a day experience : Rayong Time Ago ย่ำเท้าเรียนรู้ประวัติศาสตร์ระยอง เมืองที่มีมากกว่าผลไม้และชายทะเล

Highlights

  • เสาร์ที่ 18 - อาทิตย์ที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา a day ร่วมกับ GC จัดทริปชมเมือง ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในตัวเมืองระยอง ทั้งจิตรกรรมฝาผนังแห่งเดียวในจังหวัด สมุดพระมาลัยหายากเล่มเดียวในประเทศ โบสถ์และเจดีย์ที่สร้างขึ้นแบบพื้นถิ่น บ้านขุนนางสมัยเก่าหลากสไตล์ และยังได้ฝึกเขียนอักษรไทย-ธนบุรี
  • ตามไปทริปแบบย้อนหลัง สัมผัสประสบการณ์ที่เราเก็บมาฝากกันได้เลย

หากพูดถึงจังหวัดระยอง แหล่งท่องเที่ยวเดียวที่เราสนิทด้วยสมัยเรียนมหาวิทยาลัยคือหาดแม่รำพึง ไประยองกี่ครั้งกี่หนก็ได้เพียงแค่วนเวียนอยู่บริเวณหน้าหาดตามสไตล์การท่องเที่ยวแบบงานรับน้องใหม่ 

เมื่อเสม็ดก็ไม่เคยไปถึง อยากตะลุยกินผลไม้ก็ไปตอนหมดช่วงเสียทุกที นั่นเองที่เมื่อรู้ว่า a day experience ครั้งนี้ร่วมมือกับ GC พาเราออกเดินทางไปรู้จักระยองในมุมที่ใครหลายคนไม่เคยสัมผัส ย่ำเท้าชมโบราณสถานและสกุลช่างที่ซ่อนอยู่ในเมือง ซึ่งล้วนได้มาจากการศึกษาโครงการเส้นทางแห่งความสุข ได้บอกลาทะเลและไปนอนรับลมริมแม่น้ำประแสร์ เราจึงรีบดอดมาร่วมด้วยแทบจะทันที 

ไม่ต่างกันกับเพื่อนร่วมทัวร์อีก 13 คน ที่แต่ละคนก็ให้เหตุผลคล้ายกันนี้ เหตุผลที่ว่าอยากรู้จักระยองให้มากขึ้นอีกสักหน่อย

เอาล่ะ สิ้นเสียงแนะนำตัว นี่เป็นสัญญาณให้รู้ว่าการออกสำรวจสถาปัตยกรรมโบราณในจังหวัดระยองกำลังเริ่มต้น

01 วัดโขด (ทิมธาราม)

จุดหมายปลายทางแรกของเราในทริปนี้คือ วัดโขด (ทิมธาราม) วัดเก่าแก่แห่งเดียวของจังหวัดระยองที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังซ่อนตัวอยู่ในอุโบสถเก่า 

ปลื้มกมล แก้วทอง นักโบราณคดีหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยของโครงการฯ และ ฝ้าย–จิรพันธ์ุ สัมภาวะผล เจ้าของเพจอักษราร้อยวลีลิขิต เป็นคนรับหน้าที่พาพวกเราชม พร้อมให้ความรู้อย่างเจาะลึก 

แทบไม่ต้องรอให้เห็นภาพจิตรกรรมด้านใน ปลื้มเริ่มต้นละลายพฤติกรรมของคนต่างอายุ ต่างสาขาอาชีพ อย่างพวกเรา ด้วยการโยนคำถามให้เราทายถึงที่มาของชื่อวัด แน่นอนว่าผู้ร่วมทริปของเราล้วนเดาถูกว่าชื่อ ‘โขด’ นี้มีที่มาจากสภาพภูมิศาสตร์ที่ตั้งวัด ซึ่งตั้งอยู่บนเนินทรายสูง ส่วน ‘ทิมธาราม’ ก็ได้มาจากชื่อของผู้สร้างวัดนั่นเอง 

เมื่อรู้ที่มาและเริ่มคลายความประหม่ากับเพื่อนร่วมทริป เขาจึงหันมาชี้ชวนให้พวกเราดูรูปแบบสถาปัตยกรรมของอุโบสถเก่าที่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า

อุโบสถหลังที่ว่านี้สร้างตามแบบอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากมีขนาดเล็ก ผนังสอบ ตัวหลังคาในอดีตจะเป็นทรงลาดลง ตามเอกลักษณ์ของภาคตะวันออก เรียกว่า จั่นหับ แต่เนื่องจากหลังคาดั้งเดิมทำด้วยไม้ ปัจจุบันจึงมีการซ่อมแซมใหม่ และมีการทำจั่วซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมซึ่งได้มาจากตะวันตกในสมัยหลัง 

หน้าบันหรือผนังด้านบนประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายครามดูแปลกตา ส่วนตัวผนังด้านล่างเองก็ค่อนข้างทรุดโทรมไปมากตามสภาพอากาศและน้ำที่อาจไหลลงตามซอกขอบหลังคา ภาพจิตรกรรมด้านนอกจึงหลุดหายไปทั้งหลัง เหลือเพียงที่ประตูทางเข้าด้านซ้ายที่สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องราวจาก รามเกียรติ์ ตอนยกรบ 

ตัวผนังด้านในเป็นจิตรกรรมพื้นถิ่นของจังหวัดระยอง ดูได้จากสีที่ใช้วาด คือจะใช้สีเขียวเป็นหลัก ซึ่งจะมีการรองพื้นด้วยสีขาวก่อน ทำให้สีที่ได้เจือจางคล้ายสีพาสเทล ขัดกับของไทยประเพณีที่มักจะใช้สีสด อย่างสีแดง สีดำ หรือสีส้ม โดยเรื่องราวที่บันทึกไว้นั้นคือเรื่องทศชาติชาดก ที่บ้างก็ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และบ้างก็เลือนหายจนแทบมองไม่ออก นั่นเองที่ทำเอาพวกเรานึกเสียดายกันยกใหญ่หากวันข้างหน้าภาพเหล่านี้ถึงคราวลบเลือน

หลังดูภาพจิตรกรรมจบ ฝ้ายรับหน้าที่พาเราขึ้นบนศาลา ตามไปดูอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญของวัด นั่นคือสมุดพระมาลัย ที่ว่ากันว่ามีแค่ 2 เล่มในโลกเท่านั้น เล่มหนึ่งอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนอีกเล่มอยู่ตรงหน้าเราตอนนี้

นอกจากจะได้ดูสมุดพระมาลัย ฝ้ายยังนำตัวอย่างสมุดและอุปกรณ์เครื่องเขียนแบบโบราณ ทั้งเยื่อข่อย น้ำหมึกจากธรรมชาติ มาให้พวกเราดูเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนเข้าคลาสเรียนการเขียนอักษรไทยโบราณแบบเต็มๆ ในวันรุ่งขึ้นด้วย

02 ถนนยมจินดา

นั่งรถออกจากวัดเพียงไม่นานก็ถึงสถานที่ที่สองที่เราจะไปเยือนอย่างถนนยมจินดา อาร์ม–อธิวัฒน์ คุณาเดชดี รับหน้าที่พาเราลัดเลาะเดินชมย่าน พาเข้า-ออกบ้านต่างๆ พร้อมเล่าเกร็ดน่ารู้ให้ฟัง

ยมจินดา คือถนนเส้นแรกของจังหวัดระยอง หากมองดูเผินๆ อาจคล้ายคลึงกับเจริญกรุงของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นย่านการค้าในอดีต ธุรกิจที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าโรง ทั้งโรงสี โรงหนัง โรงละคร จึงเริ่มต้นที่ถนนสายแรกแห่งนี้ 

อาร์มเล่าให้ฟังว่าที่ดินบนถนนแห่งนี้มีเจ้าของครอบครองเพียงไม่กี่ตระกูล ซึ่งถือเป็นตระกูลใหญ่ของระยองทั้งสิ้น เช่น ตระกูลยมจินดา (ตระกูลสายตรงของเจ้าเมืองระยอง) ตระกูลบุญศิริ ตระกูลวิริยะพงษ์ ตระกูลสินธุวณิชย์ ตระกูลสมะลาภา ตระกูลสัตย์อุดม ตระกูลเปี่ยมพงศ์สานต์ ตระกูลปัทมดิลก

บ้านโบราณที่เขาพาเราเข้าไปดูการออกแบบหลายๆ หลังจึงมีองค์ประกอบของวัสดุที่บ่งบอกฐานะอยู่ เช่น ตึกเถ้าแก่เทียน ที่ในอดีตเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของระยอง ก็มีการปูพื้นด้วยหน้าไม้ขนาดใหญ่ รวมทั้งยังมีการฉลุไม้ตกแต่งเป็นลวดลายขั้นสูง ดูอ่อนช้อย หรืออย่างบ้านมาลีวณิชย์ ร้านขายสังฆภัณฑ์บนถนนเส้นนี้ ก็มีการใช้กระเบื้องนำเข้าจากอิตาลีด้วย

จริงๆ แค่ได้เข้าไปเยี่ยมชม ดูสถาปัตยกรรมภายในบ้านหลายๆ หลัง และได้รับรู้ข้อมูลจากอาร์มประกอบ ก็ทำให้เรารู้สึกว่าการมาร่วมทริปครั้งนี้พิเศษมากแล้ว เพราะได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนมากมาย แต่เมื่อได้เจอครูหมูซึ่งเป็นหลานสาวของเจ้าเมืองโดยบังเอิญก็ทำให้เราเข้าใจคำว่าโชคสองชั้น เพราะมีโอกาสได้เข้าไปบุกบ้านชมง้าวของเจ้าเมืองและใบสาแหรกตระกูลยมจินดา

03 วัดบ้านแลง

ก่อนจะเข้าที่พัก พวกเราเดินทางมาชมโบราณสถานกันต่อที่วัดบ้านแลง โดยสิ่งสำคัญที่ควรค่าแก่การรับชมของวัดแห่งนี้คือ อุโบสถและหอไตรกลางน้ำ

อุโบสถของที่นี่แม้จะมีรูปทรงตามแบบอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกันกับวัดโขด (ทิมธาราม) แต่กลับอยู่ในสภาพสมบูรณ์กว่า ทั้งจั่นหับที่ลาดลงและกระเบื้องเคลือบบนหน้าบัน เอกลักษณ์ของวัดในเมืองระยอง ทั้งนี้อาจเพราะตัวอุโบสถต้องการสร้างเลียนหอไตรกลางน้ำซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันด้วย สระบัวที่ล้อมรอบอุโบสถนี้จึงช่วยขับให้อุโบสถดูสวยแปลกตายิ่งขึ้นไปอีกด้วย

อ้อ เจดีย์ที่อยู่รายรอบอุโบสถเองก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน เพราะเป็นเจดีย์ทรงปรางค์แห่งเดียวในจังหวัดระยองด้วย

04 มาหาสมุทร

เพียงแค่เดินทะลุประตูรั้ว มองเข้าไปเห็นลานบ้านกว้างด้านใน วิวแม่น้ำประแสร์ และลมเย็นๆ ช่วงใกล้ค่ำที่พัดโกรกเข้ามา ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง 

คืนนี้เราจะพักผ่อนกันที่มาหาสมุทร โฮมสเตย์ซึ่งเปลี่ยนแปลงมาจากโรงงานแปรรูปแมงกะพรุนแห่งนี้ให้เต็มอิ่ม 

ตัดภาพมาอีกทีก็ถึงเวลาของมื้อเช้า ซึ่งที่นี่เสิร์ฟให้แบบจัดหนักจัดเต็ม มาในรูปแบบของปิ่นโตที่อัดแน่นไปด้วยกับข้าวน่ากิน ทั้งปลาหมึกต้มหวาน ปลาทอด ห่อหมก กินไปพลาง ชมวิวแม่น้ำประแสร์ไปพลาง ถือเป็นเช้าที่รื่นรมย์มากๆ 

05 เขียนอักษรไทยกับเพจอัษราร้อยวลีลิขิต

ได้เวลาออกไปเรียนวิชาที่เรารอคอยอย่างคลาส calligraphy อักษรไทย ซึ่งครูที่จะมาสอนก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นฝ้ายนั่นเอง

ฝ้ายเริ่มต้นสอนตั้งแต่สเตปแรก นั่นคือการเลือกขนนกที่ถูกใจและถนัดมือ เมื่อได้มาแล้วก็ทำตามขั้นตอนง่ายๆ 4 ข้อ ที่พอทำจริงก็เล่นเอาปาดเหงื่ออยู่เหมือนกัน

  1. ตัดโคนขน 
  2. ปาดออกประมาณ 2.5 เซนติเมตร 
  3. ปาดออกให้ได้ขนาดตามต้องการ เป็นการกำหนดขนาดของหัวปากกา ตัวอักษรจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับขั้นตอนนี้
  4. ผ่าครึ่งเพื่อเป็นช่องเดินน้ำหมึก

เมื่อแต่ละคนได้ปากกาคู่ใจ (ด้วยความช่วยเหลือจากฝ้ายเป็นส่วนใหญ่) กันมาแล้ว ฝ้ายจึงเดินแจกน้ำหมึกให้เราได้ทดลองเขียนตามกระดาษตัวอย่างเป็นการฝึกมือ จากนั้นจะเขียนจดหมายให้ตัวเองหรือใครๆ ก็ได้ตามใจ ซึ่งเมื่อเราได้ตวัดปากกาเป็นอักษรไทยโบราณไม่กี่ประโยคก็ขอยอมแพ้ พยายามเท่าไหร่ก็ยังเขียนให้สวยอย่างครูไม่ได้ จึงขออนุญาตเขียนเป็นตัวไทยปกติ เพราะกลัวจะเขียนจดหมายไม่เสร็จ ตรงข้ามกับเพื่อนร่วมทริปหลายคนที่ตวัดปากกาเสมือนมืออาชีพ เขียนสวยซะจนยากจะเชื่อว่านี่คือครั้งแรก

เมื่อเขียนจนพอใจก็ถึงเวลาพับจดหมายใส่ซองกระดาษที่พับเองกับมือ แล้วนำไปปิดผนึกด้วยครั่งหรือจะจ่าหน้าซองด้วยพิมพ์ดีดก่อนก็ได้ ขั้นตอนนี้จึงเป็นขั้นตอนที่พวกเราสนุกมากเพราะเป็นสิ่งที่น้อยครั้งนักจะได้สัมผัสในชีวิตจริง กว่าจะได้ปิดผนึกจดหมายจึงสาละวนอยู่กับการพิมพ์ดีด การละลายครั่งกันสนุกสนาน หากใครจะฝากฝ้ายส่งก็สามารถ จะได้มีตราประทับบอกให้รู้ว่าเป็นของฝากจากการมาระยอง แต่เราส่วนใหญ่ล้วนถือจดหมายกลับไปพร้อมปากกาขนนก อยากดูแลเองเพราะอดไม่ได้ที่จะหยิบมาดูให้ชื่นใจ 

การเดินทางตลอด 2 วัน 1 คืน ที่ระยองแห่งนี้ มีประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้สัมผัสอยู่มาก ทำเอาแทบลืมไปเลยว่าสถานที่ที่เรายืนอยู่นี้เป็นจังหวัดเดียวกันกับที่เราเคยมาเที่ยวทะเลหรือตะลุยกินผลไม้ แม้ว่าจดหมายที่ปิดผนึกไว้จะยังไม่ได้แกะมาอ่านอีกครั้ง แต่แค่ได้เห็นจ่าหน้าซองว่าเขียนที่ระยอง บรรยากาศและความทรงจำในวันนั้นก็กลับมาแล้ว

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย