คุยกับทีมนวัตกรที่ใช้เทคโนโลยีล้ำๆ ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองระยอง

คุยกับทีมนวัตกรที่ใช้เทคโนโลยีล้ำๆ ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองระยอง

Highlights

  • ดร.จิตติ์พร เครือเนตร นวัตกร ผู้จัดการฝ่าย Corporate Innovation ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยี และลูกทีมนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่สำรวจ สืบค้น เพื่อไขปริศนาหาคำตอบมรดกทางวัฒนธรรมในอดีตทั้งศาสนสถานและโบราณวัตถุในจังหวัดระยอง ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ทีมนวัตกรเข้ามาช่วยทีมขุดค้นของคณะโบราณคดีคือ การหาคำตอบส่วนประกอบในวัสดุศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสีหรืออายุของโครงสร้างอาคารเพื่อยืนยันข้อมูลตามสมมติฐานที่ว่าศาสนสถานหรือโบราณวัตถุนั้นๆ เกิดขึ้นในรัชสมัยเดียวกัน
  • โครงการ ‘เส้นทางแห่งความสุข’ GC มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างแหล่งศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมให้ระยองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และสถานที่เก่าแก่ในระยองได้รับการอนุรักษ์และขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ เรียกว่า ‘มรดกที่มีชีวิต’ (Living Heritage)

ใครว่าการศึกษางานประวัติศาสตร์อาศัยเฉพาะนักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์เข้ามาทำงานเพื่อบันทึกช่วงเวลาในอดีตเพียงกลุ่มเดียว

ในความเป็นจริง การทำงานประวัติศาสตร์ยังอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพิสูจน์หลักฐานที่ค้นพบเพื่อยืนยันข้อมูลที่นักโบราณคดีคาดการให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วย

และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรนำทีมนักศึกษากว่าร้อยชีวิตลงพื้นที่สำรวจศาสนสถานและโบราณวัตถุในจังหวัดระยองร่วมกับทีมนวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการ ‘เส้นทางแห่งความสุข’ ซึ่งร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมแหล่งศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดระยองให้ได้รับการอนุรักษ์และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์

ในกระบวนการทำงาน ทีมอาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดีเดินทางไปสำรวจเมืองแกลง จังหวัดระยอง นำทีมโดย ผศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ หัวหน้าโครงการวิจัยคลังข้อมูลสารสนเทศศิลปวัฒนธรรมระยอง โดยลงพื้นที่สำรวจที่วัดราชบัลลังก์ประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายร้อยปี อย่างเช่นพระแท่นราชบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

และเพื่อยืนยันข้อมูลหลักฐานต่างๆ ของโบราณวัตถุให้มีน้ำหนักมากขึ้น จึงอาศัยเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพิสูจน์รายละเอียดต่างๆ และนั่นทำให้ทีมนวัตกร GC ซึ่งมี ดร.จิตติ์พร เครือเนตร ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงาน Corporate Innovation พร้อมด้วย ณิชาพร สิงหพันธ์, วันชนะ สมบุญ, ชัญญรัชต์ ต๊ะสุทา และ ภัทรวิน เกษมจิตต์ ลงพื้นที่ร่วมกับนักโบราณคดีจากศิลปากรเพื่อเก็บข้อมูลและนำนวัตกรรมมาช่วยพิสูจน์หลักฐาน 

ว่าแล้วการทำงานโดยใช้สองศาสตร์ความรู้เพื่อย้อนรอยอดีตประวัติศาสตร์จังหวัดระยองจึงเกิดขึ้น แต่เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยงานนักโบราณคดีได้ยังไงนั้น ทีมนวัตกรพร้อมอธิบายกระบวนการทำงานเพื่อไขข้อสงสัยเรากันแล้ว

 

ศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยวิทยาศาสตร์

“การทำงานครั้งนี้คือเราต้องย้อนกลับไปดูนวัตกรรมของอดีตว่าเขาคิดยังไง อะไรคือที่มาของการสร้างงานที่ทรงคุณค่าในวันนั้น แล้วมันกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าประวัติศาสตร์ในวันนี้” ดร.จิตติ์พรเริ่มต้นเล่าแนวคิดของการทำงานร่วมกันของนักโบราณคดีและนักวิจัยจากทีมนวัตกร

“ต้องยอมรับว่าคนสมัยก่อนมีความเป็นนักคิดค้น สร้างสรรค์ มีความเก่งคนละแบบกับคนในวันนี้ ดังนั้นจึงเหมือนว่าตอนนี้เรากำลังขี่ไทม์แมชชีนกลับไปเรียนรู้นวัตกรรมที่เขาสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือศิลปวัฒนธรรมขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีสมัยนี้เรียนรู้ และทีมของเราจะใช้แนวคิดนี้ตลอดการทำงานร่วมกับทีมคณะโบราณคดีด้วย”

ก่อนที่ทีมนวัตกรจะลงพื้นที่สำรวจร่วมกับทีมคณะโบราณคดีของมหาวิทยาลัยศิลปากร พวกเขาเล่าว่าจะต้องศึกษาเอกสารและวารสารวิชาการต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานด้านโบราณคดีเพื่อสำรวจว่ามีส่วนไหนบ้างที่ต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ช่วยยืนยันหลักฐาน 

“ช่วงแรกเราจะศึกษาข้อมูลก่อนว่าช่วยอะไรได้บ้าง นักโบราณคดีต้องการตรวจสอบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อะไรบ้าง โดยศึกษาว่าทีมขุดค้นทำงานประเภทไหน เขาเคยทำอะไรมาก่อนที่เราจะไปลงพื้นที่กัน เช่น เขาเคยไปเจอสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง สมุดบันทึกนั้นทำด้วยใบลาน ทำจากสีแต่สีจางไป ใบลานฉีกขาด แล้วถ้าอยากจะบูรณะจะต้องทำยังไง เราก็จะไปลองศึกษาผ่านเอกสารหรือข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบไหนที่จะไปช่วยตอบโจทย์ได้ เมื่อเราได้เทคนิคต่างๆ มา ก็จะย้อนไปดูว่าเรามีเทคโนโลยีนี้กันหรือเปล่า” ภัทรวิน เกษมจิตต์ หนึ่งในทีมนวัตกร GC เล่า

หลังจากศึกษาข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ทีมวิจัยจึงลงพื้นที่สำรวจวัดราชบัลลังก์ประดิษฐารามร่วมกับทีมคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ในกระบวนการสืบค้นนั้น เป้าหมายหลักที่ทางทีมโบราณคดีต้องการคือ ‘วัสดุศาสตร์’ เช่น สีที่ขาดหายไป ณ จุดนั้นคือสีอะไร มันหายไปจริงๆ หรือมีกลิ่นของสีออกมาอยู่ แล้วสีนี้มาจากวัสดุประเภทไหน กลิ่นเล็กๆ คืออะไร เราจะใช้เทคโนโลยีของเราไปดมหรือพิสูจน์เพื่อให้สามารถบอกได้ว่าเป็นสีของอะไรในสมัยก่อน” วันชนะ สมบุญ นักวิจัย หนึ่งในทีมนวัตกรบอกเล่ารายละเอียดการทำงานให้ฟัง

“รูปแบบอื่นๆ ที่เราได้รับโจทย์มาคือ เขาอยากรู้ว่าใช้เวลาปลูกสร้างวัสดุต่างๆ นานแค่ไหน พวกอิฐ หิน ดิน ทราย ในสมัยนั้นมีเทคโนโลยีในการผลิตยังไง และการผลิตในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกัน เนื่องจากสิ่งปรุงแต่งในแต่ละพื้นที่มันต่างกัน ดินในประเทศไทย ดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือดินทางภาคเหนือ ก็จะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งปลูกสร้างออกมา สีก็ต้องแตกต่างกัน อิฐที่ออกมา ถึงแม้จะมีสีแดงใกล้เคียงกัน แต่ก็แยกแยะประเภทได้อีก แดงส้ม แดงเหลือง แล้วระยองเป็นประเภทไหน เราก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าสูตรที่เขาผลิตดินอันนั้นคืออะไร” วันชนะ สมบุญ จากทีมนวัตกร GC เล่าเสริม

การลงพื้นที่ทำให้ทีมนวัตกรได้เข้าใจโจทย์ที่ทีมขุดค้นจากศิลปากรต้องการ กระบวนการต่อไปคือการนำหลักฐานที่ค้นพบบางส่วนเข้าห้องแล็บเพื่อใช้เทคโนโลยีช่วยพิสูจน์ข้อมูล ซึ่งต้องใช้ถึง 3 เครื่องมือในการตรวจสอบ

“ส่วนแรกจะดูวัสดุของอาคาร โบสถ์ และเจดีย์ ว่าเขาสร้างขึ้นมาอยู่ในสมัยใกล้ๆ กันหรือเปล่า หรืออยู่ในช่วงเวลาเดียวกันไหม เพราะฉะนั้นเราจะตั้งสมมติฐานว่าถ้าเขาสร้างในเวลาที่ใกล้กัน วัสดุที่ใช้สร้างมันควรจะเป็นวัสดุเดียวกัน โดยองค์ประกอบที่อยู่ในวัสดุจะเหมือนกัน อย่างเช่นตัวดินก็น่าจะเป็นดินที่มาจากแหล่งเดียวกัน” ภัทรวินอธิบาย

“เครื่องที่จะใช้บอกว่าเป็นวัสดุเดียวกันหรือเปล่าคือกล้องอิเล็กตรอน ตัวเครื่องจะสร้างอิเล็กตรอนขึ้นมา แล้วอิเล็กตรอนเหล่านั้นจะไปสัมผัสกับพื้นผิววัสดุ จากนั้นมันจะเกิดปฏิกิริยาหลายรูปแบบคือเกิดการสะท้อน การกระเจิง หรือการดูดซับตัวพื้นผิวนั้นบ้าง โดยหลักการเหล่านี้จะทำให้เห็นลักษณะของพื้นผิว” 

ภัทรวินเล่าอีกว่ากล้องอิเล็กตรอนสามารถส่องได้หมื่นเท่า ทำให้เห็นพื้นผิวที่เป็นรูพรุนเล็กๆ ของวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง แต่การดูแค่พื้นผิวเองอาจจะยังไม่ตอบโจทย์มากนัก ภายในห้องแล็บจึงมีเครื่องมืออีกอย่างที่ติดอยู่กับเครื่องอิเล็กตรอนตัวนี้เพื่อช่วยให้ระบุข้อมูลของวัตถุได้มากขึ้น

“เราให้ชื่อมันว่าเป็น EDS ย่อมาจาก Energy Dispersive X-ray เป็นรังสี X ที่สามารถบอกได้ว่าวัตถุนั้นๆ เป็นธาตุประเภทไหน อย่างเช่น แคลเซียม ซิลิคอน ออกซิเจน คาร์บอน เพราะฉะนั้นถ้าหากอิฐที่นำมาพิสูจน์ผลออกมาว่ามีสัดส่วนขององค์ประกอบใกล้เคียงกัน มันก็จะระบุได้ว่าสองสิ่งปลูกสร้างมันถูกสร้างมาในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งจากการวิเคราะห์เราค้นพบว่าองค์ประกอบของอิฐที่เราเอามาพิสูจน์ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ขององค์ประกอบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ซึ่งก็อาจจะบอกคร่าวๆ ได้ว่า อิฐที่เอามาใช้สร้างโบสถ์กับสร้างเจดีย์นี้น่าจะมาจากแหล่งเดียวกันและผลิตในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน” 

อีกประเด็นที่ทีมนวัตกรจะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยหาคำตอบคือ เรื่องของสี ซึ่งเป็นสีที่ปรากฏในภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังและอาคารต่างๆ ในวัด

“เมื่อก่อนคนจะใช้สีที่ทำมาจากแร่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารหนู สังกะสี ทองแดง แต่ละแร่จะให้สีแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่เราจะใช้เพื่อดูตัวแร่พวกนี้คือ ‘แสงรามาน’ ซึ่งแสงนี้จะบอกได้ว่าธาตุต่างๆ ผสมกับอะไรบ้าง เช่น ธาตุทองแดงที่ต่อพันธะกับออกซิเจน หรือธาตุทองแดงที่ต่อพันธะกับสังกะสี โดยการทำงานของเครื่องมือนี้จะแสดงกราฟของธาตุต่างๆ อย่างเป็นเอกลักษณ์และชัดเจน เราก็เลยใช้เทคนิคนี้มาบอก เช่น สีเขียวนี้คือแร่ธาตุที่เป็นสีเขียวอยู่แล้ว ก็จะขึ้นเป็นกราฟรูปแบบหนึ่ง หรือคนสมัยก่อนเอาแร่ธาตุสีน้ำเงินกับสีเหลืองมาผสมกันแล้วเป็นสีเขียว กราฟก็จะขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง” ภัทรวินอธิบายถึงการทำงานของเครื่องมือที่ทีมวิจัยใช้หาคำตอบอย่างเชี่ยวชาญ

ข้อมูลที่ได้จากเทคนิคแสงรามานนี้จะช่วยทำให้นักโบราณคดีต่อยอดความรู้เรื่องสีต่างๆ ได้ เช่น เมื่อพบว่าสีแดงได้มาจากแร่ธาตุตัวหนึ่ง ทีมโบราณคดีจะศึกษาต่อว่าแร่ธาตุนั้นอยู่ในพื้นที่ของวัตถุนั้นหรือไม่ หรืออยู่บริเวณข้างเคียงจุดไหน เพื่อจะทราบถึงภูมิศาสตร์ในอดีตและข้อมูลของการปลูกสร้างหรือการก่อสร้าง รวมถึงประวัติศาสตร์ในการค้าขายสินแร่ต่างๆ ของแต่ละยุคด้วย

นอกจากนี้ ทีมนวัตกรยังเล่าว่าในอนาคตอาจจะมีการต่อยอดด้วยการสร้างสีเลียนแบบธรรมชาติเพื่อบูรณะซ่อมแซมโบราณวัตถุให้คงสภาพอยู่ได้ในระยะยาวมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป้าหมายของทีมคือการสร้างงานที่มีคุณค่าเพื่อพัฒนาให้งานทางประวัติศาสตร์ส่งต่อไปถึงลูกหลานของระยองและประเทศไทยได้

“เราจะมีโครงการแรกที่เราเริ่มทำคือการเก็บข้อมูลเรื่องสีโบราณ โดยจะทำเป็นฐานข้อมูลสารบัญของสีโบราณในแต่ละสมัย เช่น ในสมัยอยุธยาจะเน้นใช้สีแดง สีทอง สีดำ  ส่วนช่วงกรุงรัตนโกสินทร์จะเน้นสีเหลืองหรือสีน้ำเงิน แล้วแต่ละสีมีองค์ประกอบอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร โดยโครงการนี้จะเป็นโครงการแรกที่เริ่มเก็บข้อมูลสีโบราณโดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ทำให้เกิดข้อมูลใหม่ๆ ขึ้น” ภัทรวินเล่า

 

รวมกันมันมีพลังกว่า

ระหว่างทางของการทำงาน แม้ว่านักวิจัยทั้งสองทีมจะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกันตามสายงานของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือพวกเขามักจะคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิธีการเรียนรู้ร่วมกันเสมอ โดยเฉพาะการช่วยเหลือกันในข้อจำกัดของการใช้งานด้านเทคโนโลยี 

“เราไม่สามารถยกเครื่องมือไปทำงานนอกสถานที่ได้ แต่ถ้าเราจะนำวัตถุตรงนั้นมาใช้ก็อาจจะทำให้วัตถุเสียหาย เพราะบางอย่างไม่สามารถขุดหรือตักมาพิสูจน์ได้เยอะ เราเลยต้องคุยกับนักวิจัยที่ศิลปากรว่าต้องหาวิธีอะไรบ้างที่จะนำวัตถุมาหาข้อมูลได้โดยไม่ทำให้เสียหาย” ดร.จิตติ์พรเล่า ก่อนนักวิจัยอย่างภัทรวินจะช่วยเสริมว่า

“ตัวอย่างวัตถุที่ทีมศิลปากรสามารถส่งมาให้เราที่ห้องแล็บได้ เช่น อิฐ สี ซึ่งจริงๆ สามารถขูดเป็นผงฝุ่นมาได้ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับวัตถุมากนัก ส่วนตัวอย่างของวัตถุที่ส่งมาไม่ได้จริงๆ ก็เช่นฐานพระ เราไม่สามารถสกัดมาเพราะอาจเกิดความเสียหายได้”

นอกจากนี้ ทีมนวัตกรยังเล่าว่า ผลของข้อมูลจากเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ช่วยให้นักโบราณคดีสามารถนำข้อมูลไปต่อยอดความรู้ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น เช่น การค้นพบแร่ธาตุในสีแดง นักโบราณคดีจะไปศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าในบริเวณพื้นที่นั้นๆ ภูมิศาสตร์ในอดีตเป็นอย่างไร มีการปลูกสร้างหรือมีการก่อสร้างอย่างไร และในประวัติศาสตร์มีการค้าขายสินแร่ แบบไหนบ้าง

“พวกเราเชื่อในการทำงานร่วมกัน เพราะมันมีพลัง ยิ่งการทำงานกับทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้น ด้วยความเป็นนักค้นคว้าของทั้งสองฝั่ง ที่แม้ว่าระหว่างทางของการทำงานจะมีกระบวนการที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างงานที่ทรงคุณค่า ซึ่งสิ่งนี้เป็นการร่วมทำงานที่เรียกว่า ‘Interdisciplinary’ หรือ ‘สหวิทยาการ’ ที่นำศาสตร์แห่งความรู้แขนงต่างๆ มาใช้ร่วมกันได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งสุดท้ายเราจะได้งานที่มีพลังมากๆ” ดร.จิตติ์พรทิ้งท้าย


Rayong Time Ago คือซีรีส์คอลัมน์เล่าคอนเซปต์มรดกที่มีชีวิต (Living Heritage) ของจังหวัดระยอง ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสถานที่เก่าแก่ ซึ่งขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ โดยมีจุดตั้งต้นจากโปรเจกต์ที่ร่วมมือกันระหว่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ติดตามบทความต่อไปได้ที่เว็บไซต์ adaymagazine.com

AUTHOR