รู้จัก Queenager และ Zaddy คนสูงวัยที่ยังเคลื่อนไหว ยืดหยุ่น เท่และทันสมัยในยุคสังคมผู้สูงอายุ

รู้จัก Queenager และ Zaddy คนสูงวัยที่ยังเคลื่อนไหว ยืดหยุ่น เท่และทันสมัยในยุคสังคมผู้สูงอายุ

ในโลกที่มีสัดส่วนประชากรคนสูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือสังคมที่มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด เมื่อคนวัยเบบี้บูมเมอร์แถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เริ่มทยอยเข้าสู่วัย 60 ปี สื่อต่างๆ เริ่มพูดถึงคำว่า ’สึนามิสีเงิน’ หรือ ‘สึนามิผู้สูงอายุ’ หรือ ‘Silver Tsunami’ จากความหวั่นวิตกว่าสังคมจะมีคนทำงานหรือคนเสียภาษีไม่มากพอ พอก้าวเข้าปี 2565 ประเทศไทยจะมีคนสูงวัยมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด

เข้าสู่ปี 2022 บล็อกแนะนำคำศัพท์ใหม่ โดย Cambridge Dictionary เขียนถึง 3 คำใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคนสูงวัยรุ่นใหม่ในแง่บวกว่าเป็นวัยที่ยืดหยุ่น คือคำว่า Queenager, Silvfluencer และ The Elastic Generation ทำให้ผู้เขียนอยากรู้ว่ามีคำศัพท์ไหนอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับคนมีอายุในแง่มุมต่างๆ

Zaddy (n.) คำที่ใช้เรียกผู้ชายสูงวัย คุณพ่อ คุณลุง คุณตาที่มาดเท่ดูดี ซึ่งกำลังมาแรงบนรันเวย์แฟชั่น

คำแรกนี้อาจเดาได้ไม่ยาก คำว่า ‘Zaddy’ นั้นเป็นคำสแลงที่มาจากคำว่า ‘Daddy’ หรือ ‘คุณพ่อ’ บางคนเชื่อว่า Zaddy กร่อนมาจากคำว่า ‘Sugar Daddy’ คำนี้โผล่มาเรื่อยๆ และเริ่มเป็นคำที่คนคุ้นเคย มีแรปเปอร์อย่าง Ty Dolla $ign ได้ออกเพลงชื่อ ‘Zaddy’  เนื่องจากเป็นคำใหม่ที่คนเริ่มใช้บนอินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้มีบัญญัติแน่ชัดแต่คำนี้มีความหมายรวม ผู้ชายมีอายุที่ยังดูดี เซ็กซี่และยังมีมาดเท่แบบ Swag มีบุคลิกภาพที่ดึงดูดน่าสนใจ คนที่จะเป็น Zaddy ได้ คือชายที่เข้าสู่วัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุที่ทำให้เรารู้สึกว่า คนมีอายุนั้นเท่จัง อยากแก่ไปเป็นแบบนี้

บทความในนิวยอร์กไทมส์ได้เรียกปี 2018 ว่าเป็นปีแห่งเหล่า Zaddy เพราะบนแฟชั่นรันเวย์ในปีนั้น ได้ปรากฏนายแบบสูงวัยขั้นที่ผมสีเทามาเดินบนรันเวย์มากมาย มีสื่อหลายเจ้าเริ่มเขียนถึงคำนี้และพยายามหารูปภาพมาประกอบเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพ

Kyle MacLachlan บนรันเวย์ Prada FW 2022 https://www.instagram.com/p/CY5HNH9LUsx/

เทรนด์ชายสูงวัยเท่ๆ บนรันเวย์นี้ไม่ได้เกิดแล้วจบไป เพราะ Zaddy ยังโผล่มาเรื่อยๆ ข้ามมาปี 2022 Prada ก็ได้นำพาดารารุ่นเก๋าอย่าง Jeff Goldblum (วัย 69 ปี) นักแสดงนำหนังคลาสสิกอย่าง Jurassic Park และ Kyle MacLachlan (วัย 62 ปี) จากซีรีส์อเมริกันยุค 90 Twin Peaks มาเดินเฉิดฉายในรันเวย์ Fall/Winter 2022 มิลานแฟชั่นวีก ส่วนย้ายมาในฝั่งตะวันออกมีชายชื่อ Wang Deshun นายแบบสูงวัยอายุ 85 ปีผู้เดินเฉิดฉายบนรันเวย์ที่ Beijing Fashion Week เขาถูกขนานนามว่าเป็นคุณปู่ที่ฮอตที่สุดในประเทศจีน

คนที่ได้รับการนิยามว่า Zaddy นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนวัยคุณตาคุณปู่เสมอไป ไม่ได้มีกรอบอายุชัดเจนว่าคนวัยไหนจะสามารถเป็น Zaddy ได้ นักแสดงผู้ถูกนิยามว่า Zaddy เช่น Idris Elba หรือ Ryan Reynolds ตัวอย่างดาราชายคนอื่นๆ บนรันเวย์แฟชั่น เช่น Willem Dafoe, Gary Oldman 

Wang Deshun นายแบบชาวจีนวัย 85 ปี  https://www.youtube.com/watch?v=qncWfII9MCQ 

การใช้แสดงภาพแง่บวกหรือคนมีอายุนั้นสามารถเท่หรือดูดีไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่แต่อย่างใด  ลุคชายสูงวัยที่ดูคูลนั้นอินและเอาต์วนไปไม่รู้จบ เชื่อว่าทุกคนต่างมีคนสูงวัยในดวงใจที่เรารู้สึกว่าเท่จัง ทำไมยิ่งแก่แล้วยิ่งดูดีการมีอยู่ของคำนี้ก็ยิ่งทำให้คอนเซปต์ของผู้ชายวัยกลางคนขึ้นไปที่ดูคูลนั้นชัดเจนเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ชวนให้เราค้นหาว่าเรามี Zaddy ในดวงใจบ้างไหม 

คำว่า Zaddy นั้นมักหมายถึงผู้ชายมีอายุที่ดูคูล นอกไปจากเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ยังมีอีกคำที่น่าสนใจที่มองคนสูงวัยในทางบวกในฝั่งผู้หญิงคือ Queenager มาจากคำว่า Queen (นางพญา) + Teenager (วัยรุ่น)  

Queenager (n.)  คำเรียกแทนหญิงมีอายุที่ยังกระฉับกระเฉง ยังสนุกกับการใช้ชีวิต ผู้เชื่อว่า ไม่มีใครกำหนดว่าคนเราควรทำหรือไม่ทำอะไร ณ อายุเท่าไหร่

สื่ออังกฤษอย่าง Telegraph ได้เขียนถึง Queenager ว่าคือหญิงสูงวัยที่มีสไตล์จัดจ้าน สนุกสนาน ตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์สูงอายุที่เป็นตัวแทนคำว่า Queenager เช่น Daphne Selfe นางแบบมืออาชีพวัย 93 ปี ผู้เริ่มทำงานสายนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1949 และยังคงทำงานสายอาชีพนี้อยู่จนปัจจุบัน อินสตาแกรมของเธอมีผู้ติดตาม 68.1k สาเหตุที่ต้องใช้คำว่า Queen หรือราชินีเพราะว่าเธอคือนางพญาที่ยังสนุกสนานกับชีวิตสังคมและไม่ได้ใช้ชีวิตช้าลงเลย ยังคงมีแรงมีพลังงานของความกระฉับกระเฉง ตัวเธอให้สัมภาษณ์ว่าอายุไม่ควรเป็นกรอบจำกัดที่จะมากำหนดว่าเธอจะแต่งตัวอย่างไร หรือควรทำกิจกรรมอะไรได้ และยังมีหญิงสูงวัยอีกมากมายที่พยายามหลุดจากกรอบภาพลักษณ์คนแก่แบบที่เราคุ้นเคย

Daphne Selfe นางแบบสูงวัย อายุ 93 ปี ตัวแทนของคำว่า Queenager https://www.instagram.com/p/B8R7HV4lPEe/

แน่นอนว่าปรากฏการณ์ Queenager ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกเหมือนกัน คนแก่ที่คูลนั้นน่าจะมีมานานก่อนจะมีประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ ผู้เขียนมองว่า มีคนแก่คูลๆ เท่ๆ ที่ยังสนุกสนานกับชีวิตอีกมากมาย พวกเขาแค่ใช้ชีวิตหรือแต่งตัวเต็มที่โดยไม่ยอมให้อายุมาพรากสิ่งที่ชอบทำไป โลกไม่ควรจะต้องตื่นตกใจหรือประหลาดใจกับคนสูงวัยสักคนที่ยังดูดี มีเสน่ห์ มีสไตล์เก๋ๆ ยังสนุกสนานกับการใช้ชีวิตด้วยพลังงานอันสดใส 

หลายๆ คนอาจจะมีคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ที่ไม่หยุดนิ่ง ผู้ที่ยังเรียนรู้สิ่งใหม่ สนใจโลก และทำกิจกรรมต่างๆ อย่างกระฉับกระเฉงไม่ต่างไปจากสมัยยังเป็นวัยรุ่น การเติบโตและการที่อายุมากขึ้นเป็นแค่ขั้นตอนหนึ่งของชีวิตไม่ใช่จุดจบของความสร้างสรรค์ 

The Elastic Generation (n.)  เมื่อคนสูงวัยยืดหยุ่น เติบโตและปรับตัวไม่ต่างจากคนวัยอื่นๆ 

เราอาจคุ้นเคยกับการแบ่งช่วงวัยตามปีที่เกิดแบบ Gen Z, Millennial, Gen X, Gen Y หรือ Baby Boomers แต่การแบ่งคนด้วยช่วงวัยนั้นเป็นเพียงการจำแนกผู้คนเพียงคร่าวๆ เท่านั้น 

ในปี 2018 Wunderman Thompson ได้ทำแบบสำรวจเพื่อหาโอกาสทางการตลาดกับคนกลุ่มสูงวัยที่ประเทศอังกฤษ พบว่าเป็นกลุ่มคนที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด จากการสำรวจ  คือกลุ่มผู้บริโภควัย 53-72 ปี พวกเขานั้นยังมีความต้องการที่ยืดหยุ่นและปรับตัวสูง เป็นคนที่มีกำลังซื้อซึ่งแบรนด์มักจะมองข้ามไป และเกิดคำนิยามว่าพวกเขาคือ Elastic Generation หรือวัยแห่งความยืดหยุ่น 

แนวคิด Elastic Generation ชวนให้เรานึกภาพบรรยากาศที่คนสูงวัยยังทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ต่างจากคนวัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเล่นแอพหาคู่ ออกไปเดต ออกไปสังสรรค์ พูดคุย ทำกิจกรรมงานอดิเรกหลากหลาย เรียก Grab ไปจ่ายตลาด คนสูงวัยยังให้ความสำคัญกับการทำงาน  ยังอยากรู้จักคนใหม่ๆ สนใจโลกและเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ฝึกทักษะใหม่ๆ ไม่ต่างจากคนวัยอื่นๆ พวกเขายังปรับตัวใช้เทคโนโลยีใหม่ได้คล่องแคล่ว แต่แบรนด์หรือคนวัยอื่นมักมีภาพจำหรืออคติที่คนมักมองว่าคนแก่ทุกคนนั้นเหมือนๆ กันและไม่มีความต้องการหรือรสนิยมอันพิเศษเฉพาะ คนสูงวัยไม่ได้สนใจแค่เรื่องสุขภาพแล้วจบ ทั้งที่พวกเขายังใช้ชีวิตและต้องการตัวเลือกอันหลากหลาย และพวกเขาแค่อยากใช้ชีวิตที่อยากใช้ ไม่ได้อยากจะเป็นวัยรุ่นหรือดูเด็กลงแต่อย่างใด เพราะกิจกรรมเหล่านี้ไม่ควรมีวัยมากำกับ

การมีอยู่ของคำนี้ Queenager และ Zaddy อาจยังเป็นคำใหม่ที่ความหมายนั้นยังถกเถียงกันอยู่ แต่ก็ชี้ชวนให้เราได้จินตนาการเห็นความเป็นไปได้ของคนสูงวัยว่าชีวิตยังดำเนินต่อไปหลังวัยหนุ่มสาว  ช่วยให้ความหวังว่าชีวิตบั้นปลายของเราจะยังคงมีความหมาย น่าตื่นเต้นได้ การสิ้นสุดชีวิตวัยหนุ่มสาวไม่ใช่จุดอวสานของความเป็นไปได้ เราควรจะช่างใจให้มากกับค่านิยมของสังคมที่มักยึดติดกับคำว่า “เหมาะสมกับวัย” หรือ “age appropriate”  ซึ่งเป็นค่านิยมของสังคมว่า ใครควรทำอะไรหรือเป็นอย่างไร ณ ตอนอายุเท่าไหร่ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ผู้เขียนกำลังเข้าสู่วัย 30 กว่าๆ ซึ่งรู้ตัวว่าไม่ใช่วัยรุ่นอีกต่อไป และตระหนักเสมอว่าวันหนึ่งก็จะกลายเป็นคนแก่คนหนึ่ง และเป็นห่วงคุณภาพชีวิตของตัวเองในยามแก่ด้วยภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่มั่นคง มักเกิดคำถามในใจเสมอว่า “แก่แล้วไปไหน” เมื่อคุยกับคนรอบข้างล้วนต่างจินตนาการตัวเองในวัยแก่ไม่ออก และมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่อยากตายก่อนแก่ เพราะกลัวจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ หรือไม่สามารถแสดงออกหรือทำในที่สิ่งที่ชอบได้อีกต่อไป เราอาจได้พบความชอบหรืองานอดิเรกใหม่ เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้อยู่

เมื่อย้อนกลับมาดูคำว่า “สึนามิคนสูงวัย หรือ “สึนามิสีเทา” คำที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เรียกสภาวะโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปรียบเทียบโลกที่มีคนแก่สูงขึ้นเรื่อยๆ กับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างคลื่นสึนามินั้นได้รับคำวิจารณ์ว่าเป็นกรอบมุมมองความชราในแง่ลบ ไม่มีใครมองสึนามิเป็นเรื่องดี คำนี้จึงแฝงมุมมองการเหยียดอายุ (Ageism) สร้างภาพคนสูงวัยว่าช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นภาระที่ต้องจัดการดูแล หากโลกมีคนแก่เยอะย่อมเป็นเรื่องน่ากังวล เป็นปัญหาหรือวิกฤตที่ต้องแก้ไข  คำเช่นนี้อาจทำให้เราเกิดอคติหรือการเลือกปฏิบัติกับคนเพราะวัยของเขา สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้คนไม่อยากแก่

สิ่งที่เราหวาดกลัวและกังวลอาจไม่ใช่อายุที่เพิ่มขึ้น แต่กลัวว่าเมื่อเราแก่ลงแล้วจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ หรือถูกจำกัดชีวิตไปตามกรอบของวัย ตัวอย่างที่ยกมาไม่ได้ต้องการสร้างค่านิยมว่าคนแก่ต้องดูคูลถึงจะน่าสนใจ ต้องเป็นนายแบบนางแบบบนรันเวย์ถึงจะถูกต้อง แต่อาจช่วยทำให้ใครหลายคนรวมทั้งผู้เขียนเองกลัวความแก่ลดลงและมองเห็นตัวเองแก่ในแบบที่เราพึงพอใจ

แต่ชีวิตวัยแก่ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อม อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสได้มีวัยแก่ที่มีคุณภาพ พึ่งพาตัวเองได้ ตลาดแรงงานที่ไม่มีงานให้คนแก่ทำ หรือไม่มีสวัสดิการ ขนส่งสาธารณะที่ไม่เป็นมิตรกับคนชรา ไม่มีที่ทางให้คนแก่ได้พบปะสังสรรค์เชื่อมต่อกับโลก ไม่มีสวนสาธารณะมากพอที่ให้เราในวัยแก่ได้ออกกำลังกาย หากเราทุกคนคิดเผื่อตัวเองแก่ เราอาจจะสนับสนุนผลักดันนโยบายหรือสังคมที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้คนสูงวัยได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เพื่อโลกที่เราอยากจะอยู่ในยามแก่

คนที่อายุพ้นไปจากวัยหนุ่มสาวก็ยังต้องใช้โลกนี้ร่วมกันกับวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ยังดำเนินชีวิต เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยังเคลื่อนไหว ยังสับสน ค้นหาตัวเอง มีความกังวลสับสน ต้องเอาตัวรอดและยืดหยุ่นปรับตัวไม่ได้แตกต่างไปจากคนวัยอื่นๆ เลย 

อ้างอิง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ksmac

Ordinary person who’s trying to do non-ordinary work.