The Making of ‘กักตัว Stories’ 10 หนังสั้นที่ถ่ายทำแบบ shoot from home ในช่วงกักตัว

Highlights

  • กักตัว Stories คือโปรเจกต์พิเศษเฉพาะกิจจากค่ายนาดาวบางกอก ที่ชวน 10 ผู้กำกับ และ 19 นักแสดง มาสร้างหนังสั้น 10 เรื่องว่าด้วยชีวิตในช่วง self-quarantine
  • โจทย์ที่สำคัญที่สุดคือ ทุกคนจะต้องทำงานจากบ้านใครบ้านมัน ห้ามนัดเจอตัว หมายความว่าหนังทุกเรื่องที่เราได้ดูกันนั้นถ่ายโดยนักแสดง ที่บ้านนักแสดง ด้วยการกำกับการแสดงออนไลน์ และตัดต่อผ่านระบบ live-screening 
  • ที่สนุกไปกว่านั้นก็คือ ผู้กำกับบางเรื่องอาจต้องการมุมกล้องที่หลากหลายกว่าหน้าจอบนโต๊ะ หรือเทคนิคการถ่ายที่แอดวานซ์ไปอีกระดับ เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายทั้งสำหรับนักแสดงไปจนถึงทีมงานที่คอยเอาใจช่วยจากหน้าจอที่บ้าน

ในจังหวะที่หลายคนกักตัวอยู่บ้านล่วงเข้าเดือนที่ 2 หรือมากกว่านั้น หลายคนคงเบื่อจนเริ่มตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่จะมีหนังหรือซีรีส์เรื่องใหม่ปล่อยออกมาสักที 

แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่คนทำหนังเองก็ต้องติดแหง็กอยู่บ้านไม่ต่างกัน

ทันใดนั้นอัลกอริทึมของยูทูบก็แนะนำคลิปหนังสั้นเรื่องใหม่แกะกล่องจาก กักตัว Stories เข้ามาในหน้าฟีดของเราเหมือนจงใจจะพิสูจน์ให้เห็นว่าถึงอยู่บ้านก็ทำหนังได้และทำได้สนุกด้วย เพราะโปรเจกต์นี้มีตั้งแต่หนังดราม่าที่เล่าเรื่องการจับกิ๊กผ่าน Google Street View หนังเพลงพาโรดี้ ไปจนถึงหนังผีในไลฟ์ของเน็ตไอดอล

อธิบายแบบรวบรัดที่สุด กักตัว Stories คือโปรเจกต์พิเศษเฉพาะกิจจากค่ายนาดาวบางกอก ที่ชวน 10 ผู้กำกับ และ 19 นักแสดง มาสร้างหนังสั้น 10 เรื่องว่าด้วยชีวิตในช่วง self-quarantine โดยมีโจทย์ที่สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องทำงานจากบ้านใครบ้านมัน ห้ามนัดเจอตัว หมายความว่าหนังทุกเรื่องที่เราได้ดูกันนั้นถ่ายโดยนักแสดง ที่บ้านนักแสดง ด้วยการกำกับการแสดงแบบออนไลน์ และตัดต่อผ่านระบบ live-screening 

หลังจากดูซีรีส์ เราจึงไม่รอช้า ขอแทรกคิว conference call ในช่วงกักตัวของ ปิง–เกรียงไกร วชิรธรรมพร โปรดิวเซอร์และผู้กำกับของโปรเจกต์ กักตัว Stories เพื่อชวนมาพูดคุยถึงความสนุกปนท้าทายและเรื่องเหนือความคาดหมายที่เกิดขึ้นระหว่างการ work from home ที่ผ่านมา 

ย้อนไปเมื่อกลางเดือนมีนาคม ปิงเริ่มผุดไอเดียการถ่ายหนังจากบ้านเพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์ในนาดาวบางกอก ที่หลายโปรเจกต์ต้องหยุดชะงักกลางคัน

“ช่วงนั้นเราแยกไปทำโปรเจกต์ส่วนตัวเป็นโมชั่นกราฟิกเรื่อง รู้ สู้! โควิด-19 กับทีมที่เคยทำ รู้ สู้! Flood นั่นทำให้เราบังเอิญได้รู้ข้อมูลเรื่องการปรับตัวในช่วงโควิด เราเลยไปคุยกับพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำคอนเทนต์ที่ทำจากบ้าน อาจจะทำเล่นๆ สนุกๆ แค่ให้นักแสดงอัดวิดีโอด้วยโทรศัพท์มือถือส่งมาจากบ้าน”

แต่ก่อนที่จะได้ลงมือทำ ปิงและทีมงานก็ได้รับการบ้านจากย้งให้ไปศึกษาเรื่องวิธีควบคุมคุณภาพงานรวมถึงงบประมาณ เมื่อเริ่มเห็นแววความเป็นไปได้ โปรเจกต์นี้จึงขยายตัวขึ้นชนิดที่ปิงเองก็ไม่คาดคิด จากหนังสั้น pilot จำนวน 2 ตอนที่ไม่มีแม้แต่ค่าตัวทีมงาน สู่โปรเจกต์หนังสั้นจำนวน 10 ตอนถ้วนที่สร้างรายได้ได้จริง

“ถ้างานแบบนี้ยังไม่มีใครเคยทำเราก็ต้องหาวิธีของเราเองแหละ ซึ่งเราก็มีภาพปลายทางในใจอยู่ ยกตัวอย่างงานฮอลลีวูดเราก็เคยเห็น Searching (2018) ที่เล่าเรื่องด้วยหน้าจอล้วนๆ ดังนั้นเราจึงรู้ว่าการเล่าเรื่องแบบนี้มันทำได้ แค่ต้องหาวิธีการถ่ายทำให้มันออกมาได้แค่นั้นเอง” 

‘วิธี’ ที่ปิงว่าคืออะไร ข้อความบนหน้าจอด้านล่างมีคำตอบ

 

จากอากาศสู่กระดาษ

แม้จะมีวิธีการทำงานต่างจากกองถ่ายทั่วไป แต่ปิงบอกว่ารากฐานของ กักตัว Stories กลับไม่ต่างจากซีรีส์เรื่องอื่นๆ ที่เขาเคยทำมา

สิ่งนั้นเรียกว่าไอเดียและบทที่ดี

“เริ่มแรกเราลองชวนผู้กำกับมาหลายๆ คนและถามเขาว่าอยากเล่าเรื่องอะไรในช่วงกักตัว ปรากฏว่าเรื่องเล่าของแต่ละคนหลากหลายมากทำให้เราตัดสินใจปล่อยฟรีมากๆ ทั้งในแง่คอนเทนต์และรูปแบบการถ่ายทำ คือจะถ่ายแนวนอน แนวตั้ง ใช้การพิมพ์แชตหรือวิดีโอคอลก็ได้” 

คอนเซปต์เช่นนี้เป็นที่มาของความฟรีสไตล์ที่เราได้เห็นกันไปบ้างแล้วใน กักตัว Stories ตอนที่ 1-4 ซึ่งปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ 

ไม่ใช่แค่วิธีการเล่าเรื่องที่ใหม่ แต่ผู้กำกับหลายคนที่ร่วมกำกับในโปรเจกต์นี้ยังเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่อีกต่างหาก เช่น แคลร์–จิรัศยา วงษ์สุทิน, ก๋วยเตี๋ยว–จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ หรือ อัด–อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงมากความสามารถจากค่ายนาดาวฯ

“ต้องอธิบายก่อนว่าโดยพื้นฐานนาดาวฯ เป็นบริษัทดูแลและพัฒนาศิลปิน ในขณะเดียวกันเราก็ดูแลและพัฒนาคนทำงานเบื้องหลังควบคู่กันมาโดยตลอด กับโปรเจกต์นี้เรามองว่ามันเป็นงานที่ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ โอกาสที่โปรเจกต์จะล้มก็คงไม่รุนแรงมาก ดังนั้นมันจึงเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะได้ลองทำงานกับนักแสดงและผู้กำกับรุ่นใหม่พร้อมกัน โดยที่ยังพอควบคุมเนื้องานได้อยู่

“พี่ย้งชอบสอนว่าเวลาทำโปรเจกต์มันควรจะวินในแง่ใดแง่หนึ่ง เช่น ถ้าไม่วินเรื่องเรตติ้งอย่างน้อยมันควรวินเรื่องรายได้ หรือถ้าไม่วินเรื่องรายได้อย่างน้อยมันควรวินเรื่องคนทำงาน กับงานนี้เรารู้ว่าจะได้พัฒนาสกิลของทุกคนในโปรเจกต์ด้วยการเปิดโอกาสให้ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ในขณะที่ต้องอยู่บ้านยาวๆ ตอนนี้” 

 

วิชาเขียนบท 101

“เรามีข้อจำกัดว่าจะไม่ให้ทีมงานคนไหนเข้าบ้านนักแสดงเลยเพื่อความปลอดภัย ดังนั้นนักแสดงต้องเป็นคนเซตฉากและถ่ายทำเองทั้งหมด คำถามคือจะทำยังไงให้ผู้กำกับยังเล่าเรื่องได้อย่างอิสระที่สุดบนข้อจำกัดที่มีอยู่”

จากข้อจำกัดเรื่องการถ่ายทำและการกำกับ เราถามปิงว่าเขาจัดการมันยังไงในที่สุด

คำตอบของปิงแปลกไปจากที่คิด เมื่อเขาเฉลยว่าคำตอบอยู่ที่ขั้นตอน ‘เขียนบท’

ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ซึ่งรับผิดชอบโปรเจกต์ของนาดาวฯ มาแล้วนับไม่ถ้วนอธิบายว่า โดยปกติกว่าบทหนังจะเสร็จสมบูรณ์จนนักแสดงนำไปเล่นได้นั้นต้องผ่านการพัฒนามาแล้วหลายขั้นตอน จากพล็อต (เรื่องย่อ) สู่ทรีตเมนต์ (โครงเรื่องโดยละเอียด) จนกลายเป็นสกรีนเพลย์ (บทฉบับสมบูรณ์ที่มีบทพูดของตัวละคร) จากนั้นทีมงานจึงค่อยเริ่มขั้นตอนเตรียมการถ่ายทำ 

“งานนี้เราตัดสินใจผ่าครึ่งกระบวนการเขียนบท คือหลังจากที่ผู้กำกับคิดพล็อตเรื่องเสร็จและผ่านการคุยกับเราในฐานะโปรดิวเซอร์ เราก็ให้เขาแคสต์นักแสดงก่อนเลย ดังนั้นผู้กำกับจะได้นักแสดงครบทุกตัวก่อนเขียนบทเสร็จ เขาจะได้รู้ว่ามีโลเคชั่นอะไรอยู่ในมือบ้าง ตรงนี้นักแสดงมีสิทธิเลือกว่าจะให้ถ่ายหรือไม่ถ่ายตรงไหนในบ้าน ซึ่งเขาก็อาจจะใช้การวิดีโอคอลกัน แล้วให้นักแสดงพาผู้กำกับทัวร์บ้านเหมือนรายการ ตีท้ายครัว” ปิงหัวเราะพร้อมเสริมว่า นอกจากเรื่องโลเคชั่นโปรเจกต์นี้ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกที่กลายมาเป็นความสนุกของซีรีส์ตอนออนแอร์

“เรื่องของผู้กำกับทุกคนมีแรงบันดาลใจต่างกันหมดเลยและทุกเรื่องก็มีข้อจำกัดด้านการเขียนบท มันอาจจะบีบให้เราทำงานยากขึ้นบ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เช่น ในซีรีส์นี้เราจะไม่ได้เห็นมุมกล้องที่คุ้นเคยอย่างการถ่ายข้ามไหล่ให้เห็นว่าตัวละครกำลังคุยกับใครอยู่

“สมมติว่าเราจะเล่าว่าตัวละครได้รับพัสดุ ถ้าเป็นหนังปกติเราคงถ่ายให้เห็นช็อตที่พัสดุมาส่งแล้วตัดไปเป็นภาพมุมแคบมือนักแสดงเปิดพัสดุ เราถ่ายเจาะได้หมดเลยว่าอยากให้คนดูเห็นอะไรบ้างในกล่อง แต่พอหนังของเราต้องเล่าผ่านตัวละครที่อยู่หน้าจอเป็นหลัก ตัวละครเลยต้องเอากล่องมาเปิดหน้าจอคอมฯ เพราะอันนี้ตอนเขียนบทเราเลยต้องหาวิธีพัฒนาอินเนอร์ตัวละครว่ามันคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงต้องเอาพัสดุนั้นมาเปิดที่หน้าจอ ซึ่งมันก็ท้าทายตัวเราเองเหมือนกันว่าจะเล่ายังไงให้เล่าเรื่องได้ครบโดยที่มีพื้นที่แค่ตรงหน้าจอ”

 

คัมภีร์การ shoot from home

“หลังจากที่มีบทเป็นกระดาษที่จับต้องได้แล้ว ขั้นตอนการเปลี่ยนกระดาษให้กลายเป็นภาพนี่แหละที่ยาวนานที่สุดและจำเป็นต้องใช้คนเยอะมาก” ปิงเกริ่นถึงขั้นตอนการเตรียมตัวถ่ายทำจริง ที่ถึงแม้ผู้กำกับจะมีหน้าที่ออกแบบภาพที่อยากเห็น แต่ก็ไม่สามารถผลิตภาพเหล่านั้นได้ด้วยตัวคนเดียว หากต้องการทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ อีกจำนวนมาก 

“ช่วง pre-production คือการวางแผนว่าเราจะทำงานยังไงเพื่อให้ใช้เวลาและทรัพยากรได้คุ้มค่าที่สุดในวันถ่ายทำ และเตรียมพร้อมเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดในวันออกกองน้อยที่สุด” ปิงเสริมความสำคัญของขั้นตอนการเตรียมงานที่ต้องย้ำอีกครั้งว่างานนี้มีกฎเหล็ก ห้ามทีมงานเข้าไปเหยียบบ้านของนักแสดงเด็ดขาด

“ช่วงแรกเราทำการบ้านเรื่องเทคนิคการถ่ายทำเยอะมาก มานั่งคิดกันว่าเราจำเป็นต้องส่งกล้องกับอุปกรณ์เก็บเสียงไปให้นักแสดงเลยไหม แต่ก็ไม่ใช่ว่านักแสดงทุกคนจะใช้อุปกรณ์เหล่านี้เป็น เราจึงตัดสินใจใช้อุปกรณ์ที่นักแสดงมีอยู่แล้วเป็นหลัก เช่น โทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์

“ทีนี้ทีมโปรดักชั่นของเราก็ต้องทำการบ้านกับอุปกรณ์ทุกรุ่นทุกประเภทว่าใช้งานยังไง เช่น แม็คบุ๊กสามารถอัดทั้งภาพและเสียงได้ด้วยแอพฯ QuickTime Player แต่ถ้าใช้วินโดวส์อัดอาจจะไม่มีเสียง เราต้องเตรียมอุปกรณ์อัดเสียงไว้ด้วย มันเหมือนเราทำคัมภีร์ไบเบิลออกมาทีละพาร์ต เรื่องภาพ เรื่องเสียง” 

แต่ที่สนุกไปกว่านั้นก็คือ ผู้กำกับบางเรื่องอาจต้องการมุมกล้องที่หลากหลายกว่าหน้าจอบนโต๊ะ หรือเทคนิคการถ่ายทำที่แอดวานซ์ไปอีกระดับ เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายทั้งสำหรับนักแสดงไปจนถึงทีมงานที่คอยเอาใจช่วยจากหน้าจอที่บ้าน

“ยกตัวอย่างเรื่องของวรรณแวว (วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์) นอกจากกล้องหน้าจอคอมฯ เขาอยากตั้งกล้องไว้เป็นมุมมองพระเจ้าในห้องด้วย เขาเลยบอกว่าขอเลือกอวัชเป็นนักแสดงได้ไหมเพราะอวัชตั้งกล้องเป็น” ปิงเล่าด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะ ก่อนจะอธิบายต่อ

“ดังนั้นเรื่องของวรรณแววจึงสามารถดีไซน์การถ่ายทำได้หลากหลายเลย มีทั้งการตั้งกล้อง การอัดหน้าจอ แล้วก็มีการใช้กล้อง GoPro ติดที่หัว พวกนี้เราก็ต้องสอนน้องๆ ใช้อุปกรณ์กันทีละนิดละหน่อย น้องบางคนเขาก็ออกตัวแต่แรกแล้วว่าไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีเลยนะ ถ้าจะให้หนูทำจริงๆ พี่ต้องสอนหนูอย่างละเอียดมากๆ ซึ่งเราก็ต้องสอนกันไป” 

 

เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว

อย่างที่รู้ว่าตามธรรมชาติของการถ่ายทำทุกประเภท วันออกกองจริงมักเต็มไปด้วยเรื่องเหนือความคาดหมายอยู่เสมอ แม้กระทั่งการออกกองจากบ้านก็ไม่เว้น เพราะกว่าจะได้ภาพที่ต้องการ เหล่านักแสดง–ในฐานะทีมงานคนเดียวที่อยู่หน้างาน–ก็ต้องแก้ปัญหากันไปหลายตลบ

“เรื่องนี้นักแสดงต้องเป็นทั้งฝ่ายโลเคชั่น คอสตูม และพร็อพในคนเดียว และบางงานก็ละเอียดมากเสียจนไม่ได้คาดคิดว่านักแสดงจะต้องมาทำขนาดนี้ อย่างตอนที่เราถ่ายทำเรื่อง Lovers on the Street ผู้กำกับต้องการฉากกลางคืน แต่วันที่เราต้องถ่ายเป็นคิวกลางวัน ห้องนอนของทั้งแพต (ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) และเบลล์ (เขมิศรา พลเดช) ก็มีหน้าต่างเยอะมาก แสงเข้าเต็มๆ ถึงปิดม่านยังไงก็ยังสว่าง 

“ปัญหานี้ถ้าอยู่ในกองถ่ายปกติทีมงานจะต้องไปขึงผ้าดำ แต่พอทีมงานเข้าบ้านนักแสดงไม่ได้ จะส่งผ้าดำไปให้นักแสดงขึงเองก็น่าจะยากไป เราเลยใช้วิธีที่ DIY กว่านั้นอีก คือซื้อกระดาษโปสเตอร์สีดำส่งไปให้น้องๆ 10 แผ่น แล้วก็ให้นักแสดงเอาไปติดผนัง” ปิงอธิบายหน้าที่ที่เพิ่มเข้ามาของเหล่านักแสดงในโปรเจกต์ ที่ถึงแม้จะเก้ๆ กังๆ อยู่บ้างในช่วงแรก แต่นี่ก็เป็นโอกาสสำคัญของเหล่านักแสดงที่จะได้เห็นภาพการทำงานในกองถ่ายชัดกว่าที่เคย เช่นกันกับผู้กำกับทั้ง 10 คนที่ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ของการทำงานไปพร้อมกัน

“ตอนที่เราทำงานเป็นโปรเจกต์ใหญ่เราอาจจะโฟกัสแค่งานในตำแหน่งของเราอย่างเดียว แต่ไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้วตำแหน่งอื่นเขาทำงานกันยังไง พอวันนี้ต้องมาดูแลงานแทนฝ่ายพร็อพเราก็เข้าใจแล้วว่า อ๋อ เวลาที่เขาไม่พร้อมมาสแตนด์บายหน้าเซตคือเขากำลังนั่งแก้ปัญหาสก๊อตช์เทปที่ติดไม่อยู่สักทีนี่แหละ

“เราว่ามันเป็นเรื่องที่ดีนะ ถ้าหลังจากนี้ได้กลับไปออกกองด้วยกันเราคงเข้าใจกันมากขึ้น เราเลยชอบความรู้สึกนี้ของการทำงานนี้”

 

โลกหน้าจอของผู้กำกับ

“การกำกับการแสดงผ่านหน้าจอเป็นอุปสรรคในการทำงานบ้างไหม” เราถาม

“ในมุมของเรามันมีผลเยอะเหมือนกันนะ เรายังอธิบายและบรีฟนักแสดงได้ก็จริง แต่สิ่งที่แตกต่างไปคือเรื่องการสื่อสารอารมณ์ พอเราคุยกันผ่านอุปกรณ์มันก็จะแห้งแล้งเหมือนกัน ไม่เหมือนเวลาเราเข้าไปบรีฟนักแสดงใกล้ๆ” 

นี่ไม่ใช่แค่อุปสรรคของผู้กำกับเท่านั้น แต่นักแสดงก็ต้องรับบทหนักมากขึ้น เพราะเมื่อผู้กำกับไม่สามารถส่งผ่านอารมณ์ผ่านหน้าจอได้อย่างเต็มที่ พวกเขาจึงต้องทำการบ้านมากขึ้นเพื่อเข้าถึงอารมณ์ของแต่ละฉากโดยที่ไม่มีผู้กำกับหรือแอ็กติ้งโค้ชคอยช่วยเหมือนเคย 

“เรื่องหนึ่งที่ท้าทายคือการมองเห็นของผู้กำกับ เพราะเวลาอยู่หน้ากองเราจะเห็นทุกอย่างแม้กระทั่งสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากมอนิเตอร์ เราได้เห็นบรรยากาศซ้าย-ขวา หน้า-หลัง ถ้ามันมีอะไรที่กำลังจะหลุดเข้ามาในเฟรมหรือฝนกำลังจะตกเราก็จะรู้ก่อนประมาณหนึ่ง 

“แต่พอกำกับงานจากทางบ้านมุมมองของเราก็แคบลงเหลือแค่จอสี่เหลี่ยม ดังนั้นความสามารถของเราในการใช้สอยโลเคชั่นก็จะลดลงทันที โดยปกติเวลากำกับอาจจะปรับตัวตามสถานการณ์ เช่น บรรยากาศด้านซ้ายมันให้อารมณ์ที่ดี หลังจากนักแสดงเล่นจบเราก็อาจจะขอให้กล้องแพนต่อไปรับทางซ้าย แต่พอเป็นการถ่ายทำแบบนี้เราก็ไม่สามารถจัดการกล้องได้อย่างอิสระเหมือนเดิมแล้ว”

 

NOT A NEW NORMAL

เมื่อได้ภาพที่พอใจและตัดต่อจนเรียบร้อยสมบูรณ์ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อชิ้นงานไม่แพ้กันคือการออกอากาศ สำหรับโปรเจกต์นี้ทีมงานเลือกที่จะออนแอร์ กักตัว Stories ผ่านทางยูทูบ Nadao Bangkok แทนที่จะหาพาร์ตเนอร์เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สตรีมมิงหรือช่องโทรทัศน์เหมือนโปรเจกต์อื่นๆ 

“พอเราทำโปรเจกต์นี้ไปได้สักระยะเราถึงนึกได้ว่าควรมีรายได้จากทางอื่นๆ เราจึงเลือกฉายในยูทูบเพื่อที่จะได้เงินโฆษณาซึ่งขึ้นอยู่กับยอดวิว พอเลือกฉายในยูทูบเราก็คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเราเอาเงินจากโฆษณามาช่วยคนที่ต้องการในช่วงโควิดดีกว่า” ปิงอธิบายถึงเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เขาตัดสินใจนำรายได้จากยูทูบทั้งเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือสถานการณ์โควิด-19 ทั้งด้านผู้ได้รับผลกระทบ และการสนับสนุนการวิจัยด้านไวรัส การผลิตชุดตรวจ และแอนติบอดี้พลาสมาต่างๆ

“แต่ถ้าพูดกันตามตรง โปรเจกต์นี้ก็ไม่ใช่การปรับตัวในระยะยาวถูกไหม” เราถาม เมื่อได้ฟังกระบวนการผลิตหนังสั้นชุดนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังมีอีกหลายตำแหน่งหน้าที่ในกองถ่ายที่หายไปในการถ่ายทำแบบ shoot from home ลักษณะนี้ 

“ใช่” ปิงยอมรับ “มีหลายตำแหน่งในกองถ่ายที่หายไปด้วยรูปแบบโปรเจกต์แบบนี้ เช่น คนหาโลเคชั่น แผนกคอสตูม ตากล้อง ผู้ควบคุมความต่อเนื่อง หรือสเลตและรีพอร์ต

“ขนาดโปรเจกต์ กักตัว Stories เราถ่ายทำกันจากบ้านยังมีทีมงานเกิน 5 คนเลย” ปิงพูดติดตลก เมื่อเราถามถึงมาตรการออกกอง 5 คนที่เห็นผ่านตาในโซเชียลมีเดียเมื่อไม่กี่วันก่อน (หลังจากวันที่คุยกันจึงมีการผ่อนปรนให้ดำเนินกองถ่ายจำกัดไม่เกิน 50 คน)

 

“เราคิดว่าอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นสิ่งที่คนเห็นภาพได้ยากอยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจธรรมชาติของงานกองถ่าย มันก็เลยทำให้มีนโยบายที่เกิดจากความไม่เข้าใจออกมานี่แหละ 

“คนในอุตสาหกรรมบันเทิงมีอยู่หลักหมื่นหลักแสนคน การหยุดกองถ่ายเท่ากับการหยุดอาชีพหลายตำแหน่งไปเลย ถ้าคนไม่เข้าใจกระบวนการทำหนังจริงๆ เขาก็จะคิดว่าหนังมันเกิดขึ้นจากทีมงานไม่กี่คน ทั้งที่ความจริงแล้วแค่กล้องตัวหนึ่งก็ต้องใช้ทีมงาน 5 คนเข้าไปแล้ว เพราะตากล้องก็ต้องการผู้ช่วย ต้องการคนมาช่วย operate กล้อง เคลื่อนกล้อง ต้องการ focus puller เพื่อจับโฟกัสให้ไม่หลุด

“สุดท้ายแล้วโปรเจกต์ กักตัว Stories มันก็ช่วยทีมงานได้ในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง แต่นี่ไม่ใช่ new normal มันจะไม่ใช่มาตรฐานกองถ่ายหลังจากนี้ ไม่ใช่ทุกเรื่องจะทำได้แบบนี้ นี่เป็นแค่โปรเจกต์พิเศษ คอนเทนต์ทั้งหมดถูกคิดให้เอื้อกับวิธีการถ่ายทำนี้ด้วยซ้ำ ความจริงแล้วเรายังคงต้องการหนังแบบเดิม ต้องการละครแบบเดิม”

AUTHOR