เป้าหมายใหม่ที่ต้องยิงให้ไกลกว่าเดิมของ กุ๊ก-ธนีดา หาญทวีวัฒนา ผู้กำกับสาวจาก Shoot! I Love You

ดูเผินๆ Shoot! I Love You ปิ้ว! ยิงปิ๊งเธอ ซีรีส์กีฬาเรื่องสุดท้ายของ Project S The Series น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ต้องลุ้นว่าจะมีคนดูมั้ยให้หนักใจ ด้วยคาแรกเตอร์ตัวละครสุดเพี้ยนแต่น่ารัก นักแสดงฝีมือดี และพล็อตโรแมนติกคอเมดี้ที่มีกลิ่นอายการ์ตูนญี่ปุ่น (แถมยังบินไปถ่ายที่จังหวัดซากะ ประเทศญี่ปุ่นมาด้วย) ทำให้เรื่องนี้คงโดนใจใครหลายคนง่ายกว่า 3 เรื่องก่อนหน้า แต่หลังจากพูดคุยถึงเบื้องหลังการทำงานสุดเข้มข้นกว่าหนึ่งปีครึ่งกับ กุ๊ก-ธนีดา หาญทวีวัฒนา ผู้กำกับหญิงคนเดียวในโปรเจกต์นี้ที่ย้ำกับเราหลายครั้งว่า “มันยากกว่าที่คิดไว้มาก” ก็ทำให้เราเปลี่ยนความคิดไปสิ้นเชิง

หลายคนคุ้นชื่อกุ๊กจากหนึ่งในทีมเขียนบทสุดเก่งของ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ตั้งแต่ซีซัน 1 – 3 กุ๊กรับผิดชอบตัวละครหญิงหลายตัวอย่าง สไปรท์ ของขวัญ และออย หลังจากนั้นก็ยังมีผลงานเขียนบทและกำกับร่วมในมินิซีรีส์ อยู่ที่เรา ส่วนผลงานล่าสุดที่กุ๊กรับทำก่อนกระโดดมาเป็นผู้กำกับซีรีส์เต็มตัวครั้งแรกคือบทภาพยนตร์ ฉลาดเกมส์โกง

แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อนคือ กุ๊กรับมือกับงานเขียนบททั้งหมดโดยแบ่งเวลาจากการเป็นแอร์โฮสเตส อาชีพในฝันของใครหลายคนที่เราก็รู้ดีว่าหนักหนาไม่ใช่เล่น จากเด็กสาวที่เรียนภาพยนตร์ ผู้กำกับละครเวทีนิเทศจุฬาฯ และชีวิตที่ต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลมานานกว่าสิบปี เวลานี้ กุ๊กทิ้งทุกอย่างไว้ข้างหลังแล้วหันกลับมาหาสิ่งที่เธอหลงใหลและอยากลองพิสูจน์ว่าจะทำได้หรือเปล่า

เป้าหมายที่กุ๊กเล็งไว้ชัดเจนแค่ไหน และผลคะแนนจากการยิงครั้งนี้เป็นเท่าไหร่ มาดูไปพร้อมกัน

ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) เห็นอะไรในตัวกุ๊กเลยชวนให้ไปเขียนบทซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น
เราเรียนภาพยนตร์ที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่ไม่ทันพี่ย้ง สมัยเรียนก็ได้ทำละครเวทีคณะตั้งแต่เขียนบทจนปี 4 เราได้เป็นผู้กำกับละครนิเทศ เป็นผลงานที่ชัดเจนที่สุดของเราสมัยเรียน ส่วนภาพยนตร์ก็ทำเท่าที่เรียนเลย เหมือนทักษะที่ใช้มาตลอดคือการเขียนบทละครเวทีมากกว่า พอเราเรียนจบก็ไปเป็นแอร์โฮสเตส แต่ก็อยากทำงานด้านนี้มาตลอดแค่ไม่มีโอกาสได้ทำ เพราะพอเขาหาคนเขียนบท เขาก็จะนัดกันวันธรรมดาทุกวัน เราไม่สามารถจัดการตารางบินได้ พอเจอรุ่นพี่ที่อยู่ GTH ในตอนนั้นเราบอกว่าถ้ามีอะไรที่เราทำได้ เรียกเรานะ เราบินอย่างเดียว เบื่อแล้ว ปรับตัวได้แล้ว ไม่รู้จะไปทางไหนต่อดี ก็พูดๆ ไปไม่ได้หวังอะไร แต่ถ้ามีโอกาสทำได้ก็อยากทำ

