Kanvela House เปลี่ยนตึกเก่าอายุร้อยปีเป็นโฮสเทลที่ทำเอาแขกผู้เข้าพักอยากหลงลืมวันเวลา

Highlights

  • Kanvela House คือโฮสเทลบรรยากาศบ้านเก่าริมคลองผดุงกรุงเกษม ย่านตลาดนางเลิ้ง ฝีมือการรีโนเวตของ แมค–ภีระสิทธิ์ สีมูลเสถียร อดีตหนุ่มเศรษฐศาสตร์ผู้เป็นหนึ่งในหุ้นส่วน
  • หัวใจของการรีโนเวตโฮสเทลแห่งนี้คือการรักษาความงามและความเป็นพื้นบ้านของอาคารแห่งนี้ไว้ อย่างตัวโครงสร้าง รวมทั้งดีเทลของบานประตู หน้าต่าง ฝ้า และพื้น ยังเป็นของดั้งเดิม คำว่า ‘รีโนเวตอย่างเข้าใจตัวอาคาร’ คงไม่ผิดกับที่นี่นัก
  • ภายใต้ชายคาเดียวกันยังมีโซนคาเฟ่สไตล์วินเทจชื่อว่า Buddha & Pals เสิร์ฟเมนูเครื่องดื่มคอนเซปต์สนุก รวมทั้งบริการอาหารเมนูง่ายๆ สำหรับคนที่มองหาที่พักใจระหว่างวัน

ย่านตลาดนางเลิ้งถือเป็นย่านเก่าในกรุงเทพฯ ที่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย แถมยังเคยเป็นพื้นที่สีเทาที่เงินสะพัดสุดๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะก่อนเป็นตลาดที่นี่เคยเป็นแหล่งพนันแหล่งใหญ่ จริงอยู่ที่ความรุ่งเรืองอาจเจือจางไปตามเวลา แต่กลิ่นของสถาปัตยกรรมเก่า อาหารในตลาด และร้านรวงของคนที่อาศัยอยู่ที่นี่มานาน ยังคงมีให้เราตามรอยอยู่

ขนาบข้างกับคลองผดุงกรุงเกษม คลองเก่าแก่ที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีโฮสเทลและคาเฟ่วินเทจอายุอานาม 1 ปีตั้งอยู่ แม้สีของตัวอาคารจะดูใหม่แปลกตากว่าตึกข้างเคียง แต่เมื่อเดินเข้าใกล้ เพ่งมองดีเทลต่างๆ ทั้งภายนอกและภายในแล้ว เราพบว่ามวลความสงบของที่นี่อยู่ร่วมกับความเก่าของสภาพแวดล้อมได้อย่างไม่ขาดไม่เกิน

‘Kanvela House’ คือที่ที่เราพูดถึง

ตึกแถวเก่าอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้เคยเป็นที่ทำงานของหลวงสิทธิ์โยธารักษ์ หมอยาผู้คิดค้นน้ำมันมวย เทวกรรมโอสถ มาก่อน กาลเวลาและเหตุการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนผัน ตึกแถวเก่าแห่งนี้ถูกเปลี่ยนมือผู้ใช้งานเรื่อยมา เคยเป็นทั้งร้านตัดเสื้อผ้า ร้านขายเครื่องประดับ กระทั่งเปลี่ยนผ่านมาถึงมือทายาทรุ่นที่ 4 ของหมอยาผู้โด่งดัง

เมื่อตัดสินใจก้าวเท้าเข้ามาในสถานที่พิเศษอย่าง Kanvela House แล้ว เรามาซึมซับเรื่องราวเบื้องหลัง รู้จักตึกเก่าที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์แห่งนี้ไปด้วยกันดีกว่า

 

ก้าวแรกแห่งกาลเวลา

พื้นที่ใช้สอยใต้ชายคาอาคารเก่าถูกแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ด้านหน้าของชั้นหนึ่งเป็นโซนคาเฟ่ ส่วนด้านหลังและชั้นสองเป็นโซนที่พัก ถัดจากโต๊ะรีเซปชั่น เราพบ แมค–ภีระสิทธิ์ สีมูลเสถียร หนึ่งในหุ้นส่วน อดีตหนุ่มเศรษฐศาสตร์ผู้ออกแบบโฮสเทลและคาเฟ่แห่งนี้ 

ยามนี้บรรดาลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามานั่งเล่นในคาเฟ่กันแน่นขนัด เจ้าตัวจึงเดินนำเราขึ้นไปยังชั้นสองของอาคาร ชวนสำรวจพื้นที่ส่วนห้องพักเป็นอันดับแรก

“จริงๆ ความตั้งใจแรกเริ่มของผมกับทายาทรุ่นที่ 4 เกิดจากความต้องการที่อยากปรับปรุงตัวตึกก่อน เราอยากช่วยอนุรักษ์อาคารเก่า พอลงมือแล้วเราก็คิดกันต่อว่าสามารถทำอะไรกับตรงนี้ได้อีกบ้าง อย่างน้อยก็น่าจะมีธุรกิจสักอย่างที่สามารถเลี้ยงตัวมันเอง ไอเดียเลยมาจบที่โฮสเทลกับคาเฟ่” แมคเริ่มต้นเล่า

เดินพ้นบันไดขึ้นไปเราเจอพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดโล่ง แต่เดิมพื้นที่ตรงนี้ถูกล้อมด้วยฝ้าไม้รอบด้าน มืดและทึบจนน่าอึดอัด เมื่อต้องทำพื้นที่ที่เปิดให้คนเข้ามาใช้ชีวิต เขาจึงตัดสินใจรื้อผนังบางส่วนออก เปิดเพดานให้แสงแดดพาดตัว เปิดช่องอากาศให้ลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามา

ตรงนี้มีโซนที่นั่งให้เลือกหลายมุม ตั้งแต่เก้าอี้หวายตัวใหญ่ที่เหมาะกับการนอนขี้เกียจ หยิบหนังสือเล่มโปรดมาอ่านสักเล่ม หรืออีกด้านที่เป็นม้านั่งที่ตัวเล็กกว่าก็เอนหลังสบายใช่เล่น ขยับเข้าไปด้านในอีกหน่อยก็มีโซฟาสีดำตัวใหญ่สำหรับคนชอบอะไรนุ่มๆ แถมยังมีเจ้าเหมียวสีน้ำตาลสองตัวเดินป้วนเปี้ยนให้ทาสแมวได้ใจเต้น

 

หัวใจคือการรักษาเสน่ห์ดั้งเดิม

หัวใจของการรีโนเวตคือการรักษาความงามและความเป็นพื้นบ้านของอาคารแห่งนี้ไว้ ตัวโครงสร้าง รวมทั้งดีเทลของบานประตู หน้าต่าง ฝ้า และพื้นไม้ ยังเป็นของดั้งเดิม 

คำว่า ‘รีโนเวตอย่างเข้าใจตัวอาคาร’ คงไม่ผิดกับที่นี่นัก

“ครั้งแรกที่ผมเข้ามาดูที่นี่ ภาพมันไม่ได้เป็นแบบนี้เลย สภาพตึกเดิมถูกต่อเติม เปลี่ยนแปลงไปจนแย่มาก เสาก็หนา พื้นไม้ที่เรายืนอยู่ตรงนี้ก็ไม่ใช่แบบนี้นะ เขาเติมเลเยอร์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งแล้วหนามาก เราตัดสินใจรื้อออกทั้งหมด ส่วนไม้เก่าบางส่วนที่เสียหายก็เติมให้กลับมาสมบูรณ์ ใช้เวลาสองปีกว่าจะทำเสร็จ”

แม้เจ้าตัวจะแอบบ่นว่าตั้งแต่ริเริ่มโปรเจกต์หินชิ้นนี้ เขาคิดที่จะล้มเลิกความตั้งใจบ้างเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็กัดฟันทำจนสำเร็จ แถมผลลัพธ์ก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายคน ชนิดที่ว่าคนในแวดวงอินทีเรียร์ดีไซน์ยังเอ่ยปากชม

“ทั้งๆ ที่ไม่ได้จบสายออกแบบ คุณทำความเข้าใจตัวอาคารดั้งเดิมแบบนี้ด้วยวิธีไหน” เราโยนความสงสัย

“ผมให้เครดิตอินเทอร์เน็ต” เขาหัวเราะ “พอผมอยากทำให้ที่นี่กลับไปเป็นตึกนางเลิ้งสมัยก่อน ผมเลยเสิร์ชหารูปภาพเก่าๆ ดู เสิร์ชหาว่าอาคารหน้าตาแบบนี้ หน้าต่างบานเฟี้ยม มันมีรายละเอียดอะไรยังไงบ้าง อย่างที่บอกว่าก่อนที่ผมจะมาตึกนี้มันถูกเปลี่ยนมาก่อนแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมย้ำกับตัวเองเสมอคือทำแล้วต้องไม่ดูประดิษฐ์มากเกินไป ถ้าคนแถวนี้เขาแวะเข้ามาแล้วจะต้องรู้สึกว่ามันกลมกลืน”

 

สีเขียวจากต้นไม้ก็สำคัญ

เมื่อปรายตามองโดยรอบ ทุกมุมของที่นี่มีสีเขียวจากต้นไม้และสีสันจากดอกไม้แทรกตัวอยู่เสมอ

“ผมเป็นคนที่ชอบต้นไม้มาก อีกความตั้งใจคือผมอยากให้ข้างในนี้มีต้นไม้เยอะๆ เพราะมันทำให้คนที่เข้ามารู้สึกผ่อนคลาย ผมยอมเจาะพื้นด้านบนเพื่อให้ต้นปีบยืนต้นได้ ลองนึกตามนะว่า ถ้าเรานั่งรับลมอยู่ชั้นบนตอนกลางคืน มองพระจันทร์ มองแสงดาว ได้กลิ่นดอกปีบไปด้วย โรแมนติกมากเลย”

ขณะที่นึกภาพตาม แมคกลับเอ่ยประโยคดับฝันออกมาว่า “เสียดายที่ต้นปีบเขายืนต้นตายไปแล้วหลังจากที่ออกดอกได้เพียงครั้งเดียว ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะรากเขาเน่าน่ะ” แต่สิ่งหนึ่งที่แมคได้เรียนรู้คือ แม้จะยืนต้นตายแต่ลำต้นของมันยังคงสง่าสงาม

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ต้นไม้มีส่วนให้เรารู้สึกว่าที่นี่ไม่ใช่กรุงเทพฯ เพราะมันมอบบรรยากาศบ้านต่างจังหวัดที่เราคุ้นเคยกลับมาให้เราด้วย

“เราอยากให้บ้านเราเป็นแบบไหน เราก็ทำแบบนั้นเลย”

 

พื้นที่จิบกาแฟสำหรับเพื่อนผู้รักความสงบ

Buddha & Pals คือชื่อคาเฟ่วินเทจที่ใช้พื้นที่ในอาคารเดียวกัน ถึงแม้วันนี้คนในร้านจะเยอะ แต่ทุกโต๊ะดูเหมือนตั้งใจมาจิบกาแฟกันแบบสงบๆ 

“ชื่อ Buddha & Pals แปลว่า ความสงบสุขและเพื่อน ไม่ได้สื่อถึงศาสนาแต่อย่างใด (ยิ้ม) คาเฟ่รวมทั้งโฮสเทลกาลเวลาของเรามีคอนเซปต์คือ เข้ามาแล้วคุณต้องรู้สึกอบอุ่น สงบ และสบาย เหมือนมาแล้วได้พักผ่อน แม้จะเข้ามาจิบกาแฟในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม”

การจัดวางของ การตกแต่งทุกอย่างของที่นี่ก็ล้วนเป็นไอเดียของแมค หลายคนนิยามสไตล์การตกแต่งของคาเฟ่ว่าเป็นแบบ rustic แต่แมคบอกเราพร้อมเสียงหัวเราะว่า ทุกอย่างล้วนถูกจัดวางและจัดหาด้วยความชอบของเขาล้วนๆ

“ด้วยความที่เราไม่ได้ทำงานอยู่สายนี้เลย จริงๆ เรื่องของโต๊ะกับเก้าอี้ที่เลือกมา ผมคิดเพียงแค่ว่ามันจะเหมาะที่สุดกับที่นี่ไหม เข้ามาแล้วดูแปลกหรือเปล่า ส่วนใหญ่ก็หาซื้อตามสตูดิโอเฟอร์นิเจอร์เก่า หรือตลาดขายของเก่า บางชิ้นก็มาจากตลาดนัดจตุจักร คือทุกชิ้นผมซื้อเองหมดเลยนะ”

ส่วนตัวเราสนุกกับการนั่งมองโต๊ะและเก้าอี้ หรือดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ของที่นี่มาก เพราะทุกอย่างไร้ซึ่งความเป็นแพตเทิร์น มีความสวย และมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน เชื่อว่าคนที่ชอบของเก่าจะต้องหลงรักที่นี่มากแน่ๆ

“เอาจริงๆ ฟลุกมากที่มันไม่ดูแย่เกินไป” เขาหัวเราะ

 

พักจนอิ่มกายแล้ว ท้องก็ต้องอิ่มด้วย

เจ้าบ้านพาเรามานั่งหน้าบาร์ พร้อมยื่นเมนูเครื่องดื่มและอาหารมาให้ดู เราสังเกตว่าชื่อเมนูเครื่องดื่มของที่นี่สนุกไม่แพ้ที่ไหนเลย มีตั้งแต่ชื่อน่าเรียกอย่าง Just call me queen (พนักงานบอกว่าเป็นเมนู non-coffee ตัวขายดีของร้าน) หรือแม้แต่ชื่อเท่ๆ อย่าง Winter never comes แน่นอนทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากไอเดียของแมค

ราวกับเมนูทุกตัวมีเรื่องเล่าและคอนเซปต์เป็นของตัวเอง ไม่นานนักกาแฟแก้วแรกที่กรุ่นไปด้วยกลิ่นอบเชยก็ถูกยกมาเสิร์ฟตรงหน้า

“อย่าง Walking through the grandma’s garden แก้วนี้เป็นกาแฟผสมไซรัปขิงและอบเชย ท็อปด้วยวิปครีม จิบแล้วให้ความรู้สึกเหมือนเดินเล่นอยู่ในสวนของคุณย่า” แมคชวนจินตนาการ

ส่วนกาแฟนมอีกแก้วที่เราได้ลองมีชื่อน่าเกรงขามว่า General drink 

“ตัวนี้จริงๆ คล้ายกับกาแฟมอคค่า มีช็อกโกแลต มีกาแฟ แล้วก็มีวานิลลานิดหน่อย ตอนเปิดร้านใหม่ๆ มีนายพล 2 ท่านเข้ามาสั่งกาแฟที่ร้าน เขาบอกว่าทำเมนูอะไรก็ได้ ก็เลยทำเครื่องดื่มตามส่วนผสมที่เราอยากดื่ม ปรากฏว่าทำออกมาแล้วเขาชอบมาก กลับมาดื่มกาแฟเมนูนี้ที่ร้านตลอด เลยขอตั้งชื่อเมนูนี้ว่า General drink เสียเลย” 

ใครที่ไม่ถูกจริตกับคาเฟอีน ที่นี่มีเมนู non-coffee สนุกๆ ให้เลือกเยอะมาก วันแดดจัดแบบนี้แมคเลยให้เราลองชิม Vintage passion ชามะนาวผสมเสาวรสและโซดา เปรี้ยวซ่าเรียกความสดชื่นได้ดีสุดๆ 

นอกจากนี้ก็มีเบเกอรีทำสดใหม่ให้คนหิวน้อยเลือกทานมากมาย แต่ถ้าใครเป็นคนหิวมากที่นี่ก็มีอาหารอร่อยๆ บริการอยู่ด้วย 

อย่างอาหารที่เน้นเป็นเมนูพาสต้าคลาสสิก เช่น สปาเกตตีซอสต่างๆ รวมทั้งโทสต์ สเต็ก และสลัด อย่างจานที่เจ้าบ้านแสนใจดีภูมิใจเสนอวันนี้คือ สเต็กปลากะพงทอดเสิร์ฟกับหน่อไม้ฝรั่งและผักโขม และสปาเกตตีทะเลซอสครีม วัตถุดิบที่พวกเขาเลือกใช้บอกได้เลยว่าเป็นของดีและสดใหม่ อร่อยจนอยากให้คุณมาชิมด้วยกันเสียตอนนี้เลย


Kanvela House / Buddha & Pals

hours: โฮสเทลเปิดบริการตลอด / คาเฟ่เปิด 9:00-18:00 น.
address: ถนนกรุงเกษม ใกล้วัดโสมนัสราชวรวิหาร
tel: 061-585-9283
facebook: Kanvela House

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย