Jom JAHROM : แรปเปอร์ผู้เล่าเรื่องยาเสพติดได้ตรงและจริงที่สุด

ในวันที่เพลงแรปกลับมาครองพื้นที่ในเพลย์ลิสต์เพลงฮิตอีกครั้ง ชื่อของ Jahrom (จ๋อม–ธรรมศักดิ์ บุญโทแสง) กลายเป็นอีกชื่อที่คุ้นหูคนฟัง ตั้งแต่วันที่แรปเปอร์หนุ่มจากขอนแก่นก้าวเท้าขึ้นมาบนสังเวียน The Rapper แล้วฟาดฟันทุกบีตด้วยไรม์ที่เล่าเรื่องราวสีเทาในสังคมได้อย่างสะเทือนใจ อย่างประเด็นเรื่องยาเสพติดในเพลง ไม่เคย หรือเพลง หนังสือรุ่น ที่ไรม์ของ Jahrom ค่อยๆ เล่าให้คนฟังอินตามไปกับเรื่อง กระทั่งถึงฉากจบที่หักมุม

ในอดีต Jahrom คือแรปเปอร์ใต้ดินที่ผ่านการลองผิดลองถูกจากการทำเพลงแรปหลายแนว ทั้งแรปตลก แรปรัก หรือแรปเรกเก้ กว่าจะมาเจอทางที่ใช่และลงตัวอย่างทุกวันนี้ ด้วยการนำแนวเพลงแรปมาผสมผสานกับวิถีเพลงเพื่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็น LIFE, Thug Right? หรือ HUNT ที่ล้วนสะเทือนเข้าไปถึงใจคนฟัง อย่างเพลง LOST ที่เคยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนฟังให้เลิกยาเสพติดมาแล้ว แต่ใครเล่าจะรู้ว่า เบื้องหลังเพลงอันลึกซึ้งเหล่านี้ Jahrom ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งเล็กๆ รอบตัว เช่น ภาพยนตร์ เพลง เกม หรือผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

แรปเล่าเรื่อง

“ตอนมารายการ The Rapper เขาบอกว่าเพลงเราเป็นเพลงแรปเล่าเรื่อง ผมก็เพิ่งรู้นะ สังเกตว่าเพลงของผมจะไม่พีคในบาร์สองบาร์ สมมติว่าถ้าล้างรถไปฟังไปก็จะไม่เข้าใจ แต่ต้องหยุดฟัง เหมือนหนังบางเรื่องที่ต้องนั่งดูสักพักถึงจะเข้าใจ

“ผมเริ่มแรปหลังจากที่ฟังเพลง หนุ่มน้อย กับ มือปืน ของพี่ปู–พงสิทธิ์ คัมภีร์ ผมรู้สึกว่าเขาจริงใจ ทำไมเขากล้าพูดแบบนี้นะ ตรงดี บวกกับเราชอบเพลงแรปซึ่งผมมองว่าเป็นเพลงที่สามารถลงรายละเอียดได้เยอะ แล้วเราอยากทำอะไรที่มันเป็นตัวเองอยู่แล้ว ก็เลยทำแบบที่เราเป็น

“เราแรปเหมือนเดิม แค่เรารู้จุดยืนของตัวเอง จากเมื่อก่อนที่เราอยากลองอะไรก็ลองหมด จนพอเราทำไปเยอะจริงๆ ถึงรู้ว่าอันไหนเป็นเรา หรืออันไหนที่เราทำได้ดี อย่างเพลงรักหวานเจี๊ยบ ผมทำแล้วมันเอียน ไม่ค่อยชอบ ผมก็ไม่ทำ แต่มันก็มีคนที่ทำและเขาก็ทำได้ดี ก็ให้เขาทำไปเถอะ เราไปทำแนวอื่นดีกว่า”

แรปรู้สึก

“ส่วนใหญ่เพลงของผมจะไม่บรรยายตรงๆ เช่น เจ็บปวดเหลือเกิน ก็จะไม่พูด แต่ด้วยเรื่องจะทำให้รู้สึกแทน

“ผมชอบดูบทหนังที่คุยกัน แล้วเราจะคิดตามว่าทำไมให้ตัวละครพูดแบบนี้ บางทีก็ย้อนดูอีกรอบเพื่อดูน้ำเสียงจริงของเขา เพราะสำหรับแรปเปอร์แล้ว ความเข้าใจเรื่องน้ำเสียงมีส่วนเยอะมากที่ทำให้มันรู้สึกจริง คือต่อให้เขียนเนื้อคม โหด แต่ร้องเหมือนท่องอาขยาน อารมณ์เพลงก็หายไปหมด อย่างคำว่าเสียใจ ถ้าเราเสียใจจริง เสียงสั่นจริง มันก็จะรู้สึกจริงกว่า

“บางทีเราคิดเพลงไม่ออกก็แค่ดูหนัง ดูบางฉากแล้ว เออว่ะ ความรู้สึกแบบนี้แม่งดี แล้วหยิบมาทำ คือเราจะลองจินตนาการว่าถ้าเราอยู่ตรงนั้นจะทำไงวะ ก็คิดต่อออกมา แล้วเอามาผูกกับเรื่องรอบตัว อาจจะเป็นเหตุการณ์ของเพื่อนคนนู้นคนนี้มารวมกัน แล้วก็ถ่ายทอดให้คนฟังเข้าใจ”

เรื่องเบื้องหลังแรป

“จริงๆ ผมคิดในหัวไว้ว่าจะเล่าเรื่องยาเสพติดสามแบบ ทำสามเพลงให้เป็นซีรีส์ ที่วางโครงไว้มี Lost, Life, Last แต่ไปๆ มาๆ มีเพลงในรายการเพิ่มมาอีกเพลงคือ หนังสือรุ่น

“มันเริ่มจากตอนเด็กๆ เพื่อนผมติดยา ผมเลยคิดว่าเราจะทำยังไงได้บ้างในเมื่อเตือนแล้วไม่ได้ผล กูต้องเป็นตำรวจไปจับเพื่อนเหรอ แล้วไงวะ แบบนั้นไม่เกิดประโยชน์เลย แต่พอเราทำเพลงมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำได้ก็คือเพลง แล้วถ้าเพลงเราไปเตือนสติใครได้ อาจจะเป็นคนที่คล้ายเรา คล้ายเพื่อนเรา ก็คงจะดี ก็เลยลองทำ

“ผมคิดว่าเรื่องราวที่ผมทำในเพลงน่ะมันเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นอีก มันอมตะ สิบปีข้างหน้าเด็กก็จะยังติดยาแหละ เหมือนเพลงพี่ปูที่ฟังตอนไหนก็เป็นจริงทุกรอบ แต่มันจะมีเรื่องเสน่ห์ในการแรป ทั้งน้ำเสียงหรือองค์ประกอบต่างๆ มาเสริมด้วยเท่านั้นเอง”

4 เพลงแรปที่ Jahrom อยากเล่า

01 LOST

แล้วในวันนั้นกูเสียน้ำตาไป 5 หยด เพราะว่าเพื่อนกูเอาค่าเทอมไปเสียให้ยาบ้าหมด

“ตอนนั้นเพื่อนผมชวนไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัย จำได้ว่าค่าใบสมัคร 500 บาท วันสอบผมก็โทรหามัน เฮ้ย ทำไมไม่มาวะ กดรับสายปุ๊บ เงียบ แล้วก็กดวางสาย พอโทรอีกทีก็ไม่รับ ผมก็ไปสอบ ผลออกมาคือผมติด แต่มันไม่ได้มา หลังจากนั้นประมาณปีสองปีถึงค่อยมาเล่าให้ผมฟังว่า วันนั้นที่มึงโทรมาให้กูไปสอบน่ะ กูเอาเงินไปซื้อยาบ้า แล้วตอนนั้น 500 บาท ซื้อได้แค่เม็ดเดียว คือมันเป็นคนที่อยากเรียนตรงนี้มากกว่าผมอีก แต่ดันเอาไปแลกกับอนาคต”

02 LIFE

อยู่ในสังคมที่ไม่มีใครมามอง โดนตัดสินทั้งที่ไม่เคยมองมา
เป็นส่วนเกินที่ไม่มีใครมองหา แล้วมึงเชื่อกูมั้ยว่ากูไม่เคยลองยา

“พูดถึงสังคมที่ทุกคนเล่นยาหมด แล้วเราจะโดนตราหน้าว่าเล่นยาไปด้วย ซึ่งเราไม่ได้เล่น ก็ต้องอยู่ให้ได้ มันมาจากตอนมัธยมรู้สึกว่ามันเคว้ง เพราะฝั่งหนึ่งคิดว่าเราเล่นยา อีกฝั่งเห็นเราไม่เล่นยาก็ไม่อยากยุ่งด้วย มันคือสิ่งที่เราอยากพูดมาตลอด แต่ไม่มีใครฟัง”  

03 ไม่เคย (LAST)

อยากหลับตาขอภาวนาให้ย้อนเวลาเป็นเด็กสักเจ็ดขวบ
อย่างน้อยก็ไม่มีเรื่องแบบนี้มาทำให้เจ็บปวด

“เป็นเพลงจบของซีรีส์ จริงๆ มันจะไม่ใช่เพลงไม่เคยด้วยซ้ำ มันมาจากเพลง LAST ที่ผมเขียนไว้ในซีรีส์ที่ผมจะเล่าเรื่องยาเสพติด แต่พอมาสมัคร The Rapper เลยลองเอามาใส่ ตอนแรกมันไม่ได้จะเป็นแบบนี้ มันจะเป็นเรื่องลูกหาเงินส่งกลับบ้าน พ่อแม่เอาเงินไปเล่นยา แต่มันโหดเกินไปถ้าคนทั้งประเทศต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ในเพลงแรป แล้วมันดันมาจากเรื่องจริงด้วยนะ ตัวลูกไปเป็นโคโยตี้ ส่งเงินมาให้พ่อแม่เดือนละหลายหมื่น แต่พ่อแม่เอาเงินไปซื้อยาบ้าอย่างเดียว แล้วคนเป็นลูกเตือนยังไงก็ไม่ฟัง แจ้งตำรวจจับพ่อแม่ก็ไม่ได้ ลองส่งเป็นทีวี ตู้เย็น ก็เอาไปขายหมด คือบางทีเราอยู่ในสังคมแบบนี้ คิดว่ามันโหดไปใช่มั้ยล่ะ แต่พออยู่ตรงนั้นแล้วมันดันเป็นเรื่องจริง”

04 หนังสือรุ่น

แต่เราเพื่อนกัน มึงเพื่อนกู ต่อให้คนจะเกลียดมึงทั้งโลก

“มันเริ่มมาจากเพื่อนผมที่ติดอยู่ในคุกถามผมว่าเฟซบุ๊กคืออะไร เลยเขียนว่าจะทำยังไงให้รู้สึกว่าคิดถึงเพื่อนโดยไม่พูดตรงๆว่า เฮ้ย คิดถึงนะ ล่าสุดเพื่อนผมออกมาจากคุก บอกผมว่า เทปนั้นที่ร้องเพลงหนังสือรุ่นน่ะเขาเปิดในคุก เนี่ย คนเชียร์มึงทั้งคุกเลยนะ แพ้ได้ไง เขาโคตรชอบ ถึงจะเขียนไม่เป็นแต่คนในนั้นเขาเขียนแรปกันแล้วนะ มันเหมือนเราไปเปิดโลกทัศน์ให้เขาได้ ถ้าผมเป็นแรงบันดาลใจได้ก็ดี ถ้าเขาออกมาแล้วสิ่งนี้ทำเงินให้เขาได้ เป็นการสร้างโอกาส ดีกว่าให้เขาไปติดคุกอีก”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

นิติพงษ์ การดี

ช่างภาพเจ้าของเพจ Rename. ที่ลงงานปีละครั้ง และมีความคิดว่า ถ้าได้กินกาแฟในตอนเช้าหนึ่งแก้ว ถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ดี