ช่วงนั้นพี่ย้งเริ่มทำนาดาวและอยากทำซีรีส์ที่พูดถึงวัยรุ่นจริงๆ ปัญหาวัยรุ่นตรงๆ ซึ่งก็มีนักแสดงผู้หญิงเป็นตัวนำเหมือนกัน แต่ตอนนั้นที่ฟอร์มทีมเขียนบทมามีแต่ผู้ชาย ถ้าใช้ทัศนคติแต่ทางผู้ชายเขียนอาจไม่ออกมาแบบที่อยากได้เสียทีเดียว ทีมเขียนบทหนึ่งในนั้นคือ ปิง (เกรียงไกร วชิรธรรมพร) ซึ่งปิงเคยเล่นละครเวทีที่เรากำกับและบอกพี่ย้งว่าเราน่าจะทำได้ ก็ให้โปรดิวเซอร์โทรไปชวนเรา เราตอบเลยว่าสนใจนะ แต่ติดอย่างเดียวคือเราบิน แค่เข้ามาประชุมไม่กี่วันและเราช่วยเขียนด้วยได้มั้ย ก็ได้เข้ามาคุยกับพี่ย้งแล้วเริ่มเขียนฮอร์โมนส์ตั้งแต่ตอนนั้น

การเขียนบทช่วงนั้นแบ่งเวลาจากการเป็นแอร์โฮสเตสได้จริงมั้ย
ตอนนั้นเรายังเด็กกว่านี้เยอะ อายุ 20 กลางๆ จะหนักในแง่เวลาทำงานมากกว่า เราจะพักผ่อนน้อยกว่าแอร์ฯ คนอื่นๆ แต่ในแง่การใช้สมองเราเต็มที่มาก เพราะงานแอร์ฯ ใช้สมองคนละส่วนกับการเขียนบท แต่เหนื่อยหน่อยตรงเราพักผ่อนน้อย แต่ใจเราเต็มที่

แล้วถูกวางตัวมาเป็น 1 ใน 4 ผู้กำกับของ Project S The Series ได้ยังไง
พอเขียนบทฮอร์โมนส์ซีซัน 3 เสร็จ เรายังไม่รู้ว่าจะไปไหนต่อก็กลับไปบินอย่างเดียว ช่วงนั้นพี่ย้งมีโปรเจกต์อยู่ 3 – 4 อัน มี Project S The Series ที่เขาก็เรียกมาคุยว่าสนใจจะเป็นผู้กำกับเต็มตัวมั้ย เราเองอยากทำมาตลอดก็เลยตอบตกลงตั้งแต่ยังเป็นแอร์โฮสเตส ซึ่งกว่าจะได้ทำเรื่องนี้ ก็มีเรื่อง อยู่ที่เรา กับ I Hate You I Love You ที่พี่ย้งให้เลือกทำเพื่อจะเรียนรู้เรื่องโปรดักชั่นได้เร็ว ตอนแรกเราอยากทำ I Hate You I Love You มากเพราะรู้สึกว่าเข้าทางการเขียนของตัวเอง แต่มันเป็นโปรเจกต์ยาวที่จะไปทับกับ ฉลาดเกมส์โกง ก็เลยเลือกทำ อยู่ที่เรา เพราะเราจะได้อยู่กับมันเต็มๆ ตั้งแต่เขียนบท ปิดกล้อง เข้าห้องตัดต่อ ไปจนถึงโปรโมต เป็นการเตรียมตัวนิดๆ สำหรับการออกกองกำกับซีรีส์เรื่องนี้

ตอนตกปากรับคำว่าจะเป็นผู้กำกับเป็นความรู้สึกแบบไหน กดดันหรือว่าตื่นเต้นที่จะได้ทำ
เป็นความรู้สึกสับสนมากกว่า เราคิดว่าถ้าเราได้เสนอให้เป็นผู้กำกับตั้งแต่ถูกเลือกให้มาเขียนฮอร์โมนส์ เราคงกลัวน้อยกว่านี้มั้ง เหมือนเราดันไปเริ่มงานแรกก็มีคนดูเลย หลังจากนั้นต่อมาก็มีคนให้ความสนใจมาตลอด เราก็กดดันเหมือนกันกับการรับงานนี้ในฐานะผู้กำกับครั้งแรก แต่ถ้ามองอีกแง่ มันก็เป็นโอกาสดีมากที่เราจะได้ทำอะไรแบบนี้ เพราะเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะได้รับข้อเสนออย่างนี้อีกเมื่อไหร่ มีทั้งความกดดัน ความกลัว ความสนใจ ความอยากทำ ผสมกันไปหมดเลย

การตกลงครั้งนั้นบังคับให้เราต้องเลือกระหว่างแอร์โฮสเตสกับผู้กำกับด้วยใช่มั้ย
ใช่ เรารู้ตั้งแต่ตอบตกลงไปว่ามีสิทธิ์มากที่เราจะต้องทิ้งงานแอร์โฮสเตสที่เราทำมาเกือบ 10 ปี มันก็เป็นงานที่เราชอบเหมือนกัน แต่พอถึงเวลาก็ต้องเลือก เรายื้อมาพักนึงนะ ตอนเขียน ฉลาดเกมส์โกง ก็ยังเป็นแอร์ฯ อยู่ แต่พอเริ่มงานนี้ก็ถอย ต้องปล่อยอันนึง มันยากที่จะตัดสินใจ แต่ ณ ตอนนั้น เราตัดสินใจเพื่อที่เราจะทำสิ่งที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุดมากกว่า

แสดงว่าลึกๆ แล้ว กุ๊กก็อยากทำงานกำกับมาตลอด
เราไม่รู้ว่าจริงๆ เราอยากทำอะไรชัดเจนขนาดนั้น ตอนเด็กๆ เราชอบดูหนัง ฟังเพลง ก็อยากทำด้านนี้ ทำให้เราเลือกเรียนฟิล์ม แต่ถามว่าเราอยากเป็นผู้กำกับหรือเปล่า เราก็ไม่เคยรู้ว่า job description ของการเป็นผู้กำกับทั้งหมดคืออะไร เราห่างไกลจากการทำงานตรงนั้นมาก เราคงไม่แน่ใจจนกว่าจะได้ลองทำมั้ง เราก็เลยทำ แต่ถ้าอย่างคนเขียนบทเนี่ยค่อนข้างมั่นใจว่าชอบ

ความชอบดูหนังฟังเพลงพัฒนามาเป็นคนชอบเขียนบทยังไง
เวลาเราดูเบื้องหลังการถ่ายทำจะรู้สึกสนุกจังเลย ก่อนหน้าที่จะเป็นฉากที่เราดู เขาคิดอะไรมาก่อน จริงๆ แล้วเราอาจจะชอบการเล่าเรื่องมั้ง ชอบฟังเรื่องราว ชอบพูดคุยกับคนเพื่อดูว่าเขาเป็นคนยังไง เขาคิดอะไร นึกถึงการบ้านสมัยเด็กๆ ที่ครูให้เขียนเรื่องอะไรก็ได้ เราก็อยากเขียนออกมาเป็นบทในหนังที่เราดู เขียนผ่านตัวละคร หรือถ้าต้องแสดงหน้าชั้น เรามักจะเป็นคนเขียนบทเสมอ เวลาเพื่อนๆ รวมตัวกันว่าจะทำอะไรดี เราจะมีไอเดียที่คิดและเขียนไว้แล้วก็เสนอตัวเองเข้าไป จับว่าคนนี้เล่นเป็นคนนี้นะ เป็นคนจัดการการแสดงหน้าชั้นหรือการแสดงรอบกองไฟ เราคงมีพื้นฐานที่ชอบอะไรแบบนี้

การชอบคุยกับมนุษย์เป็นทักษะที่จำเป็นของคนเขียนบทหรือเปล่า
เราไม่ได้เป็นคนคุยเก่ง แต่เราจะเป็นคนที่นั่งสังเกตการณ์คนอื่นๆ มากกว่า สมมติในห้องเรียน เราจะเป็นเด็กเนิร์ดที่นั่งกลางห้องแต่ไม่มีใครสนใจเรา มีกลุ่มคนที่คุยกัน กลุ่มที่ตั้งใจเรียน กลุ่มคนที่ต่างจากเรามากๆ เราก็เข้าไปคุยกับเขาได้ทุกคน แต่ก็ไม่ได้สนิทจนเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน เราแค่รับคนทุกประเภทที่อยู่รอบๆ เรา สังเกตและเข้าใจคนคนนั้นแบบที่เขาเป็น เลยทำให้เราพอนึกออกว่าถ้าคนประเภทนี้ เขาชอบแบบนี้นะ เขาพูดจาแบบนี้นะ พอเรามีพื้นฐานแบบนี้แล้วไปเป็นแอร์ฯ อีก ก็เจอคนเยอะมาก ไดอะล็อกในบทเลยอาจจะเป็นลีลาการคิดโต้ตอบที่เราซึมซับมาจากคนรอบตัวด้วย ไม่ได้มาจากเราคนเดียว แต่สำคัญกว่าคือการเข้าใจคนแต่ละประเภท ถ้าเราไม่เข้าใจคนที่หลากหลาย เราคงนึกออกแต่คนแบบตัวเองที่เราก็จะพูดหรือเขียนได้แค่คนที่พูดจาในแบบเราเองเท่านั้น

พอได้กำกับ Shoot! I Love You บ้างก็เลยเลือกพูดถึงนักกีฬายิงธนูเลย ทำไมต้องเป็นยิงธนู เพราะถ้าพูดถึงกีฬานี้ เราอาจนึกไม่ค่อยออกในบริบทของไทย
เราเองไม่เล่นกีฬา เราออกกำลังกายด้วยการวิ่งคนเดียว เล่นโยคะ ไม่ได้มีแพสชันกับกีฬามาก แค่อยากมีสุขภาพที่ดี พอต้องลงลึกก็เลยนึกถึงกีฬาอะไรที่เราเล่นได้ ด้วยความเป็นแอร์ฯ เวลาไม่ตรงกับชาวบ้านเลยนึกถึงกีฬาเดี่ยวที่เราไปคนเดียวเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างว่ายน้ำ ปีนผาก็น่าสนใจ แต่เล่าอะไรล่ะ เขาแข่งกันยังไง เสิร์ชไปเรื่อยๆ ก็เจอยิงปืนกับยิงธนู คล้ายๆ กันนะ แต่ยิงปืนเสียงดัง ไม่ชอบ (หัวเราะ) งั้นเลือกยิงธนูละกัน

เราลองไปยิงเองดูก่อน ก็ชอบ เรารู้สึกว่าพอยิงธนูเหมือนได้ทำสมาธิ อยู่กับสิ่งที่ทำว่ากำลังทำอะไรอยู่ ต้องจับตรงนี้ ต้องดันออกไปอย่างนี้ ต้องน้าวไปอย่างนี้ พอไปยิงจริงๆ มันยากกว่าที่คิดมากเลย ไม่เคยคิดเลยว่าแค่จับคนละแบบจะให้ผลต่างกันมาก ลูกธนูสามารถหลุดออกไปนอกเป้าได้เลย เลยถูกใจกีฬานี้ว่ามันเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนได้ เข้ากับความถนัดของเราที่จะเล่าเรื่องคน

เราคิดว่าการยิงธนูอาจทำให้เรารู้จักตัวเองในแบบที่ไม่เคยรู้จัก เราไม่เคยรู้เลยว่าเราสามารถอยู่กับสิ่งนี้ได้นานขนาดนี้ ตอนยิงธนูครั้งแรก เราอยู่ที่สนามยิงธนูคนเดียวได้หลายชั่วโมงเพียงแค่อยากรู้ว่าวันนี้เราจะยิงได้นานแค่ไหน มันท้าทายเหมือนกันนะ อีกประการคือเรามีความรู้ด้านโปรดักชั่นต่ำกว่าคนอื่นหมดเลย ถ้าเลือกกีฬาที่วิ่งไปวิ่งมา เราอาจถ่ายไม่ได้ (หัวเราะ) ก็ดีเหมือนกัน อยู่นิ่งๆ เล่าเรื่องคนที่ยืนตรงนี้แหละ การขยับอะไรเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้แล้วมันจะไปปรากฏผลตรงเป้านี่แหละ มันเข้ากับเราและเราก็สนใจมันจริงๆ

กีฬาที่ยืนนิ่งๆ เคลื่อนไหวๆ น้อย จะมีประเด็นอะไรให้ดึงมาใส่ในเรื่องที่คิดว่าคนดูน่าจะสนุก
เราพยายามสร้างตัวละครที่เขาจะได้เรียนรู้จากกีฬายิงธนู มันคงเสริมกันเองระหว่างการสร้างตัวละครมาเสิร์ฟสิ่งที่เราอยากเล่า กับการสร้างตัวละครแบบที่คิดว่าน่าจะสนุก หมายถึงถ้าตัวละครแบบนี้มายิงธนูแล้วจะเกิดเรื่องราวได้

กีฬายิงธนูมีแบบแผนตายตัวพอสมควร ไม่มีสูตร แต่ทุกคนต้องปรับตัวเข้ากับธนูของตัวเองเพื่อจะยิงได้ดี แต่ละคนที่มายิงธนูเขาจะได้อะไรกลับไปไม่เหมือนกัน อย่างครูสอนธนูเคยเล่าให้ฟังว่ามีเด็กสมาธิสั้น ทำอะไรไม่ได้เลย พอแม่พามายิงธนูก็ชอบ ทำได้ อยู่ได้ยาวๆ ทั้งวัน คนสมาธิสั้นเขาก็สามารถเรียนรู้อะไรจากการยิงธนูได้ หรือเราผู้คิดตลอดเวลา คิดอะไรเต็มไปหมด เราไปยิงธนูแล้วก็พบว่าขณะที่เรายิง มันมีช่วงที่หัวโล่งเหมือนเวลาเราทำสมาธิ เราทำได้ มันเกิดขึ้นน้อยมากแต่มันเกิดขึ้นเวลาเรายิงธนู อันนี้เราก็ได้เรียนรู้จากมัน แต่ตัวละครของเราอาจไม่ได้เรียนรู้สิ่งนี้นะ เราแค่พบว่าเราได้เจออะไรใหม่ๆ ในตัวเราจากการยิงธนู ซึ่งเชื่อว่าถ้าคนต่างกันไปมาหัดยิงธนูก็คงได้รู้ว่าตัวเองเป็นยังไงมากขึ้น

พัฒนาบทและตัวละครยังไงต่อจนมาลงตัวที่พล็อตนี้
เริ่มแรกคือเราอยากทำเป็นโรแมนติกคอเมดี้ที่เบาลงมาจากทุกเรื่องที่ทำมา ไม่ต้องพูดถึงปัญหาสังคม แต่อยากพูดถึงตัวละครนี่แหละ เราเลยนึกถึงนักแสดงที่จะช่วยเราได้เพราะเราต้องเรียนรู้หลายอย่างมาก ถ้าเจอน้องใหม่ที่ไม่เคยแสดงมาก่อน เราอาจจะช่วยเขาไม่ได้และทำให้เขาออกมาดูไม่ดี ก็ดูว่าเราชอบการแสดงของใครและถ้าเขามาเล่นแล้วมั่นใจว่าทำได้แน่ๆ ฟรัง (นรีกุล เกตุประภากร) กับต้าเหนิง (กัญญาวีร์ สองเมือง) คือ 2 คนที่เราเห็นมาตั้งแต่ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ว่าเขาทำผลงานได้ดีมาก เราอยากได้นักแสดงหญิงด้วยเพราะอยากเล่าตัวละครนำเป็นผู้หญิงที่เราน่าจะเข้าใจได้ดีกว่า คือเลือกอะไรก็ตามที่รู้สึกว่าเราน่าจะทำได้หมดเลย ทั้งกีฬา แนวทางของเรื่อง นักแสดง วิธีการเล่า พยายามทำให้ปัญหาเกิดขึ้นน้อยที่สุดเพื่อเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้เร็วที่สุด

เรามาคิดว่ามีใครอีกที่จะมาร่วมแก๊งนี้ที่ไม่ซ้ำเดิม ก็มีนน (ชานน สันตินธรกุล) ที่เข้านาดาวมาจากบทเน็ตใน ฮอร์โมนส์ซีซัน 3 จากคนหน้าตายๆ ในบทพี่สราวุธกลายเป็นผู้ชายอบอุ่นมีเสน่ห์เลย เลยอยากร่วมงานกับนนด้วย ส่วนเจเจเข้านาดาวมาพอดีตอนนั้น วันที่คุยกันครั้งแรกก็รู้สึกว่าน้องคนนี้น่าสนใจดี เราตั้งไว้ในหัวก่อนว่าอยากเห็น 4 คนนี้ในแบบที่ไม่เคยมีใครเห็น เคมีน่าจะเป็นเพื่อนกัน แอบชอบกันมั้ง ก็ค่อยๆ ปั้นกันไประหว่างที่เราศึกษากีฬายิงธนู

รู้มาว่าระหว่างเขียนบทยังต้องปรับคาแรกเตอร์ตัวละครไปเรื่อยๆ เลย
มีตลอดเลย เครียดมากเพราะเราตั้งโจทย์ว่าต้องสร้างตัวละครที่จะพาเขาไปเรียนรู้อะไร และเปลี่ยนเขาไปจากตอนแรก ต้องเล่นเข้ากับเพื่อนอีก 3 คนด้วย ถ้าจิ๊กซอว์ผิดหนึ่งตัวก็ไม่ได้ ต้องเริ่มใหม่ มันยากกว่าที่เราคิดไว้เยอะมากจากตอนแรกที่ว่าจะเขียนอะไรเบาๆ คุยเรื่องมนุษย์ไปเรียนรู้อะไรเล็กๆ น้อยๆ จากการยิงธนู มันต่างจากเรื่องอื่นที่เราเขียนมาและต่างจากเรื่องอื่นใน Project S The Series ด้วย ทุกคนบอกว่าก็เลือกเรื่องยากเอง ทำไมไม่พูดตรงๆ ไปเลยจะได้เห็นชัดเจนว่าตัวละครเปลี่ยนไปยังไง

ไม่เหมือนกับ Side by Side หรือ S.O.S Skate ซีม ซ่าส์ ที่มีประเด็นต่างๆ เข้ามาคลุมอีกที
ไม่ เราเป็นเด็กธรรมดาเลย (หัวเราะ) เด็กธรรมดา 4 คนที่เรียนรู้ตัวเองผ่านการยิงธนู ในความตั้งใจของเราเป็นแบบนั้นนะ แต่จะออกมาชัดมั้ย เราก็อยากรู้ว่าจะทำได้จริงมั้ย เราท้าทายตัวเองหลายอย่างมากจากการทำโปรเจกต์นี้ มากกว่าที่คิดไว้เยอะเลยว่าเราจะทำ เราคิดว่ามันง่ายมั้งในตอนแรก

เจอความยากขนาดนี้ในงานกำกับครั้งแรกแล้วยังชอบงานนี้มั้ย
ชอบนะ ชอบที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ชอบที่ได้ทำในสิ่งที่เคยตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าเราทำสิ่งนี้ได้หรือเปล่า แต่ไม่ชอบที่เวลาทำแล้วรู้ว่าเรายังไม่เก่งและคนอื่นเหนื่อยกว่าเรา มันมีทั้งชอบและไม่ชอบพร้อมๆ กัน ชอบเวลาสิ่งที่เราเขียนในบทออกมาเป็นของจริง เรายังเป็นคนเขียนบทอยู่มากเหมือนกัน แต่ว่าในสโคปทั้งหมดของการกำกับแล้วยากนะ ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตเราอยากเก่งกว่านี้ ถ้าเก่งกว่านี้อาจจะชอบมากกว่านี้

ที่บอกว่าไม่ชอบเพราะมีคนเหนื่อยกว่าเราหมายถึงยังไง
ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าโปรดักชั่นทำงานยังไง เราอาจนึกออกว่าเราจะสื่อสารยังไงให้ทีมงานไม่ต้องเหนื่อยแปลเรา ไม่ต้องเหนื่อยไปเปลี่ยนมาเพราะไม่เข้าใจที่เราพูด สมมติถ้าเรารู้ว่าอยากเก็บมุมนี้ให้หมดก่อน ภาพเราชัดว่าต้องกำกับการแสดง กำกับภาพยังไง แล้วให้ทีมงานย้ายกล้องทีเดียว เขาดันต้องตั้งกล้องสองมุมเพราะเรานึกภาพไม่ออก มันก็อาจทำให้เขาเหนื่อยน้อยลง พอเราถ่ายแบบไม่มีความรู้หรือเตรียมตัวมาไม่ดี เราคิดว่าเราเตรียมตัวพอแล้วแต่จริงๆ ยังไม่พอเลยทำให้คนอื่นเหนื่อยมาก ถ้าเราได้เรียนรู้สิ่งนี้เราอาจจะทำให้เขาเหนื่อยน้อยลง

ในฐานะผู้กำกับหน้าใหม่ คาดหวังอะไรจากการทำงานชิ้นนี้บ้าง
ในด้านการทำงานก็คาดหวังให้ได้เรียนรู้ว่าเราทำงานนี้ได้จริงๆ มั้ย มันเป็นโปรเจกต์เปลี่ยนชีวิตเรามากพอสมควรเลย เราทิ้งงานประจำ ท้าทายตัวเองด้วยการทำโรแมนติกคอเมดี้ที่ถ้าใครรู้จักเราจะรู้สึกว่ามีมุมนี้ด้วยเหรอ เราดูจริงจัง ทำซีรีส์ตลกเหรอ ก็ไม่ใช่คนตลกด้วย แถมเรื่องก็ไม่ได้มีคอนฟลิกต์ชัดเจนว่าเกี่ยวกับอะไร ทุกอย่างท้าทายไปหมดเลย เราทำในสิ่งที่หลุดจากกรอบเซฟโซนของตัวเอง เพราะฉะนั้นก็คาดหวังว่าให้เราทำมันได้

ตอนนี้พอถ่ายเสร็จและตัดมาประมาณนึง จะพูดว่าออกมาดีก็อาจไม่ได้เรียกสิ่งนี้ว่ามาสเตอร์พีชของฉันเถอะ แต่มันคงเป็นพาร์ตหนึ่งในชีวิตที่ย้อนกลับมามองแล้วก็พบว่าเราทำมันได้นะ เราได้เรียนรู้จากมันเยอะมากเลยนะ เราได้รู้จักคนอีกเยอะเลยจากการทำสิ่งนี้ รู้จักตัวเองว่าเราเป็นคนยังไงที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เราไม่เคยรู้เลยว่าเราเป็นคนคิดเยอะขนาดนี้ เราเป็นคนกดดันตัวเองขนาดนี้ กลัวขนาดนี้ เราไม่กล้าทำอะไรเลยขนาดนี้ นอยด์ไปหมดเลยขนาดนี้ เพราะฉะนั้นเราก็คาดหวังว่าเราจะโตขึ้นจากการทำอะไรแบบนี้ ไม่ใช่ในแง่ว่าเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นหรือมีชื่อเสียง แต่เราได้เรียนรู้จากมัน และหลังจากจบโปรเจกต์นี้เราจะกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่เราจะสามารถเรียนรู้อะไรที่เกินลิมิตเราไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นคนที่คนอื่นยังอยากทำงานด้วยอยู่ เพราะถ้าจะทำงานด้านนี้ เราทำคนเดียวไม่ได้แน่ๆ เราพร้อมมากที่เราจะเรียนรู้ เราจะเก่งขึ้นเพื่อให้ทีมงานรู้สึกว่าเขาไม่เหนื่อยฟรีเพราะว่าเราทำไม่ได้ เราอยากทำให้ได้

คนดูก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่สามารถบอกให้ใครชอบไม่ชอบงานเราได้หรอก แต่เราคิดว่าแบบนี้เวิร์ก ดูแล้วก็อยากรู้ฟีดแบ็กเขาอีกทีว่าสิ่งที่เราคิดว่าเวิร์กมันจริงมั้ย สิ่งนี้ก็อยู่ในความคาดหวังว่าเราทำมันทำไม

ได้คำตอบของคำถามตัวเองหรือยังว่าทำไมเป็นคนคิดเยอะ กดดัน หรือกลัวการทำอะไรต่างๆ ขนาดนี้
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราโตมาด้วยการอยู่ในเซฟโซน เราไม่เคยทำอะไรที่จะทำแล้วไม่ดี เราจะเลือกทำในสิ่งที่เราคิดว่าทำได้ดี Shoot! I Love You เป็นสิ่งใหญ่แรกๆ เลยที่เราต้องสละชีวิตที่เราคิดว่ามันดีอยู่แล้ว เรามีงานที่มั่นคงอยู่แล้ว แต่เราก็ทิ้งมันเพื่อแค่เราจะตอบคำถามว่าเราทำสิ่งนี้ได้รึเปล่าเท่านั้นเอง มันฉีกไปจากทุกการคิดการตัดสินใจตลอด 30 กว่าปีของเรา

ถามว่าเราชอบโรแมนติกคอเมดี้มั้ย ไม่ เราเลือกทุกอย่างที่น่ากลัวสำหรับเรา พอมาย้อนคิดนะ ณ ตอนที่เราเลือก เราคิดว่าเราทำได้ แต่พอมาทำจริงแล้วมันไกลจากตัวเรามากเลย มันเลยกลายเป็นความยากกว่าที่เราคิดไว้ ถ้าเรารู้ว่ามันยากขนาดนี้ตั้งแต่แรก เราอาจไม่เลือกมันก็ได้นะ ก็เพราะเราเป็นคนคิดตลอดไงว่าเราเลือกอะไรที่ง่ายๆ เข้าไว้ เราเลือกอะไรที่เซฟสำหรับเราเสมอตลอดมา เราไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ทำงานแอร์ฯ มาสิบปีก็คิดว่ามันก็ดีแล้วนะ

เรารู้ได้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่วิธีการคิดของเราตลอดที่ผ่านมา พบว่าเราเป็นคนกลัวความเปลี่ยนแปลง เรากลัวว่ามันจะไม่ดี เราเลยเลือกที่จะไม่ทำ เลือกที่จะไม่เสียอะไรบางอย่างไปเพราะมันเสี่ยง เพราะเรากลัวความเจ็บปวด มันก็มีจุดนี้เหมือนกันนะชีวิต เราใช้ชีวิตมาตลอด เราไม่เคยรู้เลยว่าเราเป็นแบบนี้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย