ฤดูหนาวปีนี้เป็นปีแรกที่ฉันไม่ได้อยู่เชียงใหม่ เมื่อได้สัมผัสความเย็นในเมืองกรุงก็พานทำให้คิดถึงบ้านเกิดตัวเองขึ้นมา จินตนาการภาพในหัวว่าถ้าได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ตะลุยลมหนาวบนถนนเลียบแม่น้ำปิงคงสนุกแน่ๆ
เหมือนโชคเข้าข้าง ฉันถูกส่งมาทำงานที่เชียงใหม่ ด้วยเพราะการงานฉันจึงไม่อาจควบมอเตอร์ไซค์ขี่ตะลอนอย่างใจหวัง แต่นี่ก็ถือเป็นโชคดีมากๆ อยู่ดีที่ได้มาสัมผัสลมหนาวของบ้านเกิดอีกครั้ง แม้อากาศตอนไปถึงจะไม่ได้หนาวจนตัวสั่น แต่ก็เย็นกว่ากรุงเทพฯ หลายขุม เป็นความหนาวที่ทำให้ฉันรู้สึกอุ่นในหลายมิติ
ความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งที่ฉันค้นพบระหว่างการทำงานครั้งนี้คือ ความประหลาดใจจากการเป็นแขกของบ้านตัวเอง
ฉันไม่เคยนอนโรงแรมที่เชียงใหม่ แต่จากประสบการณ์การไปพักผ่อนในหลายๆ ที่ Raya Heritage ถือว่าเกินความคาดหวังของฉันไปมากโข ว่ากันตามตรง ในเชียงใหม่มีโรงแรมที่ใช้คอนเซปต์ชูความเป็นล้านนาอยู่เต็มไปหมด รายาก็เช่นกัน ถึงกระนั้นที่นี่ก็มีบางสิ่งที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากที่อื่นอยู่ดี
เป็นบางสิ่งที่ทำให้ฉันคิดว่าการเป็นแขกในบ้านตัวเองมันดีจัง
มรดกทางวัฒนธรรมของคนริมน้ำ
ฉันมาถึงที่ Raya Heritage ในวันที่แดดอุ่นกำลังดี
สิ่งแรกที่สะดุดตาคือหลังคากระเบื้องดินเผา เป็นหลังคาที่ทำให้นึกถึงหลังคาวัดสไตล์ล้านนาที่ฉันเคยเห็นแต่เด็ก เอียงและเตี้ยกว่าหลังคาทั่วไปเพื่อป้องกันลมหนาว เมื่อเดินเข้ามาด้านใน ฉันเจอกับพนักงานในชุดสีครีมที่ยกน้ำรากบัวควันฉุยกับผ้าอุ่นมาเสิร์ฟ
เซตเวลคัมดริงก์ที่แปรผันไปตามฤดูกาล คือความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ประการแรกที่ฉันสังเกตเห็น
ฉันจิบน้ำรากบัวอุ่นที่เข้ากันดีกับอากาศเย็นและเสียงพิณเปี๊ยะบรรเลงรื่นหู ความผ่อนคลายค่อยๆ แผ่กระจายไปทั่วร่างกาย “รากบัวไม่มีรส แต่ดีต่อสุขภาพ คนจีนจึงชอบใส่รากบัวในเครื่องดื่มหรืออาหาร” พี่พนักงานผู้หญิงอธิบายประกอบ
หลังจากจัดการธุระที่รีเซปชั่น (ที่นี่เรียกว่า ‘ต้นห้อง’) เสร็จสรรพ คนของโรงแรมก็พาฉันเดินผ่านโถงกลาง มันคือพื้นที่โล่งกว้างสีเขียวที่ขนาบข้างกับสถาปัตยกรรมสีขาวสะอาดตา ขณะกำลังก้าวขา พี่พนักงานชี้ให้ดูต้นไม้สองต้นที่ตั้งอยู่ตรงกลาง “นั่นคือพ่ออุ๊ยและแม่อุ๊ย (คุณปู่และคุณย่า) ของโรงแรมนะ เพราะทั้งสองต้นน่ะตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้นมาตั้งแต่ก่อนที่รายาเฮอริเทจจะเริ่มสร้างเสียอีก”
เธอเล่าให้ฉันฟังเพิ่มว่า ความจริงแล้วรายา เฮอริเทจ เชียงใหม่ เป็นโรงแรมในเครือเดียวกันกับโรงแรมรายาวดี จังหวัดกระบี่ คำว่า ‘รายา’ แปลว่าหญิงสาว ส่วน Heritage ที่แปลตรงตัวว่ามรดกนั้น สื่อไปถึงคอนเซปต์เริ่มแรกของที่นี่ที่มีการหยิบมรดกทางวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่ผู้ใช้ชีวิตริมน้ำมาสอดแทรกในทุกองค์ประกอบ
ทุกอย่างของที่นี่สะท้อนวิถีชีวิตของคนบ้านท่า (มีบ้านติดกับน้ำ) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเริ่มตั้งแต่ทำเลติดแม่น้ำปิงที่กำลังไหลเอื่อยอยู่ตรงหน้าฉันตอนนี้
ข้าวของจากภูมิปัญญาคนท้องถิ่น
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่แพ้กัน คือรายาเลือกหยิบข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาประดับตกแต่งสถานที่ บ้างแค่ตกแต่ง บ้างก็เป็นของที่ผู้เข้าพักสามารถใช้ได้จริง
ห้องพักของที่นี่มีทั้งหมด 38 ห้อง แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ไล่ตั้งแต่ชั้น 3 ชั้นบนสุดคือ ‘เฮือนบน’ (แปลว่า บ้านชั้นบน) ห้องใต้หลังคาโทนสีขาวครีม ให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง มีระเบียงที่มองเห็นแม่น้ำปิงในมุมสูง ถัดลงมาอีกชั้นคือ ‘รินเทอร์เรซ’ ห้องโทนสีดำซึ่งมีระเบียงมองน้ำแบบเดียวกัน และสุดท้ายคือ ‘ครามพูล’ ห้องชั้นล่างสุดฉันจะได้พักในคืนนี้
ความสนุกระหว่างทางเดินไปห้องพักของฉันคือการเห็นข้าวของจากภูมิปัญญาถูกนำมาตกแต่งในหลืบมุมต่างๆ และสนุกขึ้นไปอีกขั้นเมื่อเจอมันในห้องพัก เริ่มตั้งแต่ประตูเข้าห้องที่ทำจากไม้ไผ่ โอ่งใบใหญ่ข้างสระว่ายน้ำส่วนตัว รองเท้าสลิปเปอร์จากงานสาน ปลอกหมอนผ้าทอมือย้อมสีคราม อุปกรณ์หาปลาตาข่ายที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นโคมไฟในห้องน้ำ ไปจนถึงการนำ ‘ต๋าแหลว’ เครื่องรางไล่ภูตผีปีศาจของคนเหนือมาทำป้าย Do Not Disturb
ที่เจ๋งคือข้าวของสุดโลคอลเหล่านี้สามารถมิกซ์แอนด์แมตช์กับดีไซน์ห้องโมเดิร์นได้อย่างลงตัว และมันไม่ได้เป็นแค่ของตกแต่งขำๆ ที่ฉาบฉวยเท่านั้น ทุกชิ้นคืองานฝีมือ ทำขึ้นจากวัตถุดิบในท้องถิ่น แม้แต่ส่วนที่เล็กที่สุดอย่างโลชั่นหรือแชมพูในห้องน้ำ รายาก็เน้นวัตถุดิบออร์แกนิกของคนเหนือ (แอบกระซิบบอกว่าฉันรักแชมพูกลิ่นดอกตาเหินเป็นที่สุด)
ความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้ทำให้ฉันคิดว่าสิ่งที่รายาอยากมอบให้แขกมันเลยคำว่าการพักผ่อนไปไกล
ข้าวของพวกนี้มาจากไหน นั่นคือสิ่งที่ฉันสงสัยก่อนจะหลับผล็อยในคืนนั้น
สำรวจความหลากหลายของคำว่าล้านนาผ่านมื้ออาหาร
รุ่งเช้าหลังจากได้พักผ่อนจนเต็มอิ่ม ฉันและช่างภาพออกจากห้องมาสูดอากาศแสนสดชื่นริมน้ำปิงเข้าเต็มปอด แล้วตรงดิ่งไปที่ ‘คุข้าว’ 1 ใน 3 ห้องอาหารของรายาเพื่อทานข้าวเช้า ถ้าหากคุณกำลังสงสัยว่ารายาแตกต่างจากโรงแรมอื่นๆ ที่ชูคอนเซปต์ความเป็นล้านนายังไง อาหารคือหนึ่งในคำตอบ
เวลาคิดถึงล้านนา ฉันก็มักจะตีความไปเองว่าล้านนาคือเชียงใหม่ แต่คำว่าล้านนาของรายานั้นหมายความรวมไปถึงพม่า เชียงตุง เชียงรุ้ง เชียงคำ จีนยูนนาน และลาว เรียกว่าเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมก็ว่าได้
นิยามนี้ส่งผลถึงอาหารที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมอันหลากหลาย ที่นี่จึงมีเมนูอย่าง ข่างปองไทใหญ่, น้ำพริกเขมร, น้ำพริกมะกรูด, สเต๊กเนื้อโพนยางคำ หรือถ้าคุณไม่ได้มีฟีลอยากกินอาหารท้องถิ่นขนาดนั้นก็มีอาหารไทยง่ายๆ อย่างผัดไท และเมนูเวสเทิร์นรองรับลูกค้าต่างชาติอย่างสลัดหรือ poached egg ให้เลือก
อ้อ แล้วนอกจากเมนูอาหาร all day dining ที่สั่งได้ทั้งวัน ที่นี่ยังมีเซต afternoon tea คอยเสิร์ฟอยู่ที่ ‘ลานชา tea room’ ห้องอาหารบนชั้นสองตั้งแต่เวลา 11 โมงเป็นต้นไป ขอเตือนก่อนว่าเซต afternoon tea ของที่นี่อาจไม่เหมือนที่ไหน เพราะเสิร์ฟมาในปริมาณที่สามารถทานแทนข้าวเที่ยงได้เลย
วันที่ฉันไปมีทั้งของคาวและของหวานอย่าง สตรอว์เบอร์รีทาร์ต, อโวคาโด้เบคอน, สโคนที่ทานคู่กับแยมมัลเบอร์รี, คริปปี้แครปเค้ก, และไก่เสฉวน ทานคู่กับชาพะยอมอุ่นๆ ท่ามกลางลมหนาวดีนักแล
นอกจากนี้ หากคุณนึกกิจกรรมที่อยากทำระหว่างวันไม่ออก ที่นี่ก็มีกิจกรรมให้คุณได้เข้าร่วมแก้เบื่อด้วยเหมือนกัน ความพิเศษคือเป็นกิจกรรมที่แตกต่างกันทุกวัน ใช้เวลาสั้นๆ แค่ 1 ชั่วโมง และเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น เช่น การพับดอกใบเตย การสอนทำต๋าแหลว การสอนสานไม้ไผ่ การสอนทำการ์ดจากดอกไม้และต้นไม้ และสุดท้ายคือกิจกรรม garden walk เดินทัวร์สวนผักออร์แกนิกที่นำมาใช้ทำอาหารให้ทานจริงๆ
ช็อปคัดสรรที่ซัพพอร์ตชุมชนอย่างยั่งยืน
รายา เฮอริเทจ เชียงใหม่ เปิดมาได้เกือบสองปี แต่เพิ่งมีส่วนไฮไลต์ที่สร้างขึ้นมาได้ไม่ถึงเดือน และฉันรู้สึกโชคดีเหลือเกินเพราะมาได้ถูกจังหวะพอดี
ไฮไลต์ที่ว่านั้นคือ ‘ฮิมกอง’
ฮิม แปลว่า ริม กอง แปลว่า ตรอกซอกซอยเล็กๆ ฮิมกอง จึงหมายถึง ร้านที่อยู่ในซอยเล็กๆ
ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ช็อปแห่งนี้คือที่ที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้เกือบทุกอย่างที่เราได้เห็นในรายา ตั้งแต่ของในห้องไปจนถึงเซตของตกแต่งตรงทางเดิน พูดได้ว่าถ้าถูกใจชิ้นไหน เราสามารถถ่ายรูปมาให้พนักงานเช็กสต็อกแล้วหิ้วกลับบ้านได้เลย
นอกจากของประเภทที่เราเคยเห็นผ่านตา ที่นี่ยังมีสินค้าแฮนด์เมดจากศิลปินเชียงใหม่รุ่นใหม่หลายคน แบ่งประเภทหลักๆ เป็นสิ่งทอย้อมคราม, งานจักรสาน, เครื่องปั้นดินเผา, งานไม้ และงานเซรามิก
จากการสนทนากับพี่พนักงานใจดีที่ฮิมกองนั้นเอง ฉันจึงรู้ว่าข้าวของทุกชิ้นที่เราเห็นในรายานั้นคืองานแฮนด์เมดของช่างฝีมือท้องถิ่น อันที่จริง การสนับสนุนงานฝีมือของคนในชุมชนคือสิ่งที่รายาให้ความสำคัญไม่แพ้การออกแบบประสบการณ์การใช้ชีวิตริมน้ำให้แขกเลย
ที่นี่มีการวางแผนจะทำงานกับคนในชุมชนตั้งแต่ต้น โดยเลือกชุมชนตามความถนัดในการทำงานคราฟต์ที่ต่างกัน อย่างอำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่ ที่ถนัดเรื่องการทำหมอน, อำเภอเสริมงาน ลำปางที่ถนัดเรื่องผ้าทอมือ, กลุ่มบ้านป่าบง อำเภอสารภี เชียงใหม่ที่ถนัดเรื่องงานสาน และชุมชนตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ที่ถนัดเรื่องการสานไม้แหย่ง
ความน่ารักคือ ตอนที่ลงพื้นที่ไปติดต่อ ทีมดีไซเนอร์ของรายาไม่มีการบังคับให้ ‘พ่อตู้แม่ตู้’ (หมายถึง ศิลปินที่ทำงานแฮนด์เมดเก่งชั้นครู) ทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด สมมติว่าอยากได้หมอนหนึ่งชิ้น ชุมชนไหนถนัดเย็บหมอนก็ทำหมอน แต่ถ้าไม่ถนัดทำปลอกหมอนก็ส่งต่อให้อีกชุมชนที่ถนัดเรื่องผ้าทอมือทำขึ้นมา
ที่สำคัญคือเรื่องไทม์ไลน์ในการทำงานนั้นสามารถประนีประนอมได้ ถ้าวันไหนคนในชุมชนต้องไปทำภารกิจอื่น หรือมีงานบุญต้องเข้าร่วมจนไม่มีเวลาทำ ไทม์ไลน์ก็พร้อมจะขยับด้วยจุดประสงค์เพื่อให้วิถีชีวิตของพวกเขาสามารถดำเนินไปเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือรายาจะได้ชิ้นงานที่คนในชุมชนภูมิใจที่สุดมาด้วย
คนของฮิมกองยังเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อปีที่แล้ว รายาเพิ่งจัดนิทรรศการ ‘เลือนจางไม่ลางหาย’ แสดงงานคราฟต์จากภูมิปัญญาของคนในชุมชน แล้วเชิญชาวบ้านที่เคยร่วมงานด้วยมาชม สิ่งที่เกิดขึ้นคือความประหลาดใจและดีใจที่ได้เห็นงานของตัวเองได้รวมร่างกับงานของชุมชนอื่นๆ จนเกิดเป็นชิ้นงานที่สวยงาม
“เราทำสิ่งนี้เพราะให้พวกเขาเห็นว่างานของพวกเขามีคุณค่า ให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานต่อ เราเชื่อมั่นในตัวพวกเขามานานแล้ว และอยากให้พวกเขาเชื่อมั่นในตัวเอง” คนของฮิมกองอธิบายด้วยรอยยิ้ม
“อีกหนึ่งจุดประสงค์คือเราอยากให้เด็กรุ่นใหม่ได้เห็นว่าภูมิปัญญาของพ่อตู้แม่ตู้รุ่นก่อนหน้าของเขาก็สามารถทำสิ่งที่ยั่งยืนได้ เราอยากให้การส่งทอดสิ่งที่ค่อยๆ หายไปให้ลูกหลานกลับมาเห็นค่าของมัน และสืบต่อ ให้เขาเห็นว่าเรามีสเปซตรงนี้ให้เจ็นฯ ใหม่”
แน่นอนว่าฮิมกองสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนจุดประสงค์นั้น และในอนาคต ช็อปเล็กๆ แห่งนี้อาจมีการขยับขยายไปสู่พื้นที่ออนไลน์เพื่อส่งต่อชิ้นงานเหล่านี้ให้คนหมู่มากได้เห็นมากขึ้น นี่แหละสิ่งที่รายาเรียกว่าการสนับสนุนอย่างยั่งยืน
ท่ามกลางอากาศหนาวของวันเช็กเอาต์ ฉันออกจากรายาด้วยความรู้สึกอุ่นๆ ในใจ ถ้ารายาแปลว่าหญิงสาว เธอน่าจะเป็นหญิงสาวชาวเหนือแสนใจดี รักวัฒนธรรมของตัวเอง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตเพื่อสืบสานวัฒนธรรมนั้นในทุกวัน
โรงแรม Raya Heritage และร้านฮิมกอง
address: ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ใกล้กับศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ จากคูเมืองใช้เวลาเดินทางประมาณ 15-20 นาที