เมื่อการดูนกตัวเล็กในกล้อง ทำให้เราตัวใหญ่น้อยลง

การสัมภาษณ์ระหว่างผมกับแอนเกิดขึ้นใต้ต้นไม้ใหญ่ในสวนลุมพินี

ว่ากันตามตรง แดดในตอนนั้นไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ อุณหภูมิสูงในเวลาบ่ายสี่โมงช่างไม่น่าพิสมัยเอาเสียเลยสำหรับการพูดคุยกันกลางแจ้งแบบนี้ แต่ก็อย่างที่บอกว่าเรากำลังนั่งคุยกันใต้ต้นไม้ในสวน ถึงจะร้อน แต่ผมกลับรู้สึกปลอดโปร่ง แถมนกยังเอ่ยเสียงเจื้อยแจ้วเหมือนดนตรีบรรเลงเป็นฉากหลัง เครื่องบันทึกเสียงของผมเก็บท่วงทำนองเหล่านั้นได้พร้อมไปกับบทสนทนาของเรา

หลายคนอาจจะคุ้นหน้า แอน-สุภัชญา เตชะชูเชิด จากการเป็นหนึ่งในสมาชิกทีม Refill Station เจ้าของธุรกิจขายสารพัดน้ำยาที่ช่วยโลกลดขยะ แต่ครั้งนี้เรามาหาเธออีกครั้งเพราะอีกบทบาทของแอนคือนักวิจัยปริญญาเอกสาขาชีววิทยาและนักอนุรักษ์ตัวยง ความหลงใหลในธรรมชาติตั้งแต่เด็กค่อยๆ ก่อร่างเธอให้เติบโตมาเป็นเพื่อนและผู้ปกป้องธรรมชาติ โดยกิจกรรมสำคัญที่เป็นเหมือนตัวช่วยสร้างตัวตนของแอนก็คือ ‘การดูนก’

‘การดูนกสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนได้จริงๆ หรือ’ – ผมสงสัย

งาน ‘Make a Zine : Extra Ordinary’ ในปีนี้ เราชวนแอนมาเป็นวิทยากรในกิจกรรม Bird’s Eye View ที่จะชวนเหล่าคนทำซีนมาดูนกและโลกผ่านมุมมองของกล้องส่องทางไกล โอกาสนี้เองที่พาผมมานั่งคุยกับแอนเกี่ยวกับการดูนก แต่การคุยกันของเรากลับไม่จบลงเพียงแค่นั้น เราคุยกันถึงเรื่องที่ใหญ่กว่านกและมนุษย์มาก เพราะบทสนทนาของเราว่าด้วยเรื่องธรรมชาติและการดำรงอยู่

ต้นไม้ยังคงสูงตระหง่าน นกยังคงเอ่ยเสียงเจื้อยแจ้ว

และทั้งสองสิ่งไม่รู้เลยว่าเรากำลังพูดถึงมันด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

จุดเริ่มต้นที่ทำให้แอนสนใจด้านสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติเกิดขึ้นตอนไหน

จำได้ว่าตอน ม.1 เราไปค่ายสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นแค่อยากเที่ยวฟรีเลยสมัครไป ได้ไปเดินป่า ดูนก ดูหิ่งห้อย ตอนแรกก็กล้าๆ กลัวๆ แต่พอไปแล้วกลับรู้สึกว่าอยากไปเรื่อยๆ ด้วยพื้นฐานตัวเราเองน่ะโคตรคนเมืองเลย เราไม่เคยรู้ว่าต้นไม้ต้นไหนคือต้นมะม่วงถ้ามันไม่มีลูก สิ่งที่เราไปเจอเลยใหม่สำหรับเรา มันสนุกไปหมดจนทำให้อยากไปอีก ไม่เบื่อเลยเพราะมันเจอสิ่งใหม่ตลอด มีอะไรสวยๆ ที่เราไม่รู้จักเต็มไปหมด จนเราตั้งคำถามว่าทำไมสิ่งพวกนี้อยู่รอบตัวเราแล้วเราไม่เคยเห็นเลย

