มิวเซียมเก็บของสะสมในสตูดิโอของคู่รักนักทำงานกราฟิกแห่งแบรนด์ Quinn draw design

Highlights

  • Quinn Draw Design คือแบรนด์ที่เกิดจากความหลงใหลในภาพประกอบและภาพยนตร์ กับการรับบทเป็นตัวละครหนึ่งในโลกจินตนาการที่พาทุกคนไปทำความรู้จักกับตัวละครผ่านลายเส้นในฉบับของตัวเอง
  • คาแรกเตอร์และฉากในภาพยนตร์เรื่องโปรดของใครหลายคน กับลายเส้นที่เหมือนสีไม้และคู่สีที่มองแล้วสบายตา ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ที่พลอยปลุกปั้นรวมกับก๊องมา โดยมีความตั้งใจว่าโปรดักต์ที่ทำจะทำให้คนอื่นรู้จักภาพยนตร์ที่พวกเขาชอบมากขึ้น
  • สตูดิโอของทั้งคู่อยู่ในบ้านเช่าที่พวกเขาลงมือรีโนเวทด้วยตัวเอง นอกจากโต๊ะทำงานตัวใหญ่ใกล้ครัวน่ารักๆ ให้ฟีลคาเฟ่แล้ว แมว เสียงเพลงซาวนด์แทร็กจากแผ่นเสียง และสื่อสิ่งพิมพ์ที่เก็บสะสมก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งคู่เกิดไอเดียสร้างงานได้อย่างมีความสุข

เราแหวกม่านสีขาวขนาดใหญ่ที่แขวนอยู่บริเวณหน้าบ้านออก ก่อนได้ยินเสียงต้อนรับจากเจ้าของบ้านดังมาจากข้างในพร้อมกับประตูไม้ที่เปิดออก

ในบ่ายวันอาทิตย์ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไปถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการสำรวจสตูดิโอของ ก๊อง–กีรติ เงินมี  และ พลอย–ธิดารัตน์ ศิวะบูรณ์ แห่งแบรนด์ Quinn draw design ที่ทำสารพันโปรดักต์เกี่ยวกับภาพยนตร์ในแบบฉบับของตัวเอง

ทั้งคู่พาเรากับช่างภาพไปนั่งตรงโต๊ะไม้ตัวเขื่องที่มีฟังก์ชั่นเป็นทั้งโต๊ะทำงานและโต๊ะกินข้าว เสียงเปียโนซาวนด์แทร็กภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas Mr. Lawrence โดย Ryuichi Sakamoto ดังออกมาจากห้องโถงข้างๆ เรากล่าวขอบคุณก๊องทันที เขาเปิดเพลงนี้เพราะรู้ว่าเราชอบนักประพันธ์คนนี้มากแค่ไหน

ย้อนกลับไปก่อนหน้า เรารู้จักทั้งสองคนอยู่แล้วจากการทำงานในสายแม็กกาซีนร่วมกัน บวกกับแบรนด์ Quinn draw design ที่พลอยเริ่มทำเมื่อหนึ่งปีก่อน ก็มีเราที่เป็นกองเชียร์และถวายตัวเป็นแฟนคลับตั้งแต่เริ่มทำโปรดักต์ชิ้นแรก

คาแร็กเตอร์และฉากในภาพยนตร์เรื่องโปรดของใครหลายคนกับลายเส้นที่เหมือนสีไม้และคู่สีที่มองแล้วสบายตา ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์ที่พลอยกับก๊องร่วมกันปลุกปั้นมา Lolita (1997), Léon: The Professional (1994), Our Little Sister (2015), Coffee and Cigarettes (2003), The Grand Budapest Hotel (2014) ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือรายชื่อภาพยนตร์ที่พลอยหยิบมาสร้างสรรค์ผ่านโปรดักต์ต่างๆ เช่น สติกเกอร์ แฮนด์บิล พวงกุญแจ และซีน

นอกจากผลงานที่น่าสนใจแล้ว ทั้งสองคนก็มีความชอบที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งการสะสมสิ่งพิมพ์หลากหลายประเภท เป็นนักเล่นแผ่นเสียงตัวยง รวมถึงรสนิยมการตกแต่งบ้านที่ไม่ว่าใครก็ต้องออกปากชื่นชม

อะไรที่สะสม อะไรที่ชอบ ก๊องกับพลอยจะเลือกมาวางโชว์ได้อย่างพอเหมาะ ของทุกชิ้นจึงมีพื้นที่เฉิดฉาย ไม่ได้อยู่แต่ในกล่องหรือมุมห้องเงียบๆ

“อย่างกับอยู่ในมิวเซียมแน่ะ” เราสรุปคำอธิบายสตูดิโอของทั้งสองคนได้แบบนั้น

 

แบ่งปันความชอบผ่านแบรนด์ที่ทำ

ด้วยความที่ก๊องกับพลอยทำงานด้านกราฟิกทั้งคู่ โดยเฉพาะพลอยที่รับหน้าที่วาดภาพประกอบลงแม็กกาซีน หนังสือ และอัลบั้มเพลงอยู่บ่อยๆ และมักใช้เวลาว่างวาดรูปคาแร็กเตอร์ในภาพยนตร์ที่ชอบอยู่แล้ว ประกอบกับช่วงนั้นมีคนรอบข้างเชียร์ให้ทำแบรนด์ที่ลังเลมาตลอดเลยลองดูสักตั้ง

แน่นอนว่าแบรนด์ที่หยิบหนังมาเป็นแรงบันดาลใจนั้นมีให้เห็นเต็มท้องตลาด แต่หากสังเกตโปรดักต์ของ Quinn draw design ดีๆ จะพบว่าภาพยนตร์ที่หญิงสาวเลือกมามักเป็นภาพยนตร์ที่เราไม่ค่อยเห็นใครเลือกมาทำของขายนัก ยกตัวอย่างโปรดักต์ที่เดบิวต์ในวงการอย่างสติกเกอร์เซต The Shining (1980), Pulp Fiction (1994), The Royal Tenenbaums (2001) และ IT (2017)  เป็นต้น

“มีแต่หนังน่ากลัวๆ นะเนี่ย” เราพูดพลางนึกถึงโทนของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง

“มันเริ่มมาจากหนังที่เราชอบนั่นแหละ จริงๆ ตอนทำก็หวังจะขาย แต่อันที่ทำเพราะชอบ ไม่ได้หวังจะขายขนาดนั้นก็มี เราอยากเห็นมันออกมาเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้จริงไง ก็ตั้งด้วยความชอบเราเป็นหลักเลย ทั้งที่หนังบางเรื่องแบรนด์อื่นเขาไม่เลือกมาทำหรอก เพราะคนไม่ค่อยรู้จัก แต่เวลามีคนที่ดูหนังเหมือนกันทักมา เราก็ใจชื้น เหมือนเวลาเจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกันมันก็ดีใจ”

“อีกอย่างคืออยากกระจายหนังดีที่เราชอบแบ่งปันให้คนอื่นดูหรือรู้จักเยอะขึ้นด้วย เราอยากทำหน้าที่เป็นมุมมองหนึ่งที่แบ่งปันหนังเหล่านี้ให้คนที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งบางทีก็มีคนเห็นโปรดักต์เราแล้วไปตามดูหนังต่อ อย่างตอนไปออกบูทก็มีคนมาขอให้เล่าเรื่องย่อเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง สนุกดี”

แม้จะโฟกัสที่ความชอบเป็นหลัก แต่พลอยก็พยายามประนีประนอมกับการทำแบรนด์ด้วย เพราะหากมองจากภาพรวม โปรดักต์ที่เธอทำมีทั้งภาพยนตร์ดังที่คนรู้จักเยอะ (ซึ่งเธอก็ชอบเช่นกัน) และภาพยนตร์แนวสยองขวัญกับระทึกขวัญที่เธอโปรดปรานสุดๆ เพื่อบาลานซ์ยอดขายให้แบรนด์ไปต่อได้

“เพราะถ้าทำแต่โปรดักต์หนังแนวนี้แบรนด์เราจะดูน่ากลัวมากเลย หนังฆ่ากันเลือดสาดแบบนี้ไม่มีใครเขาเอามาทำโปรดักต์กันหรอก แต่เราอยากทำ เพราะชอบล้วนๆ” พลอยหัวเราะร่วน

 

ขยายจักรวาลความชอบกับองค์ประกอบอื่นของหนัง

หลังจากที่ทำแบรนด์มาได้ปีกว่า จากสติกเกอร์พลอยได้ต่อยอดไปเป็นโปรดักต์อื่นๆ นั่นคือ เซตแพ็กเกจ Stranger Things และ Isle of Dogs ที่มีทั้งโปสการ์ดกับสติกเกอร์ ซึ่งความพิเศษของโปรดักต์ชิ้นนี้คือ แพ็กเกจจิ้งสุดน่ารักที่รับรองว่าไม่มีใครทิ้งลง

“เราทำแพ็กเกจจิ้งจากกระดาษไขแล้วนำมาเย็บด้ายด้วยมือ เพราะเรียนเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนออกแบบ เป็นความชอบส่วนตัว และการเย็บก็เป็นสกิลที่ทำได้อยู่แล้ว มันจะละเอียดกว่าการใส่ถุงแล้วจบ ถ้าต้องแพ็กของส่งทีละเยอะๆ ก็ต้องนั่งเย็บเองทุกชิ้น ลำบากกว่าก็จริง แต่ทำแล้วสนุก มีความสุข”

“อย่างตัวพวงกุญแจ เราก็อยากให้คนเอาตัวแพ็กเกจไปใช้ได้ด้วย เราเลยออกแบบตัวกระดาษรองหลังให้เป็นโปสต์การ์ด ใส่เนื้อเพลงจากซาวนด์แทร็กของหนังที่เราหยิบมาทำชิ้นงาน บางอันก็เป็นโควตหรือไดอาล็อกที่ตัวละครคุยกัน”

ส่วนเหตุผลที่เริ่มมาแตะเรื่องซาวนด์แทร็ก หญิงสาวก็ไม่มีเหตุผลอะไรอื่นนอกจากอยากให้ทุกคนตามไปฟังองค์ประกอบนี้ของภาพยนตร์ด้วย เพราะส่วนใหญ่คนมักโฟกัสที่ตัวละครและเนื้อเรื่องของภาพยนตร์อย่างเดียว จนอาจลืมนึกไปว่าการมีซาวนด์แทร็กหรือโควตดีๆ ก็เป็นส่วนช่วยทำให้หนังเรื่องนั้นเจ๋งขึ้นเหมือนกัน

ตอนนี้พลอยกำลังทำโปรดักต์ชิ้นใหม่ที่หยิบเอาโลเคชั่นในภาพยนตร์มานำเสนอในรูปแบบแม็กกาซีนวินเทจ โดยเธอให้คำจำกัดความว่าคล้ายกับแม็กกาซีนแต่งบ้านยุค 80s แต่เป็นบนเทกซ์เจอร์ผ้า ซึ่งนี่ถือเป็นการขยายความชอบในเรื่องหนังให้กว้างขึ้นอีกเช่นเดียวกัน

“จะเป็นหนังแนวน่ากลัวอีกไหม” เราแหย่ถาม เธอรีบส่ายหัวบอกปฏิเสธ

“ตอนแรกเราอยากทำโลเคชั่นจากหนังเรื่อง Psycho ด้วยซ้ำ แต่คิดไปคิดมาคนคงไม่เอาหนังแนวนี้มาแปะบ้านหรือเปล่า มันควรต้องเห็นแล้วชื่นจิตชื่นใจ ดีที่พี่ก๊องช่วยเบรก ไม่งั้นขายไม่ได้แน่เลย”

 

สตูดิโอแฮนด์เมด

นอกจากพลอยที่ทำงานวาดภาพประกอบและทำแบรนด์แล้ว ก๊องเองก็ทำงานภาพพิมพ์เป็นงานอดิเรกอยู่เสมอ ในบ้านจึงมีทั้งสตูดิโอที่เป็นพื้นที่ทำงานส่วนกลาง และห้องที่ทำมาเพื่อเป็นพื้นที่ทำงานภาพพิมพ์โดยเฉพาะ

แต่กว่าจะออกมาเป็นสตูดิโอในบ้านน่ารักๆ แบบที่เห็น กราฟิกดีไซเนอร์ทั้งสองคนต้องแปลงกายเป็นช่างฉาบปูน ติดกระเบื้อง ปูพื้น และทาสีเองอยู่หลายเดือน เนื่องจากตอนแรกสภาพบ้านที่พวกเขาเช่าหลังนี้มีแค่โครงสร้างที่ชอบ แต่ไม่ประทับใจในรายละเอียด ก๊องกับพลอยจึงค่อยๆ รีโนเวตบ้านและทำห้องนั้นมุมนี้เพิ่มมาเรื่อยๆ

“เราเคยลองซ้อมรีโนเวตมาจากห้องที่เคยอยู่ก่อนย้ายมาที่นี่ แต่ที่นั่นเน้นเป็นปูนกับสีเข้มๆ พอมาอยู่บ้านหลังนี้ที่มีหน้าต่างเยอะ ก็เลยต้องเล่นกับแสงธรรมชาติแทน เพราะอยากให้บ้านสว่างขึ้น เน้นตกแต่งให้แสงเข้า และใช้ผ้าม่านช่วยเอา เพราะจริงๆ พวกเราไม่ชอบทรงบานหน้าต่างกับเหล็กดัดเดิมที่มี มันเป็นการลดต้นทุนที่ถูกที่สุดในการทำให้บ้านสวยได้ไวและเสียเงินน้อย” อดีตช่างก๊องเล่าให้เราฟัง

ส่วนใหญ่เวลาทำงาน ทั้งสองคนจะใช้มุมโต๊ะกลางบ้านเป็นฐานทัพหลัก ขณะเดียวกันหากถึงเวลากินข้าว ก็จะปรับเปลี่ยนโต๊ะนี้ให้เป็นโต๊ะกินข้าวได้ทันที ซึ่งมุมห้องครัวสีขาวที่ให้บรรยากาศเหมือนอยู่คาเฟ่ ก๊องกับพลอยก็ตั้งใจทำให้เป็นแนวนี้มาตั้งแต่ต้น เพื่อไม่ให้โซนทำงานซีเรียสเกินไป

ส่วนใหญ่เฟอร์นิเจอร์หรือของในบ้านจะเป็นของเก่ามากกว่าของใหม่ เพราะทั้งสองคนไม่อยากให้ดูซ้ำ บวกกับของเก่าที่ซื้อมา ทั้งตัวเฟอร์นิเจอร์และสถานที่ที่ซื้อล้วนมีเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งไม่รู้ว่าเพราะเป็นคนทำงานดีไซน์ด้วยหรือเปล่า เมื่อได้ของชิ้นไหนเข้าบ้านมามักต้องมีขั้นตอนคราฟต์เองแต่งนั่นนิดปรับนี่หน่อย เพื่อให้ถูกใจเจ้าของบ้านที่สุดก่อน ไม่ว่าจะตู้ล็อกเกอร์ขนาดใหญ่ที่พ่นสีใหม่ หรือเคาน์เตอร์ทำกาแฟที่นำมาดัดแปลงต่อ

อันที่จริงแล้วปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นโจทย์ในการออกแบบหรือซื้อของเข้าบ้านกลับไม่ใช่เรื่องความสวยงามอย่างเดียว แต่เป็นเจ้าแมวทั้งสองตัวที่พวกเขาเลี้ยงต่างหาก

“ตอนทำบ้านก็มองเรื่องแมวก่อนเลย ต้องไม่มีของที่แมวทำตกแล้วแตก วางแผนไว้หมดแล้วว่าตรงนี้แมวกระโดดไม่ถึง หรือตรงนี้ห้ามวางของแตกได้ กลายเป็นการทำให้บ้านเรียบร้อยขึ้น ไม่งั้นจะวางของสะเปะสะปะไปเรื่อย เวลาซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ต้องระวัง ไม่งั้นจะโดนไอ้สองตัวลับเล็บเหมือนโซฟาผ้าที่ตั้งไว้หน้าบ้าน” ถึงจะวุ่นวายไปบ้าง แต่พลอยบอกว่าการมีแมวทำให้พวกเธอไม่เครียด บางทีทำงานไปก็ต้องเหลือที่ให้เจ้าหลงกับด๊อบบี้กระโดดขึ้นมาเล่นบ้าง

“ก็เหมือนเป็นสมาชิกคนที่ 3-4 ในบ้านแหละ” เราฟังก๊องพูด พลางลูบหัวด๊อบบี้ด้วยความเอ็นดู

 

มิวเซียมสะสมความชอบ

หลังจากลองเดินสำรวจสตูดิโอของก๊องกับพลอยแล้ว เราพบว่าทั้งคู่ชอบเก็บสะสมสิ่งพิมพ์มากๆ เกือบทุกมุมมีหนังสือ อาร์ตบุ๊ก แม็กกาซีน หนังสือพิมพ์เก่า หรือแม้กระทั่งปกแผ่นเสียงที่เรียงรายไว้ที่โถงนั่งเล่น ยังไม่นับสิ่งละอันพันละน้อยที่วางไว้บริเวณบ้านอีก มองเผินๆ อย่างกับมิวเซียมขนาดย่อม

และเมื่อถามถึงมุมโปรดของทั้งสองคน ก๊องที่กำลังจัดคอลเลกชั่นแผ่นเสียงของตัวเองอยู่ก็บอกทันทีว่าตรงนี้แหละ

นอกจากความหลงใหลในเสียงเพลงและเป็นนักเล่นแผ่นเสียงมาอย่างยาวนานแล้ว ในฐานะนักออกแบบ ชายหนุ่มมองว่าอาร์ตเวิร์กแผ่นเสียงเป็นอีกสื่อสิ่งพิมพ์ที่น่าเรียนรู้ “เรานับปกแผ่นเสียงเป็นสิ่งพิมพ์เหมือนกัน เพราะอาร์ตเวิร์กมันใหญ่เต็มตา ผ่านการดีไซน์มาอย่างถี่ถ้วนแล้ว และเราก็ทำงานออกแบบอาร์ตเวิร์กให้ศิลปินเพลงอยู่บ่อยๆ ทำให้ได้เห็นแนวทางการออกแบบผ่านปกแผ่นเสียงว่าคนยุคก่อนทำอะไรมาบ้าง บางทีเราคิดว่าสิ่งที่เราเพิ่งทำมันเจ๋งว่ะ สดใหม่มาก แต่พอไปเจอบางปกอัลบั้มก็เห็นเลยว่าเขาทำมาก่อนตั้งนานแล้ว เพียงแต่เรายังไม่เคยเห็น”

พลอยเล่าเสริมอีกว่า เวลาที่เธอเริ่มทำงานแบรนด์ Quinn draw design จะต้องสร้างบรรยากาศการทำงานด้วยการเปิดซาวนด์แทร็กของภาพยนตร์ที่หยิบมาวาดไปด้วย

“เวลาทำโปรดักต์หนังเรื่องไหนเราต้องบิวต์ตัวเองตลอด อย่างวาดเรื่อง Call Me By Your Name ก็ให้พี่ก๊องไปหาแผ่นเสียงซาวนด์แทร็กมาให้ แล้วเปิดตอนทำงาน จนกลายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องพูดไปแล้ว เวลาเขาเห็นว่าเราทำหนังเรื่องไหนอยู่ ก็จะไปหาซาวดน์แทร็กมาให้ตลอด และคอยช่วยดูไดเรกชั่นอาร์ตตั้งแต่เริ่มทำโปรดักต์ว่าเหมาะไหมจนถึงขั้นตอนสุดท้าย เขาจะช่วยตบๆ เรื่องสี ทดลองแก้แบบกันไปเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ดีที่สุดออกมา”

ส่วนเมื่อไหร่ที่ก๊องทำงานภาพพิมพ์ของตัวเอง เขาจะทำงานออกแบบบริเวณโต๊ะกลางบ้านเช่นเดียวกัน กระทั่งถึงขั้นตอนที่ข้องเกี่ยวกับน้ำยาสารเคมีต่างๆ อันเป็นช่วงสุดท้ายจึงค่อยเข้าห้องภาพพิมพ์ไปทำงานในนั้น ซึ่งบางครั้งพลอยก็เข้าไปศึกษาดูด้วย

แม้ว่ามุมต่างๆ ที่เราเห็นจะแสนน่ารักจนอยากกลับไปรีโนเวตบ้านของตัวเองบ้าง ก๊องกับพลอยบอกว่ายังมีอีกหลายมุมหลายห้องที่มีแผนทำอยู่ โดยจะค่อยๆ ทำไปตามที่เวลาเอื้ออำนวย แต่หลักสำคัญคือต้องเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบและอยากอยู่กับมันจริงๆ

“เราชอบใช้เวลาอยู่บ้าน เวลาทำงานประจำเหนื่อยๆ กลับมาบ้านก็ฟังเพลง อยู่ในที่ที่มีแต่ของที่เราชอบ มันทำให้เรารู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ของเราจริงๆ เสาร์อาทิตย์ก็ไม่ค่อยอยากไปไหนเท่าไหร่ ยิ่งช่วงโควิดที่ต้องทำงานที่บ้าน เราเอนจอยกับการทำงานในสภาพแวดล้อมที่เราเลือกเองมากเลย แล้วมันช่วยให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่เครียด เรามองว่าบ้านก็เหมือนคนที่อยู่นั่นแหละ และบ้านเราหลังนี้ก็บ่งบอกอะไรที่เกี่ยวกับเราได้ชัดเจนที่สุดแล้ว”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย