ก่อนหน้าจะเดินทางกลับบ้าน เอก–เอกพงษ์ เหมรา เป็นนักดนตรีเบื้องหลัง (แบ็กอัพ) ทำงานในห้องบันทึกเสียงแห่งหนึ่งของสมาชิกวงมาลีฮวนน่าอยู่นานกว่า 4 ปี แต่เพราะโหยหาชีวิตที่บ้านเกิดอย่างจังหวัดสตูล เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานในฝัน หันหน้ากลับสู่ทะเล แล้วผันตัวเองไปทำงานในอีกหนึ่งอาชีพที่เขารักและหลงใหลมาตลอดอย่างครูสอนดำน้ำ ผู้ช่วยรักษาธรรมชาติใต้ท้องทะเล
1
“ตอนทำงานที่กรุงเทพมันคิดถึงบ้านมากเลย คิดถึงขนาดที่ว่าเราขึ้นไปยืนบนดาดฟ้าที่ออฟฟิศแล้วได้กลิ่นน้ำทะเลโชยเข้าจมูกทุกวัน” เอกเปิดบทสนทนาด้วยท่าทีสบายๆ ถึงชีวิตก่อนหน้าจะมาเป็นลูกทะเลเต็มตัวอย่างทุกวันนี้
“งานนักดนตรีที่ทำอยู่ตอนนั้นเป็นความฝันของผมเลย ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ แล้วได้อยู่ในสตูดิโอใหญ่ๆ มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมายมันน่าตื่นเต้นมาก เราอินกับมันขนาดที่ว่าสามารถทำงานแบบข้ามวันข้ามคืน ไม่หลับไม่นอนได้เลย มีพลังเยอะมาก แต่พอเริ่มอยู่ที่กรุงเทพฯ ไปได้สักพักกลับรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ไม่ใช่เรา รู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันไม่ใช่ที่ของเรา อยู่ๆ ก็มีความคิดว่าชีวิตแบบทำงานเป็นกะ เป็นเวลาของเพื่อนที่ทำงานประจำแล้วได้เงินเดือนเพียง 10,000 กว่าบาทนั้นน่าอิจฉาจัง ทั้งๆ ที่งานเรารายได้ดีกว่าเขาเยอะแยะ เป็นจุดที่ทำให้คิดได้ว่า จริงๆ แล้วชีวิตคนเราอาจไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย”
โดยไม่ปล่อยให้ความคิดถึงบ้านเป็นแค่ความคิดถึง เอกตัดสินใจลาออกจากงานในฝันวัยเด็กของเขา ทั้งๆ ที่น่าจะไปได้สวย แล้วเดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดจริงๆ
เป็นการเดินทางกลับบ้านครั้งแรกที่มีสิ่งไม่คาดฝันอย่างคลื่นยักษ์สึนามิรออยู่
“สึนามิถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิตเลย ก่อนหน้านี้เราก็มีคำถามเกี่ยวกับชีวิตประมาณนึงอยู่แล้ว พอเจอคลื่นยักษ์ ความคิดเหล่านี้จึงยิ่งมากขึ้นเข้าไปอีก มันมีคำถามที่ว่า ‘เฮ้ย ทำไมกูถึงไม่ตายวะ’ มันต้องเป็นเพราะมีอะไรที่ยังไม่ได้ทำแน่ๆ”
เมื่อคิดได้อย่างนั้น เขาจึงตัดสินใจ แต่งงาน
แต่แน่นอนว่าความฝัน และความจริงย่อมแตกต่าง
ชีวิตที่เขาฝันไว้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย เมื่อแต่งงานได้สองปี คู่ชีวิตของเขามีเหตุด่วนให้ต้องกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้งระหว่างที่ตั้งท้องลูกสาวคนแรก เขาจึงต้องเดินทางตามมาด้วย รอจนลูกสาวคนที่สองคลอด แล้วจึงได้กลับไปยังบ้านเกิดสมใจ
และครั้งนี้เป็นการกลับไปเพื่อสร้างครอบครัว
2
“เพราะบ้านเราค่อนข้างอยู่ในชนบท จึงไม่ต้องปากกัดตีนถีบเหมือนตอนอยู่ในเมือง ไม่ต้องมีสตางค์เยอะก็พออยู่ได้ นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ตอนนั้นคิดถึงบ้านด้วย
“พอมีครอบครัวเราก็อยากอยู่ในสังคมแบบนี้ เพราะเรามองว่าสิ่งแวดล้อมมีผลกับชีวิตคน ถ้าลูกที่กำลังจะโตขึ้นมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ตื่นเช้าขึ้นมาเจอพี่ ป้า น้า อา เจอญาติพี่น้อง เจอเพื่อน ผมว่าสิ่งเหล่านี้จะหล่อหลอมเขา อยากให้เขาเจอเหมือนที่เราเคยเจอ
“ความศิวิไลซ์ สมัยนี้ไม่ต้องไปถึงกรุงเทพฯ แล้ว ที่ไหนก็มี สตูลมีอินเทอร์เน็ต มีคอมพิวเตอร์ และสิ่งต่างๆ เหมือนกันทุกอย่าง ไม่มีก็แต่รถไฟฟ้าเท่านั้นเอง” เอกหัวเราะ
เมื่อกลับบ้านมาใหม่ๆ เอกกลับไม่รู้ว่าจะทำอะไรหาเลี้ยงครอบครัวดี จนเมื่อเห็นทะเลก็พบทางสว่าง คิดได้ว่าธรรมชาติใกล้ตัวนี้คือแหล่งงาน แหล่งอาชีพ เขาจึงตัดสินใจเริ่มงานเป็นครูสอนดำน้ำเต็มตัว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเรียนดำน้ำ และเป็นไกด์อยู่แล้วช่วงเรียนมหาวิทยาลัย นอกจากภารกิจหลักที่ว่านี้ เขายังมีภารกิจรองอย่างการเป็นอาสาสมัครดูแลปะการัง และการอนุรักษ์ทะเลพ่วงด้วย
“เพราะเราใช้ชีวิต เราทำมาหากินอยู่ในเขตอุทยาน คนที่ได้ประโยชน์อย่างเราจึงต้องเป็นคนลุกขึ้นมาดูแลแนวปะการังนี้เอง มันเป็นยุคที่จะให้ไปคาดหวังกับหน่วยงาน หรือใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้แล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกัน มันอาจไม่ทัน เนื่องจากมีคนใช้ประโยชน์เยอะกว่าคนดูแลเสียอีก
“สิ่งแรกที่เราเริ่มทำคือการให้ไกด์ซึ่งอยู่ใกล้ชิดนักท่องเที่ยวมากที่สุด แนะนำนักท่องเที่ยวว่า ‘อันนี้ทำไม่ได้นะ’ ” เอกเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เขาไม่สอนดำน้ำอย่างเดียว แล้วยกตัวอย่างถึงสิ่งที่เขาและไกด์ท้องถิ่นหลายๆ คน หารือกันว่าจะดูแลท้องทะเลได้อย่างไร โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถมากมาย
“พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มพัฒนา เริ่มมีนักดำน้ำ เริ่มมีความรู้เรื่องทรัพยากร เรื่องปะการัง และเรื่องปลามากขึ้น เราจึงเริ่มไปสอนนักเรียนที่โรงเรียนด้วย เป็นครูเองบ้าง มีครูในกลุ่มหลายคนมาช่วยๆ กันบ้าง อีกทั้งยังมีกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ มากขึ้น
“แม้เราจะไม่ได้เรียนมาในสาขานี้โดยตรง แต่เมื่ออยู่กับมันเป็นปีๆ เราก็พอจะเข้าใจ พอจะอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้
จึงทำกันเองต่อมาเรื่อยๆ ผมมองว่ามันต้องช่วยกันเอง เพราะถ้าเรารอให้คนที่เป็นนักวิชาการจริงๆ มาให้ความรู้ อย่างมากก็จะพูดเรื่องนี้ได้เพียงปีละครั้งสองครั้ง สู้ลุกขึ้นมาทำเอง ขาดตรงไหนก็ไปเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น แล้วลงมือทำดีกว่า
“ทำแบบนี้มันเปลี่ยนความคิดคนได้ด้วย เมื่อคนท้องถิ่นลงมือทำเอง มันจะเปลี่ยนจากคนที่เฉยๆ กลายเป็นเริ่มมีอินเนอร์ จากคนที่ไม่มีเวลา ก็มีเวลา มันเป็นเหมือนเมนสตรีม ถ้าเราทำให้มันเป็นกระแสได้ คุณไม่ต้องเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหมดก็ได้ เพราะผลดีที่เกิดตามมา จะทำให้เขาเข้าใจเอง”
3
“มันเป็นสิ่งที่เราทนดูไม่ได้มากกว่า” เอกตอบ เมื่อได้ยินคำถามที่ว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้ยังคงยืนหยัดดูแลธรรมชาติเช่นนี้
“การเป็นอาสามันมีทั้งให้และทั้งดึงบางส่วนของชีวิตไป เวลาของครอบครัว เวลาของลูกเมีย เราเองก็อยากจะมีเวลาให้กับครอบครัวเหมือนกัน แต่พอเข้าไปแล้ว เริ่มต้นลงมือทำไปแล้ว เราก็มีความคาดหวังว่าสิ่งที่เราลงมือทำไปมันจะดีขึ้น เรารู้สึกทนไม่ได้ รู้สึกแย่ถ้าปะการังใต้ทะเลจะได้รับผลกระทบจากการทำงานของเรา เพราะผูกพันกันไปแล้ว ถามว่าอยากอยู่บ้านเฉยๆ ไหม ก็อยากอยู่เหมือนกัน แต่พอได้ยินข่าวว่าเดี๋ยววันนั้นเขาจะไปทำกิจกรรมกัน เราก็เริ่มอยู่ไม่สุขแล้ว” เอกหัวเราะเบาๆ ให้กับอาการเสพติดงานของตัวเอง
“การกลับบ้านครั้งนี้มันเกินคุ้ม ถึงแม้จะมีรายได้ไม่เท่าตอนทำงานที่กรุงเทพฯ อาจจะต้องเหนื่อยแบกแท็งก์วันละหลายๆ ลูก ต้องนั่งอยู่ในเรือหางยาวทั้งวัน ตากแดด ตามลม แต่ผมก็ได้มีเวลาอยู่กับลูกๆ ผมมีเวลาไปหาแม่
“ในชีวิตตั้งแต่เล็กๆ จนอายุ 30 ปี ผมได้ใช้ชีวิตตามที่ตัวเองอยากทำ ไม่เคยทำตามคำสั่งใคร ผมก็ว่าเพียงพอแล้วสำหรับเวลาที่เหลือที่จะทำเพื่อคนอื่นบ้าง และที่สำคัญคือผมยินดีที่จะเป็นอย่างนี้ด้วย ไม่ได้รู้สึกว่าตะขิดตะขวงใจ ไม่ได้รู้สึกเสียใจว่าทำไมวันนั้นถึงผมตัดสินใจกลับมาบ้าน
“เพราะว่าถ้าผมยังดันทุรังอยู่กรุงเทพฯ ผมว่าผมคงจะเหนื่อยกว่านี้เยอะ”