์โบราณนิยมนำคาร์เนเลียนมาแกะเป็นลูกปัดเพื่อประดับกับจี้ทองรูปเทพี Hathor เทพีแห่งรักที่เชื่อกันว่าจะประทานพรเรื่องความสัมพันธ์และความสุข ต่อมาในยุคโรมัน มีเรื่องเล่าว่าเจ้าสาวจะสวมผ้าคลุมไหล่สีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความซื่อสัตย์ ส่วนในประเทศจีน สีแดงยังเป็นสีมงคลในพิธีสมรสมาจนถึงปัจจุบัน

 

สีแดงและความรัก ตำนานดอกคาร์เนชั่นของกษัตริย์สเปน

ดอกคาร์เนชั่นสีแดงเป็นดอกไม้ประจำชาติที่อยู่คู่กับประเทศสเปนมาหลายร้อยปี เรามักคุ้นภาพนักเต้นระบำฟลามิงโก้ประดับดอกไม้สีแดงอยู่บนเรือนผม ดอกไม้ที่ว่ามีตำนานความรักของกษัตริย์และราชินีซ่อนอยู่ เรื่องนี้ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16 เมื่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 1 แห่งสเปนได้นำดอกคาร์เนชั่นสีแดงเข้ามาปลูกในสเปนเพื่อเป็นเครื่องหมายแทนความรักของพระองค์กับราชินีอิซาเบลล่า

Red Carnations by Johan Laurentz

อิซาเบลล่าเกิดในปี 1503 พระองค์เป็นลูกสาวคนโตของอิมมานูเอลที่ 1 กษัตริย์แห่งโปรตุเกส ในยุคที่สเปนและโปรตุเกสมั่งคั่งยิ่งใหญ่ ชีวิตของอิซาเบลล่าสมบูรณ์แบบไม่มีบกพร่องและเมื่อถึงวัยที่ต้องแต่งงาน พระมารดาของพระองค์ก็ประกาศชัดว่าลูกสาวคนนี้จะต้องแต่งงานกับกษัตริย์หรือลูกชายสายตรงของกษัตริย์เท่านั้น

ตัวเลือกอันดับ 1 ของอิซาเบลล่าคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กษัตริย์ของสเปนซึ่งมีพระเกียรติสมกันถึงขั้นที่ประกาศกล้าว่าถ้าไม่ได้สมรสกับกษัตริย์สเปนก็จะขอครองตนโสดตลอดชีพ ปรากฏว่าการจับคู่กันเพื่ออำนาจนำมาสู่ความรักดังเทพนิยาย ชาร์ลส์ตกหลุมรักอิซาเบลล่าตั้งแต่แรกเห็น ขุนนางที่มีโอกาสได้ร่วมงานสมรสสุดยิ่งใหญ่บรรยายความสัมพันธ์ของทั้งสองว่า “ราวกับว่าทั้งคู่เกิดมาเพื่อกันและกัน ความรักของชาร์ลส์และอิซาเบลล่าสวยงามสดใสดังกุหลาบสีแดง” 

Isabella of Portugal by Titian

Emperor Charles V and Empress Isabella by​ Peter Paul Rubens after Titian

เทพนิยายจบลงอย่างรวดเร็วเมื่ออิซาเบลล่าสิ้นพระชนม์ขณะมีอายุเพียง 35 ปี ชาร์ลส์ไม่เคยทำใจจากเรื่องนี้ได้ พระองค์ทรงขังตัวเองในโบสถ์เป็นเวลาร่วมสองเดือน ไม่มาร่วมพิธีศพ และยกหน้าที่ฝังศพอิซาเบลล่าให้กับลูกชายคนโต–เจ้าชายฟิลลิปแห่งสเปนซึ่งตอนนั้นมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา (ถ้าใครสนใจประวัติศาสตร์ราชวงศ์ Tudor เจ้าชายฟิลลิปคนนี้ต่อมาได้แต่งงานกับ Mary Tudor หรือราชินีแมรี่ที่ 1 แห่งอังกฤษที่คนมักรู้จักกันในนามแมรี่ผู้กระหายเลือด)

ชาร์ลส์แต่งกายสีดำตลอดพระชนม์ชีพ ไม่เคยแต่งงานใหม่ และใช้ชีวิตต่อมาเพื่อระลึกถึงภรรยาในทุกทางที่เป็นไปได้ หนึ่งในนั้นคือการนำดอกคาร์เนชั่นสีเแดงเข้ามาปลูกในสเปนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความรักของพระองค์ โดยเหตุที่เลือกดอกไม้ชนิดนี้เพราะคาร์เนชั่นเป็นสัญลักษณ์ของพระแม่มารี ตำนานเล่าว่าน้ำตาของพระแม่ตอนเห็นพระเยซูถูกตรึงกางเขน เมื่อหยดลงพื้นดินจึงกลายเป็นดอกคาร์เนชั่น ส่วนสีแดงนั้นหมายถึงความรักมั่นคงของพระองค์

Lucca Madonna by Jan van Eyck

 

สีแดงและความงาม เมื่ออุดมคติสั่งให้ผู้หญิงต้องสวย

“ผิวขาวเหมือนตุ๊กตากระเบื้อง ปากแดงเหมือนเลือดนก” คือนิยามความงามของสตรีในศตวรรษที่ 16 และราชินีเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ สตรีผู้อยู่สูงสุดของอำนาจก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการวิ่งตามความงามตามอุดมคติเพื่อรักษาภาพลักษณ์มากกว่าสุขภาพ 

Cate Blanchett ในบท Queen Elizabeth I จากภาพยนตร์เรื่อง Elizabeth (1998)

นอกจากเอลิซาเบธที่ 1 เคยป่วยหนักด้วยไข้ทรพิษจนทำให้ใบหน้าของพระองค์เต็มไปด้วยรอยแผลจึงจำเป็นต้องประโคมเครื่องสำอางอย่างหนาเพื่อให้ใบหน้าขาวเรียบเนียนตามสมัยนิยม เอลิซาเบธยังโปรดใช้ลิปสติกสีแดงสดจนเหมือน “กุหลาบสีเลือดบนพื้นหิมะ” ภาพลักษณ์เช่นนี้ของราชินีมาจากแนวคิดของพระองค์ที่ต้องการบอกประชาชนว่าทรงมีผิวที่งดงามผุดผ่องเนื่องจากยังเป็นสาวบริสุทธิ์ ส่วนปากสีแดงก่ำเป็นข้อความสื่อว่าราชินีของพวกเขานอกจากจะงดงามแล้วยังมีสุขภาพดี 

ภาพลักษณ์แบบนี้แม้จะมีประโยชน์ในทางโฆษณาแต่กลับทิ้งผลกระทบใหญ่ให้กับสุขภาพ เป็นที่รู้กันว่าผิวหน้าสีขาวของเอลิซาเบธนั้นได้มาด้วยเครื่องสำอางที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนประกอบสำคัญ ส่วนลิปสติกนั้นก็ทำมาจากปรอท การรับประทานปรอทเข้าไปทีละน้อยค่อยๆ สะสมในร่างกายทำให้เกิดผลร้ายตามมาทั้งอาการซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ไปจนถึงสูญเสียความทรงจำ อันเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับพระองค์เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา 

นอกจากนี้ยังว่ากันว่าการล้างเครื่องสำอางแสนหนาของราชินีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ต้องใช้ส่วนผสมสำคัญทั้งจากเปลือกไข่ สารส้ม และปรอท! ด้วยคนยุคนั้นเชื่อว่าปรอททำให้ผิวหน้าอ่อนวัยขึ้น แต่อันที่จริงปรอทมีคุณสมบัติลอกผิวหน้าบางส่วนออกไปพร้อมกับการเช็ดล้างจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าเป็นการบำรุงผิวให้นุ่มลง

Margot Robbie ในบท Queen Elizabeth I จากภาพยนตร์เรื่อง Mary Queen of Scots (2018) แสดงการแต่งหน้าแบบหน้าขาวปากแดงที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น

 

สีแดงและความกล้า ว่าด้วยอำนาจในการปกครอง

ในบทละครเรื่องเฮนรี่ที่ 6 ของ William Shakespeare (เขียนในปี 1591) มีการเปรียบเทียบการต่อสู้เพื่อแย่งชิงบัลลังก์อังกฤษระหว่างตระกูล York และ Lancaster โดยใช้สัญลักษ์แทนเป็นกุหลาบสองสี หนึ่งคือกุหลาบขาวแห่งยอร์ก อีกหนึ่งคือกุหลาบแดงแห่งแลงคาสเตอร์ บทกวีของเชคสเปียร์เปรียบเทียบอุปนิสัยของสองฝ่ายผ่านการใช้สีได้อย่างน่าสนใจ 

Let him that is a true-born gentleman
And stands upon the honour of his birth,
If he suppose that I have pleaded truth,
From off this brier pluck a white rose with me.

ผู้ใด ที่มีชาติกำเนิดเป็นขุนนางโดยแท้
และยืนหยัดแสดงเกียรติแต่กำเนิดของตน
หากเชื่อว่าเราได้พูดความจริง
จงเด็ดกุหลาบขาวหนึ่งดอกจากพุ่มหนามนี้กับข้า

Let him that is no coward nor no flatterer,
But dare maintain the party of the truth,
Pluck a red rose from off this thorn with me.

ผู้ใด ที่มิใช่คนขลาด มิใช่พวกประจบสอพลอ
และกล้ายืนยันอยู่เคียงข้างสัจจะ
จงเด็ดกุหลาบสีแดงหนึ่งดอกจากพุ่มหนามนี้กับข้า 

War of the Roses by Henry Albert Payne

สีแดงของเชคสเปียร์มีอุปนิสัยตรงกับความกล้า ความเด็ดเดี่ยว และการมีสัจจะ แนวคิดเกี่ยวกับความกล้าหาญในสีแดงสามารถสืบกลับไปถึงการหลั่งเลือดของพระเยซูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา พระคาร์ดินัล (สมณศักดิ์ชั้นสูงสุดรองจากพระสันตะปาปา) นั้นสวมอาภรณ์สีแดงจนเป็นที่จดจำ ส่วนสิ่งของที่ใช้พิธีบูชาของศาสนาคริสต์ก็มักมีสีแดงเพื่อสื่อถึงความสำคัญในพิธีบูชาสาธารณะ 

การใช้สีแดงเพื่อเชื่อมโยงกับโลหิตของพระคริสต์ยังเป็นแนวคิดที่กษัตริย์ในยุคกลางนำมาใช้เพื่อกล่าวว่าตนนั้นได้รับอำนาจการปกครองมาจากพระผู้เป็นเจ้า ภาพวาดของบุคคลยิ่งใหญ่ที่มีความสำคัญจึงมักถูกแทนด้วยอาภรณ์สีแดงซึ่งเป็นตัวแทนของเกียรติยศ ความสง่างามและอำนาจ กล่าวกันว่าพระเจ้าชาร์เลอมาญ จักรพรรดิแห่งโรมันสวมรองเท้าสีแดงในพิธีราชาภิเษกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าตนเองมีอำนาจเทียบเท่าพระเจ้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เดินตามรอยเท้านี้โดยการสวมรองเท้าที่มีส้นสีแดงสดเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจเด็ดขาดของพระองค์ พร้อมวลีเด็ดที่ใช้ในขณะปกครอง “ข้าคือรัฐ” (I am the state)

Portrait of Cardinal Guido Bentivoglio by Anthony van Dyck

เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายสีดำ (Edward The Black Prince) กับการใช้สีแดงของอังกฤษแทนความกล้าหาญของกษัตริย์ในยุคกลาง ภาพวาดโดย Benjamin Burnell

 

สีแดงและการต่อสู้ เมื่อสาวฝรั่งเศสใช้ลิปสติกสีแดงต่อต้านการยึดครองของนาซี

ในวินาทีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เดินทางมาถึงปารีส นิตยสารแฟชั่นลงข้อความคล้ายๆ กันเพื่อแนะนำให้สาวฝรั่งเศสต่อสู้สงครามอยู่แนวหลังด้วยแฟชั่น 

“เยอรมนีอาจปกครองประเทศ แต่ไม่อาจทำลายศักดิ์ศรีของชาวฝรั่งเศสได้ สิ่งเหล่านั้นถูกบอกเล่าผ่านผืนผ้า น้ำหอม และการแต่งตัว ชาวปารีสจะสู้สงครามด้วยความเหนือกว่าทางแฟชั่น” 

การบุกยึดปารีสของนาซีเยอรมนีอาจสร้างความแตกตื่นและสับสน แต่หนึ่งในไอเดียที่สาวปารีสใช้ในการต่อสู้กับสงครามคือการคงตัวเองให้สวยเพื่อเป็นตัวแทนว่าประเทศของพวกเธอไม่เคยหมดหวัง 

นอกจากเสื้อผ้าและการแต่งกาย ‘ลิปสติกสีแดง’ เป็นอีกหนึ่งอาวุธที่สาวๆ ใช้ต่อสู้กับสงครามในแนวหลัง ไอเดียของการใช้ลิปสติกสีแดงไม่เพียงได้รับความนิยมในฝรั่งเศสแต่แพร่ไปทั้งในยุโรปและอเมริกา แบรนด์เครื่องสำอางอย่าง Cyclax และ Elizabeth Arden ต่างก็ออกลิปสติกสี ‘Auxiliary Red’ และ ‘Victory Red’ ในฤดูร้อนปี 1942 หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษยังตีพิมพ์โฆษณาลิปสติกสีแดงจากเครือ Finnigan’s ที่ใช้ชื่อว่า ‘Home Front Ammunition’ หรือ ‘กระสุนจากแนวหลัง’

ในบทความเรื่อง Speak Softly and Carry a Lipstick นักวิชาการชาวอเมริกัน Adrienne Niederriter กล่าวถึงการเลือกทาลิปสติกของสุภาพสตรีว่า “เป็นหนึ่งในวิธีที่ผู้หญิงใช้นิยามตัวเองสีแดงในที่นี้สื่อถึงความรักชาติ ความกล้าหาญ ความแข็งแกร่ง สีแดงมีนัยถึงการต่อสู้และการขัดขืน จึงทำหน้าที่คล้ายเครื่องแบบทหาร ลิปสติกสีแดงยังเป็นสีที่ถูกเล่าผ่านหนังยุค 1930-1940 อย่างแพร่หลายเมื่อตัวละครหญิงที่ปรากฏกายพร้อมลิปสติกสีแดงมักแฝงด้วยความอันตราย เป็นตัวของตัวเอง พร้อมต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อ 

สำหรับผู้หญิงฝรั่งเศสในยุคสงคราม แฟชั่นเป็นเรื่องของความเป็นความตาย มันสื่อถึงการเอาชนะ ศักดิ์ศรี และความมุ่งมั่นที่จะรักษาความสง่างามนานตราบเท่าที่ผู้หญิงยังรักการส่องกระจก แม้ต้องต่อสู้กับกระสุนและระเบิดไปพร้อมๆ กันก็ตาม

 

สีแดงและการดิ้นรน สัญลักษณ์ของความเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์

“Red: the blood of angry men” คือเนื้อเพลงสุดโด่งดังในมิวสิคัลเรื่อง Les Misérables ที่กล่าวถึงการปฏิวัติเพื่อล้มพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิป ที่จบลงด้วยความล้มเหลวและความตายของคนหนุ่มอนาคตไกลจำนวนมาก

สีแดงเป็นสีที่ถูกใช้ในสงคราม มันสื่อถึงการเปลี่ยนแปลง การปฏิวัติ ธงสีแดงถูกใช้เป็นตัวแทนของแนวคิดฝ่ายซ้ายในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก่อนกลายมาเป็นเครื่องหมายของการปฏิวัติของฝ่ายซ้ายทั้งในรัสเซียและจีน ในมุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์ สีแดงสื่อถึงเลือดของชนชั้นแรงงาน มันแทนการเสียสละของชนชั้นกรรมาชีพและยึดโยงคำว่าเกียรติยศเข้ากับผู้คนแทนที่จะเป็นพระเจ้า ในรัสเซีย ดอกคาร์เนชั่นสีแดงถูกสงวนไว้เพื่อมอบให้ผู้สละชีพเพื่อชาติและเป็นดอกไม้ที่ใช้ระลึกถึงวีรบุรุษสงครามเช่นเดียวกับดอกป๊อปปี้ของโลกตะวันตก (ซึ่งก็มีสีแดงเช่นกัน)

ธงสีแดงแทนการปฏิวัติในรัสเซีย

ชาวรัสเซียโยนดอกคาร์เนชั่นสีแดง สัญลักษณ์แทนการขอบคุณวีรบุรุษแห่งชาติเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับลูกเรือที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำ Kursk ภาพจาก YURI KOCHETKOV/AFP/Getty Images

ความกล้าหาญ การเสียสละ ความรัก โทสะ สงคราม สีแดงเป็นตัวแทนอารมณ์ที่รุนแรงที่สุดของมนุษย์ มันสะท้อนทั้งความสุข ความแค้น และความกลัว อันเป็นส่วนผสมของความเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์พร้อม

สีแดงสร้างปฏิกิริยารุนแรง มันพาเราไปพบความหมายด้านบวกสุดกู่และนำทางไปสู่ความเลวร้ายสุดขั้วได้ในชั่วพริบตา

และหากสีเขียวคือตัวแทนของธรรมชาติ บางทีสีแดงอาจเป็นตัวแทนของความเป็นมนุษย์ที่ชัดเจนและแจ่มชัดมากที่สุดก็เป็นได้

 

อ้างอิง

ขอบคุณคำแปลบทละครเรื่อง เฮนรี่ที่ 6 ของวิลเลี่ยม เชคสเปียร์ จากเฟซบุ๊กเพจเคหาสน์วรรณกรรม 

artsandcollections.com

artsandculture.google.com

historyofroyalwomen.com

ibtimes.com

news.com.au

waterstones.com

wondersandmarvels.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา