เติมแรงใจด้วยไฟฝันของเด็กๆ ใน Racket Boys ซีรีส์กีฬาสะท้อนชีวิตคนชนบทในเกาหลีใต้

Racket Boysบทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์

‘ผลงานจากผู้เขียนบท Prison Playbook–จองโบฮุน’ คือคำโปรยจากตัวอย่างแรกของซีรีส์ Racket Boys ที่ทำให้เราและเหล่าแฟนซีรีส์เกาหลีตั้งตาคอยกันตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา

แม้จะจั่วหัวมาว่าเป็นซีรีส์กีฬาแนวคอเมดี้ที่เดินเรื่องด้วยแก๊งนักแบดมินตันวัยมัธยมต้น แต่ด้วยนามสกุล Prison Playbook ที่พ่วงท้ายมาก็ทำให้เราคาดหวังว่าซีรีส์เรื่องนี้จะสร้างทั้งเสียงหัวเราะและความประทับใจ พร้อมกับนำเสนอแง่มุมที่ลึกซึ้งไม่แพ้เรื่องราวของเหล่าคนคุกในห้องขังหมายเลข 2B6 อย่างแน่นอน

ซึ่ง Racket Boys ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง 

“มีหลายคนที่ไม่ได้รู้จักแบดมินตันมากนัก Racket Boys ช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจแบดมินตันมากขึ้น รวมถึงเข้าใจนักกีฬาแบดมินตันด้วยเช่นกัน ผมจึงดีใจมากที่เรามีซีรีส์เกี่ยวกับแบดมินตันออกมา” อียงแด นักกีฬาแบดมินตันทีมชาติของเกาหลีใต้ (และนักแสดงรับเชิญในซีรีส์) ออกปากชื่นชม แถมยังบอกอีกว่าซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เขาหวนนึกถึงวัยเยาว์ของตัวเอง

แต่นอกเหนือจากเรื่องราวของเหล่านักกีฬา ซีรีส์ยังพาเราไปสำรวจวิถีชีวิตในชนบทอันห่างไกลที่ไม่ได้สวยงามเหมือนชนบทในอุดมคติของคนเมือง ซึ่งเป็นฉากหลังที่สอดคล้องไปกับเส้นเรื่องหลัก เล่าเรื่องวงการแบดมินตันเกาหลีที่ไม่ได้รับความสนใจมากนักเมื่อเทียบกับกีฬาท็อปฮิตอื่นๆ อย่างเบสบอลหรือฟุตบอล

ขณะเดียวกันเราก็จะได้เห็นมิตรภาพ ความฝัน และความรักของเด็กๆ ซึ่งช่วยเติมพลังใจให้คนดูผู้เหนื่อยล้ากับโลกความเป็นจริงได้เป็นอย่างดี 

ที่ที่แสงไฟส่องไปไม่ถึง

จากพิตเชอร์เบสบอลดาวรุ่งในเมืองหลวงอย่างกรุงโซล ปัญหาด้านการเงินของครอบครัวบีบบังคับให้นักเรียน ม.3 อย่าง ‘ยุนแฮกัง’ (แสดงโดย ทังจุนซัง) จำเป็นต้องย้ายตามพ่อผู้ประกอบอาชีพโค้ชแบดมินตันไปยังโรงเรียนมัธยมต้นแฮนัมซอ ในหมู่บ้านตังกึท จังหวัดชอลลาใต้ ซึ่งอยู่ไกลชนิดเกือบสุดขอบประเทศ

การเริ่มงานวันแรกของโค้ชใหม่อย่าง ‘ยุนฮยอนจง’ (แสดงโดย คิมซังคยอง) ทำให้เขาพบว่าทีมแบดมินตันที่นั่นมีสมาชิกเพียง 3 คน ซึ่งไม่พอที่จะสมัครลงแข่งด้วยซ้ำ และด้วยจำนวนนักกีฬาอันน้อยนิดในหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่แปลกเลยที่จะไม่มีทีมเบสบอลให้แฮกังได้เข้าร่วม

ตามสูตรสำเร็จของซีรีส์ทั่วไป สมาชิกคนใหม่ที่จะช่วยให้ทีมแบดมินตันได้มีสิทธิลงแข่งนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากลูกชายของโค้ชอย่างแฮกัง ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงอดีตนักแบดฯ มือดีที่หายตัวไปหลังกวาดรางวัลชนะเลิศในรุ่นประถม (ก่อนที่จะผันตัวไปเล่นเบสบอล)Longer text and longer text please we need longer text for SEO dude. Longer text and longer text please we need longer text for SEO dude. Longer text and longer text please we need longer text for SEO dude.

แฟลชแบ็กในวัยเด็กของแฮกังทำให้เราได้เห็นความแตกต่างระหว่างกีฬาสองชนิดนี้ 

“ไปดูทีมเบสบอลแข่งรอบรอง แต่ไม่มาดูพวกเราแข่งรอบชิงเนี่ยนะ เฮงซวยชะมัด” เด็กชายชั้น ป.6 เพื่อนร่วมทีมของแฮกังบ่นอุบ เมื่อนักเรียนในห้องทุกคนเอาแต่ตื่นเต้นกับเพื่อนนักกีฬาเบสบอลที่แข่งได้อันดับ 4 ในขณะที่ทีมแบดมินตันนั้นได้รางวัลชนะเลิศ แถมแฮกังยังได้รางวัลใหญ่อย่าง MVP (most valuable player) แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจ

แม้ว่านี่จะไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้แฮกังเลิกเล่นแบดมินตัน แต่เหตุการณ์นั้นสะท้อนให้เห็นค่านิยมหลายอย่างในแวดวงกีฬาเกาหลี ทั้งประเด็นความนิยมที่ไม่เท่ากันที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ชมในสนาม ฐานแฟนคลับอันน้อยนิดของกีฬานอกสายตาอย่างแบดมินตัน ไปจนถึงเรื่องเม็ดเงินหมุนเวียนและงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนในการกำหนดคุณภาพชีวิตของนักกีฬา 

คล้ายกับเป็นเงาสะท้อนของกันและกัน ระหว่างกีฬาที่ไม่ได้รับความนิยมอย่างแบดมินตัน กับพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลความเจริญอย่างหมู่บ้านตังกึท ท่ามกลางไร่นากว้างใหญ่ หมู่บ้านแห่งนี้จะมีรถเมล์วิ่งผ่านมาแค่ชั่วโมงละ 1 คัน เวลาที่อยากกินจาจังมยอนก็ต้องสั่งทีละ 10 ชามเป็นอย่างต่ำ ส่วนโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดนั้นก็อยู่ไกลแถมยังมีรถฉุกเฉินแค่คันเดียว

“อยู่บ้านนอกจะป่วยก็ไม่ได้หรอก กว่ารถฉุกเฉินจะมาก็ต้องรอเป็นนานสองนาน” ชาวบ้านคนหนึ่งว่าเอาไว้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่และอยู่นอกเหนือความสนใจของภาครัฐมีส่วนทำให้หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้พัฒนาไปช้าเหลือเกิน หลายครอบครัวจึงต้องส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในเมืองเพื่อไขว่คว้าหาโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แม้ว่านั่นจะทำให้หมู่บ้านยิ่งเงียบเหงาลงไปทุกวัน

“ไม่ว่าจะเป็นชนบทที่ไหน ถ้าชาวบ้านย้ายออกไปหมดเพราะไม่มีงานทำ หมู่บ้านนั้นก็จะหายไปไม่ใช่เหรอ” หนุ่มเมืองกรุงที่ย้ายมาลงหลักปักฐานที่นี่กับภรรยาตั้งข้อสังเกต เขาไม่เข้าใจคนในหมู่บ้านเท่าไหร่นักเมื่อเห็นว่ามีหลายคนพยายามคัดค้านการเปลี่ยนที่ดินทำกินให้เป็นสนามกอล์ฟ ซึ่งจะสร้างงานสร้างอาชีพและนำความเจริญมาให้แก่ชุมชน ทั้งที่พวกเขาเองก็ยังคงบ่นเรื่องความลำบากของชีวิตในชนบทอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“แต่ของแบบนี้มันก็ต้องมีกระบวนการของมัน เขาต้องเริ่มหาก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการและจำเป็น” ภรรยาของเขาตอบ

ที่ที่ไม่มีอะไรดีสักอย่าง

จริงอยู่ที่คนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดนิยมย้ายเข้าไปเรียนหรือทำงานในเมือง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถิติบอกเราว่าคนเกาหลีในเมืองใหญ่ตัดสินใจย้ายออกไปอยู่ต่างจังหวัดมากกว่าที่คนต่างจังหวัดย้ายเข้ามาในเมืองเสียอีก ซึ่งปัจจัยสำคัญของเหตุการณ์นี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องค่าครองชีพและคุณภาพชีวิตที่ไม่สอดคล้องกัน 

ในปี 2016 ราคาซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยในโซลเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 3.14 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็น 514 ล้านวอน (ประมาณ 14 ล้านบาท) ขณะที่มูลค่าที่อยู่อาศัยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.74 เปอร์เซ็นต์ คือ 302 ล้านวอน (ประมาณ 8 ล้านบาท) เท่านั้น สถิติดังกล่าวจึงสอดคล้องกับจำนวนประชากรกรุงโซลที่ลดลงกว่าหมื่นคนในปีเดียวกัน เช่นกันกับเมืองรองอย่างปูซานซึ่งมีประชากรลดลงร่วม 2,000 คน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าการย้ายไปอยู่ ‘บ้านนอก’ คือทางออกเสมอไป

“ไอ้ที่ว่าอากาศดี วิวกินขาดมันก็จริงอยู่หรอก แต่ไม่ว่าเมืองหลวงหรือชนบทมันก็ต้องใช้เงินพอๆ กันนั่นแหละ คิดว่าทำการเกษตรแล้วไม่มีค่าใช้จ่ายเหรอ ไหนจะค่าข้าว ค่ารถ แถมยังต้องใช้แรงงานคนอีก” ผู้ใหญ่บ้านกล่าวกับฮยอนจงในวันแรกที่ครอบครัวยุนย้ายเข้ามา

แม้ท้ายที่สุดแล้วครอบครัวของแฮกังจะสามารถปรับตัวได้ดี เด็กๆ ในทีมแบดฯ ส่วนใหญ่ก็ดูจะแฮปปี้กับชีวิตในชนบท แต่ความจริงแล้วต่างคนต่างก็มีความคับข้องใจกันทั้งนั้น

“เป็นเรื่องดีนะที่ได้มาอยู่ในที่ที่อากาศดีและได้กินอาหารจากธรรมชาติทั้งสามมื้อ” ตัวละครผู้กำกับสารคดีเอ่ยปากจากมุมมองของคนเมือง ทันทีที่เธอเดินทางมาถึงหมู่บ้านนี้เพื่อถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับ ‘ฮันเซยุน’ (แสดงโดย อีแจอิน) นักกีฬาแบดมินตันหญิงทีมชาติซึ่งอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกับครอบครัวของแฮกังและสมาชิกทีมแบดคนอื่นๆ คำถามของเธอทำเอาเด็กๆ ขำแห้งก่อนตอบ

“เราไม่เคยกินอาหารจากธรรมชาติเลยสักครั้ง”

“เรื่องอากาศผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ไหนจะฝุ่นเหลือง และฝุ่น PM2.5 ด้วย”

“คิดยังไงก็นึกออกแต่เรื่องไม่ดีนะครับ ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ถ้าจะไปร้านเน็ตก็ต้องไปถึงในเมืองโน่น”

“อาหารก็ไม่ค่อยมาส่งด้วยครับ”

“ใช่ค่ะ พวกเขาไม่รับสั่งจาจังมยอนแค่ชามสองชามหรอกนะคะ” เซยุนยืนยันอีกเสียง

“แล้วทำไมพวกเธอถึงยังอยู่ที่นี่ล่ะ มันต้องมีเหตุผลที่ชอบที่นี่สิ” เธอยังคงถามต่อไป

“ไม่มีหรอกครับ มันก็แค่สนุก” แฮกังตอบตามจริง ก่อนที่น้องเล็กของทีมจะเสริม

“พอได้เล่นด้วยกันก็ไม่มีเรื่องกลุ้มใจด้วย ดีมากเลยครับ” 

เหตุผลข้อเดียวกันนี้เองที่ทำให้แฮกังหันกลับมาเล่นแบดมินตันอีกครั้งด้วยความมุ่งมั่น ไม่หวั่นไหวแม้ในตอนที่โค้ชเบสบอลชวนเขากลับไปเข้าทีม

ที่ที่มีคุณค่าสำหรับเรา

สำหรับเด็กๆ ที่มีมิตรภาพและความสัมพันธ์เป็นส่วนสำคัญในชีวิต ‘เพื่อน’ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตแต่ละวันในชนบทได้อย่างสนุกสนาน แต่สำหรับผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องการงานและการเงิน การตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไปจากชนบทนั้นซับซ้อนกว่ากันหลายเท่า

เป็นความจริงที่เมื่อเราเติบโตขึ้น การตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิตก็ดูจะยากขึ้นเป็นเงาตามตัว และนั่นคือสิ่งที่เราได้เห็นในหลายฉากหลายตอนของซีรีส์ Racket Boys 

ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน สมัยที่ฮยอนจงยังเป็นนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติ เขาได้พบรักกับ ‘รายองจา’ แม่ของแฮกัง (แสดงโดย โอนารา) ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงนักแบดมินตันหญิงมือวางอันดับหนึ่งของโลกและกำลังจะได้ลงแข่งโอลิมปิก แต่แล้วเธอกลับถอนตัวกะทันหันก่อนจะตัดสินใจออกจากวงการในเวลาต่อมา

“ทำไมล่ะ” แฮกังถามเมื่ออยู่ๆ พ่อก็เล่าเรื่องนี้ให้เขาฟัง

“เพราะเธอท้องไงล่ะ มันเสี่ยงที่เธอจะแท้ง เธอจึงต้องเลือกระหว่างเด็กในท้องกับการแข่งโอลิมปิก” ฮยอนจงตอบ และสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่ายองจาเท่สุดๆ ก็คือการให้สัมภาษณ์ของเธอก่อนที่จะอำลาวงการไป

“เพราะคุณเป็นนักกีฬาหญิงและเป็นแม่คน เลยยอมที่จะทิ้งแบดมินตันไปเหรอครับ” นักข่าวถาม

“ฉันไม่ได้ตัดสินใจแบบนี้เพราะว่าฉันเป็นนักกีฬาหญิงหรือเพราะว่าฉันเป็นแม่ มันแค่เป็นสิ่งที่ฉันเลือกเอง” ยองจาตอบอย่างเด็ดเดี่ยว ก่อนจะเสริมต่อว่า “การตัดสินใจครั้งนี้มีค่ากับฉันยิ่งกว่าเหรียญโอลิมปิก และฉันไม่มีวันนึกเสียใจภายหลัง” 

ที่สุดแล้วในทุกทางแยกของการตัดสินใจ เรามักจะมุ่งหน้าไปหาเส้นทางที่มี ‘คุณค่า’ กับเรามากกว่า 

ไม่ใช่คุณค่าที่เป็นตัวเงิน และไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับค่านิยมของสังคม เพราะคุณค่าที่ว่าคือสิ่งที่เรายึดถือและเชื่อมั่นเป็นการส่วนตัว เหมือนกับที่เซยุนและแฮกังปฏิเสธการทาบทามจากทีมแบดมินตันในโซลเพราะพวกเขาเชื่อในทีมของตัวเอง หรือที่ชาวบ้านคัดค้านการพัฒนาที่ดินในหมู่บ้านเป็นสนามกอล์ฟของนายทุนเหลี่ยมจัด เพราะหมู่บ้านแห่งนี้คือที่ที่พวกเขาทุกคนอยู่อาศัยและเติบโตมา

แล้วถ้าเราเกิดต้องเลือกระหว่างสองสิ่งที่มีค่ากับเรามากพอๆ กันล่ะ

ประเด็นสำคัญที่แทรกมาในบทสนทนาระหว่างเซยุนกับนักแบดมินตันรุ่นพี่ ‘อิมซอฮยอน’ (แสดงโดย ควอนยูริ) ซึ่งถูกพร่ำสอนว่านักกีฬาที่ดีจะต้องขยัน และนั่นก็ทำให้เธอคว้าเหรีญทองมาได้จริงๆ แต่ก็แลกมาด้วยชีวิตวัยรุ่นของเธอซึ่งไม่มีโอกาสได้ไปกินต๊อกบกกีหรือเล่นสนุกกับเพื่อนๆ เลยสักครั้ง

“งั้นถ้าย้อนกลับไปได้จะเลือกต๊อกบกกีแทนเหรียญทองไหมคะ” เซยุนถามซื่อๆ

“จะบ้าเหรอ! เธอรู้ไหมว่าฉันต้องพยายามแค่ไหนกว่าจะได้มันมา” ซอฮยอนตอบเสียงสูง ก่อนจะเอ่ยปากขอ “แต่เธอช่วยพิสูจน์ให้ฉันเห็นหน่อยสิ ว่าต่อให้ไปกินต๊อกบกกีและไปดูหนังกับเพื่อนๆ เธอก็ยังคว้าเหรียญทองมาได้”

ถ้าหากเราไม่สามารถตัดใจจากสิ่งที่มีค่าสองอย่าง บางครั้งเราอาจต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อที่จะรักษาทั้งสองสิ่งเอาไว้ให้ได้ แม้ว่ามันจะทำให้เราต้องเหนื่อยขึ้นอีกหน่อยก็ตาม


อ้างอิง

koreaherald.com

koreajoongangdaily.joins.com

AUTHOR