ease around : สตูดิโอที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้านและบางครั้งก็กลายเป็นสโตร์ได้ด้วย

Highlights

  • ease around คือแบรนด์โปรดักต์ของใช้ในชีวิตประจำวันที่อิงกับลายเส้นน่ารักๆ ที่เกิดจากฝีมือของ ป้อ–ชัยวัฒน์ อุทัยกรณ์ และ ตาล–วริษฐา จงสวัสดิ์ เนื่องจากแบรนด์ได้รับความนิยมมากขึ้นบวกกับไลน์โปรดักต์ที่ขยายกว้าง ทำให้ทั้งสองตัดสินใจทำสตูดิโอเป็นของตัวเอง
  • ทั้งคู่ตั้งใจให้พื้นที่ทำงานแห่งนี้มีบรรยากาศของความเป็นบ้านที่อบอุ่น รวมถึงเป็นสถานที่รับแขกและรองรับคนมาช่วยงานในอนาคต ไอเดียการตกแต่งจึงมีความสบายๆ น่ารักๆ และปรับไปตามฟังก์ชั่นการใช้งานมากกว่าจะเป็นแค่ที่ทำงานสวยๆ
  • นอกจากนี้ที่นี่ยังใช้เป็นสถานที่จัด Homey store อีเวนต์เล็กๆ ที่รวบรวมแบรนด์เพื่อนบ้านที่พวกเขาชอบไว้ด้วยกัน เพื่อเปิดบ้านหลังนี้ให้แฟนๆ หรือผู้สนใจมาแวะเวียนเยี่ยมชม รวมถึงทำความรู้จักกับแบรนด์ของพวกเขามากขึ้น

ในบรรดาแบรนด์ดีไซน์ที่ฉันชื่นชอบและติดตามผลงานมาตลอด หนึ่งในนั้นคือ ease around แบรนด์โปรดักต์ของใช้ในชีวิตประจำวันที่อิงกับลายเส้นน่ารักๆ ไม่ว่าจะเป็นโปสต์การ์ด ปฏิทินผ้า แก้วน้ำ เคสโทรศัพท์ กระเป๋าผ้า เสื้อยืด เป็นต้น ซึ่งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแบรนด์เพิ่งอายุครบ 2 ปีถ้วน

จากวันแรกที่เริ่มทำแบรนด์จนมาถึงวันนี้ ease around เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีแฟนคลับประจำและมีนิทรรศการเป็นของตัวเอง ซึ่ง ป้อ–ชัยวัฒน์ อุทัยกรณ์ และ ตาล–วริษฐา จงสวัสดิ์ เองก็ไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าโปรเจกต์เล็กๆ ที่เกิดจากความอยากสนุกและอยากทำของที่ชอบใช้เองจะเดินทางมาไกลจนสามารถเป็นอาชีพหลักของทั้งคู่ได้

นอกจากไลน์โปรดักต์ที่เพิ่มขึ้น ลายเส้นที่พัฒนาขึ้น และธุรกิจที่มีแนวโน้มไปในทิศทางดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ว หลักไมล์สำคัญที่เป็นตัววัดความเติบโตของทั้งป้อตาลและแบรนด์คือ การมีสตูดิโอเป็นของตัวเอง ซึ่งทั้งคู่มักบอกกับฉันเสมอว่าไม่อยากเรียกที่นี่ว่าสตูดิโอ เพราะทั้งคู่รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่ออฟฟิศ สตูดิโอ ที่จัดงาน แหล่งพบปะเพื่อนฝูง ที่คุยงาน หรือแม้กระทั่ง ‘บ้าน’

“คีย์ของมันคือ home เรารู้สึกว่าอยากทำพื้นที่นี้ให้เหมือนเราอยู่บ้าน” คำอธิบายของป้อต่อห้องขนาด 45 ตารางเมตรที่เขากับแฟนใช้เวลากับมันมาประมาณ 7-8 เดือนสรุปได้แบบนั้น

นั่นทำให้ฉันที่กำลังนั่งนอนกอดหมอนอิงเล่นบนโซฟาตัวใหญ่อีกมุมหนึ่งราวกับมาเที่ยวบ้านเพื่อนเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง


แยกพื้นที่ทำงานจากพื้นที่ส่วนตัว

“มันเริ่มจากเราไม่มีที่เดินในห้องนอน ต้องแพ็กของบนเตียง รู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว“ ตาลเล่าถึงที่มาในการมองหาพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะ

ในช่วงปีแรกๆ ที่แบรนด์กำลังตั้งไข่ โปรดักต์ยังมีไม่มาก ส่งของยังไม่เยอะ ทั้งสองคนที่ทำงานประจำก็ยังดูแลจัดการแบ่งเวลาทำงานทั้งสองด้านได้ดี ทว่าเมื่อทั้งคู่ปล่อย ‘Love Senses’ เซตโปสการ์ดใสส่องไฟสร้างบรรยากาศในห้องออกมา ยอดขายและยอดผู้ติดตามก็โตขึ้นชนิดก้าวกระโดด จนเข้าสู่ช่วงที่ห้องนอนในคอนโดไม่มีพื้นที่สต็อกของและแพ็กของ ทั้งยังมีปัญหาเรื่อง work-life balance จนทั้งคู่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำแบรนด์เต็มตัว พื้นที่ทำงานจึงกลายมาเป็นคำตอบที่เหมาะสม

“พอเราเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นมันก็จะแก้ปัญหาที่เคยมีมาอย่างของเต็มห้อง แก้ปัญหาเรื่องการไม่มีพื้นที่ในการทำงาน แก้ปัญหาเรื่องเวลาเข้านอนกับเวลาทำงาน แก้ปัญหาเรื่องถ้าอนาคตเราอยากได้คนมาช่วยทำงาน การมีพื้นที่ข้างนอกน่าจะสะดวกกว่าการให้เขาขึ้นไปบนห้อง รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องการสต็อกของ สามารถเก็บได้เป็นที่ทางมากขึ้น เพราะแพลนไว้ว่าหลังจากทำออฟฟิศจริงจัง ไลน์โปรดักต์จะออกไปอีกเยอะ มันจะเริ่มไปกว้างขึ้น ฉะนั้นเราต้องมีที่เก็บ” นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ป้อมองหาตึกแถว เพื่อเข้าไปรีโนเวตเป็นที่อยู่และออฟฟิศไปในตัว

แรกเริ่มทั้งคู่คิดว่าจะไปอยู่แถวๆ ชานเมืองเนื่องจากมองเรื่องค่าเช่าค่าใช้จ่ายว่าน่าจะถูกกว่า แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงปัจจัยแวดล้อมอย่างไปรษณีย์ และโลเคชั่นช็อปต่างๆ ที่แบรนด์ ease around วางขายส่วนใหญ่อยู่แถวสยาม บวกกับทั้งคู่เองก็ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ย่าน RCA มานานแล้ว จึงเปลี่ยนมาหาทำเลแถวเดิมแทน จนมาได้ที่ตึกออฟฟิศโครงการคอนโดของตัวเอง

ก่อนมาได้ห้องนี้พวกเขาถูกใจห้องขนาดเล็กกว่านี้ที่อยู่ห่างไปไม่กี่บล็อก แต่เมื่อคุยไปคุยมาก็พบว่ามีปัญหาเรื่องทางเข้า-ออก ป้อกับตาลจึงตัดสินใจเลือกห้องนี้ที่ใหญ่กว่าประมาณครึ่งหนึ่งแทน 

“เขาก็กดราคามาให้ดูต่อเดือน เราก็โอ้ จะรอดไหมนี่ สุดท้ายก็มาชั่งน้ำหนักกันไปกันมา คิดว่ามันไม่แย่ว่ะ ถ้าจะไปต่อมันราคาไหนถ้าจะต้องเอาก็ต้องเอา แล้วก็ไปทำเงินมาให้มันได้ต้นทุนค่าเช่าทุกเดือนเท่านั้นเอง” และด้วยความที่ตรงนี้เคยเป็นออฟฟิศของบริษัทดีไซน์มาก่อน ป้อกับตาลเลยไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะพื้นที่เป็นห้องโล่งๆ และตัวประตูที่ทำจากไม้กับกระจกก็สวยงามอยู่แล้ว ทั้งคู่จึงเน้นการตกแต่งภายในเป็นหลัก

ไม่ได้เน้นความสวยงามแต่เน้นการใช้งาน

หลังจากแยกพื้นที่แล้วว่าตรงห้องข้างหน้าเป็นส่วนทำงาน และห้องข้างหลังเป็นสต็อกเก็บของ ทั้งสองคนก็คิดง่ายๆ ว่าแค่แชร์โต๊ะทำงานด้วยกันก็พอแล้ว ไม่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์เยอะนักหรอก แต่หลังจากจบงาน Homey store อีเวนต์เล็กๆ ที่รวบรวมโปรดักต์จากเหล่าแบรนด์เพื่อนผองของ ease around เฟอร์นิเจอร์พวกโต๊ะตั่งก็เพิ่มขึ้นหลายตัวจากการซื้อมาใช้ดิสเพลย์โปรดักต์

“รู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์ที่เราซื้อมามีประโยชน์เพราะจะได้มีพื้นที่การแพ็กของเป็นสัดเป็นส่วน เมื่อก่อนเคยแพ็กบนพื้น เพราะเมื่อก่อนมีแค่โต๊ะเดียว เวลาคนข้างนอกเข้ามาเห็นก็ดูน่าเกลียด เลยจัดมุมแพ็กของและเพิ่มโต๊ะวางกับข้าวเวลาซื้อของมากิน หลักๆ เราไม่ได้จัดตามความสวยงาม เราจัดตามการใช้งานของเรา” ตาลผู้ดูแลเรื่องการแพ็กของและโปรดักชั่นเป็นหลักอธิบาย

“ส่วนตัวเป็นคนชอบย้ายที่ สมมติโต๊ะวางอยู่ตรงนี้ วันดีคืนดีก็หมุนมันซะอย่างนั้น แค่ขยับมันก็ทำให้ไม่เบื่อ เพราะฉะนั้นเราจะวางแบบตามใจเฉยๆ แล้วเดี๋ยวพอเราใช้งานมันก็จะ shape ให้ใหม่เอง user experience จะ shape ดีไซน์ให้เองว่ามันควรอยู่ตรงไหนกันแน่ ตรงนั้นควรอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า” จากเหตุผลของป้อนี่เอง ทำให้หน้าตาข้างในของสตูดิโอเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ อย่างคราวที่แล้วที่ฉันมา หลายมุมก็ไม่เหมือนตอนนี้

แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนเดิมของที่นี่คือ มู้ดแอนด์โทนที่ขาวๆ ดูสะอาดตา ซึ่งเมื่อถามแล้วทั้งคู่บอกว่าไม่ใช่ความตั้งใจขนาดนั้น แต่มันเกิดจากตัวตนและความชอบส่วนตัวของทั้งสองที่คล้ายๆ กันเอง

“คีย์ของมันคือ home เรารู้สึกว่าอยากทำพื้นที่นี้ให้เหมือนเราอยู่บ้าน เคยได้ยินจากไหนไม่รู้ว่าคนที่ทำงานที่บ้านแบบ home office จะทำงานได้ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามันมีเตียงให้นอนแล้วก็พักผ่อนยาวๆ แต่มันช่วยเรื่องความรู้สึกภายในว่าจะทำงานได้ดีขึ้น เหมือนเป็นเซฟโซน เป็นคอมฟอร์ตโซนที่อยู่ในพื้นที่นี้แล้วเราไม่ต้องห่วง ดังนั้นมันจะเหมือนบ้านคนเลย คือมีโซฟาที่ใช้งานเป็นเตียงนอนเล่นนอนกลางวันได้ มีมุมฟังเพลงเครื่องเล่นแผ่นไว้ฟังเพลงที่เราชอบ มีชั้นวางหนังสือที่ทำมาเพื่อวางหนังสือที่เราชอบและหยิบมาอ่านแรนด้อมได้ มีโต๊ะกระจกไว้วางของเป็นมุมบ้านสบายๆ ส่วนมุมทำงานก็ทำงานปกติ” ชายหนุ่มเล่าพลางชี้ชวนให้ดูแต่มุมของห้อง

นอกจากเป็นพื้นที่บ้านและที่ทำงานแล้ว ที่นี่ยังใช้รับแขกและรองรับคนมาช่วยงานได้เป็นอย่างดี ทำให้ป้อกับตาลรู้สึกว่าตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกแยกพื้นที่ทำงานออกมาชัดเจน รวมถึงการทำให้บรรยากาศมีความสบายๆ เหมือนอยู่บ้าน

“มันมีช่วงหนึ่งที่เราให้คนมาช่วยแพ็กของมาช่วยทำงาน ก็มีน้องๆ เข้ามา แล้วพื้นที่ก็รองรับพวกเขาได้จริงๆ ตามที่เราตั้งใจไว้ ก็นั่งกัน 4-5 คนช่วยกันทำงานได้ และเป็นพื้นที่การทำงานที่พวกเขาแฮปปี้ เรามีนู่นนี่นั่นให้เล่น มีน้องคนหนึ่งสนใจเครื่องเล่นแผ่นเสียง เขาก็ขอยืมเราฟัง หยิบแผ่นนั้นแผ่นนี้มาฟัง มันก็ทำให้เขาเอ็นจอยและช่วยให้เขารีเลตกับเราได้มากขึ้น มีเรื่องคุยกันต่อได้มากขึ้น เป็นการละลายพฤติกรรมรูปแบบหนึ่ง”

“อีกอย่างคือเราไม่ได้พยายามที่จะทำให้พื้นที่นี้สวยงามเป็นระเบียบตลอดเวลา พร้อมที่จะให้มันรกได้เสมอ เพราะมันเป็นพื้นที่ทำงาน ถ้าต้องการพื้นที่พักผ่อนสงบจิตสบายใจ เรามีพื้นที่ห้องคอนโดข้างบนที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ตรงนี้คือพื้นที่ทำงานมันต้องรกได้เสมอ” 


มุมบ้านที่ทำงานได้


ต้นไม้

ป้อ : ซื้อต้นคริสต์มาสเข้ามาทำ Homey store ครั้งที่ 2 และเพื่อความ festive ด้วย พวกต้นไม้จริงต้นไม้ปลอมก็มาจากความชอบ อย่างช่วงนี้ตาลจะอินเรื่องใบไม้ปลอม เขาอยากให้มันเลื้อยๆ เขียวๆ ก็ซื้อจากจตุจักรมาวางมาแขวนกัน

มุมชั้นวางแผ่นเสียง / หนังสือ 

ป้อ : เมื่อก่อนคิดตรงนี้ไว้เป็นโชว์รูมเผื่อเวลาที่มีลูกค้าแบบ business to business มาคุยกันเขาจะได้เห็นผลงานที่เราทำทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาก็มีแค่ 1-2 ครั้งถ้วน เราเลยรู้สึกว่าเอาของมาวางแบบนี้มันเขินๆ ก็รื้อออกเปลี่ยนใหม่ ทุกวันนี้เป็นที่วางแผ่นเสียงและหนังสือต่างๆ ที่เราได้ใช้มากกว่า ส่วนตัวคิดว่าแผ่นเสียงมีผลต่องานเหมือนกัน หลังๆ เพิ่งมารู้ตัวว่าตัวเองทำงานเกี่ยวกับดนตรีและเพลงเยอะมาก อย่างตอนคิดโปรดักต์ต่างๆ ก็มีความเพลงขึ้นมา อีกอย่างคือพวกของที่แปะผนังทั้งหลายก็มาจากดีไซเนอร์ที่เราชอบ เวลาเบื่อทีก็เปลี่ยนเอาอันใหม่มาแปะ

กระจก

ป้อ : เราทำขึ้นเพื่องาน Homey store เหมือนกัน อยากให้ลูกค้าใช้ลองของและถ่ายรูปเล่นได้ จริงๆ ชอบกระจกตั้งแต่ตอนออกอีเวนต์ของพี่ซัน–อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล ตอนนั้นทำเป็นกระจกบานใหญ่ๆ ให้คนถ่ายรูปเล่น แล้วรู้สึกว่ามันเรียกคนได้ เขาไม่มาส่องก็มาถ่ายรูป คิดว่ามีไว้ในงานก็น่าจะดี หลังจากนั้นกลายเป็นว่าทุกงานมีกระจกหมดเลย อย่างงานที่นี่ก็มีกระจก exhibition ที่จัดที่ทองหล่อก็มีกระจก 

มุมทำงาน

ป้อ : รกแต่ก็มีพื้นที่ในการทำงาน และสามารถหยิบของได้ง่ายๆ มีพวกกระป๋องไว้ใส่ของเล็กๆ มีคอมพิวเตอร์ ปฏิทินเน่าๆ ที่เก็บหูฟัง ของทั่วไป และมีกาชาปองเพราะชอบของกระจุกกระจิก ส่วนสติกเกอร์เปียโนอันนี้มาจากการที่เราเคยเห็นจากโต๊ะทำงานพ่อ พวกโต๊ะทำงานคนแก่ที่เป็นโต๊ะเหล็ก ถ้าใครนึกออกสมัยก่อนเขาจะตัดกระจกเท่าโต๊ะมาปิดโต๊ะไว้ แล้วสอดแบงค์ประเทศนั้นนี้ลงไป แต่พ่อเราปรินต์กระดาษเอสี่เป็นรูปแป้นเปียโนยัดเข้าไปในนั้นแทน ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน เห็นมาตั้งแต่เด็ก วันหนึ่งนึกออกก็เลยทำบ้าง 

ตาล : มุมทำงานของเรามีส่วนโต๊ะตรงกลาง และก็ชอบเอาโน้ตบุ๊กมานั่งทำงานนอนทำงานบนโซฟา มันเหยียดขาได้ หรือบางทีก็นั่งทำงานบนพื้นแล้วพิงโซฟา ไม่ค่อยมีที่ตายตัว เหมือนเวลาอยู่บ้านนั่นแหละ

ที่ทำงานที่กลายเป็นสโตร์

ด้วยความที่ชื่อแบรนด์ว่า ease around ที่มีความตั้งใจจะ around ตัวเองไปเรื่อยๆ ตามความสนใจ ทั้งสองคนจึงผุดโปรเจกต์ทำช็อปเล็กๆ ที่รวบรวมแบรนด์ดีไซน์ที่ชอบและรู้จักมาวางขายด้วยกันที่สตูดิโอแห่งนี้ กลายเป็นอีเวนต์น่ารักๆ อบอุ่นๆ ในชื่อ Homey store ซึ่งนอกจากความชอบแล้ว พวกเขายังเล็งเห็นถึงโอกาสด้านอื่นๆ ด้วย

“แรกสุดเรารู้สึกว่าค่าเช่าพื้นที่ตรงนี้แพง ถ้าเราใช้มันเพื่อทำออฟฟิศอย่างเดียว รายได้ต่อตารางเมตรมันน้อยไปหน่อย การมีพื้นที่เท่านี้เราน่าจะทำเงินกับมันได้มากกว่านี้ เพื่อทุ่นต้นทุนค่าเช่า” เรากวาดสายตามองไปรอบๆ ห้องตามคำของป้อ 

“บวกกับตาลเองอยากมีร้านที่เป็นแนว selected shop มานานแล้ว เราก็เลยทำเพราะไหนๆ ก็มีที่ทาง และการทำ Homey store ก็เป็นจุดตัดสินใจสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจเช่าที่นี่เพราะขนาดของห้อง แต่ตอนนั้นยังมองภาพไว้เบลอๆ ไม่ได้มีภาพชัดเจนว่าจะจัดงานยังไงวันไหนขนาดนั้น ซึ่งพอตัดสินใจจัดงานจริงๆ เหตุผลหลักคืออยากเจอลูกค้า อยากเจอ follower ว่าหน้าตาเขาเป็นยังไง เป็นคนแบบไหนที่ติดตามเรา เราอยากเห็นคนรับสารที่เราพูดหรือคุยในแชตว่าเป็นคนยังไง เลยทำเป็น Homey store ขึ้นมา ทีแรกตั้งชื่อมั่วๆ คิดแต่ทำยังไงให้รีเลตกับ ease around คิดไปคิดมาก็กลายเป็นชื่อนี้แทน เพราะเป็นชื่อที่ชัดเจน Homey และ store อ่านแล้วเห็นภาพ”  

สิ่งที่ทั้งสองคนกังวลมากที่สุดตอนนั้นเห็นจะเป็นปัญหาเรื่องจำนวนคนมาร่วมงาน ที่แบ่งได้เป็นความกังวลใจใหญ่ๆ สองอย่างคือ อาจไม่มีใครมาเลยเพราะไกลและเดินทางยาก หรืออาจมีคนมากันเยอะมากๆ จนเจ้าบ้านอย่างพวกเขาดูแลได้ไม่ทั่วถึง

“โชคดีมากๆ ที่ครั้งแรกมันอยู่ตรงกลางพอดี คนมาไม่น้อยไปไม่เยอะไป กำลังพอดีที่เราสามารถสังเกตลูกค้าและดูแลเขาได้ ครั้งแรกเราทำน้ำชามะนาวมาเสิร์ฟคนที่มางานด้วย เป็นความรู้สึกแบบเพื่อนมาบ้านก็เอาน้ำมาให้เขากิน ทุกคนถือแก้วแล้วเดินดูของกัน มันเป็นภาพที่เราอยากเห็น พอจบงานเราก็เห็นภาพชัดขึ้นในแง่ว่าเรากำลังคุยกับใคร ลูกค้าเราป็นคนแบบไหน เรากำลังทำของให้ใครชอบอยู่ ถือว่าเป็นอีกประโยชน์หนึ่งที่เราเลือกพื้นที่นี้” 

ถือว่าเป็นโชคดีของฉันเพราะช่วงที่ฉันพูดคุยกับป้อ ตาลอยู่ในช่วงเตรียมจัดงาน Homey store ครั้งที่ 2 พอดี โดยรอบนี้จะมีแบรนด์ดีไซน์ที่หลากหลายและจำนวนมากขึ้นมาจอยเป็นเจ้าบ้าน เพื่อต้อนรับผู้มาเยือนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่บนพื้นที่ของ ease around studio ฉันจึงถือได้ว่าเป็นลูกค้าคนแรกๆ ที่ได้มาเห็นบรรยากาศงานและโปรดักต์ใหม่ๆ บางอย่างก่อน 

ก่อนจากกัน ฉันหยิบโทรศัพท์ออกมาถ่ายภาพตัวเองผ่านกระจกตรงมุมต้นคริสต์มาสตรงโซฟา ก่อนจะชวนเจ้าบ้านมาถ่ายรูปเล่นกันเป็นที่ระลึก แน่นอนว่าฉันคงจะได้มาที่นี่อีกนับครั้งไม่ถ้วนแน่ๆ เพราะพวกเราเป็นเพื่อนกัน แต่มันคงจะดีกว่านั้นมากๆ ถ้าฉันทำให้คุณตอนอ่านบทความนี้จบแล้วเกิดความรู้สึกอยากมาเยี่ยม ‘บ้าน’ หลังนี้ได้

เพราะอย่างที่บอกว่าพื้นที่นี้ไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่เป็นบ้านที่พร้อมต้อนรับทุกคนเสมอ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่