นิทรรศการ LGBTQ : การจัดแสดงชีวิต ประสบการณ์ และความปรารถนาภายใต้กำกับของรัฐ

Highlights

  • สืบประวัติศาสตร์การจัดแสดงผลงานศิลปะเกี่ยวกับ LGBTQ ในประเทศบราซิล อังกฤษ โปแลนด์ และไทย
  • ไล่เรียงข้อโต้แย้งของการจัดแสดงชีวิตและประสบการณ์ของ LGBTQ ผ่านพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ
  • และสำรวจนิทรรศการสนทนาสัปตสนธิ 2 : ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์” (SPECTROSYNTHESIS II – Exposure of Tolerance : LGBTQ in Southeast Asia)

การจัดแสดงนิทรรศการ LGBTQ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ใน ปี 2017 การจัดแสดงผลงานศิลปะจำนวนกว่า 250 ชิ้นเกี่ยวกับ LGBTQ ในประเทศบราซิลถูกยกเลิก ด้วยแรงกดดันจากฝ่ายอนุรักษนิยมที่มองว่านิทรรศการดังกล่าวมีเนื้อหาล่อแหลม หลังการต่อสู้และรณรงค์ยาวนานเกือบ 1 ปี สุดท้ายการจัดแสดงนิทรรศการ Queer Museum ก็เกิดขึ้นในบราซิลปี 2018

ปี 2018 ถือเป็นเวลาทองของการจัดแสดงนิทรรศการ LGBTQ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร 2 แห่ง ได้แก่ Q Foundation และ Historical Club Lgbtqia FEM ร่วมมือกันสร้างพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงที่เผยแพร่ออนไลน์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศโปแลนด์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกละเลย เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีที่มาที่ไปเช่นไร

การจัดแสดงนิทรรศการในโลกออนไลน์เป็นทางเลือกที่ฉลาด ตัดปัญหาข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และการครอบงำด้วยนโยบายของรัฐ ทั้งยังเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในวงกว้างทั่วโลก

Queer Museum ที่มา : nytimes.com

ประเทศอังกฤษก็คึกคักด้วยบรรยากาศการจัดแสดงนิทรรศการ LGBTQ ไม่น้อยไปกว่ากัน ช่วงเดือนมิถุนายนของปี 2018 พิพิธภัณฑ์ Tate ในกรุงลอนดอนได้จัดเวทีสาธารณะ ชักชวนผู้ที่สนใจร่วมพูดคุยกันในหัวช้อ “What does a queer museum look like?” เพื่ออภิปรายข้อจำกัดของการจัดแสดงนิทรรศการ LGBTQ ในปัจจุบันและช่วยกันกำหนดทิศทางของการจัดแสดงที่ควรจะเป็น

ที่มา : queerseum.org

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเรื่องเล่าในการจัดแสดงนิทรรศการ LGBTQ ไม่หลากหลายเพียงพอ และถูกครอบงำโดยวาทกรรมของชาติที่ค่อนข้างจำกัดให้การเล่าเรื่องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจจะไม่สอดคล้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับ LGBTQ แต่ละคน

ประเทศไทยเองก็เกาะกระแสปรากฏการณ์ทางสังคมนี้ ไม่ยอมตกเทรนด์ ในปี 2018 มีการจัดแสดงนิทรรศการ LGBTQ ที่สำคัญทั้งหมด 2 ครั้งในประเทศไทย ครั้งแรกได้แก่ชายหญิงสิ่งสมมุติ : นิทรรศการว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางเพศ” (Gender Illumination) เป็นนิทรรศการหมุนเวียนของมิวเซียมสยาม จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ลดอคติ และเพิ่มความเคารพในความหลากหลายทางเพศ อีกนิทรรศการหนึ่งคือเป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน” (Otherwise Inside) ของ สมัคร์ กอเซ็ม จัดขึ้นที่ WTF Gallery ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อเสนอภาพแทนความเป็นเควียร์ในบริบทสังคมมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้

นิทรรศการ ชายหญิงสิ่งสมมุติ ที่มา : museumsiam.org

นิทรรศการ เป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน ที่มา : themomentum.co

ส่วนในปี 2019 นี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครร่วมกับมูลนิธิซันไพรด์ จัดแสดงนิทรรศการสนทนาสัปตสนธิ 2 : ไตร่ถาม ความหลากหลายในอุษาคเนย์” (SPECTROSYNTHESIS II – Exposure of Tolerance : LGBTQ in Southeast Asia) ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 1 มีนาคมของปีหน้า รวบรวมศิลปะร่วมสมัยเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ใหญ่ที่สุด มีผลงานของศิลปินทั้งหมด 58 ท่าน เป็นนิทรรศการต่อเนื่อง แวะมากรุงเทพฯ เป็นจุดที่สอง ก่อนหน้านี้จัดแสดงที่กรุงไทเป ไต้หวัน เมื่อปี 2017

คำถามที่น่าคิดคือ ทำไมความสนใจเรื่อง LGBTQ กับพิพิธภัณฑ์จึงเกิดขึ้นช้านัก เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเสนอชีวิตและประสบการณ์ของ LGBTQ ผ่านช่องทางอื่น เช่น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ การ์ตูนคอมิก แฟนฟิกต่าง ที่เกิดขึ้นโครมครามเป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้ว

กลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรมย่อยในสังคมมาตลอด ต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมและความเข้าใจผ่านสื่อนอกกระแสหลักเสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อดีของการอยู่ในวัฒนธรรมนอกกระแสหลักคือ LGBTQ สามารถกำหนดทิศทางและวางแผนกลยุทธ์โดยไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐ จะใช้วิธีสุดโต่งยังไงก็ได้ อาจต้องแคร์ความต้องการและเสียงตอบรับของตลาดบ้างเล็กน้อย แต่เงินสนับสนุนของพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งได้มาจากภาครัฐ นโยบายต่าง จึงยึดโยงอยู่กับรัฐ ศิลปิน และคนที่ทำงานด้าน LGBTQ จึงมีความเคลือบแคลงใจบ้างกับการต้องไปทำงานอยู่ในกระแสหลักความกังวลเรื่องอิสรภาพในการแสดงออกน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ LGBTQ เกิดขึ้นล่าช้า

นอกจากนี้จริตการเล่าเรื่องของพิพิธภัณฑ์ยังขัดแย้งกับการเสนอภาพแทน LGBTQ พิพิธภัณฑ์ชอบเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงตามระยะเวลาอะไรเกิดก่อน ส่งผลลัพธ์ต่อมายังไง แต่มุมมองต่อ LGBTQ เป็นวิธีคิดแบบไม่แยกส่วน พิจารณาดูการทับซ้อนของหลากหลายประเด็น (intersectionality) ง่าย เลยคือเราไม่สามารถแยกความเป็นจริงของคนออกเป็นส่วนได้

นักทฤษฎี LGBTQ เห็นว่าการเล่าเรื่องผ่านพิพิธภัณฑ์เป็นการสยบยอม ลิดรอนความหลากหลาย เอาเรื่องเล่าส่วนตัวเล็ก ที่ยิ่งใหญ่มาละลายผ่านกระบวนการหลอมรวม เสียของ แล้วก็ไม่ส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สุดท้ายเสียงเหล่านั้นจะถูกกลืนลบเลือนไป

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนของ LGBTQ ไม่ได้ปฏิเสธการจัดแสดงผลงานทางพิพิธภัณฑ์โดยสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องรู้จักพลิกแพลงและทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เป็นสาเหตุที่มาของการจัดเวทีสาธารณะที่ Tate Museum ในกรุงลอนดอน

ในเมื่อพิพิธภัณฑ์เน้นการเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงตามระยะเวลาก่อนหลัง LGBTQ ก็ต้องใช้โอกาสนี้แกะรอยประวัติศาสตร์ แสดงที่มาของการประกอบสร้างทางสังคมที่ทำให้ LGBTQ ถูกมองเป็นเรื่องผิดปกติ ผิดธรรมชาติ และควรนำเรื่องเล่าการแกะรอยลักษณะนี้จากหลากหลายวัฒนธรรมมาเรียงร้อยไว้ด้วยกัน (โดยไม่ชูว่าเรื่องใดเป็นพระเอกนางเอกเด่นกว่าเรื่องอื่น) เพื่อแสดงให้เห็นการทับซ้อนว่าสิ่งที่เป็นความผิดปกติในที่หนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องยอมรับได้ในอีกสังคม ทัศนคติที่ LGBTQ ผิดแผกไม่ใช่ว่าอยู่ดี เกิดขึ้นโดยไม่มีบริบททางสังคม Michel Foucault นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ความคิด นักทฤษฎีสังคมชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เสนอแนวคิดการแกะรอยนี้

ในปัจจุบันมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าการจัดแสดงนิทรรศการ LGBTQ ต้องไปไกลกว่าสิ่งที่ฟูโกต์เสนอ การแกะรอยประวัติศาสตร์มีประโยชน์ แต่ก็อาจจะถึงทางตันได้ การแกะรอยเน้นการรวบรวมเอกสารและผลิตภัณฑ์ทางสังคม สร้างหอจดหมายเหตุ LGBTQ ขึ้น การรวบรวมหลักฐานเพียงอย่างเดียวไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง LGBTQ กับสิ่งของเหล่านั้น การจัดแสดงนิทรรศการควรกระตุ้นให้ผู้ชมคิดเชื่อมโยงว่าสิ่งของในการจัดแสดงแต่ละชิ้นมีความหมายต่อ LGBTQ เช่นไร สำรวจการสร้างความหมายและการให้คุณค่าของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

นิทรรศการ ชายหญิงสิ่งสมมุติ ที่มา : museumsiam.org

ตัวอย่างเช่นนิทรรศการชายหญิงสิ่งสมมุติ” (Gender Illumination) ของมิวเซียมสยามจัดแสดงใบปริญญาบัตรของ LGBTQ ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าใบปริญญามีความสำคัญต่อ LGBTQ และประกอบสร้างความเป็นอื่นขึ้นมาได้อย่างไร กระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักรู้และตีความวาทกรรมที่ว่า จะเป็นเพศไหนก็ได้ เพียงขอให้เป็นคนดีที่ประสบความสำเร็จในสังคม การจัดแสดงยึดประสบการณ์การตีความของผู้ชมเป็นหลัก (experience-centered method) ไม่ใช่แค่การรวบรวมเอกสารและผลิตภัณฑ์ทางสังคม (object-oriented approach)

นิทรรศการสนทนาสัปตสนธิ 2” (SPECTROSYNTHESIS II) ผสมผสานวิธีคิดและกลยุทธ์เหล่านี้เข้าด้วยกันในการจัดแสดงอย่างลงตัว ผ่านเรื่องเล่าที่หลากหลายจากบริบทสังคม พุทธ คริสต์ อิสลาม ทั้งที่จารึกไว้ด้วยตัวหนังสือ ภาพวาดจิตรกรรม รูปปั้น และงานศิลปะจัดวาง ผลงานเหล่านี้ทำหน้าที่คู่ขนานกันอย่างไม่แย่งซีนกันและกัน อาจมีการทาบทับให้เห็นจุดตัด เช่น ตอนชมศิลปะจัดวางที่แสดงอวัยวะภายในของมนุษย์ออกเป็นส่วนทำให้นึกถึงภาพวาดที่ตัดท่อนบนท่อนล่างของคนออกเป็นสองส่วน ต้องมาทบทวนกระบวนการคิดของเราที่ชอบมองแยกส่วนแล้วละเลยภาพรวม มักจำแนกแยกประเภทเพศสภาพ ทั้งที่ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

การจัดแสดงรูปถ่ายดอกไม้บนฝาผนังทางเข้านิทรรศการตรงชั้น 7 ก็ทำได้น่าสนใจ ด้านหนึ่งของฝาผนังเป็นรูปดอกไม้หลากสีหลายประเภท พอหันไปที่ผนังอีกด้าน ดอกไม้เหล่านั้นถูกจัดวางไว้ตามที่ต่างๆ อ่างล้างจานในครัว บนโต๊ะทำงาน ในขวดเปล่าน้ำอัดลม หรือตามหัวมุมถนน ฝาผนังอีกด้านหนึ่งประดับไว้ด้วยรูปดอกไม้ตามจุดต่าง ของร่างกายที่เปลือยเปล่า รูปวาดดอกไม้บนฝาผนังทั้งสามด้านมีความหมายต่างกันสิ้นเชิง เป็นการทดสอบผู้ชมให้ต้องตรวจสอบลึกลงไปในจิตใจว่ามองเห็นดอกไม้เหล่านี้สวยงามเท่ากันในทุกโอกาสหรือเปล่า ศิลปินแสดงความคิดเห็นเรื่องเพศสภาพแฝงในการจัดแสดงชุดนี้อย่างน่าอัศจรรย์

นั่งร้านก่อสร้างที่วางไว้ตรงทางออกห้องนิทรรศการชั้น 7 ก่อนขึ้นไปชั้น 8 ก็เล่าเรื่องได้กินความดีมาก ตุ๊กตาเรืองแสงที่จำลองท่าทางการมีเพศสัมพันธ์แบบห้อยโหนโจนทะยานฉายภาพจำของ LGBTQ กับการมีเซ็กซ์อย่างโลดโผนบนนั่งร้านตัวนั้นก็แสดงความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างทางสังคมได้ดี แสงนีออนกะพริบประกอบจินตนาการเตลิดไปไกล

การแสดงเหล่านี้นอกจากจะชวนเราแกะรอยประวัติศาสตร์การสร้างความเป็นอื่นในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังผลักให้เราทบทวนทัศนคติของตนต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนตระหนักรู้ถึงคุณค่าประสบการณ์ของ LGBTQ

การจัดแสดงผลงานเกี่ยวกับ LGBTQ ในพื้นที่ความดูแลโดยตรงของรัฐหรือที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นก้าวที่กล้า การต่อสู้อยู่นอกกระแสหลักของ LGBTQ ที่ผ่านมาส่งผลดี แต่มีกลุ่มเป้าหมายจำกัด อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้แค่เพียงในระดับหนึ่งเท่านั้น

ทว่าการเผชิญหน้ากับรัฐผ่านการจัดการทางพิพิธภัณฑ์เป็นการต่อรองกับอำนาจ ไม่น่าใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่เข้าถ้ำเสือก็คงไม่ได้ลูกเสือ

หาก LGBTQ ต้องการความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของรัฐ จะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าคงเป็นไปได้ยาก แต่มั่นใจว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะพลิกแพลงกลยุทธ์มาต่อรองอย่างแยบยล ดังที่นิทรรศการ LGBTQ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นเป็นเครื่องพิสูจน์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก