พาเดินเท้าสำรวจสถาปัตยกรรมเก่าแก่ร้อยปีบนถนนยมจินดา ย่านเก่าที่ได้ชื่อว่าเป็น Beverly Hills แห่งระยอง

แม่น้ำระยองโผล่หน้ามาต้อนรับเราแรกสุดก่อนจะเดินเข้าไปเจอกับถนนยมจินดาซึ่งวางตัวข้างๆ กัน สารภาพว่าครั้งแรกที่เห็นแม่น้ำระยองสายเล็กที่น้ำขุ่นและแคบ เรานึกภาพไม่ออกเลยว่าครั้งหนึ่งย่านนี้เคยเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดของเมืองระยองได้ยังไง

หากย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็คงจะได้คำตอบ

จุดเริ่มต้นของความคึกคักของถนนสายนี้เกิดขึ้นได้เพราะทำเลที่ตั้ง ด้วยอยู่ริมแม่น้ำระยองซึ่งเดิมทีถูกใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางและการขนส่งสินค้า จึงทำให้มีการตั้งชุมชนกระจายตัวริมสองฝั่งแม่น้ำ

ชุมชนยมจินดาเกิดขึ้นพร้อมกับการตัดถนนยมจินดาซึ่งเป็นถนนสายแรกของเมืองระยอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2443 เป็นถนนที่ผ่าใจกลางเมืองและวางตัวขนานไปกับแม่น้ำระยอง ทำให้ชุมชนยมจินดากลายเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย แหล่งการค้า รวมถึงแหล่งขนถ่ายสินค้าไปยังกรุงเทพฯ และหัวเมืองอื่นๆ

เมื่อมีการตัดถนนยมจินดา แม่น้ำระยองซึ่งเคยเป็นเหมือนเส้นโลหิตสำคัญก็ถูกลดความสำคัญลง จากบ้านเรือนที่เคยหันหน้าเข้าแม่น้ำก็ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารและตึกแถวที่หันหน้าเข้าหาถนน บางบ้านก็ใช้วิธีดีดและงัดบ้านทั้งหลังให้หน้าบ้านหันกลับมาฝั่งถนน และเมื่อผู้คนหันมาสัญจรทางบกมากกว่าทางน้ำ แม่น้ำระยองจึงแปรเปลี่ยนจากสถานะประตูรับแขกหน้าบ้านเป็นแค่คลองหลังบ้านเท่านั้น

เมื่อการคมนาคมเริ่มสะดวก ความเจริญก็เข้ามาเคาะประตูบ้านเรือนในย่านนี้ ชุมชนยมจินดาจึงค่อยๆ เติบโตและรุ่งเรืองสุดขีดในฐานะย่านการค้าที่สำคัญของระยองและภาคตะวันออก

ในสมัยนั้น เจ้าสัวนายทุนมาปักหลักทำธุรกิจบนถนนยมจินดา คหบดีและเศรษฐีต่างท้องถิ่นก็มักจะมาจับจองที่ดินสำหรับสร้างบ้านเรือน รวมถึงร้านค้าต่างๆ ก็ทยอยมาเปิดที่นี่ อาคารพาณิชย์จึงเรียงรายเต็มสองฝั่งถนน ทั้งโรงหนัง โรงฝิ่น โรงสี ธนาคาร ร้านทอง ร้านยาจีน ร้านเครื่องเขียน และอู่ต่อเรือ

เพราะเป็นถนนสายแรก ความเจริญทั้งหมดของเมืองระยองจึงกระจุกตัวอยู่ที่ถนนยมจินดา ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นย่านคนรวยไปโดยปริยาย ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพ ย่านนี้คงเหมือนกับ Beverly Hills ในลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นย่านคนมีฐานะที่นิยมสร้างบ้านหลังใหญ่โต บนถนนยมจินดาเองก็มีทั้งบ้านขุนนางและคหบดีให้เห็นอยู่หลายหลัง

ทุกวันนี้พื้นเพของผู้คนที่อยู่อาศัยในชุมชนยมจินดาส่วนใหญ่เป็นคนระยอง และมีส่วนหนึ่งที่บรรพบุรุษเป็นชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไหหลำและแต้จิ๋วมาตั้งบ้านเรือนที่นี่ด้วย จุดสังเกตคือบ้านของคนจีนนิยมใช้ประตูบานเฟี้ยมซึ่งสามารถพับเป็นส่วนๆ ได้

ภายนอกแล้วชุมชนยมจินดาเป็นย่านการค้าที่มีทั้งตึกแถว อาคารไม้ และอาคารก่ออิฐถือปูน ปะปนกันไป เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน บ้านเรือนส่วนใหญ่ที่เป็นร้านค้าก็กลายมาเป็นที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังหลงเหลือเค้าลางของความเป็นศูนย์กลางความเจริญให้เห็น

พอพูดถึงความรุ่งเรืองต่างๆ นานาและความใหญ่โตโอ่อ่าของบ้านเรือนที่นี่แล้ว หลายคนอาจจะยังไม่เห็นภาพ เราเลยขออาสาพาเดินเท้าสำรวจถิ่นย่านบ้านเรือนบนถนนยมจินดา ซึ่งเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่บรรจุลมหายใจ ความทรงจำ และวิถีชุมชนดั้งเดิมของเมืองระยองเอาไว้

บ้านเจ้าเมือง ต้นตระกูลยมจินดา : จากเรือนคหบดีสู่ร้านอาหารต้นตำรับเมืองระยอง

บ้านเจ้าเมือง ต้นตระกูลยมจินดาเป็นบ้านไม้สีฟ้าติดริมแม่น้ำระยอง บ้านนี้เคยเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและอดีตที่ทำการของพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2474 ท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองระยองคนสุดท้ายและเป็นต้นตระกูลยมจินดา ถนนเส้นแรกของเมืองระยองหรือถนนยมจินดาที่เรายืนอยู่นี้ก็เป็นความคิดริเริ่มของเจ้าเมืองระยองท่านนี้ที่ให้ตัดถนนเลียบแม่น้ำระยอง

ภายหลังชาวระยองจึงเรียกขานถนนเส้นนี้ว่า ‘ยมจินดา’ เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านเจ้าเมือง ภายในตัวบ้านมีสารพัดของสะสมของเจ้าบ้านจัดแสดงตามมุมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นร้านอาหารต้นตำรับระยองแท้ๆ โดยทายาทตระกูลยมจินดา

บ้านบุญศิริ : บ้านสมัยใหม่แบบกรุงเทพฯ หลังแรกบนถนนยมจินดา

บ้านบุญสิริคือบ้านโมเดิร์นแบบกรุงเทพฯ หลังแรกบนถนนยมจินดา เป็นบ้านสองชั้น สร้างด้วยคอนกรีต มีรั้วรอบขอบชิด ด้านหน้าบ้านติดกับถนนยมจินดา ด้านหลังติดแม่น้ำระยอง เดิมทีที่ดินบริเวณนี้ทั้งหมดเป็นของพระยาศรีสมุทรโภคชัยโชคชิตสงคราม (เกตุ ยมจินดา) ต่อมาทายาทของท่านได้แต่งงานกับพูน บุญศิริ อดีตนายกเทศมนตรีเมืองระยอง จึงได้แบ่งที่ดินผืนใหญ่ของเจ้าเมืองมาสร้างเป็นบ้านบุญศิริหลังนี้เมื่อ พ.ศ. 2474 บ้านบุญศิริจึงอยู่ในละแวกเดียวกันกับบ้านเจ้าเมืองยมจินดาเพราะเคยเป็นที่ดินผืนเดียวกันมาก่อน

ตึกกี่พ้ง : ตึกสไตล์ชิโนโปรตุกีสหลังแรกในระยอง

เจ้าของตึกคนแรกคือ กี่พง แซ่ตั๋น เศรษฐีชาวจีนจากปักษ์ใต้ ตึกกี่พ้งถือว่าเป็นตึกแบบตะวันตกหลังแรกของเมืองระยอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 เป็นตึกสองชั้นทรงสี่เหลี่ยมซึ่งมีความยาวถึง 12 คูหา ด้านหน้าไม่กว้างนักแต่เน้นให้อาคารมีความลึกและยาว

อาคารเป็นศิลปะแบบชิโน-โปรตุกีส หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาตึกทรงนี้จากย่านเก่าเมืองภูเก็ต เพราะมีการว่าจ้างช่างชาวภูเก็ตมาสร้างตึกหลังนี้ สมัยก่อนเป็นที่จำหน่ายพริกไทยและเสื้อผ้านำเข้าจากเมืองจีน ต่อมาทายาทคือนายสิงห์และนางกราย กลิ่นสมุทร ได้เก็บรักษาตึกหลังนี้ไว้ ปัจจุบันพื้นที่ครึ่งหนึ่งของตึกกี่พ้งถูกแบ่งทำเป็นร้านขายของ

ตึกเถ้าแก่เทียน : อดีตธนาคารพาณิชย์แห่งแรก สู่แกลเลอรีและศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์

ตึกนี้เปลี่ยนมือมาหลายเจ้าของซึ่งล้วนแต่เข้ามาสร้างตำนานบนถนนยมจินดา โดยแรกเริ่มท่านขุนพานิชชลาสินธุ์ หรือเถ้าแก่เทียน เป็นผู้สร้างตึกนี้ซึ่งเป็นตึกปูนเก่าแก่เป็นอันดับ 2 รองจากตึกกี่พ้ง

ตัวตึกเป็นศิลปะชิโน-โปรตุกีสที่ให้กลิ่นอายจีนผสมตะวันตก โดยเถ้าแก่เทียนได้แรงบันดาลใจมาจากตึกรามในจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นบ้านเกิด บริเวณจั่วด้านบนของผนังตึกทั้งสองข้างมีการตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายประณีต

สมัยแรกที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยและร้านค้า ต่อมามีการแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นสำนักงานธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของระยองในสมัยนั้น ภายหลังเปิดเป็นแกลเลอรีศิลปะในนาม ‘ดาวินชี สตูดิโอ’ หรือ ‘วิกเถ้าแก่เทียน’

ปัจจุบันตึกเถ้าแก่เทียนถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเมืองระยอง (Rayong Creativity Development Center – RCDC) เป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองระยองและถนนยมจินดา มีนิทรรศการพัฒนาการของเมืองระยอง ภาพถ่ายที่หาชมได้ยาก และภาพวาดตึกรามบ้านช่องต่างๆ บนถนนยมจินดา รวบรวมมาจัดแสดงที่ศูนย์นี้ด้วย ไฮไลต์อีกอย่างคือด้านข้างตึกมีภาพสตรีทอาร์ตที่วาดขึ้นใหม่เพื่อเลียนแบบโครงสร้างอิฐภายในตัวอาคารเดิม กลายเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินที่ใครแวะมายมจินดาจะต้องไม่พลาด

 

บ้านสัตย์อุดม : บ้านขุนนางเก่าสู่กล่องเก็บอดีตในนามพิพิธภัณฑ์เมืองระยอง

เดิมทีเป็นบ้านของขุนศรีอุทัยเขตร์ (โป๊ง สัตย์อุดม) ขุนนางผู้เป็นเจ้าของโรงสี โรงหนัง และอู่ต่อเรือ จุดเด่นของบ้านหลังนี้คือเป็นบ้านไม้สองชั้นที่ยังคงเก็บรักษาช่องลมที่มีลวดลายฉลุสไตล์จีนไว้

ปัจจุบันบ้านไม้หลังนี้ถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองระยองซึ่งได้รับการเอื้อเฟื้อสถานที่จากบ้านสัตย์อุดม โดยเกิดจากความตั้งใจของกลุ่มชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่าระยอง ให้เป็นที่รวบรวมของเก่าของดีของจังหวัด ทั้งภาพถ่ายโบราณหาชมยาก ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวระยองในอดีต เช่น เฟอร์นิเจอร์สมัยโบราณ ข้าวของเครื่องใช้ที่หาดูได้ยาก เปลือกหอยโบราณ ภาพเจ้าเมืองระยอง ภาพการแต่งกายสมัยก่อน ภาพตึกรามบ้านช่องสมัยโบราณ


บ้านมาลีวณิชย์ : บ้านไม้สไตล์จีนที่ประดับด้วยกระเบื้องจากอิตาลี

บ้านมาลีวณิชย์เป็นอาคารหลังใหญ่ทำจากไม้ทั้งหลัง ใช้เทคนิคการสร้างแบบโบราณคือกั้นผนังด้วยไม้ฝาแบบบานเกล็ด และเป็นประตูแบบบานเฟี้ยมซึ่งเป็นลักษณะดั้งเดิมของร้านค้าชาวจีนมาตั้งแต่อดีต ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสกจากอิตาลีซึ่งปัจจุบันยังคงเก็บรักษาพื้นเดิมไว้อยู่ ปัจจุบันบ้านนี้เป็นร้านขายหนังสือและหมอนของชาวจีน

จากการบอกเล่าของเจ้าของบ้านรุ่นที่สอง บ้านมาลีวณิชย์ยังคงรูปแบบและวัสดุเดิมไว้โดยไม่มีการต่อเติมหรือซ่อมแซมมากนัก และเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของบ้านไม้เก่าใจกลางชุมชนยมจินดาที่แสดงให้เห็นความเก่าแก่และความรุ่งเรืองของชุมชนการค้าของชาวจีน

ศาลเจ้าแม่ทับทิม : ศาสนสถานของชาวจีนกลางชุมชนยมจินดา

นอกจากบรรดาร้านรวงต่างๆ บนถนนยมจินดาแล้ว ยังมีศาลเจ้าแม่ทับทิมที่อยู่คู่ชุมชนและมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปี

ศาลเจ้าแม่ทับทิม หรือศาลตุ้ยบ้วยเนี่ย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2421 เพื่อประดิษฐานองค์เจ้าแม่ทับทิมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่กราบไหว้ของชาวระยอง ศาลนี้เป็นศาลเจ้าที่หันออกสู่แม่น้ำระยอง องค์เจ้าแม่อัญเชิญมากับเรือเพื่อให้คนมาขอพรให้รอดพ้นจากอันตรายขณะเดินเรือในทะเล นอกจากจะเป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาในย่านนี้แล้ว ปัจจุบันยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนทั่วไปในแถบนี้ด้วย

ศาลเจ้าในย่านการค้าแห่งนี้จึงเป็นหลักฐานของการเข้ามาตั้งรกรากของชาวจีนที่ไม่ทิ้งขนบดั้งเดิมของตนซึ่งมีชีวิตพันผูกอยู่กับเทพเจ้า นอกจากศาลเจ้าแม่ทับทิมจะเป็นตัวแทนของการมีอยู่ของกลุ่มชาวจีนบนถนนสายนี้แล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีนที่แม้จะไม่ได้อยู่รวมกันเป็นชุมชนหนาแน่นเหมือนแต่ก่อน แต่ก็ยังกลับมารวมตัวกันเมื่อถึงงานเทศกาลสำคัญๆ โดยในแต่ละปีจะมีการจัดงานต่างๆ เช่น งานกินเจ งานลุยไฟ งานแจกข้าวสาร

ตลาดโรงสี : ชวนช้อปปิ้งและชิมอาหารพื้นถิ่นเมืองระยอง

เดิมตลาดโรงสีคือโรงสีไฟของคุณพูน บุญศิริ ซึ่งถือเป็นโรงสีที่รุ่งเรืองที่สุดในยุคนั้น ปัจจุบันด้านหน้าเปิดเป็นตลาดขนาดย่อมช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นตลาดที่สนับสนุนการรักษาประเพณีของชุมชน

ถ้าใครได้มาเยือนตลาดโรงสีแห่งถนนยมจินดา เราขอแนะนำขนมท้องถิ่นหากินยากอย่างขนม ‘มัดไต้’ หรือขนมข้าวต้มมัดไส้คาวของชาวระยอง ทำจากข้าวเหนียวใส่ไส้ถั่วเหลืองซีกผสมหมู ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย ห่อด้วยใบกะพ้อซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่น มัดเป็นปล้องๆ ให้แน่นแล้วนำไปนึ่ง นอกจากขนมมัดไต้ที่ห้ามพลาดแล้ว ที่นี่ยังมีอาหารขึ้นชื่อของระยองอย่าง ‘แกงหมูใบชะมวง’ สูตรต้นตำรับฝีมือชาวบ้านชุมชนยมจินดาให้ชิมด้วย

ใครสนใจอยากเดินทางไปสัมผัสกลิ่นอายสถาปัตยกรรมรุ่นเก๋าและเรื่องราวบนถนนยมจินดาสามารถใช้เส้นทางถนนสุขุมวิท เลี้ยวขวาแยกปากน้ำระยอง เลยวัดลุ่มมหาชัยชุมพลไปประมาณ 100 เมตร ทางเข้าถนนยมจินดาจะอยู่ทางขวามือ


ขอขอบคุณข้อมูลจากโครงการวิจัยข้อมูลชาติพันธุ์และวิถีชุมชนระยอง จัดทำโดยคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความร่วมมือกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), คุณเฉลียว ราชบุรี (รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดระยอง), คุณอธิวัฒน์ คุณาเดชดี (ศูนย์พัฒนาข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองระยอง) และคุณสุทธิพร ภู่ธนะพิบูล (เลขาฯ มูลนิธิกุศลร่วมใจ ศาลเจ้าแม่ทับทิมระยอง)

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี