เราเดินทางมาถึงปากน้ำประแสในช่วงบ่ายคล้อย แต่แสงแดดที่นี่ยังร้อนแรงไม่ต่างจากช่วงเที่ยงวัน ลายริ้วของผิวน้ำเมื่อสะท้อนแสงแดดเป็นประกายระยิบเหมือนผลึกคริสตัลเต้นระบำ ริมฝั่งน้ำด้านหนึ่งเป็นป่าโกงกางเขียวชอุ่มตลอดแนว เหมือนแถบสีเขียวขนาดใหญ่ที่มาคั่นกลางระหว่างท้องฟ้ากับแม่น้ำ
พอได้มาเห็นภาพธรรมชาติที่สวยอย่างเหลือเชื่อเบื้องหน้า ขอสารภาพว่าความเหนื่อยล้าจากการนั่งรถทางไกลได้หายไปเป็นปลิดทิ้ง ใครได้มาเห็นก็คงคิดเหมือนกันว่าราวกับหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง
เราเดินลัดเลาะเข้ามาในชุมชนปากน้ำประแสเพื่อมองหาบ้านพักที่จองไว้
บ้านเรือนที่นี่จำนวนไม่น้อยถูกแปรสภาพจากที่พักอาศัยส่วนตัวไปเป็นโฮมสเตย์เพื่อรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ในขณะที่บางบ้านก็ยังทำอาชีพประมงหรือเป็นชาวตังเกออกเรือหาปลาอยู่ สังเกตได้จากท่าเทียบเรือริมน้ำที่มีแทบทุกบ้าน และเรือหาปลาน้อยใหญ่ที่ยังจอดอยู่อย่างหนาแน่น
ชุมชนริมฝั่งน้ำประแสจึงถือเป็นชุมชนประมงขนาดใหญ่และเป็นแหล่งการค้าอาหารทะเลสำคัญของจังหวัดระยอง และทุกวันนี้ แม่น้ำประแสก็ยังคงเป็นเส้นเลือดสายหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนริมฝั่งน้ำอยู่
เมื่อเรามาถึงโฮมสเตย์ มาหาสมุทร ภาพแรกที่เห็นนั้นเหมือนเฟรมภาพสามมิติที่มีสนามหญ้าหน้าบ้านอยู่เบื้องหน้า พอมองทะลุผ่านตัวบ้านไปก็จะเห็นแม่น้ำประแสเป็นแบ็กกราวนด์ของภาพ
แดดยามบ่ายคล้อยค่อยๆ อาบไล้บ้านไม้ตะเคียนหลังนี้จนเงาวับไปทั้งหลัง เจ้าบ้านรอรับเราอย่างยิ้มแย้มพร้อมแนะนำข้อปฏิบัติในการเข้าพัก แถมยังแนะนำแลนด์มาร์กในปากน้ำประแสอีกหลายจุด เช่น ทุ่งโปรงทอง ศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เรือรบหลวงประแส และชายหาดแหลมสน ที่อยู่ในละแวกใกล้ๆ กัน
ที่นี่คือบ้าน ที่ทำงาน และลมหายใจ ของ ซิน–สมศิริ ชาญเชี่ยว เจ้าบ้านผู้เป็นลูกสาวชาวเรือแห่งลุ่มน้ำประแส เธอเรียนจบจากประเทศจีนและทำงานบริษัทท่องเที่ยวมาก่อน จึงทำให้รู้รายละเอียดเรื่องธุรกิจที่พักมาบ้าง เมื่อทำงานบริษัทจนอิ่มตัว เธอจึงผันตัวมาช่วยพ่อแม่บริหารโฮมสเตย์ของครอบครัว
ซินและครอบครัวร่วมกันปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ขึ้นเป็นโฮมสเตย์ชื่อว่า ‘มาหาสมุทร’ ที่ก่อนหน้านี้ได้เปิดบ้านของตัวเองเป็นบ้านพักในลักษณะเดียวกันใกล้ๆ กับหลังนี้ ชื่อบ้านชานสมุทร
เท่ากับว่ามาหาสมุทรเป็นโฮมสเตย์หลังที่ 2 ของครอบครัว
จากประสบการณ์ที่เคยลองผิดลองถูกกับบ้านชานสมุทรมาก่อน ทำให้ซินเห็นทั้งจุดแข็งและจุดด้อยที่ต้องปรับขยับขยาย เธอจึงต่อยอดให้ที่นี่เป็นโฮมสเตย์ที่มีคอนเซปต์แข็งแรงขึ้น ตรงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นบ้านริมน้ำแสนสงบเหมือนกับโฮมสเตย์หลังแรก
เรานั่งมองเรือทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อมที่แล่นผ่านไปผ่านมาเพลินๆ รู้ตัวอีกทีก็หมดวันเสียแล้ว จึงเอนกายพักผ่อนที่ห้องพักชั้นบนซึ่งตกแต่งอย่างเรียบง่ายและสะอาดตา ก่อนตื่นมารับเช้าวันใหม่เพื่อสนทนากับซินแบบยาวๆ ที่ระเบียงริมน้ำ
บ้านนี้มีตำนาน
ซินเล่าให้เราฟังว่า บ้านหลังที่ทำเป็นโฮมสเตย์มาหาสมุทรเคยเปลี่ยนเจ้าของมาแล้วถึง 4 เจ้าก่อนเธอมารับช่วงต่อ
“เรารับช่วงต่อมาเป็นมือที่สี่ เดิมทีบ้านหลังนี้เป็นของคหบดีเก่า ต่อมาเป็นโรงงานทำเรือและโรงงานแมงกะพรุนตามลำดับ เรามาซื้อต่อเพราะบ้านหลังนี้มีพื้นที่กว้างขวาง ตัวบ้านมีไม้ตะเคียนเยอะ ซื้อไว้สักพักแล้วแต่ไม่ได้เข้ามาทำอะไร หลังๆ เริ่มสังเกตว่าไม้ค่อยๆ หายไป เราเห็นว่าทิ้งไว้แบบนี้ไม่ได้ เลยตัดสินใจรื้อแล้วทำใหม่บนโครงสร้างเดิม และเกิดเป็นโฮมสเตย์มาหาสมุทร”
จุดเด่นของบ้านเก่าแก่หลังนี้ยังทิ้งร่องรอยความเป็นบ้านแบบจีนให้เราเห็นคือ ชั้นบนของบ้านจะไม่นิยมปูพื้นจนเต็ม แต่จะเจาะช่องตรงกลางบ้านเหมือนเป็นชั้นลอยไว้ให้เจ้าของบ้านเฝ้าดูคนที่เดินไปเดินมาที่ชั้นล่าง
ในชุมชนปากน้ำประแสมีบ้านหลายหลังที่เคยเป็นของคหบดีและขุนนางชาวจีน ทำให้นิยมสร้างบ้านริมน้ำในรูปแบบนี้กันมาก ซึ่งเป็นโครงสร้างบ้านที่สะท้อนความนิยมของชาวจีนริมฝั่งน้ำได้เป็นอย่างดี
เปิดรับคนแปลกหน้าเข้ามาสร้างบทสนทนาในบ้าน
ซินเท้าความถึงการทำบ้านชานสมุทร–โฮมสเตย์หลังแรกว่า หลังนั้นเคยเป็นท่าเทียบเรือริมน้ำของครอบครัวมาก่อน แม้พ่อแม่จะเลิกทำอาชีพประมงไปแล้วก็ไม่ได้ขายทิ้ง แต่เอามาปรับปรุงเป็นที่พัก
“เราเริ่มทำโฮมสเตย์จากบ้านชานสมุทรก่อน เพราะมีท่าเทียบเรือเก่าที่เห็นวิวแม่น้ำประแสจากระยะใกล้ๆ และเป็นวิวที่หาซื้อไม่ได้ด้วย เวลาใครมาบ้านก็จะบอกว่าหลังบ้านเราสวย เลยตัดสินใจทำท่าเทียบเรือนั้นเป็นที่พักหลังแรก หลังจากเราเปิดบ้านชานสมุทรได้ 5 ปี ลูกค้าก็ติดใจเพราะชอบธรรมชาติและความเงียบสงบของชุมชน เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราทำที่พักมาเรื่อยๆ และขยับขยายมาทำโฮมสเตย์มาหาสมุทร”
ส่วนความคิดแรกเริ่มที่จะทำที่พักนั้น ซินบอกกับเราว่า เพราะอยากหาเพื่อนคุยแก้เหงาให้พ่อแม่ในช่วงปลดระวางอาชีพชาวประมงอย่างเป็นทางการหลังลูกๆ เรียนจบ การเปิดบ้านพักรับคนแปลกหน้าเลยเป็นความคิดแรกๆ ที่ผุดเข้ามา เพราะเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ชุมชนปากน้ำประแสกำลังเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังเป็นโอกาสที่ได้พบปะพูดคุยกับนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ ซึ่งนำมาสู่บทสนทนาที่ไหลเวียนอยู่ในบ้าน ปลุกบ้านที่เงียบเหงาให้คึกคักและมีชีวิตชีวากว่าเดิม
“พอมีคนหลากหลายอาชีพเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มันเลยมีไอเดียเต็มไปหมด ปัญหาบางอย่างเราปลดล็อกได้ก็เพราะลูกค้าด้วยซ้ำ เพราะแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญต่างๆ กัน ซึ่งกลายเป็นความสนุกที่เราแลกเปลี่ยนกันได้ ทุกวันนี้ลูกค้าบางคนก็เป็นเพื่อนสนิทกันไปแล้ว” ซินเล่าด้วยรอยยิ้ม
การเปิดบ้านรับแขกแปลกหน้าจึงไม่ได้หมายความถึงการบุกรุก แต่เป็นการเปิดใจรับคนใหม่ๆ ให้แวะเวียนเข้ามาในบ้านเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเล่าสู่กันฟัง
โฮมสเตย์ที่เล่าวิถีชีวิตชาวประมงผ่านข้าวของในบ้าน
นอกจากความเงียบสงบและความสวยงามของแม่น้ำประแสแล้ว สิ่งที่เป็นเสน่ห์มากๆ อย่างหนึ่งของที่นี่คือการตกแต่งที่พักในธีมประมง ทำให้เราได้เห็นข้าวของต่างๆ ที่ชาวประมงใช้ ซินบอกว่าส่วนใหญ่ได้มาจากการรื้อโกดังเก่าของพ่อ
“เราวางธีมว่าโฮมสเตย์หลังนี้ไว้ว่าเป็นธีมประมง เพราะอาชีพเก่าของครอบครัวเราคือชาวประมง ซึ่งเราทุกคนภาคภูมิใจเพราะอาชีพนี้หาเลี้ยงครอบครัวเรามา เราเลยนึกถึงธีมทะเล ธีมประมง ที่เคยอยู่ในวิถีชีวิตของเรา
“พอได้ธีมประมงก็มาคิดกันว่ามันควรมีอะไรบ้าง เราก็เอาของที่พ่อมีมาดัดแปลง เช่น หลอดไฟไดหมึกหรือไฟล่อหมึก เราก็ดัดแปลงเอามาแขวนประดับตกแต่ง สุ่มดักปลาเราก็ทำเอง เอามาติดหลอดไฟให้เป็นโคมไฟ หรือทุ่นผูกหูอวนสีเหลืองสีน้ำเงินก็เอามาแขวนประดับ อย่างทุ่นขาวเราก็เอามาขัดแล้วแขวนตรงชั้นสองแทนที่จะขึงเป็นตาข่ายธรรมดา และด้วยความที่บ้านนี้มีไม้เยอะ มันเลยดูแข็งไปหมด เราเลยเอาสีสันจากทุ่นประมงมาเบรกให้อ่อนโยนขึ้น เอาเส้นสายจากทุ่นมาแขวนไม่ให้บ้านดูแข็ง”
โฮมสเตย์หลังนี้ตกแต่งด้วยเส้นสายของเชือกเป็นส่วนใหญ่ อย่างที่ซินบอก ความอ่อนไหวของเส้นเชือกทำให้บ้านดูไม่แข็งจนเกินไป แถมยังเป็นกิมมิกที่ใช้ตกแต่งแบบล้อกันไปได้ทั้งบ้านโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก
อย่างเช่นเสาที่เป็นปูนก็เอาเชือกล่ามเรือมาพันตกแต่ง หรือในห้องพักก็จะมีชิงช้าสำหรับวางผ้า และบริเวณหน้าบ้านก็ทำชิงช้าไว้ให้เป็นมุมถ่ายรูปหรือนั่งเล่นได้ ซินบอกว่าชิงช้าคือตัวแทนของการผสานรวมของไม้และเชือกซึ่งเป็นวัสดุแก่นหลักของบ้านหลังนี้
ส่วนโซนไฮไลต์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ เรือลอยน้ำหลังบ้าน
“เราซื้อเรือมาเพราะอยากได้พื้นที่นั่งเล่นกลางแจ้ง พ่อก็บอกว่าเราน่าจะเอาเรือมาดัดแปลงเป็นพื้นที่นั่งเล่นที่ยื่นลงไปในน้ำ เพราะเรือลอยอยู่หลังบ้านได้อยู่แล้ว ดีกว่าแพสี่เหลี่ยมที่ใครๆ ก็ทำ เราเลยไปซื้อเรือประมงเก่ามาดัดแปลง
“อีกอย่างที่เราเลือกเรือเพราะพื้นที่ส่วนกลางในบ้านออกแบบให้นั่งพื้นเป็นส่วนใหญ่ เวลาผู้สูงวัยมาก็จะลำบาก เราเลยจัดโซนให้นั่งที่โต๊ะบนเรือ คนมาที่นี่ก็จะชอบมาก ถือเป็นจุดไฮไลต์ เพราะนั่งบนเรือแล้วจะเหมือนได้ใกล้ชิดกับแม่น้ำประแสมาก”
นอกจากจะตกแต่งบ้านในธีมชาวประมงแล้ว ซินยังได้จัดมุมซ่อนเร้นตามบริเวณต่างๆ เพื่อให้คนที่มาพักได้รับความสงบและผ่อนคลายระหว่างที่อยู่ที่นี่
“เราจัดมุมเล็กมุมน้อยเพราะอยากให้คนที่มาพักผ่อนรู้สึกสบาย ได้มานั่งพักผ่อน มีมุมนั่งนอนอ่านหนังสือเหมือนอยู่บ้านตัวเอง เราเปิดช่องหน้าต่างให้ลมเข้า 4 ทิศ บ้านเราจะได้เย็น พอเจาะหน้าต่างแล้ว เราเลยเพิ่มมุมนั่งเล่นพักผ่อนไปด้วยเสียเลย”
โฮมสเตย์ที่โตไปพร้อมๆ กับชุมชน
ซินเล่าให้เราฟังว่า แม้ว่าตัวเธอจะมีความรู้เรื่องธุรกิจที่พักมาบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำโฮมสเตย์แห่งนี้ให้เป็นที่กระจุกรายได้แต่เพียงผู้เดียวในชุมชน เธอเปิดบ้านรับแขกเพราะอยากเห็นชุมชนปากน้ำประแสโตไปพร้อมๆ กัน
“เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง เราทำธุรกิจท่องเที่ยวก็จริง แต่เราพยายามกระจายรายได้ให้ชุมชนด้วย เช่น เรียกสามล้อในชุมชนมารับลูกค้า จริงๆ เราบริการรับ-ส่งเองได้ แต่เราไม่ทำ เพราะอยากให้ชาวบ้านรอบๆ นี้อยู่ได้ด้วย อาหารเย็นเราก็ไม่ทำ เพราะแถวนี้มีชาวบ้านทำอาหารขายหลายร้าน ถ้าเราทำให้ลูกค้าก็จะไม่ได้ออกไปไหน
“เราต้องอยู่ได้ด้วยกัน ชุมชนถึงจะก้าวไปด้วยกันได้ เราไม่ได้ขายแค่ที่พัก แต่เราขายประสบการณ์ในชุมชนด้วย ถ้าชุมชนยั่งยืน ลูกค้าก็จะแวะเวียนมาหาเราเรื่อยๆ เพราะยังมีชุมชนให้เที่ยว แต่ถ้าทุกอย่างมันจบที่เรา คนก็อาจจะไม่อยากกลับมาเที่ยวประแสแล้ว”
อย่างอาหารเช้าที่เสิร์ฟแขก ซินบอกว่าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารทะเล เพราะคนแถวนี้ทำอาชีพประมง ทำให้ได้วัตถุดิบสดใหม่เสมอ และได้อุดหนุนชาวบ้าน เช่น ห่อหมกที่เรากินเช้านี้ก็ซื้อมาจากชาวบ้านที่นี่ซึ่งทำสดใหม่วันต่อวัน ส่วนเมนูอื่นๆ อย่างแกงจืดมะระยัดไส้ ปลาทูทอด ผัดบวบใส่กุ้ง ก็ล้วนได้วัตถุดิบมาจากตลาดแถวนี้ ส่วนฝีมือการปรุงนั้นเป็นแบบโฮมเมดโดยคุณแม่ของเธอเอง
เมื่อถามถึงจุดที่แตกต่างของการทำอาชีพประมงกับการทำที่พัก ซินตอบอย่างไม่ลังเลว่าการออกเรือหาปลาครั้งหนึ่งได้รายได้มหาศาล แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ยังทำโฮมสเตย์ถึงสองหลังคือ การอยากมอบความสุขให้แก่ผู้มาเยือน
“ครอบครัวเราทำธุรกิจประมงมาตั้งแต่แรก เราไม่เคยต้องบริการใคร แต่ตอนนี้คือเราต้องไปบริการคนอื่น เราต้องถอดหัวโขนเก่าออกหมดเลย เราทำเพราะต้องการให้คนที่เข้ามาที่ชุมชนปากน้ำประแสได้รับประสบการณ์ที่ดีและมีความสุข เราเลยต้องมอบความสุขให้เขาก่อน เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ถ้าเทียบกันประมงรายได้ดีกว่าเยอะมาก แต่ธุรกิจโฮมสเตย์ที่เราทำอยู่ตอนนี้ก็เลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงครอบครัวได้ และเลี้ยงคนในชุมชนได้ด้วย มันหล่อเลี้ยงเราในทางความรู้สึก เราเลยอยากทำมันต่อ”
ซินอธิบายให้เราฟังว่า การเปลี่ยนจากอาชีพประมงไปทำธุรกิจที่พักไม่ได้หมายความว่ามันไปเปลี่ยนแปลงวิถีของครอบครัว แม้ทุกวันนี้จะไม่มีใครออกไปหาปลาฝ่ามรสุมกลางท้องทะเลอีกต่อไปแล้ว แต่ครอบครัวของเธอยังใช้ชีวิตริมน้ำเสมอมาและเสมอไป เพียงแต่ย้ายตัวขึ้นมาใช้ชีวิตบนฝั่งเป็นหลัก ทั้งยังได้ใช้เวลาอยู่กันแบบครอบครัวมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
“วันไหนที่ไม่มีลูกค้า ครอบครัวเราจะรวมตัวกันไปนั่งนอนเล่นบนเรือ มองวิวแม่น้ำ พูดคุยกัน เพราะเราใช้ชีวิตริมน้ำมาตลอด น้ำอยู่ที่ไหน เราก็อยู่ที่นั่น” เธอทิ้งท้ายและมองไปยังแม่น้ำประแส