แล้วมาดูนกได้ยังไง

จริงๆ แล้วเราสนใจหลายอย่างมาก ตอนแรกเราดูผีเสื้อก่อน แต่ผีเสื้อไม่ได้มีทุกที่ไงเวลาไปเที่ยว หลังจากนั้นก็ดูอย่างอื่น อย่างเห็ด ไลเคน เปลี่ยนมาเรื่อยๆ จนถึงตอนปี 1 เราก็เริ่มดูนกเพราะนกมันมีทุกที่ที่เราไป รอบๆ ตัวเราก็มีกลุ่มคอมมูนิตี้ที่สามารถเข้าไปร่วมได้ เรามีโอกาสเข้าถึงนกได้มากกว่าตัวอื่นๆ

จำได้มั้ยว่าอะไรคือสิ่งที่ประทับใจแรกในการดูนก

ตอนนั้นพี่ไกด์ที่เขามาสอน เขาอธิบายถึงนกตัวหนึ่ง เขาบอกว่าดูนกตัวนั้นสิ เห็นคอสีเขียวมรกตของมันมั้ย เห็นตาสีแดงๆ ของมันหรือเปล่า มีขนฟูนิดๆ คลุมขามันอยู่ด้วยนะ รู้เปล่าว่าคือนกอะไร

เดาว่านกโพระดก

ผิด มันคือนกพิราบเว้ย

ตอนนั้นเรารู้สึกเลยว่าเฮ้ย นกพิราบก็มีมุมสวยของมันที่เราไม่เคยเห็น ถ้าลงลึกไปอีกเราก็จะรู้ว่าตัวผู้คอจะมีสีเขียวกว่าตัวเมียนะ หรืออย่างนกเขาชวา ไกด์ก็บอกว่ามันทามาสคาร่าสีฟ้า ตัวมีลายสีเทาอ่อนๆ มันเหมือนเราได้เห็นอีกมุมนึงของนกตัวเดิม ถ้าให้เปรียบเทียบ การดูนกเหมือนเกม Pokémon Go น่ะ เราสนุกกับการไปเจอตัวใหม่ในที่ต่างๆ อย่างนกบางชนิดอยู่ที่สุราษฏร์ธานี เราก็จะนั่งรถลงไปเพื่อไปเห็นมันกับตา

อะไรคือสิ่งพิเศษในการดูนกที่คนที่ไม่เคยดูนกอาจจะไม่รู้

ความพิเศษอย่างแรกในการดูนกคือ natural appreciation ยิ่งเราเจอนกตัวสวยๆ เราก็จะยิ่งอยากไปเจอตัวที่เจอยากขึ้น แต่เราว่าสิ่งที่ได้มาพร้อมๆ กับการดูนก คือการเดินทางและการอยู่กับธรรมชาติ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราตัวเล็กนิดเดียว ตัวตนเราน้อยลง คนไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวในธรรมชาติอีกต่อไป ก่อนหน้านี้เราอาจจะคิดว่าเราเป็นเซลฟ์เซนเตอร์ ทุกอย่างต้องหมุนรอบตัวเรา แต่พอเราไปอยู่กับธรรมชาติ ต่อให้มีหรือไม่มีเราอยู่ตรงนั้น ธรรมชาติก็ยังดำเนินชีวิตปกติของมัน อย่างเวลาเรามาวิ่งที่สวนลุมฯ และมีหยุดเคารพธงชาติตอน 6 โมงเย็น ทุกอย่างมันหยุดไปหมดเลยแต่ธรรมชาติก็ยังทำหน้าที่ของมันน่ะ นกก็ยังบิน กาก็ยังร้อง

น่าสนใจที่แอนบอกว่าพอดูนกแล้วพบว่าเราตัวเล็กลง ทั้งๆ ที่เราตัวใหญ่กว่านกเยอะเลย

ไม่ใช่แค่นกหรอก แต่เป็นธรรมชาติทั้งหมดเลย นกก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อย่างถ้าคนมาร่วมกิจกรรมดูนกกับเรา เราก็จะพาไปสวนในเมืองเนี่ยแหละ เพราะธรรมชาติมันอยู่กับเราทุกที่ พอเราเริ่มสังเกต เราก็จะรู้จักมัน ทีนี้พอเรารู้จักกันก็จะเห็นกันทุกที่เลย เหมือนพอเราเริ่มดูนก เราก็จะเห็นนก

การดูนกในเมืองจะน่าเบื่อหรือเปล่า เรานึกตามก็เหมือนจะมีแต่ตัวเดิมๆ ที่เราเคยเห็นแล้ว

ถ้างั้นลองบอกชื่อนกในเมืองมาให้เกิน 10 ชื่อสิ

นกพิราบ นกกระจอก นกกางเขน อีกา นกเอี้ยง กระจิบ นกเขา เป็ด … นึกไม่ออกแล้ว

เห็นไหม (หัวเราะ) ขนาดเป็นนกธรรมดาที่เราเคยเห็น เรายังนึกออกไม่ถึง 10 ชื่อเลย ลองนึกยี่ห้อเสื้อผ้าหรือของกินสัก 10 ชื่อสิ เราจะพบว่าเรารู้จักเสื้อผ้ากับของกินมากกว่าเพื่อนร่วมโลกเราด้วยซ้ำ เราอาจจะตัดขาดจากธรรมชาติมากเกินไป เหมือนเราก็อยู่กับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา เราอยู่ในตึกอาคาร เราอยู่ในร้านอาหารที่มีคนทำให้สำเร็จแล้วแต่จะมีสักกี่คนที่กินข้าวแล้วเคยปลูกข้าวเองบ้าง

การดูนกและเห็นธรรมชาติที่ตามมาเป็นสาเหตุที่ทำให้แอนเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า

การดูนกเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราอินขึ้น มันทำให้เรารู้ถึงความเฉพาะทางของธรรมชาติ ตัวนี้เจอในที่แบบนี้แต่ไม่เจอในที่อีกแบบ พอพื้นที่มันเปลี่ยนแปลงอย่างการตัดถนนบนดอยอินทนนท์ เราก็จะเห็นประเด็นอื่นที่คนอาจจะมองข้าม ไม่เฉพาะแค่นก แต่สัตว์บางอย่างมันจำเป็นต้องอยู่ที่ตรงนี้เพราะมันอยู่ที่อื่นไม่ได้อีกแล้ว มันเกี่ยวโยงกันไปหมด พอเราเห็นแบบนี้มันเลยไม่ใช่นกอีกต่อไป เราเห็นธรรมชาติแบบกลมๆ ซึ่งพึ่งพากันและกันอยู่

มีอะไรที่คนเมืองควรรู้เกี่ยวกับความเป็นไปของนกในธรรมชาติหรือนกในเมืองตอนนี้ไหม

(นิ่งคิดนาน) เราว่ามันเป็นเรื่องที่ถ้ารู้ก็ดี แต่ไม่รู้ก็ได้ นั่นคือการรับรู้ความรู้สึกที่ว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์ประเภทเดียวบนโลกน่ะ สำหรับเรา เราว่ามนุษย์ควรรู้สึกกับสิ่งนี้มากๆ สัตว์ต่างๆ ก็มีสิทธิ์ในโลกพอๆ กับพวกเรา อย่างสถานการณ์นกในเมืองตอนนี้ มีนกบางชนิดที่ค่อนข้างปรับตัวกับความเป็นเมืองยุคนี้ได้พอสมควรเลย แต่ก็น่าเป็นห่วงบางชนิดที่ปรับตัวไม่ได้ เราไม่ได้จะบอกว่ามันห้ามสูญพันธุ์นะ อัตราการสูญพันธุ์มันมีตั้งแต่ยุคก่อนแล้ว แต่ยุคนี้เราไปเร่งให้มันเร็วขึ้นซะทุกอย่างจนอัตราการสูญพันธุ์ไม่ปกติ นกบางชนิดลดจำนวนลงเร็วและเยอะมาก ทีนี้ถ้าเกิดมันหายไปหลายๆ ตัวพร้อมกัน มันอาจจะทำให้ระบบนิเวศทั้งระบบพังลงมาก็ได้

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในไทยตอนนี้ดูเสียหายเร็วเหลือเกิน อย่างการตัดป่าที่เชียงใหม่ ขนาดเราเห็นข่าวเรายังรู้สึกแย่เลย ถามในฐานะมุมมองของนักอนุรักษ์ที่ทำกิจกรรมด้านนี้มาสม่ำเสมอ แอนรู้สึกยังไง

อืม จะบอกว่ายังไงดีล่ะ (นิ่งคิดนานมาก) ท้อนะ คนอนุรักษ์ก็พยายามทำตัวเสียงดัง แต่ก็ถูกมองว่าโลกสวย ขวางโลก เอาแต่ปกป้องเสือหรือไง แล้วคนล่ะ ซึ่งมันเป็นความเห็นต่างเฉยๆ เอง (นิ่งคิด) ทำมาตั้งนาน ก็ยังไม่อิมแพกต์สักที ปัญหาสิ่งแวดล้อมพวกนี้พวกเรารู้มาตั้งหลายปีแล้วแต่ก็ยังช่วยแก้อะไรไม่ได้เลย เราเป็นเหมือนคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามดันทุกอย่าง ซึ่งก็จะเห็นแต่หน้าเดิมๆ

อะไรที่ทำให้ยังคงทำต่อ

(นิ่งคิดนานและตอบเสียงสั่น) ถ้าเรารู้แล้วไม่ทำใครจะทำวะ สุดท้ายทุกปัญหาที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ มันมีแค่ 2 อย่างคือปัญหาที่เราแก้ได้และแก้ไม่ได้ เราก็ทำเท่าที่ทำได้ ทำอะไรได้ก็ทำ

ถ้าอย่างนั้น คนทั่วไปสามารถทำอะไรในส่วนของเขาได้บ้าง

ดูแลธรรมชาติ ถ้ามีกรณีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นก็ช่วยกันแชร์ ช่วยกันเป็นปากเป็นเสียง เอาจริงๆ คนรู้อยู่แล้วแหละว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แต่คนไม่ได้รู้สึก เป็นโจทย์ที่ยากมากที่จะทำให้คนรู้สึก ยิ่งสมัยนี้เราโตมาโดยแยกกับธรรมชาติค่อนข้างเยอะ อย่าไปจับดินนะเดี๋ยวสกปรก อย่าออกไปข้างนอกนะแดดร้อน อย่าไปจับกิ้งกือนะมันอันตราย เราถูกปลูกฝังกันมาแบบนี้ เราไม่เคยได้ไปสัมผัสพวกเขาจริงๆ เราไม่ได้เชื่อมโยงกับมัน สิ่งที่เราหวังคืออยากให้เขารู้สึกบ้าง บอกไม่ถูกเหมือนกันนะว่าอยากให้เขารู้สึกยังไง อาจจะเป็นความรู้สึกขอบคุณมั้ง อย่างต้นไม้ต้นนี้ เราไม่ใช่แค่เห็นเขาว่าเป็นต้นไม้ แต่เห็นแล้วเราอยากขอบคุณเขาที่ให้อากาศเราหายใจ ขอบคุณที่บังแดดให้เรานั่งร่มๆ สัมภาษณ์กันตรงนี้ ทีนี้เราก็จะอยากทำดีต่อเขา เหมือนเรารักใครสักคนแล้วเราก็อยากดูแลเขาไปเรื่อยๆ นั่นแหละมั้งที่พวกเราทุกคนทำได้

ถ้าใครอยากมาร่วมกิจกรรมดูนกและรู้จักธรรมชาติให้มากขึ้นกับแอน ตอนนี้เรามีกิจกรรม See Saw Zine ของเทศกาล Make a Zine ตอน Extraordinary ที่จะพาไปสนุกกับกิจกรรม Bird’s Eye View ส่องโลกผ่านมุมมองนกกับนักชีววิทยาวัยรุ่นผู้รักธรรมชาติวันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน 2561 เวลา 7:00-11:00 น. ที่สวนรถไฟ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องทำซีน 1 เล่มมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ดูรายละเอียดการร่วมสนุกได้ ที่นี่ เลย

ภาพ นิติพงษ์ การดี

AUTHOR