ฉันสูดหายใจแรงและรู้สึกเหมือนหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะในระหว่างเอื้อมมือไปรับสมุดไทยดำเรื่อง จินดามณี มาชื่นชม สันนิษฐานว่าเล่มที่อยู่ตรงหน้าฉันน่าจะเก่าแก่ราว 200 ปีและเป็นฉบับที่ลูกศิษย์ลูกหาคัดลอกมาจากตำราของอาจารย์อีกทีหนึ่ง
แน่นอนว่าสมุดเล่มนี้เป็นของรักของหวง เพราะเจ้าของค่อยๆ คลี่ผ้าห่อสมุดออกอย่างบรรจง ก่อนส่งให้ฉันอย่างระมัดระวัง
ตามประสาบัณฑิตเอกภาษาไทยอย่างฉัน จินดามณี ถูกพูดถึงนับครั้งไม่ถ้วนในชั้นเรียนเพราะได้ชื่อว่าเป็นหนังสือเรียนเล่มแรกของไทย แต่พอได้มาเห็นสมุดไทยอายุหลายร้อยปีของจริงกับตา ก็อดตื่นเต้นไม่ได้จริงๆ
นอกจาก จินดามณี ข้างกันนั้นยังมีสมุดไทยโบราณอีกหลายเล่ม บางเล่มดูออกว่าผ่านมาหลายชั่วอายุคนจนเกิดความเสียหายที่กาลเวลาฝังรอยไว้ ทั้งรูพรุนและขอบกระดาษเหลืองกรอบ แต่ที่ทำให้ฉันตะลึงจนละสายตาไม่ได้คือตัวอักษรวิจิตรที่จดจารอยู่บนหน้ากระดาษเหล่านั้นต่างหาก
มองปราดเดียวก็รู้ว่ากว่าจะได้ตัวอักษรไทยสวยๆ เหล่านั้นมา คนโบราณคงฝึกฝนชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าเพื่อค้นหาเทคนิคการเขียนเฉพาะตัว จนได้ลายเส้นตัวอักษรที่งดงามอ่อนช้อยไม่แพ้งานประณีตศิลป์แขนงอื่นๆ หากจะเรียกว่านี่คือ calligraphy แบบไทยๆ ก็คงไม่ผิดนัก
ฝ้าย–จิรพันธุ์ สัมภาวะผล คือเจ้าของสมุดไทยล้ำค่าและเจ้าของลายเส้นสวยๆ ในเพจ ‘อักษราร้อยวลีลิขิต’ ผู้รื้อฟื้นการเขียนตัวอักษรไทยโบราณให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และอุทิศตัวฝึกฝนการเขียนอักษรไทยวิจิตรด้วยตัวเองตามแบบฉบับโบราณ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกคัดตัวอักษรด้วยปากกาขนนกบนกระดาษข่อย ไปจนถึงการผสมสีและบดแร่ต่างๆ เป็นหมึกใช้เอง ซึ่งน้ำหมึกจากปลายปากกาของฝ้ายนี่แหละที่กำลังชุบชีวิตจิตวิญญาณงานช่างศิลป์ไทยที่นับวันจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา
อักษราร้อยวลีลิขิตเป็นเพจที่ฝ้ายตั้งใจรวบรวมเทคนิคการเขียนอักษรไทยวิจิตรรูปแบบต่างๆ รวมทั้งแชร์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ฝ้ายค้นพบจากเอกสารโบราณต่างๆ ระหว่างค้นคว้าเกี่ยวกับอักษรไทยโบราณ เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว
นอกจากจะเปิดเพจให้ความรู้แบบฟรีๆ แล้ว ฝ้ายยังจัดเวิร์กช็อปสอนการเขียนอักษรไทยโบราณสำหรับผู้ที่สนใจและเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันคัดลายมือระดับชาติด้วย
หนึ่งในงานที่ฝ้ายภาคภูมิใจที่สุดคือ การได้เป็นหนึ่งในผู้คัดลอกคัมภีร์อักษรขอมโบราณสำหรับประกอบเครื่องสังเค็ดหรือสิ่งของสำหรับถวายพระสงฆ์ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ซึ่งในประเทศไทยเหลือผู้ที่สามารถทำเช่นนี้ได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
สำหรับใครที่เคยคิดว่าการคัดลายมือไทยเป็นสิ่งที่ดูเชย ล้าสมัย หรือเคยเป็นยาขมในวัยเด็ก และคิดว่าตัวอักษรไทยมีแค่หัวกลมกับหัวเหลี่ยม เราขอให้คุณลองมาทำความรู้จักกับการเขียนอักษรไทยวิจิตรดูสักครั้ง
พรแสวงไปสู่ (พร) สวรรค์ของการเขียน
หลายคนอาจคิดว่าฝ้ายเรียนจบด้านวิจิตรศิลป์หรือเป็นช่างฝีมือที่คุ้นเคยกับการขีดเขียนอักษรไทยอยู่แล้ว แต่ผิดถนัด เขาไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง แต่พรแสวงและความสนใจในจิตรกรรมไทยที่มีอยู่เป็นทุนเดิมผลักดันให้นักเรียนช่างไฟฟ้าคนนี้หาข้อมูลแบบลงลึกเรื่องอักษรไทยโบราณ
“ความตั้งใจแรกเริ่มคือจะเขียนยังไงให้สวยเหมือนคนสมัยก่อน การเขียนสวยมีแค่ 2 ปัจจัย หนึ่งคือการฝึกฝน สองคืออุปกรณ์ เราต้องไปดูว่าสมัยนั้นใช้วัสดุอะไร และเราสามารถใช้อะไรสร้างงานให้เหมือนงานเก่าๆ ได้ เราเลยเริ่มค้นดูเอกสารเก่าๆ เพื่อดูต้นแบบตัวอักษร และศึกษาเรื่องอุปกรณ์ที่จะเขียนให้ได้เหมือนตัวอักษรของคนโบราณ เลยหาหนังสือหัดคัด เริ่มใช้ปากกาปลายตัด แล้วก็ฝึกเขียนหลายๆ แบบเรื่อยมา”
พอพูดถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า การคัดตัวอักษรวิจิตรของไทยต่างจาก calligraphy ของฝรั่งยังไง เพราะดูเผินๆ ก็เป็นศิลปะแห่งอักษรศิลป์เหมือนกัน ฝ้ายจึงเฉลยให้เราฟังว่าหลักๆ จุดที่ต่างคือตัวอักษรไทยจะใช้น้ำหนักเส้นสม่ำเสมอ
“ของฝรั่งจะมีการใช้น้ำหนักเส้นค่อนข้างเยอะ เน้นการใช้ความหนา-บางของเส้น แต่ของไทยจะเป็นน้ำหนักเดียว สิ่งที่เหมือนกันโดยบังเอิญคืออักขระวิจิตรของไทยจะมีเครื่องหมายที่เรียกว่า ‘ละสุด’ ทำหน้าที่หยุดท้ายบรรทัดเพื่อรักษาแนวสายตาว่าแต่ละบรรทัดตรงกัน หลอกสายตาว่าตัวอักษรอยู่ในฟอร์มซ้าย-ขวาเท่ากัน ซึ่งของฝรั่งก็มีเหมือนกัน แต่จะใช้วิธีลากเส้นจนสุดบรรทัดแทน”
พอเริ่มฝึกฝนจนคัดตัวอักษรไทยได้ชำนาญแล้ว ฝ้ายก็ขยับมาลองคัดอักษรขอมดูบ้าง โดยเริ่มจากการแกะยันต์คาถาชินบัญชรที่เขียนด้วยอักษรขอม หลายปีให้หลังฝ้ายมีโอกาสถวายงานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ในการเขียนอักษรขอมในคัมภีร์ทางศาสนาเพื่อใช้ในพระราชพิธีอีกด้วย
งานครั้งนั้นเป็นที่มาที่ทำให้ฝ้ายริเริ่มทำคู่มือแบบเรียนการเขียนอักษรขอมเบื้องต้น โดยอ้างอิงและรวบรวมจากตำราอักษรโบราณที่ทยอยเก็บสะสมมาเรื่อยๆ เพื่อที่จะเขียนตำราอักษรขอมฉบับของตัวเอง เพื่อให้คนรู้จักและเข้าถึงการเขียนอักษรขอมได้ในวงกว้างขึ้น
ของแถมจากอักษรวิจิตรคือการเรียนรู้วัฒนธรรมทางอ้อม
ในมุมมองของฝ้ายผู้ซึ่งคลุกคลีกับการเขียนอักษรไทยวิจิตรมาเป็นสิบปี แน่นอนว่าสมุดไทยไม่ได้มีไว้แค่บันทึกตัวอักษรสวยๆ เท่านั้น แต่ยังบันทึกองค์ความรู้ต่างๆ และบอกเล่าวัฒนธรรมทางอ้อมอีกด้วย
“เมื่อคัดลอก อันดับแรกคือเราต้องอ่านก่อน การอ่านทำให้เราซึมซับองค์ความรู้ในแต่ละเล่ม เช่น ในยุครัตนโกสินทร์ก็จะมีทั้งวรรณกรรม ศิลปกรรมลายเส้น โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ ตำรายา ตำรากดจุด แบบเรียน เราสามารถศึกษาองค์ความรู้จากคนโบราณได้จากสมุดไทย ที่น่าสังเกตคือความรู้แทบจะทุกสาขาในสมัยก่อนจะบันทึกด้วยอักษรขอม โดยเฉพาะคาถาทั้งหลายที่เป็นภาษาบาลีจะนิยมเขียนด้วยอักษรขอม เพราะมีความเชื่อว่าเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ มักจะใช้บันทึกคัมภีร์ทางศาสนาหรือเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์”
หรือความเชื่อที่ผูกพันกับศาสนาก็สะท้อนออกมาผ่านการสร้างงานของคนสมัยก่อนด้วยเช่นกัน
“ในคัมภีร์ทางศาสนามีความเชื่อว่าห้ามขีดฆ่า การฆ่าตัวอักษรเท่ากับการฆ่าพระ ฆ่าเณร เพราะฉะนั้นคนที่รับจ้างเขียนก็ต้องตั้งใจเขียน เพราะผู้สร้างเขามีศรัทธาอันแรงกล้า อย่างสมุดเล่มหนึ่งมีราคาแพงมาก เท่ากับทองคำ 8 บาทในสมัยก่อน แล้วยังมีค่าช่างเขียนหนังสือ ช่างเขียนภาพ ผ้าห่อคัมภีร์ เพราะฉะนั้นกว่าจะสร้างงานให้เสร็จเล่มหนึ่งใช้เงินจำนวนมาก”
หรือการสร้างอุปกรณ์พิเศษสำหรับวางตำรา ก็สะท้อนให้เห็นว่าหนังสือไม่ได้มีค่าแค่เป็นวัตถุสำหรับบันทึกตัวอักษรลงไปเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นคุณค่าที่คนในสังคมยึดถือว่า ตำราต่างๆ เป็นของสูง ไม่ต่างจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องวางให้สูงกว่าพื้นและเจ้าของต้องให้ความเคารพ
“คนโบราณสร้าง ‘กากะเยีย’ ที่ทำด้วยไม้ 8 ชิ้นร้อยไขว้กันเป็นที่วางหนังสือใบลานหรือตำราต่างๆ เพราะมีความเชื่อว่าตำราเรียนทั้งหลายเป็นของสูง บางทีเป็นเรื่องคาถาอาคมที่คัดลอกโดยครูบาอาจารย์ จะไม่วางที่พื้นให้เสมอกับเท้า เวลาจะแบกตำราเรียนไปไหนเราจะพกกากะเยียไปด้วย พอคลี่ไม้ออกมาก็จะกลายเป็นที่วาง เหมือนเป็นโต๊ะขนาดย่อมๆ”
การเขียนคือสะพานเชื่อมตัวตนเข้ากับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ฝ้ายเล่าถึงเรื่องที่ไม่คาดคิดอย่างหนึ่งที่ค้นพบระหว่างค้นคว้าเอกสารโบราณเพื่อจะนำมาคัดลอก กลายเป็นว่าเอกสารนั้นคือหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของระยอง โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนแม้จะเป็นคนระยองก็ตาม
“เราไปเจอตำราเล่มหนึ่ง ตอนแรกก็คิดว่าเป็นแนวประวัติศาสตร์ แต่ทราบมาจากอาจารย์ด้านวรรณกรรมว่าเป็นบทแหล่ที่แต่งขึ้นจากเหตุการณ์จริง คือหักมุมจากที่เราคิดไปเลย บทแหล่ของระยองที่เราเจอนี่ล้ำมาก เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับราชทูตไทยเดินทางไปอังกฤษ พอได้อ่านเอกสารเพื่อเขียนเราถึงได้รู้ หรืออีกครั้งหนึ่งที่ไปเจอทำเนียบชื่อวัดเก่าในจังหวัดระยองซึ่งตอนนี้ไม่มีแล้ว เราเลยได้รู้ว่าวัดเก่าๆ ในระยองอยู่ตรงไหน และตอนนี้กลายเป็นวัดอะไรที่เปลี่ยนชื่อไป ทำให้ได้รู้ประวัติดั้งเดิมของวัดในระยองด้วย และเราเคยเห็น สมุดภาพจันทโครพ ของจังหวัดระยอง ของภาคอื่นจะเขียนเป็นตัวหนังสือลงสมุดไทยเท่านั้น แต่ของจังหวัดเราเป็นภาพเขียนจิตรกรรมด้วย ตอนแรกไม่คิดว่าบ้านเราจะมีอะไรแบบนี้ด้วย แต่พอได้เจอก็ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นตัวเองมากขึ้น”
กลายเป็นว่าฝ้ายได้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของระยองผ่านการคัดเขียนอักษรไทยวิจิตร ได้รู้เรื่องราวของบ้านเกิดตัวเองมากขึ้น เหมือนกับการเขียนได้รื้อฟื้นคืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งหลับใหลมานานแสนนาน
การปลุกชีวิตให้การเขียนอักษรโบราณจึงไม่ต่างจากการปลุกชีวิตของประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของระยองให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง และเชื่อมให้คนท้องถิ่นได้รู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเองดียิ่งขึ้น
ทำเพจเพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องอักษรไทยวิจิตร
เมื่อความหลงใหลและความเชี่ยวชาญเริ่มบ่มเพาะจนได้ที่แล้ว ฝ้ายก็พร้อมส่งต่อความรู้สู่คนวงกว้าง โดยการสร้างเพจ ‘อักษราร้อยวลีลิขิต’ ขึ้น เพื่อเผยแพร่สิ่งที่ตัวเองหลงใหลให้คนอื่นรู้จัก และให้ความรู้เรื่องการเขียนอักษรโบราณ มีโพสต์ทั้งงานเก่าและใหม่ สักระยะผ่านไป เมื่อเห็นว่ามีคนสนใจพอสมควร ฝ้ายจึงลงมือผลิตคอนเทนต์ให้ความรู้เรื่องแบบตัวอักษรต่างๆ ทั้งแบบฝึกหัดสอนเขียน ความรู้เกี่ยวกับเอกสารโบราณ เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนอักษรวิจิตร รวมถึงวิดีโอสอนการเขียนตัวหนังสือสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกด้วย
“เราทำเพจอักษราร้อยวลีลิขิตทำมา 3 ปี ส่วนใหญ่คนที่เข้ามามีทั้งคนที่มีความรู้เรื่องการเขียนอักษรไทยและคนที่สนใจอยากลองเขียน ที่เราทำเพจเพื่อเป็นที่ให้คนที่สนใจเรื่องเดียวกันมาเจอกันและอยากสร้างแรงบันดาลใจในการเขียน พอมีคนเริ่มมาสนใจ เริ่มมีคนให้คุณค่ากับการเขียนตัวอักษร เราเลยรู้ว่ายังมีคนรุ่นใหม่ที่สนใจ มีคนเข้ามาขอคำแนะนำให้ช่วยออกความเห็นเรื่องการเขียน หรือถามว่าควรจะฝึกยังไง มีคำถามเข้ามาเป็นระยะ มันก็บ่งบอกว่ามีคนรุ่นใหม่สนใจงานลักษณะนี้เหมือนกัน ที่เราทำคืออยากเพาะเมล็ดพันธุ์ให้ฝังเข้าไปเบ่งบานในใจเขา ส่วนเขาจะเอาไปต่อยอดหรือไม่ก็แล้วแต่ ที่สำคัญคุณได้ลองสัมผัสมันแล้ว”
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่ในระยองสนใจรื้อฟื้นศิลปะโบราณให้กลับมามีชีวิตและโลดเต้นในโลกออนไลน์ที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้ ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ หันมาศึกษามรดกทางวัฒนธรรมที่บรรจุอยู่ในสมุดไทยโบราณผ่านการคัดเขียนอักษรไทยวิจิตรอีกด้วย
การเขียนอักษรไทยวิจิตร 101
อ่านบทสัมภาษณ์แล้ว หลายคนอาจจะสนใจอยากลองเขียนอักษรไทยวิจิตรโบราณดูบ้าง ฝ้ายเลยพาเราไปทำความรู้จักกับบทเรียนพื้นฐานของการเขียนอักษรวิจิตรตามแบบโบราณแท้ๆ ตั้งแต่การเตรียมเรื่องที่จะเขียน รูปแบบของตัวอักษรในสมัยต่างๆ กระดาษแต่ละประเภท น้ำหมึก ปากกา ไปจนถึงการวัดเส้นบรรทัด
เตรียมปากกาและกระดาษของคุณให้พร้อม แล้วไปทำความรู้จัก calligraphy แบบไทยๆ กัน!
01 ทำความรู้จักตัวอักษร
แบบของตัวอักษรมีชื่อเรียกตามยุคสมัยและชื่อเรียกตามแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคเหนือ จะเรียกว่า ‘อักษรล้านนา’ หรือ ‘ตัวเมือง’ ตามชื่ออาณาจักรล้านนา ส่วนภาคกลางจะแบ่งตัวอักษรเป็น 4 ยุคคือ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ แต่ละยุคก็มีชื่อเรียกตัวอักษรแตกต่างกันไป
ตัวอักษรของสุโขทัยเรียกว่า ‘ลายสือไทย’ ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นผู้ประดิษฐ์ ตัวอักษรจะอ้วนกว่ายุคอื่นหน่อย ถัดมาตัวอักษรสมัยอยุธยาเรียกว่า ‘ตัวไทยย่อ’ เอกลักษณ์คือตัวหนังสือจะเอียง ส่วนสมัยธนบุรีจะคล้ายตัวหนังสือของอยุธยาตอนปลาย แต่จะอวบขึ้นมาหน่อย และตัวอักษรสมัยรัตนโกสินทร์จะเริ่มใกล้เคียงกับตัวอักษรไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือตัวหนังสือจะผอมกว่ายุคอื่นๆ
ส่วนตัวอักษรมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้คือ ตัวหัวกลมแบบกระทรวงศึกษาธิการ และหัวเหลี่ยมหรือตัวอาลักษณ์ แต่สำหรับที่ใช้สอนหนังสือในโรงเรียนและการแข่งขันคัดลายมือระดับชาติจะเหลือแต่อักษรหัวกลมเป็นหลัก
ใครสนใจอยากคัดตัวอักษรแบบไหน ก็ลองไปหาแบบที่ชอบเตรียมไว้ได้เลย
02 รู้เรื่องกระดาษ เขียนร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง
ฝ้ายอธิบายว่ากระดาษที่ใช้กันในสมัยก่อนแบ่งเป็น 2 ภาคหลักๆ คือ ภาคเหนือ และภาคกลางลงไปจนถึงภาคใต้ การเรียกชื่อกระดาษจะเรียกตามวัตถุดิบที่ใช้ทำ เช่น ภาคเหนือใช้กระดาษสาที่ทำจากปอสา ก็จะเรียกว่า ‘กระดาษสา’ ส่วนภาคกลางใช้เปลือกข่อยทำกระดาษ ก็จะเรียกว่า ‘สมุดข่อย’ ในขณะที่ภาคใต้ใช้กระดาษข่อยเหมือนกัน แต่มีชื่อเรียกแตกต่างไปจากภาคกลาง โดยจะเรียกว่า ‘หนังสือบุด’
สมุดของไทยมีอยู่ 2 สีหลักๆ คือ สมุดไทยขาว และสมุดไทยดำ สมุดไทยขาวจะใช้หมึกดำเขียน ส่วนสมุดไทยดำจะใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง หรือสีทอง ในการเขียน เพื่อดึงสีสันของตัวอักษรให้เห็นชัด
สมุดไทยดำเหมือนกับสมุดไทยขาวตรงที่ทำจากข่อยเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่สมุดไทยดำจะใช้เขม่าผสมกาวแล้วทาให้ทั่วกระดาษ เพราะต้องการปกปิดกระดาษที่มีตำหนิ เช่น อาจมีส่วนเปลือกติดมาบ้างทำให้กระดาษไม่ขาวทั่วกันทั้งเล่ม
ใครที่สนใจอยากเขียนลงบนกระดาษดั้งเดิมที่คนโบราณใช้ ก็อาจจะลองหากระดาษสาหรือกระดาษข่อยมาลองเขียนดู หรือยังไม่อยากจะแอดวานซ์ถึงขนาดใช้กระดาษข่อยของจริง ก็อาจจะเริ่มจากกระดาษมีเส้นธรรมดาๆ ก่อนก็ได้แล้วค่อยไต่ระดับไป
03 หมึกจากแร่ธาตุธรรมชาติ
หมึกคือสีที่ใช้เขียนลงบนสมุด ถ้าเป็นสมุดไทยขาวก็จะไม่ยุ่งยากนักเพราะใช้หมึกสีดำเป็นหลัก เช่น หมึกจีน
ส่วนสีที่ใช้กับสมุดไทยดำจะซับซ้อนขึ้นมาหน่อย เพราะต้องใช้หมึกจากแร่ธาตุ ที่นิยมกันจะมีรงทองซึ่งทำหน้าที่เหมือนกาวยึดสีให้ติดกับหน้ากระดาษ สีเหลืองได้จากหรดาลซึ่งเป็นแร่ธาตุในชั้นดิน โดยเราจะเรียกสมุดไทยดำที่เขียนด้วยสีเหลืองว่า ‘สมุดไทยดำเส้นรงทอง’ หรือ ‘สมุดไทยดำเส้นหรดาล’ คือดึงชื่อของวัตถุดิบอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นชื่อเรียก
ส่วนหมึกสีแดงได้จากชาดซึ่งเป็นแร่ชนิดหนึ่ง สีทองได้จากทองคำเปลวมาติดบนกาว สีขาวได้จากดินขาวนำมาบดผสมน้ำให้เหลว หรือจะใช้ดินสอขาวเอามาเหลาปลายให้แหลมคล้ายดินสอก็ได้ ข้อดีของดินสอขาวคือสามารถลบออกและเขียนลงไปได้ใหม่คล้ายชอล์กเขียนกระดานดำ
ในเมืองไทยมีแร่ธาตุต่างๆ ที่กล่าวมาสำหรับทำงานประณีตศิลป์อยู่แล้ว สำหรับผู้เริ่มต้นอาจจะใช้หมึกดำเขียนบนกระดาษขาวไปก่อนเพื่อฝึกมือก่อนลงสีด้วยแร่ธาตุจริง
04 ปลายปากกากำหนดเส้นสาย
ปากกาหรือดินสอที่ใช้จะขึ้นอยู่กับพื้นผิวกระดาษ เช่น กระดาษสาของภาคเหนือที่มีเนื้ออ่อนนุ่มก็ต้องใช้จำพวกกิ่งไม้ ไม้ไผ่ หรือก้านกูดปิด (ผักกูดก้านแข็งที่นำมาตัดแต่งโคนให้คล้ายปากกาขนนก) ในการเขียน เพราะการใช้กิ่งไม้ปลายไม่แหลมนักจะทำให้กระดาษไม่ขาด
ส่วนกระดาษข่อยของภาคกลางจะเนื้อแน่นกว่า จึงสามารถรองรับได้ทุกวัสดุ ทั้งปากกาคอแร้งและปากกาขนนก
ฝ้ายเล่าว่าข้อดีของปากกาขนนกคือเส้นจะนุ่มลื่น ไม่ค่อยเกี่ยวกระดาษ ทั้งยังมีโครงสร้างหัวปากกาคล้ายๆ ปากกาคอแร้งที่เป็นเหล็ก แต่ข้อเสียของปากกาคอแร้งคือ คนที่ไม่ชำนาญ ไม่รู้มุมปากกาที่มีความเหลี่ยม ความคม ก็อาจเกี่ยวกระดาษขาดได้
ใครถนัดปากกาแบบไหนก็ลองใช้ดูได้ สำหรับผู้เริ่มต้นอาจจะใช้วิธีลากเส้นตามเส้นประตัวหนังสือแบบที่ชอบดูก่อน โดยเริ่มไต่ระดับจากการใช้ดินสอ ปากกา ปากกาคอแร้ง และปากกาขนนก ตามลำดับ
05 วัดระยะบรรทัดตามมาตราไทยโบราณ
ฝ้ายเล่าว่าสมัยโบราณจะใช้ไม้บรรทัดที่เป็นหน่วยเฉพาะตามมาตราไทย เช่น นิ้ว กระเบียด และอนุกระเบียด
ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของเรื่องเส้นบรรทัดสำหรับการเขียนอักษรไทยโบราณคือ สมัยก่อนจะเขียนตัวหนังสือใต้เส้นบรรทัดซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะรับมาจากวัฒนธรรมการเขียนแบบอินเดีย
ใครที่อยากลองเขียนอักษรวิจิตรตามแบบโบราณ ขอแนะนำให้ลองตีเส้นบรรทัดด้านบน แล้วเขียนตัวหนังสือด้านล่างเส้นดู รับรองว่าน่าจะท้าทายนักเขียนอักษรมือใหม่อยู่ไม่น้อย
ส่วนใครที่อ่านแล้วยังไม่เห็นภาพ เราแนะนำให้เข้าไปติดตามการเขียนอักษรไทยวิจิตรที่เพจ อักษราร้อยวลีลิขิต เพราะมีการสาธิตการเขียนอักษรไทยหลายๆ แบบ แถมมีวิดีโอเพื่อช่วยให้มือใหม่ฝึกเขียนตามง่ายขึ้นด้วย
GC เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและสนับสนุนกิจกรรมเพื่อศิลปวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบในจังหวัดระยอง เราขอชวนให้ทุกคนติดตามบทความอื่นๆ ที่สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวระยองได้ที่คอลัมน์ Rayong Time Ago และพบกับบทความถัดไปในเดือนตุลาคม
แล้วจะรู้ว่าระยองไม่ได้มีดีแค่ทะเล ผลไม้ หรือกะปิ แต่วัฒนธรรมตั้งแต่ครั้งวันวานที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นของชาวระยองนี่แหละคือเสน่ห์ของจริง