“แอบมองซองแดงอยู่นะจ๊ะ แต่อากงอาม่าไม่รู้บ้างเลย” – ข้อสงสัยของชาวจีนเจนวายในเทศกาลตรุษจีน

สำหรับมนุษย์เงินเดือนลูกหลานชาวจีนอย่างเรา พอใกล้ถึงวันตรุษจีนทีไร คำถามแรกที่ได้จากแม่คือ “ตรุษจีนปีนี้ได้หยุดมั้ย” คำตอบแรกที่บอกกลับไปคือ “ไม่หยุดแม่ อากงอาม่าน่าจะเข้าใจ” แต่คนที่เราอยากให้เข้าใจมากที่สุดก็คือพ่อและแม่ รวมถึงตัวเราเองว่าเหตุใดจึงยังมีตรุษจีนอยู่

ก่อนอื่นคงต้องย้อนกลับไปค้นหาว่าตรุษจีนคืออะไร ตรุษจีนหรือเทศกาลปีใหม่ของจีน เริ่มต้นขึ้นในช่วงวันที่ 24 ของเดือน 12 ตามปฏิทินจีน (ไม่ใช่วันที่ 24 ธันวาคมหรือคริสต์มาสอีฟตามแบบสากลนะ) กิจกรรมหลักของเทศกาลนี้คือ การเตรียมส่งเทพเจ้าประจำบ้านขึ้นสวรรค์ไปรายงานความเรียบร้อย ทำความสะอาดบ้าน พร้อมเชิญบรรพบุรุษลงมา และรับเทพเจ้าประจำบ้านองค์ใหม่เข้ามาดูแลบ้าน

ตรุษจีนในความรับรู้แรกของเด็กๆ ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากเทศกาลซองแดงและอั่งเปา แต่พอโตขึ้น เราถึงรู้ว่าเทศกาลตรุษจีนแบ่งออกเป็น 3 วันทำการ คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว และ 4 วันทำไก่ คือกองทัพไก่ขนาดมหึมาที่เราต้องจัดการให้สิ้นซากหลังจากไหว้บรรพบุรุษเสร็จ ตรุษจีนบางปีเราจึงได้แบ่งปันกองทัพไก่เหล่านี้ให้แก่เพื่อนบ้าน พนักงานปั๊มน้ำมันที่ใช้บริการประจำ หรือแม้แต่พี่ที่มาเก็บขยะให้ที่บ้านของเราด้วย นอกจากจะไหว้เพื่อความโชคดีของเราแล้ว ยังได้แบ่งปันความโชคดีให้กับคนรอบข้างด้วย

บทความนี้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่เป็นลูกครึ่งไทย-จีน (แต่พูดจีนไม่ได้แม้แต่คำเดียว) นอกจากภาษาจีนที่เราไม่เข้าใจแล้ว วัฒนธรรม ประเพณี เทศกาล เทพเจ้า อะไรต่อมิอะไรที่เราเห็นพ่อแม่ทำก็ทำตามโดยไร้ข้อสงสัย แค่ตอนเด็กได้หยุดเรียน ได้กิน ได้เงินไปซื้อของเล่นใหม่ก็สบายใจ แต่พอโตขึ้นคำถามกลับเยอะไปหมด แถมเมื่อหันไปถามเพื่อนรุ่นเดียวกันก็ดันได้คำถามกลับมาเพิ่มเพราะมันคิดว่าหน้าหมวยขนาดนี้ต้องรู้แน่ๆ เพื่อไม่ให้เพื่อนเสียใจ เราเลยพกคำถามมากมายไปหาคำตอบกับพ่อแม่ที่นั่งอยู่ข้างๆ คิดว่าคงได้คลายข้อข้องใจกันบ้างไม่มากก็น้อย

วันจ่าย

เป็นเรื่องบังเอิญที่วันจ่าย (วันตื่อเส็ก) ปีนี้ตรงกับวันวาเลนไทน์พอดิบพอดี สิ่งดีๆ สำหรับสาวโสดวัย 30 อย่างฉัน คือการจูงมือแม่ไปเดินตลาดน้อยหาของไหว้แทนการจูงมือแฟน (ที่ยังไม่เกิด) แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะเทศกาลไหนคือของแพงและรถติด อย่างปีที่แล้วช่วงวันจ่าย เราซื้อส้มกิโลกรัมละ 120 บาท แต่หลังจากตรุษจีนไป 2 วัน ราคากลับไปเหลือ 50 บาท

ของไหว้เจ้าประจำที่เราเห็นบ่อยๆ คือ ไก่ ที่ต้องเป็นไก่ก็เพราะหงอนไก่มีลักษณะเหมือนหมวกขุนนาง สื่อถึงหน้าที่การงานที่ดี เสียงขันของไก่บอกถึงความตรงเวลาและการรู้จักหน้าที่ของตนเอง ที่เราเห็นว่าทำไมต้องไหว้ไก่เป็นตัวๆ ก็เพื่อให้โชคลาภวาสนามาหาเราได้ครบถ้วน เคยแอบถามแม่เล่นๆ ครั้งหนึ่งว่า “เราใช้ไก่ KFC แทนได้มั้ยแม่ อยากกิน” แม่ตอบกลับมาว่า “ถ้าเขาทอดให้ได้ทั้งตัวก็ใช้ได้” ผู้พันแซนเดอร์ถึงกับงงในคำตอบ

นอกจากไก่ที่เป็นพระเอกของงานแล้ว ยังมีเป็ด หมู ปลา หมึก หมี่ซั่ว ส้ม สาลี่ เม็ดบัว ขนมเทียน ขนมเข่ง ซาลาเปา ฯลฯ ความสนุกอย่างหนึ่งของการออกไปซื้อของไหว้กับแม่คือ การแวะชิมขนมตามร้านต่างๆ และเริ่มต่อรองเปลี่ยนประเภทขนมที่จะมาใช้ไหว้ ซึ่งบางปีเราก็จะได้ขนมหน้าใหม่มาให้อากงอาม่าได้ชิม ชิฟฟ่อนมะพร้าวอ่อน ของโปรดอาม่าสามารถไปยืนแทนที่เหล่าซาลาเปาไส้ต่างๆ ได้อย่างสง่างาม แม้ความหมายของชิฟฟ่อนจะไม่มงคลเหมือนซาลาเปาที่หมายถึงการห่อเงินห่อทองเข้าบ้านเรา แต่เป็นขนมที่อาม่าชอบ เหล่าอาอี้อากู๋ก็เห็นด้วย

นอกจากของคาวแล้ว ผลไม้อย่างส้มก็เป็นสิ่งสำคัญและต้องมีทุกเทศกาล เพราะคำว่าส้มในภาษาจีนแต้จิ๋วพ้องกับคำว่า กา ที่แปลว่าทอง การไหว้ส้มหรือการมอบส้มจึงเหมือนการนำโชคดีไปให้ ส่วนเหตุผลที่บ้านเราเลือกส้มโชกุนมาไหว้ทุกครั้ง (ทั้งที่เราชอบส้มบางมดเพราะมันอร่อยกว่า) ก็เพราะความสวยงามของส้มยังสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์มั่งมี

วันไหว้

ในวันนี้เราจะตื่นกันตั้งแต่เช้ามืด ช่วงเวลาดังกล่าวเราจะได้พบหน้าเพื่อนบ้านในชุดนอนออกมาตั้งโต๊ะที่ลานด้านหน้ารับแสงและพลังจันทราโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งแต่ละปีจะมีทิศที่กำหนดว่าต้องตั้งโต๊ะไหว้ไป๊เล่าเอี๊ยหรือเทพเจ้าประจำบ้านไปทางไหน ถ้าบ้านไหนไม่มีเข็มทิศก็คงต้องหยิบไอโฟนขึ้นมาเปิดแอพ compass หมุนไปหมุนมาหน้าบ้านกันเสียหน่อย

การอดหลับอดนอนในวัยเด็กเพื่อตื่นมาไหว้ไป๊เล่าเอี๊ยถือเป็นเรื่องเล็ก เพราะตอนเด็ก เรานอนก่อน ตื่นมาไหว้เพียง 10 นาทีก็สามารถกลับไปนอนต่อได้ แถมวันรุ่งขึ้นยังหยุดเรียนอีกต่างหาก แต่สำหรับวัยนี้กลายเป็นเรื่องยาก การยกโต๊ะ ตั้งโต๊ะ หาทิศ จัดของไหว้ เรากลายมาเป็นกำลังหลักในเรื่องนื้ที่ต้องอยู่ในกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ช่วงเตรียมของไหว้และรอไหว้ก็มีข้อดีคือ เป็นช่วงที่เราได้ใช้เวลากับพ่อแม่มากที่สุด

หลังจากไหว้รับเทพเจ้าเข้าบ้านเสร็จก็ต้องตระเวนไหว้บรรพบุรุษ สำหรับลูกหลานคนจีนอย่างเราคงรู้ดีว่าต้องวิ่งสองบ้านทั้งญาติฝั่งพ่อและญาติฝั่งแม่ บางปีต้องกระจายตัวจับคู่พ่อลูก แม่ลูก แยกย้ายกันไป แต่ปีนี้แม่ต้องวิ่งสองบ้านตามลำพังเพราะทั้งพ่อและลูกๆ ไม่มีใครได้หยุดงานทั้งนั้น แม้จะมีเชื้อสายจีน แต่คนที่เราทำงานด้วยไม่ใช่คนจีน ซึ่งเมื่อบอกแม่ไปในครั้งแรกแม่ก็ถามกลับมาว่า “ลาไม่ได้เลยเหรอ” ถือเป็นโอกาสให้เราได้อธิบายถึงเหตุผลที่ไม่ได้จบแค่เหตุผลของการลางานไม่ได้ในช่วงตรุษจีน แต่รวมถึงเหตุผลที่บางครั้งเราก็ต้องกลับบ้านดึกในช่วงที่ทำงานหนัก ได้ปรับความเข้าใจกันไปพร้อมกัน

ถึงตรุษจีนจะอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์หน้าหนาว (?) การยืนเผากระดาษเงินกระดาษทองให้อากงอาม่ามีเงินทองไว้ใช้บนสวรรค์ก็ยังเป็นเรื่องร้อนแรงเสมอ หน้าที่เหล่านี้กลายเป็นของลูกหลานไปโดยปริยาย ตอนเด็กเราจะแย่งกันเผาธนบัตรใบละหมื่นล้าน นับเลขศูนย์บนนั้นแล้วคลี่ออกมาเป็นพับก่อนหย่อนลงถังแบบกล้าๆ กลัวๆ ดูทิศทางลมก่อนโยนลงไป บางใบปลิวหลุดมาข้างถัง ต้องไปหาไม้ยาวๆ มาเขี่ยออก แต่ตอนนี้โตแล้ว เราขอเผาทองก้อน เพราะถ้าวัดจากค่าเงิน ทองมีความผันผวนน้อยกว่า ราคาสูงกว่า แถมตอนโยนยังมีน้ำหนักกว่ากระดาษทำให้ไม่ปลิวออกนอกถัง

ทุกวันนี้ยังถามเหล่าอากู๋อาเจ็กทุกครั้งว่าเผากระดาษน้อยลงไม่ได้เหรอ ตอนนี้อากงอาม่าน่าจะเป็นมหาเศรษฐีแล้ว คำตอบก็คือถ้าอากงอาม่ามีใช้ก็เหมือนเรามีใช้ด้วยนั่นแหละ แต่เมื่อหันมามองกองกระดาษแล้วก็พบว่าพวกเราเนี่ยแหละจะจนลงเพราะกระดาษพวกนี้แพงขึ้นทุกวัน แถมกว่าจะเผาหมดโลกก็ร้อนขึ้นด้วยเหมือนกันนะ

วันเที่ยวหรือวันปีใหม่

วันที่ถือและห้ามทุกอย่าง ก่อนหน้านี้เราไม่เคยตั้งคำถามหรอกว่าทำไมต้องห้าม เพียงแต่รับรู้ และเมื่อทำแล้วเกิดผลดีแก่เราก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะทำตาม จากที่หาคำตอบมา เหตุผลที่ไม่ให้พูดคำหยาบในวันนี้ก็เพราะการพูดสิ่งไม่ดีจะนำพาโชคร้ายเข้ามาตลอดทั้งปี การตัดเล็บและสระผมก็เหมือนตัดความมั่นคงมั่งคั่งออกไปจากตัว ไม่ให้ทำความสะอาดบ้านเพราะถือเป็นการกวาดโชคลาภและเงินทองออกจากบ้าน หรือแม้แต่การห้ามซื้อรองเท้า เพราะคำว่ารองเท้าในภาษาจีนออกเสียงว่า Hai ที่คล้ายกับเสียงถอนหายใจ

หลังจากฝ่าด่านข้อห้ามร้อยแปดมาได้ กิจกรรมของเช้าวันเที่ยวคือการรับซองแดงหรืออั่งเปาจากพ่อแม่ซึ่งถือเป็นเงินขวัญถุงให้ได้รับทรัพย์ตลอดทั้งปี ถ้าเป็นบ้านที่ลูกหลานทำงานแล้วก็จะต้องมอบอั่งเปาให้พ่อแม่เช่นกัน เงินที่ใส่ในอั่งเปาเราเรียกว่าแต๊ะเอีย ถ้าเราพูดว่าขออั่งเปาเยอะๆ เราอาจจะได้ซองในปริมาณมาก แต่เงินในซองไม่มากตาม เพราะฉะนั้นให้พูดว่า “ขอแต๊ะเอียเยอะๆ” เพราะถึงอั่งเปาจะน้อยแต่แต๊ะเอียมาก อันนี้ก็สุขใจ

ช่วงสายของวันเที่ยวเราก็ยังต้องตระเวนตามบ้านญาติ เคยถามผู้ใหญ่เหมือนกันว่าทำไมไม่รวบไปจ่ายตอนวันไหว้วันเดียวเลยจะได้ไม่ต้องมากันหลายวัน อาแปะบอกว่านี่เป็นกุศโลบายให้ญาติๆ ออกมาเจอกัน พอคิดตามก็พบว่าสังคมไทยเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยวกันมากขึ้น นานครั้งญาติๆ ถึงจะนัดเจอกันในช่วงเทศกาล ถ้าไม่มีเทศกาลพวกนี้เราก็แทบไม่ได้เจอญาติของตัวเองเลยเหมือนกัน อย่างปีนี้วันเที่ยวตรงกับวันศุกร์ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ลูกหลานโตขึ้นเข้าสู่วัยทำงาน ทำให้พ่อแม่ก็ต้องยอมยืดหยุ่นและเลื่อนวันเที่ยวไปเป็นวันอาทิตย์เพื่อให้ทุกคนได้ออกมาสังสรรค์พูดคุยกันในรอบปี หวังว่าเทพเจ้าและอากงอาม่าจะเข้าใจ ขยับวันสองวันเพื่อเพิ่มความสุขในช่วงเทศกาล

ความโชคดีของลูกหลานชาวจีนเจนวายในยุคนี้คือถึงเราจะไม่ค่อยรู้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ทำไปทำไม วันปีใหม่ตามปฏิทินจีนคือวันไหน แต่ก็ยังมีพ่อแม่ อาอี๊อาเจ็ก คอยตอบปัญหาและกระตุ้นเราอยู่ บวกกับเทคโนโลยีอย่างกูเกิลที่ค้นอะไรก็เจอ หรือแม้แต่ก็เริ่มมีร้านค้าที่ออกแบบของไหว้ในเทศกาลให้ทันสมัยเหมาะกับคนรุ่นใหม่แล้ว

หากถามว่าตรุษจีนยังมีความสำคัญหรือเปล่า เราเชื่อว่าตรุษจีนก็ไม่ต่างจากเทศกาลสงกรานต์ของไทยหรือวันปีใหม่ ไม่ว่าจะในความหมายของการเริ่มต้นปีใหม่หรือการที่ญาติพี่น้องได้กลับมาเจอกัน ตรุษจีนเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่พี่น้องคนจีนซึ่งเดินทางไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองจะได้กลับมาพบปะกันอีกครั้ง การกราบไหว้บรรพบุรุษก็สื่อถึงความกตัญญูรู้คุณทั้งต่อคนที่จากไปและคนที่ยังอยู่ แม้จะต้องลดทอนลงไปบ้างตามยุคสมัย

แม้ใครหลายคนจะมองว่าตรุษจีนไม่ใช่เทศกาลที่สนุกอีกต่อไป เงินก็ไม่ได้ หยุดก็ไม่ได้หยุด แต่ตรุษจีนก็ทำให้ชาวจีนในประเทศไทยเรามีเรื่องสนุกให้ทำมากกว่าประเทศอื่น แต่ถามว่าถ้าเราต้องมาเป็นคนนำเทศกาลจีนต่อจากพ่อแม่จะทำได้มั้ย ตอบเลยตรงนี้ว่าไม่ได้แน่นอน แค่ปฏิทินจีนยังไม่รู้เลยว่าหาซื้อได้ที่ไหน โธ่…

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา