สตูดิโอในบ้านของ Aura Cherrybag ศิลปินนักฉีกแปะกระดาษที่มีความสดใสเป็นลายเซ็น

Highlights

  •  Aura Cherrybag คือศิลปินสาวเจ้าของผลงานคอลลาจฉีกแปะสไตล์ mixed media ที่เคยเสกผลงานฝากไว้บนหน้าปก a day ฉบับ World-Life Balance
  • ความสนุกในงานของออร่ายังมาพร้อมกับความน่ารัก เพราะภาพหลายๆ ชิ้นของออร่ามีเรื่องราว มีคนที่มีตัวตนอยู่จริงๆ และแน่นอนมีมิตรภาพระหว่างออร่ากับพวกเขาบรรจุอยู่ในนั้นด้วย
  • สตูดิโอของออร่าตั้งอยู่บนชั้นสองของบ้านหลังเก่าที่เธออาศัยกับครอบครัว ห้องทำงานสี่เหลี่ยมนั้นประกอบไปด้วยโต๊ะทำงานตัวใหญ่ริมหน้าต่าง กระถางต้นไม้น้อยใหญ่ ตู้หนังสือที่ทำจากไม้ และผนังลายเชอร์รีที่สีสันสดใสไม่แพ้กับตัวตนและงานของออร่า

ถ้าให้จัดอันดับศิลปินหรือนักวาดภาพประกอบหน้าใหม่ที่เราอยากเอาใจช่วยมากที่สุดในตอนนี้ ศิลปินสาวอย่าง Aura Cherrybag ต้องติดท็อปอันดับในใจของเราแน่นอน

ย้อนกลับไปก่อนหน้า เรารู้จัก Aura Cherrybag หรือ ออร่า–ศศิพรรณ ศิริพร ครั้งแรกจากผลงานที่เธอฝากไว้บนหน้าปก a day ฉบับ World Life Balance (ซึ่งจริงๆ ออร่าทำภาพประกอบด้านในเมนคอร์สด้วยนะ) เพราะด้วยลายเซ็นความน่ารักบวกกับพลังโพสิทีฟที่ซ่อนอยู่ข้างในนั้น เราเลยโดนตกกับผลงานสไตล์ mixed media ของเธอเข้าอย่างจัง

ออร่านิยาม mixed media ของตัวเองว่าเป็นงานคอลลาจแบบฉีกแปะที่ผสมผสานเทคนิคการเพนต์ด้วยสีหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสีไม้ สีเทียน สีน้ำ หรือสีอะคริลิก เพียงแค่เห็นจากงานก็รู้ได้ทันทีเลยว่าหญิงสาวที่กำลังส่งยิ้มให้เราคนนี้หลงใหลสีสันสดใส

แหงล่ะ ตัวตนและโต๊ะทำงานของเธอก็คงสดใสไม่แพ้กัน

 

เริ่มจากผู้คน อาหาร และสถานที่ที่ชอบ

ออร่าเป็นนักเรียนศิลปะจากรั้วศิลปากร สมัยเรียนเทคนิคที่ถนัดมือออร่ามากที่สุดคือการเพนต์ ส่วนงานคอลลาจที่กลายมาเป็นลายเซ็นของเธอในวันนี้เป็นเพียงแค่วิชาเรียนวิชาหนึ่งเท่านั้น หลังเรียนจบออร่าเบนเข็มไปทำสไตล์ลิ่งให้กับนิตยสารที่เล่าเรื่องบ้านอย่าง my home 2 ปี ก่อนตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศเพื่อเติมเต็มตัวเองอีก 2 ปี และนี่คือจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะของออร่า

“เราเลือกไปเรียนเมลเบิร์น ตอนนั้นเราชอบนิตยสาร Frankie ซึ่งเป็นนิตยสารที่เกิดขึ้นที่เมืองนั้น เราอยากเห็นดอกไม้ อยากเห็นคาเฟ่ ดีไซน์อะไรต่างๆ ที่เคยเห็นในนิตยสารเล่มนั้นด้วยตาตัวเอง

“ชีวิตที่นู่นเปิดโลกให้เรามากๆ จากตอนแรกที่ไม่ค่อยกล้าทำอะไรเท่าไหร่ พออยู่ตรงนู้นเราก็ต้องทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้คนจากที่ต่างๆ เราเจอเพื่อนเยอะมาก ด้วยบรรยากาศ สถานที่ที่เราไปอย่างคาเฟ่หรือตลาด เวลาเราเห็นคนแต่งตัวน่ารักๆ มันเป็นแรงบันดาลใจทำให้เราอยากวาดรูป

“บวกกับว่าเราแชร์บ้านกับคนเยอะมาก ปีกว่าๆ ที่อยู่ในนั้นเรามีเพื่อนรูมเมตที่ผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาประมาณสิบคน เราอยากทำอะไรสักอย่างเป็นของขวัญไว้นึกถึงกันในวันที่แยกย้ายกันกลับประเทศ เราเลยเริ่มวาดพอร์เทรตให้เพื่อนที่บ้าน แล้วก็วาดให้เพื่อนที่โรงเรียนภาษาและที่มหา’ลัยด้วย”

ในขณะที่มือจับพู่กัน ออร่าก็หวนนึกถึงชั่วโมงเรียนวิชาคอลลาจ เธอพบว่าตัวเองเอนจอยกับการนำกระดาษมาฉีกและแปะในงาน การได้จับเทกเจอร์ของกระดาษ การมองหาสีสันบนแผ่นกระดาษเหล่านั้น สนุกและมีเสน่ห์ไม่แพ้กับงานเพนต์เลย

ขณะเดียวกันการอยู่ร่วมชายคากับเพื่อนต่างชาติก็เหมือนได้อยู่ในโรงอาหารนานาชาติ ออร่าชอบการเรียนรู้ผู้คนผ่านอาหารที่พวกเขาทำ ชอบโมเมนต์ของการนั่งล้อมวงแชร์กับข้าวกับเพื่อน อาหารหน้าตาแปลกประหลาด บรรยากาศบนโต๊ะอาหารในบ้านหลังนั้น ต่อให้นึกถึงเมื่อไหร่เวลาไหนก็เรียกรอยยิ้มเธอได้เสมอ

ไม่แปลกที่ความทรงจำเกี่ยวกับอาหาร ผู้คน และมุมต่างๆ ในบ้านจะถูกบรรจุในไดอารีส่วนตัว–ภาพคอลลาจน่ารักๆ สไตล์ของออร่านั่นเอง

 

นักฉีกกระดาษมือฉมัง

“ตอนเรียนที่นู่นเราทำงานพาร์ตไทม์ไปด้วยเลยไม่มีเวลาวาดรูปมากเท่าไหร่ พอกลับไทยก็อยากลองทำมันอย่างเต็มที่ รูปที่ทำส่วนใหญ่มีต้นแบบเป็นภาพที่เราถ่ายเองแทบทั้งหมดเลย คาเฟ่ที่เราไป ที่ที่เราชอบ ก็เริ่มจากตรงนั้น ตอนแรกเราไม่ได้คิดอะไรเลย แค่รู้สึกว่าอยากทำ”

ถึงจะเริ่มต้นจากคำว่าอยากทำเฉยๆ แต่ด้วยลายเซ็นความน่ารักที่กินขาด ปีที่แล้ว P. Library Design Studio เลยชวนออร่ารวบรวมผลงานคอลลาจของเธอ ตีพิมพ์เป็น picture book น่าสะสมชื่อ good days

เอกลักษณ์ในงานคอลลาจของออร่าที่เราชื่นชอบเอามากๆ คือ ขอบของกระดาษชิ้นเล็กชิ้นน้อยทุกชิ้นไม่ได้ถูกตัดออกมาอย่างเรียบกริบ แต่เป็นรอยฉีกที่เกิดขึ้นจากสองมือของเธอ

“ทำไมถึงเลือกฉีกด้วยมือทุกชิ้น ไม่ใช้กรรไกรตัด” เราถาม

“เรารู้สึกว่าการฉีกกระดาษมีเสน่ห์อย่างหนึ่งนะ เราอาจควบคุมมันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น แต่จริงๆ แล้วมันคุมได้ เราลองฉีกกระดาษมาเยอะมากเลย” เธอหัวเราะ “พอทำไปเรื่อยๆ จะเริ่มจับจุดได้ว่าอยากได้แพตเทิร์นแบบนี้ หรืออยากได้ขุยมากขุยน้อยต้องฉีกยังไง การฉีกที่ต่างกันทำให้ได้เทกซ์เจอร์ต่างกัน เราเลยรู้สึกว่าการฉีกสนุกกว่าการตัด อีกอย่างคือเราไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์เยอะเลย ใช้แค่มือและกาวเท่านั้นเอง

“งานของเราเป็นงาน mixed media นะ เพราะเรามิกซ์การตัดแปะกระดาษด้วย การเพนต์ด้วย เรารู้สึกว่าการทำงานคอลลาจจริงๆ มันค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการหาชิ้นส่วนชิ้นส่วนหนึ่งที่ต้องมีไซส์ที่พอดี หรือมีโทนสีที่ไปกับงาน คือบางอย่างเรารู้สึกว่าเราหาไม่ได้ก็เพนต์เอาเลย อยากสีนี้ก็เพนต์บนกระดาษแล้วก็ฉีกมาแปะเอา

“การเลือกใช้กระดาษแต่ละแบบก็ให้เทกซ์เจอร์ต่างกัน การเพนต์ทำให้เราได้งานที่มีเทกซ์เจอร์หลากหลายขึ้นด้วยเหมือนกัน ส่วนตัวเราก็พยายามทดลอง เล่นกับมีเดียต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เช่น พลาสติก ฟอยล์ หรือจะเป็นเศษใบไม้ชิ้นเล็กๆ สมัยก่อนเราชอบสะสมใบไม้แห้งดอกไม้แห้งมากเลยนะ เราชอบเทกซ์เจอร์ของมันมากๆ รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ เลยชอบให้งานของเรามีเทกซ์เจอร์มากกว่าการระบายสีแบบเรียบๆ”

เธอเดินไปหยิบสมุดสะสมใบไม้และดอกไม้จากชั้นหนังสือข้างๆ มาเปิดกางให้ดูเพื่อสำรวจอีกหนึ่งความชอบของเธอ

“เรารู้สึกว่าอะไรก็เป็นไปได้ในงานของเรา” เธอยิ้ม

 

ห้องทำงานที่อยู่ที่บ้าน

สตูดิโอทำงานของออร่าอยู่บนชั้นสองของบ้าน ผนังด้านหนึ่งของห้องเต็มไปด้วยลายเชอร์รี ลวดลายที่รู้ได้ทันทีเลยว่าห้องสี่เหลี่ยมห้องนี้มีใครเป็นเจ้าของ 

ห้องทำงานของออร่าประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ไม่กี่ชิ้น มีโต๊ะทำงานใหญ่หนึ่งตัว ข้างๆ มีชั้นวางอุปกรณ์วาดรูป เก้าอี้พนักพิงอีกตัวอยู่ริมห้อง ตู้หนังสือและตู้ลิ้นชักเก็บผลงานที่ทำจากไม้ และแน่นอน เป็นนักฉีกกระดาษก็ต้องมีกองนิตยสาร ขุมทรัพย์กระดาษกองเล็กๆ สำหรับหยิบจับมาสร้างสรรค์ผลงาน

“เราค่อนข้างโชคดี เพราะจริงๆ เราไม่ค่อยได้ซื้อของเท่าไหร่ อย่างกระดาษส่วนมากก็จะมีคนให้มา เวลาเพื่อนไปต่างประเทศแล้วนึกถึงเรา เพื่อนก็จะเก็บกระดาษที่คิดว่าเราน่าจะชอบจากที่นั่นมาให้ หรืออย่างล่าสุดที่เราชอบมากๆ เลยคือลอตเตอรี่จากคุณแม่ เวลาคลี่ดูลวดลายดีๆ มันสวยมากเลยนะ”

เธอหย่อนตัวลงบนเก้าอี้สีแดงตัวที่เธอนั่งทำงานเป็นประจำ เราทอดสายตาไปยังกระถางต้นไม้เล็กๆ ที่ถูกวางริมหน้าต่าง ยามที่แสงเช้าสาดส่องเข้ามาอย่างนี้ ห้องทำงานเล็กๆ ของเธออบอุ่นไม่ใช่เล่น

“เราชอบที่ที่แสงเข้าเยอะๆ เพราะเราทำงานตอนกลางวันตลอด เราเชื่อว่าการได้เห็นงานกับแสงธรรมชาติมันดีกว่าแสงตอนกลางคืนที่เป็นแสงที่มาจากหลอดไฟ” และทุกครั้งเธอจะเปิดเพลงคละแนวฟังคลอไปด้วย

ในฐานะมนุษย์ออฟฟิศ สารภาพเลยว่าลึกๆ เราแอบอิจฉาคนที่ได้ทำงานที่บ้าน เพราะนอกจากไม่ต้องเสียเวลาและเงินไปกับการเดินทางแล้ว ไม่ต้องสู้กับการตอกบัตร หรือมีกรอบของ office hour มากวนใจ แต่มุมหนึ่งมันก็เสี่ยงมากที่เราจะแอบอู้งานจนเสียการเสียงาน

“พอทำงานที่บ้าน ไม่แปลกที่เราจะขี้เกียจ เพราะงั้นเรามี routine ว่าเก้าโมงครึ่ง สิบโมง คือเวลาทำงานของฉัน ทำตารางสำหรับเขียนว่าในแต่ละวันเราจะทำอะไรบ้างเพื่อกระตุ้นตัวเอง พยายามเซตอัพตัวเองทุกวัน ตื่นเช้ามาก็บิลด์ตัวเองด้วยการสวมเดรสสวยๆ บางวันก็แต่งหน้า ตอนแรกๆ พ่อก็ถามว่าเราจะออกไปไหน เราก็บอกว่าจะเข้าสตูดิโอแล้วนะ ซึ่งสตูดิโออยู่ใกล้ห้องนอนมาก” เธอหัวเราะ

“คุณทำงานที่บ้านเป็นหลัก แล้วถ้าวันไหนอุดอู้ คิดอะไรไม่ออกล่ะทำยังไง” เราสงสัย

“ก็พยายามพาตัวเองไปข้างนอก เจอเพื่อนอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ดูงานศิลปะหรือดูงานดีไซน์ของคนที่ทำงานแวดวงต่างกัน มันให้แรงบันดาลใจเราได้เหมือนกันนะ หรือบางทีก็ออกไปตลาด ดูสีสันของผักผลไม้ เห็นคนที่มาเดิน เราว่าการได้เห็นอะไรใหม่ๆ สำคัญมาก ไม่ใช่แค่กับการออกไปดูงานศิลปะที่แกลเลอรี แต่เป็นการออกไปดูชีวิตที่คนทั่วไปใช้กัน”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก