ศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีหญิงไทยหนึ่งเดียวในเวทีงานโบราณคดีระดับโลก

ศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีหญิงไทยหนึ่งเดียวในเวทีงานโบราณคดีระดับโลก

เคยมีคำกล่าวที่ว่า ทุกสิ่งบนโลกใบนี้ล้วนมีร่องรอยและมีที่มา

หลายๆ คนคงเคยสงสัยว่า มนุษย์เราสามารถเดินทางข้ามเวลากลับสู่อดีตได้จริงหรือไม่ หรือการย้อนกลับไปในกาลเวลาจะมีแค่ในละครเท่านั้น 

การย้อนเวลาที่ว่า อาจจะไม่ใช่ทะลุกระจกข้ามภพกลับไปเหมือนอย่างในละครหรือขึ้นไทม์แมชชีนกลับไปยังจุดเวลาที่เราต้องการ แต่ ‘การย้อนเวลาสู่อดีต’ ในที่นี้ ในทางปฏิบัติคือการสืบค้นร่องรอยจากสิ่งของ โบราณสถาน หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่สืบทอด โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ หลักฐาน งานวิจัยที่จะพาอดีตกลับมาสู่ความเป็นปัจจุบัน 

ศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผู้ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น ‘นักสืบแห่งกาลเวลา’ กับผลงานชิ้นโบแดงที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงการโบราณคดีเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นประธานในการจัดงาน IPPA หรือ Indo-Pacific Prehistory Association งานที่นักโบราณคดีระดับโลกเดินทางมารวมตัวกันเพื่อสืบค้นร่องรอยแห่งอดีตซึ่งจะจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565

อาจารย์รัศมีจะมาบอกเล่าถึงความสนุกและเสน่ห์ของวงการโบราณคดีที่ไม่เคยน่าเบื่อ รวมถึงความตื่นเต้นและความประทับใจตลอดระยะการทำงานทั้งชีวิตที่ไม่เคยหยุดค้นหาความจริง

ความตื่นเต้นของโบราณคดี คือ การค้นพบ 

ประมาณต้นปี 2561 เกิดข่าวดังไประดับโลกจากวงการโบราณคดีประเทศไทย ถึงการประสบความสำเร็จในการขึ้นรูปหน้าจำลองของผู้หญิงจากโครงกระดูกโบราณสมัยไพลสโตซีน หรือ ช่วงเวลาการสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง (Ice Age) 

โครงกระดูกดังกล่าวถูกค้นพบประมาณปี พ.ศ. 2546 จากแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า เป็น 1 ใน 4 ของโครงกระดูกผู้หญิงที่เสียชีวิตในช่วงอายุราวๆ 25-35 ปี ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 13,640 ปี การขุดค้นครั้งนี้ถือว่าเป็นการพบวัฒนธรรมเก่าแก่ที่สุดก่อนประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

“สิ่งน่าตื่นเต้นก็คือ เราเจอโครงกระดูกของผู้หญิงพร้อมเครื่องมือหินที่ถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า เพราะเราไม่เคยเจอโครงกระดูกของคนที่อายุเป็นหมื่นปี พอเจอก็เป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า คนเรามีการผลิตเครื่องมือหินจริงๆ สมมติเราเจอแต่ปืน แต่เราไม่เจอคนพร้อมกับปืน เราก็ไม่สามารถยืนยันว่าคนเป็นผู้ผลิตของสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น มันก็ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นที่เราเจอหลักฐานที่ทำให้เราสามารถต่อจิ๊กซอว์ในเรื่องประวัติศาสตร์มาสู่ประวัติศาสตร์ตอนต้นว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร มีวัฒนธรรมเป็นอย่างไร อย่างน้อยที่สุดมันก็ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ปรากฏว่านักข่าวก็หยิบไปทำข่าวว่าเป็นผลงานของนักโบราณคดีสุดเจ๋ง ก็เลยเกิดเป็นข่าวในโซเชียลมีเดีย ที่จริงเรื่องนี้เราทำมานานแล้ว เพียงแต่ว่าเพิ่งมีคนสนใจ” 

นักข่าวแห่งกาลเวลา ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้

เพราะความอยากเป็นนักข่าวจึงเลือกสอบเข้าวารสารศาสตร์แต่สอบไม่ติด แต่คณะที่ติดกลับเป็นโบราณคดี สุดท้ายก็ค้นพบว่ากำลังมีความสุขกับสิ่งที่มีและสิ่งที่เป็น การเดินทางกลับสู่กาลเวลาในชีวิตของเธอจึงเริ่มต้นขึ้น 

“จริงๆ แล้วอยากเรียน อยากเป็นนักข่าว เลือกเรียนวารสารศาสตร์แต่สอบไม่ติด มาติดโบราณคดี พอเรียนแล้วชอบ จริงๆ แล้วเราก็ได้ทำหน้าที่เป็นนักข่าวนะคะ แต่เป็นนักข่าวของอดีต

“เราสามารถที่จะค้นคว้าหาความจริง เราเป็นนักข่าวในเชิงสืบสวนด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นเวลาที่ทำงาน เราก็รู้สึกมีความสุข และก็คิดว่าก็เหมาะสมแล้วที่เราได้มาทำงานอาชีพนี้ ถ้าเราไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ เราก็คงรู้สึกว่างานนั้นไม่มีความหมายและก็คงทำงานไปวันๆ แต่ทุกวันนี้เรามีความสุขมากกับสายงานนี้”

ขุดทะลุเวลาจากปัจจุบันกลับสู่อดีต

การที่มีความสนใจในเรื่องของพัฒนาการของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม นั่นคือประตูด้านแรกที่ทำให้อาจารย์รัศมีเริ่มศึกษาเรื่องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เริ่มอยากรู้ว่า ในดินแดนของประเทศไทยมีลักษณะที่เหลือ หรือ มีความแตกต่างอย่างไรกับภูมิภาคอื่นของโลก และ พื้นที่ที่อยู่ข้างในภูเขามีพัฒนาการมาอย่างไร

“ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราได้เริ่มต้นทำงานที่เพิงผาถ้ำลอด ที่ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทีมสำรวจเราเริ่มขุดจากข้างบนลงไปข้างล่าง มันเหมือนเราขุดทะลุเวลา จากเวลาที่เป็นปัจจุบันไล่ย้อนกลับไปเรื่อยๆ เพราะว่าเวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงดินจะเกิดการทับถมขึ้นมาเรื่อยๆ พอดิฉันขุดค้นไปก็ต้องศึกษาหลายสมัย เจอของแต่ละสมัย เช่น สมัยโลหะ สมัยที่ใช้เหล็ก หรือที่ดิฉันเรียกว่าวัฒนธรรมโลงไม้ โลงผีแมน ใครไปเที่ยวแม่ฮ่องสอนก็จะเห็นโลงไม้

“สมัยต่อมาก็จะเป็นสมัยที่พุทธศาสนาแผ่เข้ามาในแถบดินแเดน ในป่าเขา เชื่อมโยงกับสมัยล้านนาในเชียงใหม่ เราก็ต้องค่อยๆ แกะรอย เพื่อให้ได้ดัชนีของเวลา เพื่อเวลาที่เราเทียบ เราจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่ปางมะผ้า

“ดิฉันขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่มีอายุสามหมื่นกว่าปีถึงสมัยล้านนา สงครามโลกครั้งที่ 2 และใน 6 ปีที่ผ่านมา ทำงานขุดค้นในแหล่งโบราณคดีวัฒนธรรมโลงไม้ ตอนนี้ก็พยายามจะทำงานในแง่ของการอนุรักษ์โลงไม้ เพราะไม้มันผุ และพยายามดูว่าจะใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ไหม เช่น การท่องเที่ยว

“เราเริ่มต้นจากความไม่รู้ และค้นหาความรู้ เมื่อเราได้ความรู้แล้วเราก็นำความรู้มาใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ไปพร้อมกัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งทางวิชาการว่าการอนุรักษ์ถ้ำ ยังไม่ค่อยมีใครทำ จึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย

“ดิฉันก็รู้สึกว่าท้าทายตนเองว่าตรงนี้จะทำยังไง แก้ไขปัญหายังไง จะอธิบายให้คนทั่วไปฟังยังไง อยากอธิบายให้คนร่วมสมัยเข้าใจว่างานโบราณคดีมันไม่ได้ไกลตัว อย่างเรากินข้าว เรารู้ไหมว่าข้าวมีที่มาอย่างไร หรือการไหว้พระมาจากไหน พิธีกรรมงานศพมีความเป็นมาอย่างไร วิชาการเหล่านี้ สามารถที่จะช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่ตกทอดมาถึงเรา เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่สามารถจะช่วยอธิบายได้

“เวลาที่ทำงาน เราต้องทำงานในสมัยหลักด้วย เพื่อให้เราเข้าใจ และที่สำคัญคือ เราทำงานในพื้นที่ที่เป็นที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม เราต้องหยุดและถอยหลังเพื่อที่จะทำความเข้าใจกับเขาว่า เราไม่เคยเข้าใจมาก่อน เราจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจโบราณคดีว่าสิ่งที่เรากำลังทำ ทำอย่างไร

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้เกิดการอนุรักษ์และดูแลอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะต้องทำกับชุมชนด้วย เราไม่สามารถใช้คนจากหน่วยงานของรัฐ หรือว่านักวิชาการจากส่วนกลาง แต่ถ้าคนที่อยู่ในท้องที่ เขาเห็นความสำคัญในท้องถิ่นของเขา เขาจะช่วยเราอนุรักษ์ ช่วยเราดูแล หรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้”

การกลับมาอีกครั้งของ IPPA งานรวมตัวนักโบราณคดีทั่วโลกที่เชียงใหม่ 

งานสเกลระดับโลกอีกงานที่อาจารย์รัศมี ทรงชูเดช รับหน้าที่เป็นแม่งาน และเป็นประธานจัดงานโดยที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ คือ งาน IPPA หรือ Indo-Pacific Prehistory Association ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรม เลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ (IPPA Chiang Mai 2022)

งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติของสมาคมโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2472 มีการจัดประชุมของสมาคมต่อเนื่องเป็นประจำในทุก 4 ปี วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ งานวิจัย การค้นพบใหม่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ รวมทั้งการส่งเสริมการสร้างมาตรฐานจริยธรรมสำหรับงานวิจัยด้านโบราณคดี และที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์

งานประชุมในครั้งที่ 22 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร / กรมศิลปากร / ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) / ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (SEAMEO SPAFA) / สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) / สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการมรดกด้านโบราณคดี สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS ICAHM) / สมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี กว่า 8 ภาคี 

อาจารย์ได้บรรยายถึงความพิเศษที่กำลังจะเกิดขึ้นในงานว่า 

“คุณลองนึกภาพตามว่าเชียงใหม่ในเดือนพฤศจิกายน อากาศเย็นกำลังดี นี่คือเสน่ห์อย่างแรก และความร่ำรวยในทรัพยากรทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน ความได้เปรียบในเรื่องแหล่งโบราณคดีที่เรียกได้ว่ามากมายมหาศาล ไม่ว่าจะขับรถไปถนนไหน ซอยไหน คุณสามารถจะเห็นเรื่องราวและมองย้อนภาพกลับไปในอดีตกับโบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่อยู่ตรงหน้าของคุณ เราคิดว่านี่คือความพิเศษที่อยู่ในตัวของมันเองแล้ว และถึงแม้ IPPA จะเคยจัดที่เชียงใหม่มาแล้วก็ตาม แต่เราเชื่อว่ายังมีอีกหลายมิติที่ทุกคนยังไม่รับรู้ และไม่เข้าใจเท่าที่ควร ทีมงานของเรามองในแง่ของการจัดงานด้วย และคุณค่าของพื้นที่ต่างๆ นั้นด้วย

“ในเรื่องของโลจิสติกส์ และ Accommodation ก็ไม่ได้แพงจนเกินไป เกินกว่าที่เขาจะมา มีเครื่องบินที่บินตรงจากยุโรป อเมริกา ที่สามารถบินมาได้ จะเดินทางด้วยรถทัวร์ รถไฟ ก็มาได้ ที่พักราคาไม่แพง สำหรับนักศึกษาถ้าเขาอยากมาก็มาได้

“ถ้าเราจัดทัวร์แบบ Post Conference Tour ก็เริ่มต้นจากเชียงใหม่ได้ ถ้าจะไปตะวันออกเฉียงเหนือก็ไปได้ หรือใครสนใจเรื่องของรัฐโบราณก็ไปสุโขทัยได้ หรือถ้าสนใจรัฐโบราณในภาคเหนือก็ทัวร์ในเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ถ้าจะกลับมาอยุธยาก็บินมากรุงเทพฯ แล้วไปที่อยุธยาก็ได้ มีกลุ่มชาติพันธุ์ให้ศึกษาอีกด้วย มีทางเลือกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น Folk Art, Ceramic, Hand Craft ทำให้มีความหลากหลายของกิจกรรม

“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือจะมีการเดินทางกันมาของนักโบราณคดี นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอดีต การจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมโบราณ เรื่องของพิพิธภัณฑ์ เรื่องของการลักลอบค้าโบราณวัตถุ หรือแม้กระทั่งกลุ่มนักศึกษาที่กำลังเรียนหรือสนใจงานด้านนี้ คนที่มีชื่อเสียงที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ทั้งหมดก็จะมารวมตัวกัน ณ ที่นี่ จึงเป็นที่รวมของนักโบราณคดีของโลกที่ทำงานในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว

“สิ่งที่น่าสนใจคือ จะมีเรื่องใหม่ๆ ที่เราพยายามส่งเสริมให้นักศึกษาจากหลายๆ ที่มาทำความรู้จักกัน เพื่อสร้างเครือข่ายสำหรับการทำวิจัยร่วมกันในอนาคต สมาคมก็พยายามหาเงินมาสนับสนุนให้นักศึกษามาในคราวนี้ และในการจัดงานครั้งนี้ เราก็คิดค้นอะไรที่ใหม่กว่าเดิม โดยปกติจะมีแค่การประชุม แต่เรามีการให้รางวัลทั้งนักศึกษาและคนทั่วไป ในการมาจัดแสดงผลงานแบบ Poster และเราก็จะมีการให้รางวัลกับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงมหาวิทยาลัย เป็นมืออาชีพที่ทำงานและมีผลงานที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เราก็จะให้เงินสนับสนุน และมีเรื่องของการนำเสนอดีเด่นด้วย คือ การจัดงานแบบนี้ ไหนๆ ก็จัดแล้ว ก็ต้องแสดงให้เห็นถึงทิศทางใหม่ในอนาคตว่าเราสนใจและส่งเสริมเรื่องอะไรบ้าง”

นักวิจัย หรือ คนที่เลือกเรียนคณะโบราณคดีมีจำนวนน้อย เพราะขาดการสนับสนุน?

สำหรับโบราณคดีภายในประเทศไทย หากจะว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วยังถือว่าเป็นที่พูดถึงน้อยและไม่เป็นที่นิยมสำหรับการเลือกเรียนมากนัก อาจารย์เล่าให้เราฟังว่าเพราะตลาดงานยังรองรับอยู่ค่อนข้างน้อย ถ้าจบมาไม่ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ต้องไปทำงานในกรมศิลปากร แต่จริงๆ โบราณคดีมีความหลากหลายอยู่ในนั้น

“ความรู้ ความสามารถทางด้านนี้ สามารถจะประยุกต์ใช้ได้ เช่น เป็นครู เป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ เขียนสารคดี เพราะว่าผู้ที่เรียนมาจะมีความลึกซึ้งในเนื้อหาเฉพาะเรื่อง และจะมีเทคนิคหรือวิธีการ ทั้งในเรื่องของการเขียนข่าวหรือทำรายการวิทยุ จะทำให้มีเนื้อหาและจับประเด็นได้เร็วและมีความเข้าใจ จริงๆ แล้วทำได้หลากหลายอาชีพ

“แต่ถ้าถามความเห็นดิฉัน ว่าเราเป็นอาจารย์สอนโบราณคดี เราอยากเห็นนักวิจัยโบราณคดี เพราะประเทศที่มีภูมิหลังทางสังคมที่เก่าแก่ เราควรที่จะมีนักวิจัยที่ทำการสืบค้นอย่างลึกซึ้ง เราจะได้มีข้อมูลหลายมิติ หลายมุมมอง

“เราคิดว่างานที่ผ่านๆ มา จบแล้วจบเลย ซึ่งเราอยากให้ความรู้ถูกสร้างและสานต่ออยู่สม่ำเสมอ ซึ่งตรงนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงมุมมองเก่าๆ ที่อาจจะแตกต่างในมุมมองปัจจุบันที่ผ่านการวิเคราะห์ วิพากษ์มากขึ้น เพราะฉะนั้น หน้าที่ของนักวิชาการก็ยังจำเป็นอยู่มากในสังคมเรา

“ช่วงหลังเราก็จะเห็น Social Action ในเชิงของโบราณคดีมากขึ้น แม้งานวิจัยโบราณคดีจะมีมากขึ้น แต่โครงการที่ทำแบบเจาะลึกระยะยาวก็ยังไม่เยอะเท่าไหร่ เนื่องจากคนที่อยู่ในแวดวงโบราณคดีไทยยังน้อยอยู่ สถาบันที่ผลิตบุคลากรก็มีที่เดียว งานก็หายาก

“เราคิดว่าตำแหน่งแห่งที่ของเรา คนในอนาคตมีพื้นที่มากขึ้น สิ่งที่เราควรจะทำก็คือ ผลิตงานให้มากขึ้น สร้างเครือข่ายในการทำงานในระดับนานาชาติมากขึ้น จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องทำงานในประเทศไทยก็ได้ สำหรับคนที่มีศักยภาพและอยากท้าทายตนเอง ก็จะต้องมุ่งมั่น เพราะโลกปัจจุบันนี้มันเปิดโอกาสให้เขาสามารถที่จะทำงานได้หลายที่ อย่างนักโบราณคดีจีนหลายคนก็ไปทำงานในยุโรป ในอเมริกา แสดงว่ามันมีทางเลือกมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่

“เพราะฉะนั้น งานโบราณคดีเปิดพื้นที่กว้างให้กับทุกคน ทุกอาชีพมาร่วมสนทนากับเรา แบ่งปันกัน ไม่ใช่ว่าเราจะผูกขาดความรู้ทางโบราณคดี อย่างการมาพูดตรงนี้ ดิฉันอยากสื่อสารว่าโบราณคดีไม่ใช่ศาสตร์ที่เคร่งขรึม ไม่ยุ่งกับใคร ก้มหัวขุดหลุมอย่างเดียว หรือดูเก่าและเชย แต่ที่จริงมันทันสมัย”

ตามหาร่องรอยแห่งอดีต คือ ภารกิจแห่งชีวิต

“ดิฉันว่ามันให้ความรู้สึกที่ลึก คือ ดิฉันได้ไปถ้ำที่ดิฉันทำงาน มันก็เป็นสุสาน เป็นไม้ปรักหักพังในนั้น ในนั้นมืดสนิท และเราก็เปิดไฟอีกทีหนึ่ง ขณะที่เราอยู่ตรงนั้น ความรู้สึกที่เรามีอยู่คือ มันอิ่ม มันให้ความรู้สึกที่มันลึกซึ้งมาก เรารู้สึกว่าเราโชคดีจังที่ได้สัมผัสสิ่งของที่เป็นอดีตไกลโพ้น เป็นคนแรกที่ได้สัมผัส

“อย่างเพื่อนดิฉันทำงานในอียิปต์ หรือว่าทำงานในอินคา เวลาที่เขาเจออะไร เช่น เจอมัมมี่บนยอด ก็รู้สึกว่า โอ้โห มันบรรยายความรู้สึกไม่ถูกเลย เพราะมันยิ่งใหญ่มาก คือความประทับใจมาก และซาบซึ้งว่า 

“เราเป็นผู้ที่มีหน้าที่ทำอดีตให้มีชีวิต นี่คือภารกิจในวิชาชีพที่เราต้องให้ชีวิตกับอดีต กับซากที่เราเจอ ด้วยวิธีการศึกษาของเราเอง”

IPPA Official Website

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย